Skip to main content
sharethis

โรม แจงปมเสนอเปลี่ยนวันชาติเป็นความเห็นส่วนตัว ขอโฟกัสโหวตประธานสภา-ตั้งรัฐบาลก่อน หวัง ส.ว. ยึดมาตรฐานเดียวกับปี 62 โหวตนายกฯ  

26 มิ.ย. 66 หลายสำนักข่าวรายงานตรงว่า รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวชี้แจง กรณีมีข้อเสนอให้วันที่ 24 มิ.ย. เป็นวันชาติ โดยระบุว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร มีการถกเถียงกันมานานแล้ว พอมาเป็นประเด็นในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งก็คงจะมีความมุ่งหมายทางการเมืองที่จะสร้างประเด็นกับพรรคก้าวไกล ใช้กระบวนการดังกล่าวมุ่งหวังให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

โดย รังสิมันต์ ได้พูดถึงข้อเสนอดังกล่าวในงานเสวนาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (24 มิ.ย.) ในหัวข้อ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ”ในวาระ 91 ปี ประชาธิปไตยไทย ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

วอยซ์ออนไลน์รายงานคำพูดรังสิมันต์ ระบุว่า เรื่องการเปลี่ยนวันชาติยังไม่เคยมีการพูดคุยกันในพรรค การพูดของตนในงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการพูดในประเด็นประวัติศาสตร์ เป็นการพูดในเรื่องของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งเป็นมุมมองส่วนตัว แต่ต้องยอมรับว่า เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เช่นกันว่า ครั้งหนึ่งประเทศไทยของเรา เคยมีวันชาติ วันที่ 24 มิ.ย.

สำหรับโฟกัสของพรรคก้าวไกล ณ ขณะนี้คือ การจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนที่ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงในวันเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 66 การที่เราจะตั้งรัฐบาลได้ สุดท้ายเราก็บริหารประเทศประชาชนชื่นชอบประชาชนเห็นด้วยอย่างไรเป็นเรื่องของประชาชน

สิ่งที่เราคาดหวังเมื่อตอนปี 62 มีการพูดในหมู่ ส.ว. ที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เราก็หวังว่า ส.ว.จะใช้มาตรฐานนี้ในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลก็ควรที่จะเดินต่อไปได้ ซึ่งตอนนี้เราก็มองไปถึงการโหวตประธานสภาฯ ก่อน ซึ่งวันที่ 4 ก.ค. นี้จะได้รับทราบผลของการลงมติจะเป็นอย่างไร

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยจริงพรรคก้าวไกลจะทำอย่างไร เดอะรีพอร์ตเตอร์ รายงานคำพูดรังสิมันต์กล่าวว่า ตนมองว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างยาก เพราะ 

1. เท่าที่ติดตามดีเบตมาบางพรรคการเมืองก็พูดตรงกัน ว่าโอกาสที่จะมีรัฐบาลเสียงข้างน้อยคงเป็นไปไม่ได้

2. รัฐบาลเสียงข้างน้อยบริหารยาก ถึงที่สุดก็ต้องผ่านกฎหมายผ่านสภา ทั้งเรื่องงบประมาณ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้นตนยังมั่นใจว่าวิถีทางที่เราเสนอต่อสังคมในการจับมือ 8 พรรค รวมเสียงกันได้ 313 เสียง เป็นทางออกเดียวและทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยในตอนนี้ 

ย้อนรอยวันชาติ 24 มิถุนา

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์คณะราษฎร เขียนบทความลงบนเว็บไซต์ '101.world' ระบุว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 มา 6 ปี รัฐบาลนำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 18 กรกฎาคม 2481 ความว่า "ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติว่า วันที่ 24 มิถุนายน ย่อมถือว่าเป็นวันชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป" ซึ่งวันที่ 24 มิถุนายน ตรงกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร เมื่อปี 2475 อีกด้วย 

ที่มา: เอกสารจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

หลังจากนั้น เมื่อปี 2482 ในสมัยของหลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เริ่มมีการเฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรก และวันที่ 24 มิ.ย. 2482 เดียวกันนี้เองที่รัฐบาลได้ประกาศรัฐนิยมฉบับแรกเปลี่ยนชื่อประเทศจาก 'สยาม' เป็น 'ไทย'

อย่างไรก็ตาม หลังการทำรัฐประหารปี 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โค่นล้มจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของคณะราษฎร รัฐบาลสฤษดิ์ ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ 21 พ.ค. 2503 เรื่อง "ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองวันชาติของไทย" ส่งผลให้วันชาติของไทยเป็นวันที่ 5 ธ.ค. โดยให้เหตุผลว่า "เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศพี่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นหลักการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อ โดยยกเลิกวันชาติ ในวันที่ 24 มิถุนายน เสีย" 

ก่อนที่เดือนถัดมา 8 มิ.ย. 2503 รัฐบาลออกประกาศอีกฉบับหนึ่งยกเลิกการหยุดราชการวันที่ 24 มิถุนายน เพราะไม่ใช่วันชาติอีกต่อไป ตามด้วยประกาศลงวันที่ 20 มิ.ย. 2503 ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับระเบียบการชักธงชาติที่ให้ชักและประดับธงชาติในวันที่ 23-25 มิ.ย.

ที่มา: เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net