Skip to main content
sharethis

เครือข่ายแรงงานแถลงหน้ากระทรวงแรงงาน ประณาม รมว.กระทรวงแรงงาน โพสต์เฟซฯ ขู่ถอนใบอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติที่ร่วมม็อบวันแรงงาน หากพบทำกิจกรรมผิด ม.112 หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย พร้อมประณามสื่อบางสื่อที่รายงานข่าวไม่ครบถ้วน-ไม่ถูกต้อง สร้างความเกลียดชังต่อแรงงานข้ามชาติ และเรียกร้องให้ทั้งหมดขอโทษสาธารณชนเป็นเวลา 7 วัน 

 

12 พ.ค. 2566 สื่อ The Reporters รายงานวานนี้ (9 พ.ค.) เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ หรือ MGW และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง อ่านแถลงการณ์หน้ากระทรวงแรงงาน เรื่อง "ชี้แจงกิจกรรมวันกรรมกรสากล 2566 ตามที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานข่มขู่ถอนใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ และปลุกปั่นความกลัวถูกฟ้องปิดปากด้วยมาตรา 112"

ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนอ่านแถลงการณ์ระบุว่า สืบเนื่องจากเมื่อ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมโดยแรงงาน แบ่งเป็นช่วงเช้าที่บ้านพิษณุโลก ไปจนถึงสะพานชมัยมรุเชษฐ และช่วงเย็นเดินพาเหรดจากแยกราชประสงค์ไปถึงหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC) และในปีนี้เป็นการจัดกิจกรรมวันแรงงานสากลใกล้วันเลือกตั้งปี 2566 ทางองค์กรผู้จัดกิจกรรมจึงได้เรียกร้องไม่ได้ประเด็นเฉพาะคุณภาพชีวิตที่ดีในสถานประกอบการ หรือรั้วการทำงานเท่านั้น แต่ได้พูดถึงนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อในระดับประเทศ และสำคัญต่อผู้ใช้แรงงาน โดยมีการชูป้ายมาตรา 112 และเรียกร้องรัฐสวัสดิการ 

(คนที่ 2 จากขวา) ธนพร วิจันทร์ ขณะปราศรัย และอ่านแถลงการณ์หน้ากระทรวงแรงงาน

แถลงการณ์ระบุต่อว่า อย่างไรก็ตาม หลังจบกิจกรรมสื่อฝ่ายขวา หรือสื่อที่มีแนวความคิดด้านอนุรักษ์นิยม อาทิ ไทยโพสต์ และท็อปนิวส์ มีการปลุกระดมด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (disinformation) และข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน (misinformation) รวมถึงสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ข่มขู่ดำเนินคดีมาตรา 112 กับแรงงานข้ามชาติที่เข้าร่วมกิจกรรม และข่มขู่ว่าจะถอนใบอนุญาตทำงาน นอกจากนี้ ยังมีการสั่งการให้ตามหาตัวแรงงานที่เข้าร่วมกิจกรรม และโทร.ข่มขู่แรงงานข้ามชาติ และกล่าวหาว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นคนไม่ทราบเรื่องราว และหวังเพียงได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมเท่านั้น 

เครือข่ายผู้จัดงานจึงขอชี้แจงผ่านแถลงการณ์ตามนี้ แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาได้ปราศรัยปัญหาการทำงานของตัวเอง ว่าด้วยเรื่องการถูกเหยียดเชื้อชาติ และความเจ็บปวดจากการถูกเลือกปฏิบัติอย่าง 2 มาตรฐานในฐานะ ‘แรงงานต่างด้าว’ โดยมีเพียงป้าย ‘ปฏิรูปกษัตริย์ สร้างรัฐสวัสดิการฯ’ ที่ถือโดยผู้ชุมนุมชาวไทยจากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เป็นฉากหลัง ซึ่งไม่เกี่ยวกันกับเนื้อหาที่แรงงานข้ามชาติรายดังกล่าวพูดถึง

แถลงการณ์ระบุต่อว่า ในโลกสากล วันแรงงานสากล เป็นวันที่ผู้ใช้แรงงานสามารถบอกเล่าเรื่องความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงาน และยื่นข้อเรียกร้องเพื่อชีวิตที่ดีกว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการ “อกตัญญูต่อชาติ” หรือความ “ไม่เจียมตัว” ตามที่สื่อบางสื่อนำเสนอ แรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าร่วมการชุมนุมอย่างถูกกฎหมาย อีกทั้ง ได้สร้างคุณูปการให้แก่เศรษฐกิจไทย และมีความชอบธรรมที่จะบอกเล่าความเดือดร้อนของตัวเองในวันกรรมกรสากล และเราเชื่อว่าคนไทยอื่นๆ ที่มาร่วมขบวนกับเรามีความชอบธรรมที่จะถือป้าย "ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สร้างรัฐสวัสดิการฯ" เพื่อบอกเล่าความเดือดร้อนของตัวเอง 

ภาคีผู้ออกแถลงการณ์ระบุยืนยันว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และถูกนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมือง รวมถึงกลั่นแกล้งประชาชนผู้ใช้แรงงานมายาวนาน ผลกระทบต่อการฟ้องปิดปากไม่เพียงแต่ทำลายเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง แต่ยังกระทบถึงปากท้องของแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการจับกุม และฟ้องร้องผู้บริสุทธิ์ การกลั่นแกล้งให้ผู้ต้องหามีภาระทางการเงินจากการเดินทางไปศาล หรือขู่ฟ้องปิดปากแรงงานข้ามชาติที่ได้ออกมาพูดเรื่องความเดือดร้อนของปัญหาความเดือดร้อนในฐานะแรงงาน (แม้ไม่เกี่ยวอะไรกับสถาบันกษัตริย์) ก็พูดไม่ได้ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานขู่จะเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน

ภาคีผู้ออกแถลงการณ์ขอแสดงห่วงใยไปยัง สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ได้พลั้งพลาดแอบอ้างสถาบันกษัตริย์โดยมิบังควรเพียงเพื่อหวังผลทางการเมืองในช่วงใกล้เลือกตั้ง และขอเป็นกำลังใจอย่างยิ่งให้นายสุชาติ -ในฐานะจำเลยที่ 2- หันมามุ่งมั่นตั้งใจในการต่อสู้คดีที่ถูกประชาชนฟ้องร้องกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 เนื่องจากไม่ยอมจัดให้มีการเลือกตั้งคณะ-กรรมการประกันสังคมชุดใหม่ กีดกันไม่ให้ผู้ประกันตนข้ามชาติได้เลือกคณะกรรมการฯ และจงใจปล่อยให้คณะกรรมการชุดแต่งตั้งโดย คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ดำรงตำแหน่งมายาวนานกว่า 8 ปี ปัจจุบันคดีนี้อยู่ที่ศาลปกครอง

ภาคีผู้ออกแถลงการณ์ขอเรียกร้องให้ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และสื่อมวลชนช่องท็อปนิวส์-ไทยโพสต์ ออกมาขอโทษต่อสาธารณชนเป็นเวลา 7 วัน จากการกระทำที่เหยียดเชื้อชาติ ข่มขู่จะถอนใบอนุญาตทำงาน และปลุกปั่นให้คนงานเกิดความหวาดกลัวว่าจะถูกฟ้องปิดปากด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงขอเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานและรัฐบาลให้มีมาตรการเชิงรุกเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานของแรงงานข้ามชาติให้ได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับแรงงานไทย ยกเลิกระบบนายหน้ากินหัวคิว ยกเลิกการเก็บส่วยแรงงานข้ามชาติ ภายใต้หลักการคนเท่ากัน มีสิทธิแรงงานเท่ากันทุกคนทุกสัญชาติ และมีสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย 

แถลงการณ์ ระบุต่อว่า เราขอประณามนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และสื่อมวลชนฝ่ายขวาจัด โดยเฉพาะท็อปนิวส์ และไทยโพสต์ ที่ปลุกระดมความเกลียดชังต่อพี่น้องแรงงานเพียง เพราะมีสัญชาติหรือความเชื่อทางการเมืองที่ไม่เหมือนกับตน อธิบดีกรมจัดหางาน เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และตำรวจทุกนายที่เกี่ยวข้องกับการข่มขู่คุกคามแรงงานข้ามชาติ และขอประนามผู้นำแรงงานทุกคนที่ปากอ้าง 

"แรงงานทั้งผองเป็นพี่น้องกัน" แต่กลับสนับสนุนให้มีการฟ้องปิดปากแรงงานข้ามชาติเพื่อหวังประจบประแจงรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน

ธนพร ทิ้งท้ายว่า การกระทำที่ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีกระดูกสันหลัง ไม่มีอุดมการณ์ การกดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้อย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่เรียกตัวเองว่า นักการเมือง รัฐมนตรี สื่อมวลชน ตำรวจ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และผู้นำแรงงาน 

ทั้งนี้ บรรยากาศการทำกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดกากี และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจำนวนหนึ่ง ประจำการบริเวณหน้าประตูทางเข้า-ออกกระทรวงแรงงาน ฝั่งถนนมิตรไมตรี ซอย 1 นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่มีการเปิดประตูเหล็กเข้า-ออกรถยนต์ แค่เพียงบางส่วนเท่านั้น และมีการนำรั้วเหล็กสีเขียวมากั้น

ผู้จัดกิจกรรมได้มีการโปรยใบปลิว ปรากฏข้อความ "แรงงานสร้างโลก ไม่ใช่รัฐมนตรีฝ่ายเผด็จการ"

เครือข่ายแรงงานชี้บางสื่อรายงานข่าวไม่ครบถ้วน-ไม่ถูกต้อง

การอ่านแถลงการณ์ดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน MGW สหภาพคนทำงาน 24 มิถุนาประชาธิปไตย และเครือข่ายแรงงานอื่นๆ ได้มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานสากล ที่สะพานชมัยมรุเชษฐ ภายใต้ชื่อ 'สาปส่งรัฐปีศาจ สร้างชาติด้วยรัฐใหม่' โดยมีการปราศรัยวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และนำเสนอของผู้ใช้แรงงานจากภาคส่วนต่างๆ

ต่อมา ยูทูบช่อง TOP NEWS (ท็อปนิวส์) เผยแพร่วิดีโอรายการข่าวเมื่อ 2 พ.ค. 2566 ชื่อ ""จวกยับ" แรงงานต่างด้าว จุ้นปฏิรูปสถาบันเหยียบย่ำหัวใจคนไทย |TOPNEWSONLINE|" มีความยาว 6.31 นาที 

รายงานข่าวโดยอ้างอิงข้อความจากโพสต์เฟซบุ๊กของเพจ 'METTAD' ที่ได้แชร์ทวิตเตอร์ของ @ekkkrub1 มีข้อความดังนี้

"อะไรคือการมาเรียกร้องให้ปฏิรูปกษัตริย์ของประเทศพวกกู?!!ที่พวกมึงหนีร้อนมาพึ่งเย็น มาอาศัยทำมาหากินส่งเงินกลับ ปท.พวกมึง มาออกลูกมา ใช้ชีวิตที่น่าจะสุขสบายกว่า ปท.ของพวกมึง หรือคิดว่าที่นี่ให้ได้ไม่มากพอ เชิญไสหัวกลับออกไปได้ ไม่มีใครบังคับให้อยู่เลยนะ" 

หมายเหตุ - บัญชีทวิตเตอร์ @ekkkrub1 จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวเมื่อ 11 พ.ค. 2566 เวลา 22.46 น. ไม่สามารถเข้าถึงได้ 

ขณะที่ในวิดีโอทางช่องยูทูบ TOP NEWS ดังกล่าว สันติสุข มะโรงศรี พิธีกรรายการ "ข่าวมีคม" ของสำนักข่าว TOP NEWS ได้ให้ความเห็นประกอบว่า แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา มีสิทธิอะไรมาก้าวก่าย ไม่มีสิทธิที่จะมาบอกว่า 'ปฏิรูปกษัตริย์' เพื่อเอาเงินมาสร้างรัฐสวัสดิการ พร้อมเรียกร้องให้เคารพศักดิ์ศรีของคนไทยบนแผ่นดินไทยด้วยเช่นกัน 

โดยภาพที่ TOP NEWS นำมาใช้เป็นภาพประกอบการรายงานข่าว เป็นภาพที่แรงงานกัมพูชา ที่เข้าร่วมการชุมนุมวันแรงงานสากล กำลังปราศรัย และมีคนชูป้าย 'ปฏิรูปกษัตริย์ สร้างรัฐสวัสดิการ' 

ภายหลังเครือข่ายผู้ออกแถลงการณ์ได้ออกมาชี้แจงว่าการรายงานข่าวของ TOP NEWS เป็นการรายงานข่าวที่ไม่ถูกต้อง (disinformation) และข้อมูลไม่ครบถ้วน (misnformation) เนื่องจากภาพดังกล่าวเป็นภาพที่แรงงานกัมพูชาได้ปราศรัยถึงปัญหาการทำงานของตัวเอง ว่าด้วยเรื่องการถูกเหยียดเชื้อชาติ และความเจ็บปวดจากการถูกเลือกปฏิบัติอย่างสองมาตรฐานในฐานะ 'แรงงานต่างด้าว' โดยมีผู้ชุมนุมชาวไทยจากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ชูป้าย 'ปฏิรูปกษัตริย์ สร้างรัฐสวัสดิการ' เป็นฉากหลัง ซึ่งข้อความบนป้ายไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่แรงงานข้ามชาติรายดังกล่าวปราศรัย

ภาพที่เป็นประเด็นปัญหา การปราศรัยของแรงงานข้ามชาติกัมพูชาเมื่อ 1 พ.ค. 2566 ซึ่งภายหลังทาง TOP NEWS อ้างเพจเฟซบุ๊ก METTAD ซึ่งอ้างมาจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ @ekkkrub1 อีกที ระบุว่า แรงงานข้ามชาติคนดังกล่าวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และสร้างรัฐสวัสดิการ ขณะที่เครือข่ายแรงงานระบุว่า แรงงานข้ามชาติคนดังกล่าวไม่ได้มาเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่เป็นป้ายของผู้ชุมนุมอีกกลุ่มที่มาชูด้านหลังแรงงานข้ามชาติเท่านั้น (ที่มา: TOP NEWS)

สุชาติ-กกจ. เตือนแรงงานข้ามชาติ หากผิด ม.112-กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย สามารถถอนใบอนุญาตทำงาน

หลังจากนั้น สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเมื่อ 3 พ.ค. 2566 ระบุว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้าร่วมการชุมนุมวันแรงงานสากล และเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการ ‘ปฏิรูปษัตริย์ สร้างรัฐสวัสดิการ’ เมื่อ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางกรมการจัดหางานได้เตือนไปยังแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยทุกเชื้อชาติแล้ว

ใครมีพฤติการณ์ในลักษณะดังกล่าว หากหน่วยงานด้านความมั่นคงพิจารณาแล้วเห็นว่า เข้าข่ายเป็นความผิดตาม มาตรา 112 หรือเป็นความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้แรงงานต่างชาติผู้นั้นจะมีใบอนุญาตทำงาน และเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง แต่เมื่อมีความผิดตามกฎหมาย กรมการจัดหางานมีสิทธิพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างชาตินั้น

เว็บไซต์สื่อ ไทยโพสต์ รายงานเมื่อ 3 พ.ค. 2566 ระบุว่า ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ระบุเพิ่มว่า พร้อมดำเนินคดีลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย หากแรงงานข้ามชาติที่มาร่วมกิจกรรมเมื่อ 1 พ.ค. 2566 ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และนายจ้างอาจโดนด้วยฐานให้แรงงานข้ามชาติทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน

ไพโรจน์ ระบุว่า หากตรวจสอบพบว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้าร่วมการชุมนุมวันแรงงานสากลลักลอบเข้ามาทำงานกับนายจ้างโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน นอกจากมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแล้ว กรมการจัดหางานจะร้องทุกข์กล่าวโทษแก่แรงงานต่างชาติในความผิดฐานทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ และดำเนินคดีกับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างชาติดังกล่าวในความผิดฐานให้คนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (ที่มา: เว็บไซต์กรมจัดหางาน)

กกจ.ส่งหนังสือด่วน กำชับนายจ้าง คุมเข้มกิจกรรมของแรงงานข้ามชาติ ห้ามกระทบสถาบันกษัตริย์-ความมั่นคง 

ต่อมา เมื่อ 11 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับเอกสารจากสมาชิกภาคีเครือข่ายผู้ออกแถลงการณ์ โดยเป็นเอกสารออกโดยกรมจัดหางาน ประทับตราว่า "ด่วนที่สุด" ลงวันที่ 3 พ.ค. 2566 เรื่อง "การเข้าร่วมกิจกรรมและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของแรงงานต่างด้าวที่ไม่เหมาะสม อันส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของประเทศไทย" เรียนถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด 

เนื้อหาจดหมายระบุว่า ด้วยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ ได้มีองค์กรและกลุ่มเครือข่ายแรงงานต่างๆ ได้จัดกิจกรรมและได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งมีกลุ่มแรงงานข้ามชาติได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว และได้มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และชูป้ายอันมีข้อความในลักษณะอาจกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของประเทศ โดยมีสถานีวิทยุโทรทัศน์ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการเข้าร่วมกิจกรรมของแรงงานข้ามชาติ

กรมการจัดหางานพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดสถานการณ์ที่จะทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมทุกกรณี จึงขอความร่วมมือจังหวัดโปรดมอบหมายสำนักงานจัดหางานจังหวัด แจ้งนายจ้าง/สถานประกอบการ และบริษัทนำคนต่างชาติมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ กำชับ ดูแล และเข้มงวดการเข้าร่วมกิจกรรมของลูกจ้างแรงงานข้ามชาติในกรณีดังกล่าว ลงชื่อ 'ไพโรจน์ โชติกเสถียร' อธิดีกรมจัดหางาน 

ภาคผนวก: รายละเอียดแถลงการณ์เครือข่ายแรงงาน 

แถลงการณ์ชี้แจงกิจกรรมวันกรรมกรสากล 2566 
ตามที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ข่มขู่ถอนใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ และปลุกปั่นความกลัวถูกฟ้องปิดปากด้วยมาตรา 112
โดยเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน 
ร่วมกับสหภาพคนทำงาน, Migrant Working Group (MWG), 
กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ, สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า 
และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย และกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก
วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เวลา 11:00 น. ณ กระทรวงแรงงาน

เมื่อวันกรรมกรสากล ที่ 1 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิแรงงาน ได้แก่ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร่วมกับสหภาพคนทำงาน, Migrant Working Group (MWG) และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ได้เดินขบวนเรียกร้องสิทธิแรงงานเหมือนทุกปี แบ่งเป็นกิจกรรมช่วงเช้าที่บ้านพิษณุโลกถึงสะพานชมัยมรุเชษฐ และช่วงบ่าย-เย็นที่สี่แยกราชประสงค์ถึงหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ (BACC) โดยในปีนี้เนื่องจากเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง องค์กรผู้จัดกิจกรรมจึงมิได้เรียกร้องเฉพาะคุณภาพชีวิตที่ดีในรั้วที่ทำงานของเราเท่านั้น แต่ได้พูดถึงข้อเสนอเชิงนโยบายอื่นๆ ในระดับประเทศที่เกี่ยวข้องและสำคัญต่อผู้ใช้แรงงานด้วย ดังที่ปรากฏป้ายที่พูดถึงรัฐสวัสดิการ และกฎหมายมาตรา 112 ดังปรากฏในข่าว

เนื่องจากภายหลังกิจกรรมจบ มีการปลุกระดมด้วยข้อมูลเท็จ (disinformation) และข้อมูลบิดเบือน (misinformation) จากสื่อมวลชนฝ่ายขวาจัดจำนวนมาก เช่น ไทยโพสต์ ท็อปนิวส์ รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานได้ปลุกระดมผ่านเพจส่วนตัวให้เกิดความหวาดกลัวว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้าร่วมกิจกรรมจะถูกฟ้องปิดปากด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วยังข่มขู่ว่าจะถอนใบอนุญาตทำงาน นอกจากนี้ยังมีการสั่งการให้กรมการจัดหางานตามหาตัวแรงงานที่เข้าร่วมกิจกรรมวันกรรมกรสากล และให้ตำรวจโทรข่มขู่แรงงานข้ามชาติหลายต่อหลายครั้ง ยังไม่นับผู้นำแรงงานบางรายที่สนับสนุนให้มีการ “จัดการขั้นเด็ดขาด” ต่อแรงงานไทยที่เป็นองค์กรร่วมจัดกิจกรรม และกล่าวหาว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นคนไม่รู้เรื่องราว หวังเพียงได้ค่าเดินทางมาร่วมกิจกรรมเท่านั้น 

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร่วมกับสหภาพคนทำงาน, MWG, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง, สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย และกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ในฐานะภาคีผู้ออกแถลงการณ์ ขอชี้แจงว่าในวันที่จัดกิจกรรม แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาได้ปราศรัยเรื่องการถูกเหยียดเชื้อชาติ และความเจ็บปวดจากการถูกเลือกปฏิบัติอย่างสองมาตรฐานในฐานะ "แรงงานต่างด้าว" โดยมีป้าย "ปฏิรูปกษัตริย์ สร้างรัฐสวัสดิการฯ" ที่ถือโดยผู้ชุมนุมชาวไทยจากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยเป็นฉากหลัง ซึ่งไม่เกี่ยวกันกับเนื้อหาที่แรงงานข้ามชาติรายดังกล่าวพูดถึง

ในโลกสากล การชุมนุมในวันกรรมกรสากลเพื่อบอกเล่าความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานและยื่นข้อเรียกร้องเพื่อชีวิตที่ดีกว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้ตระหนักถึงสิทธิของตัวเองพึงกระทำ มิใช่เรื่อง "อกตัญญูต่อชาติ" หรือเป็นความ "ไม่เจียมตัว" อย่างที่สื่อฝ่ายขวาจัดนำเสนอ แรงงานข้ามชาติทุกคนที่เข้าร่วมขบวนดังกล่าวเป็นแรงงานเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย ได้สร้างคุณปการอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย และมีความชอบธรรมอย่างที่สุดที่จะมีพื้นที่บอกเล่าความเดือดร้อนของตัวเองในวันกรรมกรสากล และเราเชื่อว่าคนไทยอื่นๆ ที่มาร่วมขบวนกับเราก็มีความชอบธรรมที่จะถือป้าย "ปฏิรูปกษัตริย์ สร้างรัฐสวัสดิการฯ" เพื่อบอกเล่าความเดือดร้อนของตัวเองไม่ต่างกัน  

ภาคีผู้ออกแถลงการณ์ขอยืนยันว่าที่ผ่านมากฎหมายมาตรา 112 เป็นกฎหมายริดรอนเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และถูกนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมือง รวมถึงกลั่นแกล้งประชาชนผู้ใช้แรงงานมายาวนาน ผลกระทบของการฟ้องปิดปากไม่เพียงแต่ทำลายเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงปากท้องของพี่น้องแรงงานเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมและฟ้องร้องผู้บริสุทธิ์ การกลั่นแกล้งให้ผู้ต้องหามีภาระทางการเงินจากการเดินทางไปขึ้นศาล หรือการขู่ฟ้องเพื่อปิดปากไม่ให้แรงงานข้ามชาติได้ออกมาพูดเรื่องปัญหาความเดือดร้อนในฐานะแรงงาน (ที่แม้ไม่เกี่ยวอะไรกับสถาบันกษัตริย์) ก็พูดไม่ได้เพราะรัฐมนตรีแรงงานขู่จะเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน

ภาคีผู้ออกแถลงการณ์ขอแสดงห่วงใยไปยังนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ที่ได้พลั้งพลาดแอบอ้างสถาบันกษัตริย์โดยมิบังควรเพียงเพื่อหวังผลทางการเมืองในช่วงใกล้เลือกตั้ง และขอเป็นกำลังใจอย่างยิ่งให้นายสุชาติ -ในฐานะจำเลยที่ 2- หันมามุ่งมั่นตั้งใจในการต่อสู้คดีที่ถูกประชาชนฟ้องร้องกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 เนื่องจากไม่ยอมจัดให้มีการเลือกตั้งคณะ-กรรมการประกันสังคมชุดใหม่ กีดกันไม่ให้ผู้ประกันตนข้ามชาติได้เลือกคณะกรรมการฯ และจงใจปล่อยให้คณะกรรมการชุดแต่งตั้งโดย คสช. ดำรงตำแหน่งมายาวนานกว่า 8 ปี ปัจจุบันคดีนี้อยู่ที่ศาลปกครอง

ภาคีผู้ออกแถลงการณ์ขอเรียกร้องให้นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และสื่อมวลชนช่องท็อปนิวส์-ไทยโพสต์ ออกมาขอโทษต่อสาธารณชนเป็นเวลา 7 วัน จากการกระทำที่เหยียดเชื้อชาติ ข่มขู่จะถอนใบอนุญาตทำงาน และปลุกปั่นให้คนงานเกิดความหวาดกลัวว่าจะถูกฟ้องปิดปากด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงขอเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานและรัฐบาลให้มีมาตรการเชิงรุกเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานของแรงงานข้ามชาติให้ได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับแรงงานไทย ยกเลิกระบบนายหน้ากินหัวคิว  ยกเลิกการเก็บส่วยแรงงานข้ามชาติ ภายใต้หลักการคนเท่ากัน มีสิทธิแรงงานเท่ากันทุกคนทุกสัญชาติ และมีสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย 

เราขอประนามนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน, สื่อมวลชนฝ่ายขวาจัด โดยเฉพาะท็อปนิวส์ และไทยโพสต์ ที่ปลุกระดมความเกลียดชังต่อพี่น้องแรงงานเพียงเพราะมีสัญชาติหรือความเชื่อทางการเมืองที่ไม่เหมือนกับตน, อธิบดีกรมจัดหางาน เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และตำรวจทุกนายที่เกี่ยวข้องกับการข่มขู่คุกคามแรงงานข้ามชาติ และขอประนามผู้นำแรงงานทุกคนที่ปากอ้าง 

"แรงงานทั้งผองเป็นพี่น้องกัน" แต่กลับสนับสนุนให้มีการฟ้องปิดปากแรงงานข้ามชาติเพื่อหวังประจบประแจงรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน 

การกระทำที่ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีกระดูกสันหลัง ไม่มีอุดมการณ์ การกดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้อย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่เรียกตัวเองว่านักการเมือง รัฐมนตรี สื่อมวลชน ตำรวจ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และผู้นำแรงงาน 

ด้วยความเคารพในสิทธิแรงงานและประชาธิปไตย
โดย ภาคีผู้ออกแถลงการณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net