Skip to main content
sharethis

ทางการไทยส่งตัวผู้ต้องหาชาวไทย 4 คนให้ทางการมาเลเซียในคดีลักลอบค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาจากกรณีพบหลุมศพในค่ายพักของขบวนการค้ามนุษย์ที่ชายแดนไทย-มาเลเมื่อปี 2558 ส่วนทางมาเลเซียตั้งข้อหาตามกฎหมายต่อต้านค้ามนุษย์และศาลไม่ให้ประกัน

23 มิ.ย.2566 สำนักข่าวไทยรายงานว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) ร่วมกับ NGO ในไทย แถลงข่าวการส่งตัวผู้ต้องหาคนไทยจำนวน 4 คนในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาให้กับทางการมาเลเซียเพื่อดำเนินคดีจากกรณีที่พบค่ายพักของชบวนการค้ามนุษย์และหลุมฝังศพหมู่ในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยและมาเลเซียเมื่อปี 2558

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ระบุว่าการดำเนินการครั้งนี้เป็นไปตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนหลังจากเมื่อช่วงปี 2565 ได้รับการประสานความร่วมมือจากทางการมาเลเซียให้ติดตามผู้ต้องหาทั้งหมด 9 คน ในคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาโดยมีการขนคนไปทำทารุณและฆ่า โดยทางการไทยติดตามจับกุมได้ 4 คน มีเสียชีวิตไป 2 คน และอีก 3 คนยังอยู่ระหว่างต้องโทษคดีอื่นในเรือนจำไทยหากพ้นโทษแล้วจะมีการดำเนินการส่งตัว 3 คนนี้ต่อให้กบัทางมาเลเซียต่อไปจึงถือว่าได้จับกุมครบทั้ง 9 คนแล้วตามหมายจับที่ออกโดยมาเลเซีย โดยหลังจับกุมทางการมาเลเซียได้ขอให้ส่งตัวผู้ต้องหา 4 คนที่เหลือไปดำเนินคดีที่มาเลเซีย

รอง ผบ.ตร.กล่าวต่อว่าเมื่อวานนนี้ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซียเดินทางมาที่ประเทศไทยเพื่อมารับตัวผู้ต้องหาทั้งี่ 4 คนกลับไปดำเนินคดี

ในรายงานระบุว่าคดีนี้เกี่ยวกับกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารพบศพผู้เสียชีวิตชาวโรฮิงญารวมกว่า 30 ศพ บริเวณแคมป์คนงานกลางป่า บนเขาแก้ว ในพื้นที่หมู่ 8 บ้านตะโล๊ะ ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 และยังขยายผลพบหลุมศพที่มีศพชาวโรฮิงญาอีก 180 ศพในพื้นที่รัฐปะลิศ ประเทศมาเลเซีย โดยศพเหล่านี้เป็นชาวโรฮิงญาที่ลักลอบเข้ามาและหลบซ่อนในบริเวณค่ายดังกล่าวเพื่อรอส่งตัวไปประเทศที่ 3 และสามารถจับกุมดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจและนักการเมืองท้องถิ่นจำนวนมาก

นอกจากนั้นทางการมาเลเซียยังดำเนินคดีค้ามนุษย์และมีการออกหมายแดงจากตำรวจสากล และประสานมายัง สตช.ของไทยเพื่อติดตามจับกุมผู้ร่วมขบวนการด้วย

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวเพิ่มเติมว่ายังได้สั่งกำชับให้ผู้กำกับการสถานีตำรวจตามชายแดนเฝ้าระวังการลักลอบขนแรงงานเถื่อนเข้าประเทศและจะมีลงโทษทางวินัยกับผู้กำกับของสถานีเป็นลำดับแรกหากพบว่าพื้นที่ไหนปล่อยให้มีการลักลอบเข้ามาในประเทศไทย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานการดำเนินการจากทางฝั่งมาเลเซียด้วยว่าทางการมาเลเซียดำเนินคดีกับคนไทยทั้ง 4 คนตามกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์และต่อต้านการลักลอบขนผู้อพยพ 2007 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปีและปรับ อีกทั้งศาลยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวและไม่ปรากฏคำให้การที่ของผู้ต้องหาชาวไทย

รอยเตอร์ระบุอีกว่าเมื่อปี 2562 ทางการมาเลเซียเริ่มกระบวนการไต่สวนเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้พบว่ามีช่องโหว่ของการลาดตระเวณชายแดน แต่ไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายข้าราชการหรือประชาชนในท้องที่ของฝั่งมาเลเซียเกี่ยวข้องกับกระบวนการลักลอบค้ามนุษย์หรือองค์กรลักลอบขนผู้อพยพใดๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net