Skip to main content
sharethis

ย้อนอ่านมุมมอง เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเล็กซานเดอร์ นักวิชาการภาษาศาสตร์เชิงสังคม ม.อุบล ซึ่งให้สัมภาษณ์กับ 112WATCH ก่อนเลือกตั้ง ถึงโจทย์ ม.112 กับการเลือกตั้งครั้งนี้ และพัฒนาประชาธิปไตย

22 ส.ค.2566 เว็บไซต์โครงการ 112WATCH ที่เผยแพร่บทสัมภาษณ์ เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเล็กซานเดอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์เชิงสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พ.ค.66 กับประเด็นกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์มีผลกับการเลือกตั้งในประเทศไทยอย่างไร 

112WATCH: มาตรา 112 มีผลกับการเลือกตั้งในประเทศไทยอย่างไรบ้าง?

เสาวนีย์ : กฎหมายมาตรานี้เป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการเลือกตั้งครั้งนี้เลย เราได้เห็นหลายพรรควางจุดยืนอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับกฎหมายข้อนี้ หลายพรรคไม่สามารถเลี่ยงตอบได้ว่าจริงๆ แล้วพรรคมีความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายข้อนี้และการบังคับใช้กฎหมายอย่างไร ประเด็นนี้ร้อนแรงถึงขั้นที่ว่าพรรคใหม่ๆ อย่างเช่น พรรคสามัญชนประกาศจุดยืนเรื่องการยกเลิกมาตรา 112 ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ให้ความสนใจกับประเด็นนี้ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับกฎหมายข้อนี้ ตอนนี้ทุกคนมีสิทธิ์เลือกแล้วที่คูหาเลือกตั้ง ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การพูดถึงมาตรา 112 จำเป็นต้องมีการกล่าวอ้างถึงสถาบันเนื่องจากกฎหมายข้อนี้เกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์โดยตรง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้นำพรรคอภิปรายกันทางทีวีในสื่อกระแสหลักกันแบบเปิดเผย ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นกัน คดี 112 เลยเป็นเหตุผลที่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จึงสำคัญมากๆ ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร สังคมไทยก้าวไปข้างหน้าแล้วเกี่ยวกับการพูดคุยถึงกฎหมายข้อนี้และผลกระทบในที่สาธารณะ

นับตั้งแต่การประท้วงปี 2563 เยาวชนไทยโดนคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เหตุการณ์นี้สร้างความกังวลให้กับสังคมไทยและนานาชาติอย่างไร

เสาวนีย์ : กังวลมากขึ้นแน่นอนเพราะมีคดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหลายๆ ภูมิภาค คนที่โดนคดีไม่ใช่แค่แกนนำระดับประเทศ แต่แกนนำในต่างจังหวัดก็โดนคดีในจังหวัดตัวเองเช่นกัน บางคนเป็นเยาวชน บางคนเกี่ยวข้องกับการประท้วงการเมือง บางคนก็ไม่เกี่ยวเลย ผู้เห็นเหตุการณ์บางคนเริ่มเห็นว่าคดีเหล่านี้ใกล้ตัวขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ลูกหลานหรือคนในครอบครัวเริ่มโดนคดีกฎหมายนี้เองบ้างแล้ว คนในต่างจังหวัดกลายเป็นคนที่ต้องติดตามข่าวเกี่ยวกับกฎหมายข้อนี้ ยิ่งทุกวันนี้ข่าวสารกระจายรวดเร็วในช่องทางดิจิตอลต่างๆ เรื่องการจับกุมเยาวชนยิ่งกระจายไปทั่ว นี่ยังไม่นับคดีผู้ป่วยทางจิต ประเด็นนี้น่าเป็นห่วงเพราะเป็นคำถามด้านศีลธรรมว่าเราจะมองผู้กระทำความผิดอย่างไรในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นเยาวชนและผู้ป่วยทางจิต เรื่องนี้ก็อาจจะเป็นเรื่องที่น่ากังวลในระดับนานาชาติเช่นกัน

จากการที่เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประท้วงมากขึ้น อธิบายได้ไหมว่า การเปลี่ยนยุคสมัย (generation shift) มีผลกระทบต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในไทยอย่างไร 

เสาวนีย์ : ที่ตนเข้าใจคือ generation shift เป็นผลจากหลายๆ อย่างไม่ใช่แค่อายุ มันเกิดจากว่าแต่ละรุ่นเจอกับบริบททางสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจแบบไหนและตอบสนองอย่างไร การที่จะเข้าใจว่า generation shift เกี่ยวกับการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไรต้องมาคุยกันเรื่องบริบทที่พวกเขาเจอกันก่อน ตนคิดว่าในปี 2563 สถานการณ์ทางการเมืองผลักให้เยาวชนมาถึงจุดที่ต้องลงถนนมาประท้วง เยาวชนหลายๆคนที่มาเข้าร่วมอยู่ภายใต้เผด็จการมาตั้งแต่ปี 2557 หรืออาจจะนับย้อนไปถึงตอนที่บรรยากาศทางการเมืองเริ่มแย่มาตั้งแต่ปี 2549 ก่อนที่พวกเขาจะเกิดอีก การเลือกตั้งในปี 2562 สร้างความผิดหวังให้กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกอย่างมากแม้ว่าพรรคฝั่งประชาธิปไตยจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง นอกจากนี้ เยาวชนยังต้องเจอกับการจัดการโควิด 19 ของรัฐบาลอีก หลายคนรู้สึกว่าไม่มีอะไรจะเสีย ต้องทิ้งไพ่ใบสุดท้าย เลยเกิดคำขวัญที่ว่า “ให้มันจบที่รุ่นเรา” จนแพร่หลายในกลุ่มผู้ประท้วงทั่วประเทศ ตนคิดว่าอายุของเยาวชนเหล่านี้ยังไม่เจอกับภาระเยอะ หรือยังไม่มีข้อจำกัดในชีวิต พวกเขาเลยมองทุกอย่างด้วยอุดมคติและกล้าขับเคลื่อนมากกว่าคนรุ่นอื่น ผู้ประท้วงรุ่นเยาว์นี้เลยอยากจะช่วยยกปัญหาของชาติขึ้นมา พวกเขาซื่อตรงกับสิ่งที่พวกเขาคิดและสิ่งที่พวกเขาเชื่อ แน่นอนว่าอาจจะมีหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ ยุทธศาสตร์ หรือแม้แต่ความเชื่อทางการเมืองของพวกเขา แต่ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าพวกเขาต้องเริ่มถกกันเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ตนเชื่อว่าการรับฟังและถกเถียงกันในแบบอารยชนคือหนทางที่จะพัฒนาไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตย

มีความหวังหรือไม่ว่าหลังจากการเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงปัญหามาตรา 112 ได้

เสาวนีย์ : ขึ้นอยู่กับว่าพรรคไหนชนะการเลือกตั้งและชนะขาดหรือไม่ และขึ้นกับว่าพรรคนั้นจะสามารถตั้งรัฐบาลได้เลยหรือไม่ ถ้าพรรคฝั่งประชาธิปไตยสามารถตั้งรัฐบาลได้ ก็เป็นไปได้ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาที่พูดไว้ตอนหาเสียงได้ แต่สำหรับมาตรา 112 ตราบใดที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่อยากจะมาคุยกันแบบตรงๆ เกี่ยวกับการนำไปใช้ในทางที่ผิด (ซึ่งเกิดขึ้นได้กับกฎหมายทุกข้อ) หรือเกี่ยวกับการบังคับใช้มากเกินไป ปัญหากับกฎหมายข้อนี้มันก็ยังอยู่ สำหรับตนแล้ว เราต้องเปิดใจ พูดคุยกันแบบเปิดเผย นี่คือจุดเริ่มต้นเลย ตนคิดว่าสิ่งที่สังคมต้องการมากที่สุดตอนนี้ไม่ใช่คำตอบของความขัดแย้งหรือปัญหาระดับชาติ แต่เราต้องการเวทีที่เราจะเริ่มพูดคุยกันถึงปัญหานี้โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนเข้าใจผิด กลัวว่าจะโดนตัดสิน และกลัวว่าจะโดนฟ้อง

มีคำแนะนำอย่างไรในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ในแบบอุดมคติ

เสาวนีย์: จริงๆ แล้วตนไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมาตรานี้อย่างไร แต่อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ เราจำเป็นต้องรับรู้ก่อนเลยว่าประเทศของเรานีมีปัญหากับมาตรานี้ (เช่นเดียวกับกฎหมายข้ออื่นๆ) และคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจะต้องพูดคุยกันเชิงสร้างสรรค์ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ในโลกอุดมคตินั้น เราจะต้องมีสังคมที่ปลอดภัยที่เราสามารถแลกเปลี่ยนสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกันก็เคารพความเห็นต่างของคนอื่น เพื่อที่จะแก้ปัญหาข้อขัดแย้งด้วยสันติวิธี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net