Skip to main content
sharethis

30 มิ.ย.2566 เว็บไซต์โครงการ 112WATCH ที่เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ไทเรล ฮาร์เบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn ) ศาสตราจารย์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน นักวิชาการผู้จับตาสังคมการเมืองไทยอย่างใกล้ชิด เกี่ยวกับมุมมองด้านกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือ มาตรา 112 และกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย

112WATCH: เนื่องจากอาจารย์มีส่วนร่วมในเรื่องประเด็นด้านความยุติธรรมและความรุนแรงในสังคมไทย อยากให้ช่วยอธิบายสถานการณ์ปัจจุบันที่เกี่ยวกับประเด็นนี้

ไทเรล ฮาร์เบอร์คอร์น : สิ่งที่เราต้องตอบคือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมาจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และครองอำนาจผ่านทางกฎหมายและการเมืองที่บิดเบี้ยว คสช. จะยอมปล่อยประเทศกลับไปสู่ประชาธิปไตยหรือไม่ ศาลจะหยุดตัดสินคดีทางการเมืองที่อยุติธรรมและดำเนินคดีกับนักกิจกรรมต่อไปหรือไม่ หรือจะปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ยังคงขยายเป็นวงกว้าง ผู้ที่ต้องรับผิดชอบกับความรุนแรงทางการเมืองที่เริ่มต้นตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จะถูกดำเนินคดีหรือไม่ หรือผู้ที่กดขี่ฝ่ายอื่นตลอด 17 ปีที่ผ่านมาจะสามารถกระทำการต่อโดยไม่โดนขัดขวางหรือไม่ คำถามมากมายเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ 

 

จะวางประเด็นเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในบริบทของความยุติธรรมในสังคมอย่างไร?

ตราบใดที่มาตรา 112 ยังมีอยู่ ประเทศไทยก็ไม่มีความยุติธรรมในสังคม ไม่มีประชาธิปไตย และไม่มีหลักนิติธรรม กฎหมายมาตรานี้ทำให้เกิดการดำเนินคดีกับคนที่กล้าแสดงความคิดเห็นและสร้างความหวาดกลัวในสังคม ดูจากคดีที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการประท้วงช่วงหลังๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 รวมถึงการรณรงค์ประชาธิปไตยของกลุ่มเยาวชน มันแสดงให้เห็นชัดว่าผู้มีอำนาจตั้งใจจะใช้กฎข้อนี้เพื่อจำกัดการพูด ความคิด และจินตนาการของคนในสังคมลง โดยผู้ที่โดนดำเนิคดีส่วนใหญ่ ก็เป็นเพียงผู้ที่กล้าแสดงความคิดเห็นหรือกล้าถามคำถามเกี่ยวกับสถาบันและการใช้อำนาจในประเทศไทย ถ้าเป็นประเทศอื่น ประชาชนที่ทำแบบนี้จะได้รับการยอมรับ ในขณะที่ประเทศไทย ประชาชนกลับถูกลงโทษ

2-3 ปีที่ผ่านมา คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพส่งผลกระทบกับประชาชนรวมถึงเยาวชนไทย อยากให้ช่วยอธิบายถึงเหตุผลของการเริ่มประท้วงในปี 2563/2564 คิดหรือไม่ว่านี่อาจเกิดจากความเห็นของเยาวชนเกี่ยวกับความยุติธรรมในสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว จึงออกมาประท้วงและเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันแม้จะมีกฎหมายหมิ่นฯ อยู่

จากที่เป็นผู้สังเกตการณ์ (รุ่นป้า) มองว่าเยาวชนเริ่มประท้วงเพราะไม่อยากอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการอีกแล้ว หลายคนที่อายุ 20 กว่าๆ โตมากับรัฐประหารปี 2549 และ 2557 และระบอบการปกครองที่ผิดกฎหมายที่เป็นผลพวงจากรัฐประหาร พวกเขาอยากจะอยู่กับระบอบที่ไม่เหมือนเดิม กล้าที่จะฝัน และออกมาเรียกร้อง พวกเขาดุดัน ทรงพลัง และสร้างแรงบันดาลใจได้ดี

ทราบว่าอาจารย์มีส่วนช่วยให้เกิดการพูดคุยเรื่องความยุติธรรมในสังคม เช่น แปลผลงานเขียน รู้สึกหรือไม่ว่าคนนอกเริ่มเข้าใจสถานการณ์ในไทยเปลี่ยนไปจากเดิม?

เริ่มแปลตั้งแต่ปี 2553 เพราะอาจารย์อยากอ่านรายละเอียด และการแปลก็ใกล้เคียงกับการอ่านมาก นับตั้งแต่นั้น อาจารย์ก็เริ่มแปลงานเขียนของนักโทษทางการเมือง แปลคำตัดสินศาล บันทึกนักกฎหมาย บทความของนักกิจกรรมและนักวิชาการ เรื่องสั้น และกลอน บ่อยครั้งที่อาจารย์เลือกที่จะแปลแทนที่จะเขียนบทความเองเพราะคิดว่าการได้ยินเสียงของคนที่เจอกับประสบการณ์กดขี่มากับตัวเองน่าจะดีกว่าที่มาเขียนวิเคราะห์เพิ่มเติมเอง ตอนนี้อาจารย์กำลังเรียบเรียงแปลงานของคุณภรณ์ทิพย์ มั่นคง เรื่อง “มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” หนังสือของคุณภรณ์ทิพย์เล่าถึงช่วงเวลา 2 ปีในทัณฑสถานหญิงกลางกรุงเทพฯ เพียงเพราะคดีบทละครเจ้าสาวหมาป่า ที่แสดงเมื่อเดือนตุลาคม 2556 ในวาระครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ละครเรื่องนี้สร้างความโกรธเคืองให้กับกลุ่มคนรักเจ้าผู้มองว่าละครนี้ทำให้ราชวงศ์เสื่อมเสีย และเริ่มฟ้องคดี 112 กับคุณภรณ์ทิพย์และคนที่มีส่วนร่วมกับละคร ตอนนั้นเป็นรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เลยไม่ได้มีการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมเยาวชนที่แสดงความเห็นอย่างสันติผ่านละครเวที แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหลังจากเกิดรัฐบาล 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช. คุณภรณ์ทิพย์ มั่นคง ถูกจับกุมในเดือนสิงหาคม 2557 หนังสือเรื่องมันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละเริ่มต้นด้วยตอนที่เธอถูกจับกุมและจบเรื่องราวตอนที่เธอเดินออกจากคุก สำหรับหลายๆ คน หนังสือเล่มนี้เนื้อหารุนแรง ท้าทาย แต่หลายครั้งก็ตลก คุณภรณ์ทิพย์เจอความสนุกในหลายๆ อย่างที่คาดไม่ถึง เจอความสามัคคีในช่วงที่ถูกคุมขัง และไม่เคยหยุดความเป็นศิลปินในตัว

อาจารย์รู้สึกว่าผลงานแปลด้านการเมืองของอาจารย์หลายชิ้นถูกสื่อ นักวิชาการ ทูต และนักปฏิบัติการหลายคนนำไปใช้เป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ ซึ่งอาจารย์ก็ได้นำไปสอนนักศึกษาตัวเองด้วย และตรงนี้เองที่รู้สึกว่าคนเริ่มมองอะไรแตกต่างออกไป อาจารย์สอนคลาสปริญญาตรีด้านวรรณกรรมและการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ UW-Madison สัปดาห์ที่พวกเราถกกันเรื่องมาตรา 112 นักศึกษาจะตกใจมาก พวกเขาแปลกใจเมื่อได้รู้ว่าเพื่อนๆ ของพวกเขาในเมืองไทยสามารถถูกจับเข้าคุกได้เพราะตั้งคำถามเรื่องราชวงศ์และบทบาทด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของราชวงศ์

ทราบว่ามีโครงการเกี่ยวกับความยุติธรรมในสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ UW-Madison อยากให้ช่วยเล่ารายละเอียด

เราตั้ง Justice in Southeast Asia Lab (JSEALab) ด้วยทุนของมูลนิธิ Henry Luce ที่ให้การสนับสนุนเป็นเวลา 5 ปี มีกิจกรรมให้อาจารย์และนักเรียนปริญญาโทเอกได้มาแลกเปลี่ยนกัน มีกิจกรรมสาธารณะ ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาควิชาการและภาคปฏิบัติ JSEALab นับว่าเป็นเครื่องบ่งบอกว่านักเรียนปริญญาโทและเอกด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตัดสินใจเลือกเส้นทางอาชีพนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีความต้องการที่จะให้งานวิชาการช่วยขับเคลื่อนความยุติธรรมในสังคมในภูมิภาคนี้ เราเผยแพร่บทความในวารสาร Justice in Translation ที่รวบรวมงานแปล เผยแพร่ออนไลน์แบบ open-access เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องความยุติธรรมและอยุติธรรมในภูมิภาค นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกเช่น ห้องเรียนออนไลน์ กลุ่มอ่านหนังสือออนไลน์ และการแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมระหว่างภาควิชาการและภาคปฏิบัติการ โดยสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://seasia.wisc.edu/sjsea-project/jsealab/. ขอเชิญทุกคนมาเข้าร่วมกับเราโดยส่งงานแปลมาที่ Justice in Translation ร่วมกลุ่มอ่านหนังสือ แลกเปลี่ยน หรือแม้แต่เสนอช่องทางที่ทำให้เราได้ร่วมมือกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net