Skip to main content
sharethis

112WATCH คุยกับ 'ปราชญ์ ปัญจคุณาธร' นักวิชาการรุ่นใหม่ สะท้อน 2 ปัญหาของ ม.112 แม้ไม่ได้อยู่ในไทย และข้อเสนอจัดการกฎหมายที่มีปัญหา รวมทั้งเล่าถึงความเคลื่อนไหวที่หยิบยกประเด็น 112 มาพูดถึงในชุมชนชาวไทยในสหรัฐอเมริกา พร้อม 3 ข้อเสนอต่อทางการสหรัฐฯ ต่อปัญหากฏหมายมาตรานี้

15 มิ.ย.2566 ประชาไทได้รับบทสัมภาษณ์แปลจาก เว็บไซต์โครงการ 112WATCH ที่เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ปราชญ์ ปัญจคุณาธร นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อ 22 พ.ย.ปีที่แล้ว ถึงความเห็นของเขาในฐานะคนรุ่นใหม่ ต่อการใช้มาตรา 112 กำจัดคนเห็นต่าง 

ปราชญ์ ปัญจคุณาธร นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

2 ปัญหาของ ม.112 แม้ไม่ได้อยู่ในไทย

ปราชญ์ กล่าวว่า กฎหมายหมิ่นฯ ไม่เพียงก่อให้เกิดความกังวลเท่านั้น แต่ยังสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้คนรอบตัวของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษาและนักวิชาการ เหตุที่เป็นเช่นนี้มาจากสองประการหลัก ประการแรก กฎหมายหมิ่นฯ มีผลบังคับใช้ได้ทุกที่บนโลก คุณอาจถูกดำเนินคดีและจำคุกในประเทศไทยได้เพียงเพราะแสดงความคิดเห็นของคุณในสหรัฐอเมริกา กรณีตัวอย่างคือคุณ โจ กอร์ดอน พลเมืองอเมริกันที่ถูกจำคุกในประเทศไทยจากการโพสต์เนื้อหาบางส่วนที่แปลแล้วของหนังสือขณะที่เขาอยู่ในสหรัฐฯ (หนังสือเล่มนี้คือ The King Never Smiles จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล)

ประการที่สอง กฎหมายหมิ่นฯ อยู่ในหมวด “ความมั่นคงของชาติ” ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหมายความว่าทุกคนสามารถยื่นฟ้องใครก็ได้ ใครๆ ก็สามารถให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ทั้งนั้น

สภาพการณ์เช่นนี้ส่งผลให้นักศึกษาไทยในสหรัฐฯต้องปิดปากเงียบเฉกเช่นเดียวกับที่อยู่ในประเทศไทย นักวิชาการอเมริกันก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะกลัวจะถูกจับเมื่อมาเยือนประเทศไทย แม้แต่มหาวิทยาลัยในอเมริกาเองก็ลังเลที่จะจัดงานวิชาการเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย อย่างในปี พ.ศ. 2560 ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด การสัมมนาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยยังต้องจัดขึ้นแบบปิด ไม่เปิดให้นักศึกษาสแตนฟอร์ดเข้าร่วมด้วยซ้ำ

ดังนั้นกฎหมายหมิ่นฯจึงไม่ได้เป็นปัญหาของประเทศไทยเท่านั้น มันยังสร้างปัญหาที่นี่ในสหรัฐอเมริกานี้ด้วย การใช้งานอย่างพร่ำเพรื่อรุกล้ำเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงออกแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง

วิธีการจัดการกฎหมายที่มีปัญหา

นักศึกษาปริญญาเอก กล่าาวว่า มาตรา 112 นั้นมันเกินกว่าจะมองว่าเป็นปัญหา มันรุนแรงป่าเถื่อน มันทำให้ผู้คนต้องโทษจำคุกหลายสิบปีเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยหรือแม้แต่แชร์คอมเม้นต์ของคนอื่น (แม้ว่าบทลงโทษสูงสุดคือ 15 ปี แต่ศาลมักถือว่าการแสดงความเห็นหลายครั้งเป็นการละเมิดต่างกรรมต่างวาระกัน อย่างที่หญิงไทย อัญชัญ ปรีเลิศ ถูกศาลตัดสินจำคุก 43 ปีจากการแชร์ไฟล์เสียงหลายไฟล์ที่ศาลมองว่าเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์)

ประการที่สอง กฎหมายหมิ่นฯ นั้นเอื้อให้เกิดการครอบงำการเมืองไทยโดยทหารจากการที่กฎหมายหมิ่นฯ ห้ามไม่ให้มีแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์การสนับสนุนทหารของสถาบันกษัตริย์ คิดว่ามุมมองของตนนี้น่าจะเป็นตัวแทนของคนรุ่นตนได้ (รุ่นมิลเลนเนียล) และในมวลชนคนรุ่นใหม่ (ตั้งแต่เจน Z ลงไป) มุมมองนี้นับว่ายิ่งแพร่หลายมากกว่าเสียด้วยซ้ำ วิธีจัดการกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ดีที่สุดคือยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญ แต่การรณรงค์ให้ยกเลิกหรือแก้ไขนั้นมีความเสี่ยง ใครที่ทำกลับถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายไปเสียอย่างนั้น

ประชาคมระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญอย่างมากในเรื่องนี้ แม้ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติจะแสดงความคิดเห็นบ้างเป็นครั้งคราวว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน พวกเขาควรเน้นย้ำและเผยแพร่ข้อความเหล่านี้ สมาชิกสหประชาชาติควรเรียกร้องให้ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติมาเยือนประเทศไทยและสอบสวนการปิดปากคุกคามประชาชนด้วยกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นานาประเทศควรใช้โอกาสจากการที่รัฐคุกคามประชาชนด้วยกฏหมายหมิ่นฯ นี้สร้างความอับอายให้ทางการไทยในงานระดับนานาชาติและรวมไปถึงการสร้างเงื่อนไขจากประเด็นเหล่านี้ในข้อตกลงทางการค้าและยุทธภัณฑ์กับประเทศไทย

ความเคลื่อนไหวที่หยิบยกประเด็น 112 มาพูดถึงในชุมชนชาวไทยในสหรัฐอเมริกา

ปราชญ์ กล่าวว่า คุ้นเคยกับสองกลุ่มคือ Thai Rights Now และ Alliance for Thai Democracy, USA ทั้งสองกลุ่มดำเนินการโดยนักศึกษาไทยและผู้ลี้ภัยการเมืองไทย ซึ่งหลายคนเป็นผู้ลี้ภัยจากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย พวกเขารณรงค์อย่างหนักเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในประเทศไทย และประเด็นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็เป็นหนึ่งในวาระสำคัญของพวกเขา พวกเขายื่นฟ้องต่อ UN Universal Periodic Review (UPR) เกี่ยวกับการคุกคามประชาชนด้วยกฎหมายหมิ่นฯ ในประเทศไทย พวกเขากระตุ้นเตือนความตื่นรู้ในสังคมโดยจัดให้มีการรำลึกถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของรัฐไทยรวมถึงผู้เห็นต่างในคดีหมิ่นฯ ที่หายตัวไปจากลาวและกัมพูชาระหว่างลี้ภัยในปี พ.ศ. 2561-2563 นอกจากนี้ พวกเขายังรณรงค์ให้เปลี่ยนชื่อจัตุรัสกษัตริย์ภูมิพลในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์อีกด้วย

3 ข้อเสนอต่อทางการสหรัฐฯ ต่อปัญหากฏหมายมาตรา 112

ประการแรก เป็นความผิดพลาดของสหรัฐฯ ที่ถือว่ากฎหมายหมิ่นฯ เป็นเรื่องภายในของประเทศไทย การที่ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติหลายคนได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน นี่จึงเป็นปัญหาร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศ พูดอย่างถึงที่สุด กฎหมายหมิ่นฯ ยังมีผลกระทบอย่างมากต่อการแสดงออกในสหรัฐฯ นี่เป็นเพราะกฎหมายมีผลบังคับใช้ในอนาธิปไตยของสหรัฐฯ พอ ๆ กับบนผืนแผ่นดินไทย มันปิดปากนักวิชาการและนักศึกษาในสถาบันของอเมริกา และรวมไปถึงพลเมืองและผู้อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ที่มีความสัมพันธ์กับประเทศไทย (โดยพื้นฐานแล้วคือใครก็ตามที่มีเหตุผลที่จะมาเที่ยวประเทศไทย) มันรุกล้ำคุกคามเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงออกแม้แต่ในประเทศสหรัฐฯ อเมริกาเอง

ประการที่สอง ท่าทีของสหรัฐฯ ต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพควรได้รับการปรับปรุงให้ทันกับระดับการคุกคามและทัศนคติที่เปลี่ยนไปของคนไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัชกาลใหม่ โดยพื้นฐานแล้ว ทัศนคติของคนไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทำให้การปราบปรามคุกคามจากผู้มีอำนาจมีมากขึ้น การดำเนินคดีจากคดีหมิ่นฯ เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วและมีการนำรูปแบบการปราบปรามควบคุมใหม่ ๆ มาใช้ เช่น การควบคุมตัวเป็นเวลานานก่อนการพิจารณาคดี การจับกุมในเคหะสถาน และเงื่อนไขการประกันตัวที่ผิดปกติวิสัย ถึงกระนั้น ท่าทีของสหรัฐฯ ต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็หาได้เปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ท่าทีของสหรัฐฯ ยังคงตั้งอยู่บนสมมติฐานเดิมที่ว่าสถาบันกษัตริย์ไทยได้รับความเคารพอย่างเป็นสากล และสหรัฐฯ ต้องปฏิบัติต่อสิ่งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์อย่างจำกัดจำเขี่ยแตะต้องไม่ได้ สมมติฐานนี้ล้าสมัยไปเสียแล้ว สหรัฐฯ ควรกดดันทางการไทยให้มากขึ้นเพื่อให้ทางการไทยเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เพื่อก้าวให้ทันกับการคุกคามที่ทวีความรุนแรงขึ้นและทัศนคติใหม่ของสังคม

ประการที่สาม ทางการสหรัฐฯ ควรรับประกันว่าบริษัทอเมริกันจะไม่มีส่วนรู้เห็นในการปราบปรามประชาชนด้วยกฏหมายหมิ่นฯ โดยรัฐไทย แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตของอเมริกาไม่ควรให้ข้อมูลใด ๆ แก่ทางการไทยที่อาจนำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นฯ อีกทั้งยังไม่ควรทำตัวให้เป็นเครื่องมือในการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ แม้ว่าอำนาจของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการบังคับกะเกณฑ์บริษัทต่างๆ อาจถูกจำกัดด้วยกฎหมายของอเมริกาเอง แต่ยังมีช่องทางอีกมากมายสำหรับการทำงานร่วมกันในประเด็นนี้โดยไม่บีบบังคับ รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถออกคำแนะนำไปยังแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับประเด็นเร่งด่วนด้านสิทธิมนุษยชนเฉพาะประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของประเทศไทย การหลีกเลี่ยงไม่ให้มีส่วนร่วมให้การคุกคามประชาชนด้วยกฎหมายหมิ่นฯ ควรจัดอยู่ในลำดับต้นๆ

ความหวังต่อคนไทยที่เคลื่อนไหวปฎิรูปสถาบันและ ม.112

ปราชญ์ กล่าวว่า ได้แต่ขอบคุณสำหรับความกล้าหาญของพวกเขา พวกเขาเป็นกลุ่มแรกๆ ที่กล้าออกมาประท้วงเรียกร้องต่อสถาบันกษัตริย์ในที่สาธารณะ ยอมเสี่ยงภยันตรายร้อยแปดในนามของเรา ในเวลาที่ผู้เห็นต่างในคดีหมิ่นฯ ถูกอุ้มหายในประเทศเพื่อนบ้าน บางศพถูกพบในแม่น้ำโขงในสภาพที่น่าสยดสยอง ความเสี่ยงต่อชีวิตของพวกเขาเป็นเรื่องที่จริงเสียยิ่งกว่าจริง ตนยืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับพลเมืองของตนที่ออกมาส่งเสียงเรียกร้อง และจะทำในสิ่งที่ทำได้อย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนความยุติธรรมและประชาธิปไตย ขอเรียกร้องให้ประชาชนพลเมืองและผู้มีอำนาจทั้งหลายในโลกประชาธิปไตยกระทำเช่นเดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net