Skip to main content
sharethis

The Reporters สัมภาษณ์ 'ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ' แจงไม่มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน บัตรสอบถามประชามติ เป็นการจำลองสอบถามความเห็นสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเอง ยืนยันไม่มีพรรคการเมืองหนุนหลัง

 

สืบเนื่องจากกิจกรรมของ "ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ" เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2566 ตามที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีการจัดทำประชามติที่เกี่ยวข้องกับเอกราชปาตานี ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กลายเป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงในหลายวันที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ วานนี้ (12 มิ.ย.) 'ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน' ซึ่งเป็นกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ตึก กพ. ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ประตู 4 เพื่อเรียกร้องให้ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐฒนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดำเนินการตรวจสอบ และยกเป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากแถลงการณ์ เสวนา และการจำลองประชามติ อาจเข้าข่ายความผิดความมั่นคงนั้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

13 มิ.ย. 2566 สื่อ The Reporters รายงานวันนี้ (13 มิ.ย.) สัมภาษณ์ อักรอม วาบา รองประธานขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ และฮุซเซ็น บือแน เลขาธิการขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) เขตยะลา เมื่อ 11 มิ.ย. 2566 ต่อประเด็นดังกล่าวข้างต้น

ฮุซเซ็น บือแน เลขาธิการ ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ เขตยะลา ชี้แจงว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่มีขบวนการนักศึกษาเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงเป็นเหตุให้ต้องรวมตัวเพื่อก่อตั้งขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ หรือ Patanian Student Movement - Pelajar Bangsa เพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางการเมือง และประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ โดยยึดหลักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติวิธี

ฮุซเซ็น ระบุต่อว่า เดิมทีเราเคยมีสหพันธ์นิสิตนักศึกษาและนักเรียนเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS แต่ปิดตัวไปเมื่อ 2-3 ปีก่อน โดยขบวนการนักศึกษาแห่งชาติไม่ได้มาเพื่อทดแทน แต่เรารวมตัวกันเพื่อให้เห็นว่านักศึกษายังมีความสำคัญในการขับเคลื่อนพื้นที่ปาตานี 

อักรอม วาบา รองประธานขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า นับแต่ PerMAS ยุติบทบาทลง ไม่มีขบวนการใดต่อสู้เรื่องการเมืองอย่างจริงจัง โดยขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ถือเป็นปัจเจกบุคคล ที่รวมตัวกันได้นานเกือบหนึ่งปี ส่วน PerMAS ถือเป็นองค์กรสมาชิก ซึ่งทั้งสองไม่มีความเกี่ยวข้องกัน  

สำหรับแถลงการณ์เรื่องที่มาของการตั้งขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ฮูเซ็น กล่าวว่า แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวนำเสนอแนวคิด "การกำหนดชะตากรรมตนเอง" หรือ RSD (Right to Self-determination) เพราะเป็นสิ่งที่พูดถึงมาหลายสิบปี แต่กลับยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเสียที เราต้องการให้ประชาชนเป็นคนกำหนดชีวิตและความต้องการของตนเอง ซึ่งทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

รองประธานขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนเรื่องการจัดทำประชามติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน บัตรประชามติเขียนชัดเจนว่า "คุณเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดชะตากรรมตนเอง" เพื่อผู้เข้าร่วมงานจะได้มีสิทธิทำประชามติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่สอบถามว่า "คุณเห็นด้วยหรือไม่กับความต้องการเอกราช" ตามข่าว ซึ่งในบัตรสอบถาม ว่า คุณเห็นด้วยกับ "สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง" หรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียง ประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย และไม่ใช่การจัดทำประชามติจริง เพราะการจัดทำประชามติ ต้องออกเป็นกฎหมาย 

อักรอม ยืนยันว่าภายในงานไม่ได้มีการสอบถามการแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด ยอมรับว่ารู้สึกตกใจ เพราะไม่คิดจะทำให้เกิดประเด็นได้เช่นนี้ เนื่องด้วยมีปฏิบัติการข่าวสาร (IO) และการเชื่อมโยงโดยสื่อบางสำนักสื่อสารออกไปว่าพวกเราจะแบ่งแยกดินแดน และมีพรรคการเมืองหนุนหลัง ซึ่งไม่มีเค้าโครงความจริง

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการ โดยได้เชิญตัวแทนพรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ และพรรคเป็นธรรม เข้าร่วม เนื่องด้วยเป็นพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่ และสนับสนุนประชาธิปไตย ยิ่งในช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน เราจึงมีสิทธิแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง การกำหนดชะตากรรมตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

แม้ประธานขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ จะเป็นบุตรชายของ นัจมุดดีน อูมา สมาชิกพรรคภูมิใจไทย สมาชิกของพรรคเป็นหลานของนักการเมืองหลายคน อาทิ หลานชายของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ หรือตนเองที่อยู่ในตระกูลวาบา ถูกเชื่อมโยงกับพรรคประชาธิปัตย์ หรือเชื่อมโยงไปว่าพรรคก้าวไกล และพรรคเป็นธรรมอยู่เบื้องหลัง ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติขอยืนยันว่า การจัดกิจกรรมนี้ไม่มีผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นไปตามเจตนารมณ์นักศึกษาแห่งชาติทั้งสิ้น 

ข้อห่วงกังวลต่อกรณีที่ กอ.รมน. ระบุว่าจะดำเนินคดีกับขบวนการนักศึกษาแห่งชาตินั้น ฮูเซ็น เชื่อว่า วงเสวนา และการทำประชามติ เป็นสิ่งที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย หากสิทธิและเสรีภาพในการพูดคุยผิดกฎหมาย คงเป็นตัวกฎหมายต่างหากที่ผิด ปัญหาในพื้นที่บ้านของเรามีมากขึ้น ทุกวินาทีคือความสูญเสีย การกำหนดชะตาชีวิตตนเอง เป็นแนวทางที่เราเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถึงความต้องการของตนเอง 

การกำหนดชะตากรรมตนเอง ถูกหยิบยกเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เพียงแต่ที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้ลงมาแก้ปัญหา การทำประชามติเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่หากมีแนวทางอื่นที่จะเสนอทางขบวนการนักศึกษาแห่งชาติก็พร้อมสนับสนุน แต่ต้องเป็นแนวทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย สันติวิธี และไม่ใช้อาวุธ

อักรอม ยอมรับว่าเป็นห่วงครอบครัว เพราะที่ผ่านมาเขาจะคุกคามไปถึงครอบครัว ล่าสุดได้รับรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปถ่ายรูปหน้าบ้านของเพื่อนสมาชิกบ้างแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออก 

"ทุกวินาทีมีค่าสำหรับคนปาตานี ไม่ใช่ให้รอถึง 4 ปี เพราะที่นี่มีคนสูญเสีย มีคนตายด้วยความขัดแย้ง งบประมาณหลายสิบล้านลงมาแต่ไม่ได้รับการพัฒนาและแก้ปัญหา เชื่อว่าการแก้ปัญหาด้วยการกำหนดชะตากรรมตนเองจะตอบโจทย์" อักรอม ทิ้งท้าย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net