Skip to main content
sharethis

งาน “จะนะน่าอยู่นะจ๊ะ” ด้วยแนวคิด “ถนนสายศิลปะ” แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของอำเภอ โดยเชื่อมโยงเรื่องราวของทะเล ป่า เขา และวัฒนธรรมเข้ากับงานศิลปะ ผ่านการแต่งแต้มสีสันลงบนถนนและกำแพง เวิร์คช็อปศิลปะ การแสดงและดนตรี แถมอิ่มอร่อยกับอาหารท้องถิ่น 

โครงการรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ประเทศไทย แจ้งข่าวเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2566 ว่างาน “จะนะน่าอยู่นะจ๊ะ” ถูกจัดขึ้นบนถนนกลางอำเภอจะนะ ด้วยแนวคิด “ถนนสายศิลปะ” เพื่อแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของอำเภอ โดยเชื่อมโยงเรื่องราวของทะเล ป่า เขา และวัฒนธรรมเข้ากับงานศิลปะ ผ่านการแต่งแต้มสีสันลงบนถนนและกำแพง เวิร์คช็อปศิลปะ การแสดงและดนตรี แถมอิ่มอร่อยกับอาหารท้องถิ่น งานนี้จัดขึ้นโดยเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ร่วมกับ Around The Room Studio และกรีนพีซ ประเทศไทย 

ภายในงานประกอบด้วยนิทรรศการภาพถ่าย ที่มีตั้งแต่ภาพถ่ายวิถีชีวิตชาวจะนะ ไปจนถึงภาพถ่ายทรัพยากรธรรมชาติตั้งแต่ยอดเขาจรดใต้ทะเล โซนเวิร์คช็อปที่ประกอบด้วยการสอนทำภาพพิมพ์ปลาสไตล์ญี่ปุ่นโบราณโดยใช้ปลาจากทะเลจะนะ การนำดินลูกรังจะนะมาทำผ้ามัดย้อม โซนอาหารที่อัดแน่นด้วยเมนูท้องถิ่น คู่ไปกับการแสดงศิลปะและดนตรีที่มีตลอดทั้งวัน 

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาประเด็น “เสียงแห่งจะนะ: เรื่องราวของจะนะผ่านข้อมูลชุมชน”  และเปิดตัวเว็บไซต์ Voice of Chana เว็บไซต์ที่เผยผลกระทบนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่อาจเกิดขึ้นต่อดิน ฟ้า อากาศ และสุขภาพคนในชุมชน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดชาวจะนะและกรีนพีซ ร่วมเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงสองปีที่ผ่านมา 

กิตติภพ สุทธิสว่าง เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่า “งานนี้เกิดขึ้นจากฐานข้อมูลที่เราทำมา เราจัดงานเพื่อประกาศว่าบ้านเรามีศักยภาพ มีภูมิปัญญาและมีองค์ความรู้ที่จะสามารถต่อยอดได้ เพื่อให้เห็นว่าพี่น้องจะนะภูมิใจในบ้านของตนเอง ภูมิใจในภูมิปัญญา ทรัพยากร วัฒนธรรม และองค์ความรู้ของเรา

“ทรัพยากรบางครั้งดูเหมือนไม่ตอบโจทย์จีดีพี ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจ แต่การพัฒนาแบบนี้มันตอบโจทย์ชุมชนทั้งในแง่เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วันนี้คนที่มางานหลากหลาย เขาบอกเราว่าหลายอย่างน่าสนใจ นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็น ใครสนใจก็จับมือกันเพื่อต่อยอดพัฒนา ให้เด็กรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าจับมือกัน  และช่วยกันทำงาน”

ณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “เราได้ทำงานร่วมกับชาวจะนะมามากกว่าสองปี และได้เห็นความสวยงามและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ที่นำมาซึ่งการพึ่งพิงกันระหว่างชาวจะนะและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือความรักของพวกเขาที่มีต่อบ้านเกิด สิ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้ชาวจะนะลุกขึ้นต่อสู้กับโครงการนิคมอุตสาหกรรมตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

“งานนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในความมุ่งมั่นที่จะเผยแพร่ให้คนภายนอกได้เห็น ได้สัมผัส ถึงความอุดมสมบูรณ์ที่พวกเขาพูดมาตลอด และแสดงให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้อาจหายไปหากนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน”

ถนนสายศิลปะเส้นนี้เกิดจากความพยายามของชาวชุมชนในการถ่ายทอดเรื่องราวของจะนะผ่านศิลปะ อาหาร และการแสดง เพื่อให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และความรักของชุมชนต่อทรัพยากร และได้มีส่วนร่วมในการออกแบบการพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net