Skip to main content
sharethis

กรีนพีซ ประเทศไทย , สภาลมหายใจ และกลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ ร่วมสะท้อนปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือที่มีสาเหตุมาจากระบบอาหารอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ในงานเสวนา “ฝุ่นเขา ฝุ่นเรา ฝุ่นใคร” รายงานของกรีนพีซ ชี้ พื้นที่ป่าและพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า จาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่

 

25 พ.ย. 2565 กรีนพีซ ประเทศไทย , สภาลมหายใจ , กลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ และเครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมกันจัดงาน “เทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่” ครั้งที่ 2 (Eat Healthy, Breathe Happily) สะท้อนปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือที่มีสาเหตุมาจากระบบอาหารอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ แลกเปลี่ยนมุมมองด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ส่งผลกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน

ภายในงานมีการเสวนา “ฝุ่นเขา ฝุ่นเรา ฝุ่นใคร” โดย ชนกนันทน์ นันตะวัน หัวหน้ากลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ , ปริศนา พรหมมา หัวหน้าแผนงานเสริมความเข้มแข็งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาลมหายใจเชียงใหม่ และรัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย

ชนกนันทน์ นันตะวัน , ปริศนา พรหมมา , รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

ชนกนันทน์ กล่าวว่า การชี้โทษไปยังเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ว่าเป็นผู้เผาและเป็นผู้ก่อมลพิษไม่ได้ช่วยให้เกิดประโยชน์อะไร เพราะต้นเหตุที่แท้จริงคือการบริโภคของคนในสังคม อุตสาหกรรมอาหาร และนโยบายการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวของรัฐบาลที่บีบบังคับให้เกษตรกรต้องใช้วิธีการเผาซ้ำ ๆ คือวิฤตที่สำคัญที่ทุกคนต่างต้องช่วยกันแก้ไขและเร่งสร้างความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ผู้ที่เป็นต้นเหตุของการก่อมลพิษจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ สม-ดุล เชียงใหม่ เห็นว่าการสร้างความยุติธรรมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่นี้จึงเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนและทุกเครือข่ายมาร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่และระดับภูมิภาค

เมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา กรีนพีซ ประเทศไทยได้เผยแพร่รายงาน “เติบโตบนความสูญเสีย : ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเกษตรพันธสัญญาในภาคเหนือของไทย” เป็นรายงานศึกษาถึงแบบแผนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในรายงานพบว่าระหว่างปี 2545-2565 พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือตอนบนของไทยเพิ่มขึ้นจาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ ซึ่งคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า และมีอัตราคงที่หลังจากปี 2550 แต่พบว่ามีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะรัฐฉาน เมียนมา และภาคเหนือของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมายาวนานเรื้อรัง แต่ยังไร้ภาระรับผิดจากอุตสาหกรรมที่ได้รับผลประโยชน์จากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในภูมิภาค

ปริศนา จากสภาลมหายใจเชียงใหม่ ระบุว่า พืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวทุกตัวเมื่อปลูกซ้ำ ๆ บนพื้นที่เดิมเป็นเวลานาน ผลผลิตจะค่อย ๆ ลดลง สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น การก้าวเข้าสู่วงจรของพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นง่าย แต่การก้าวออกจากวงจรนี้นั้นยากที่สุด เนื่องจากหนี้สินเกษตรกร ประกอบกับปัจจัยทางสภาพภูมิศาสตร์ และนโยบายของรัฐแบบรวมศูนย์

รัตนศิริ นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรมเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ตามนโยบายสนับสนุนแรงจูงใจของรัฐต้องแลกมาด้วยการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องสร้างกลไกทางกฎหมายและดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อเอาผิดภาคอุตสาหกรรมต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อกรกับความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ก่อนที่กลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ กรีนพีซ ประเทศไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ว่า “ราวสองทศวรรษที่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนต้องรับความเสี่ยงทางสุขภาพจากปัญหามลพิษทางอากาศ แต่กลับไร้การแก้ปัญหาอย่างจริงจังจากภาครัฐ อุตสาหกรรมผู้ได้รับผลประโยชน์เชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในห่วงโซ่อุปทานอาหารสัตว์ควรมีภาระรับผิด และถึงเวลาที่ภาครัฐจำเป็นต้องแสดงเจตนารมณ์และดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อเอาผิดภาคอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เพื่อต่อกรกับความเร่งด่วนของวิกฤตสุขภาพของประชาชนในภาคเหนือตอนบนของไทย”

 

 

เทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ครั้งที่ 2 

จัดขึ้นที่สวนป่าในเมือง แม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่

ระหว่างวันที่ 25 - 27 พฤศจิกายน 2565 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net