Skip to main content
sharethis

'พีพีทีวีโพล' เผยผลสำรวจ ครั้งที่ 2 คนโหวต 'พิธา' นั่งนายกในดวงใจอันดับ 1 แซง 'ทักษิณ' ขาดลอย ด้าน 'ไทยรัฐโพล' ครั้งที่ 4 'พิธา-ก้าวไกล' ไต่ขึ้นมาอยู่อันดับ 1 ส่วน 'แพทองธาร-เพื่อไทย' คะแนนตกไปอยู่อันดับ 2 - ผลซูเปอร์โพล ครั้งที่ 7 'เพื่อไทย' ได้ 139 ที่นั่ง 'ภูมิใจไทย' อันดับ 2 ขณะที่ พรรคก้าวไกล อันดับที่ 3 ภาพรวมพบไม่มีพรรคใดจะได้ ส.ส.แลนด์สไลด์

PPTV รายงานเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2556 ว่าพีพีทีวีโพล ครั้งที่ 2 จัดทำโพลเลือกตั้ง 2566 ฟังเสียงคนไทย เก็บตัวอย่างจากผู้ที่เข้าชมทางเว็ปไซต์ PPTV HD 36 เพียงช่องทางเดียว ไม่ได้เก็บจากช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ ของพีพีทีวี  

ซึ่งมีผู้เข้าโหวตจำนวน 2,336 คน เริ่มเก็บตัวอย่าง ตั้งแต่วันที่ 17 - 30 เม.ย. 2566 

โดยได้สอบถามประชาชน ใน 10 พรรคการเมืองที่คุณอยากเลือก อันดับ 1 พรรคก้าวไกล 55.39% อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย 24.79% อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ 9.97% อันดับ 4 ยังไม่ตัดสินใจ 2.61% อันดับ 5 พรรคพลังประชารัฐ 2.18%

อันดับ 6 พรรคเสรีรวมไทย 1.07% อันดับ 7 พรรคภูมิใจไทย 0.98% อันดับ 8 พรรคไทยสร้างไทย 0.77% อันดับ 9 พรรคชาติพัฒนากล้า 0.60% ส่วนอันดับ 10 พรรคอื่นๆ 0.56% 

ขณะเดียวกัน เมื่อสอบถามว่า 10 อันดับนายกรัฐมนตรี ที่ประชาชนจะเลือก อันดับ 1 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 55.91% อันดับ 2 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร 12.80% อันดับ 3 นายเศรษฐา ทวีสิน 10.66% อันดับ 4 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 10.62% อันดับ 5 ยังไม่ตัดสินใจ 2.65% 

อันดับ 6 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 1.76% อันดับ 7 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 1.28% อันดับ 8 บุคคลอื่นๆ 0.90% อันดับ 9 นายกรณ์ จาติกวณิชย์ 0.90% อันดับ 10 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 0.86% 

พีพีทีวีโพล ยังถามประชาชนถึงนายกรัฐมนตรีในฝัน โดยให้ผู้สำรวจ เขียนชื่อบุคคลนั้นเสนอขึ้นมา พบว่า อันดับที่ 1 คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 27.44% ส่วนอันดับที่ 2 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 11.77% และอันดับ 3 นายทักษิณ ชินวัตร 8.30% ซึ่งตกอันดับลงมาจากอันดับ 1 จากตอนสำรวจพีพีทีวีโพลล์ ครั้งที่ 1 รอบที่แล้ว สำหรับอันดับที่ 4 ยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไป 6.16% 

ส่วนพรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุด จะได้จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ผลสำรวจพบว่า 83.3% สามารถจัดตั้งได้ แต่อีก 16.7% เชื่อว่าไม่ได้ 

ไทยรัฐโพลครั้งที่ 4 'พิธา-ก้าวไกล' ไต่ขึ้นมาอยู่อันดับ 1 ส่วน 'แพทองธาร-เพื่อไทย' คะแนนตกไปอยู่อันดับ 2

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2566 ไทยรัฐโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นครั้งที่ 4 ในคำถามหลักเน้นถามความเห็นประชาชนว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พ.ค. 2566 นี้ ประชาชนจะเลือกใครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และจะเลือกส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จากพรรคใด โดยเริ่มสำรวจความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 มีผู้ตอบแบบสอบถาม ที่สามารถนำมาใช้ประมวลผลได้จำนวนทั้งสิ้น 13,546 ครั้ง

สำหรับรายชื่อความนิยมในตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นักการเมืองที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล ได้คะแนน 38% เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนหน้า 3% ตามมาด้วยน.ส.แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย คะแนน 18% อันดับสามเป็นของนายเศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย คะแนน 10% ซึ่งแคนดิเดตทั้งสองคนจากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนนิยมลดลง 6 และ 7% ตามลำดับ

ส่วนคะแนนที่มาเป็นอันดับสี่คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้คะแนน 15% ซึ่งเพิ่มจากการทำโพลครั้งก่อนหน้า 1% และอันดับห้าเป็นของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งได้คะแนน 1% เท่าเดิม

ในส่วนของคำถามที่ว่า คุณจะเลือก ส.ส. เขตจากพรรคใด ปรากฏว่าครั้งนี้คะแนนผันผวนไปจากเดือนที่แล้ว คือ พรรคเพื่อไทยที่ชูแคมเปญแลนด์สไลด์นั้น ในการทำโพลรอบกลางเดือนเมษายน ได้คะแนนสูงสุดที่ 42% กลับลดเหลือ 29% ในรอบนี้ ทำให้พรรคที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งกลายเป็นพรรคก้าวไกลที่ได้ 36% 

อย่างไรก็ดี คะแนนส.ส.เขตของพรรคก้าวไกล ไม่ได้เพิ่มจากการสำรวจครั้งก่อนหน้ามากนัก แต่พรรคที่ได้คะแนนเพิ่มมาในรอบโค้งสุดท้าย คือพรรคไทยสร้างไทย และพรรคภูมิใจไทย ที่ได้คะแนน 6% และ 5% ตามลำดับ

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ถือว่าเป็นพรรคที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับที่สาม คือ 12% ส่วนพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนน้อยกว่า ที่ 2%

ส่วนคำถามที่ว่า คุณจะเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จากพรรคใด พรรคก้าวไกลก็ทำคะแนนเพิ่มจนเป็นพรรคอันดับหนึ่งที่ 39% ส่วนพรรคเพื่อไทยคะแนนลดลงไปเหลือ 28% ตามมาด้วยพรรครวมไทยสร้างชาติ 13% พรรคไทยสร้างไทย 6% พรรคภูมิใจไทย 4% พรรคประชาธิปัตย์ 2% พรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาชาติ 1% 

นอกจากนี้ ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อดูคะแนนของ ส.ส.เขต ทั้ง 400 เขต เพื่อสำรวจเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองต่างๆ มีฐานเสียงที่มั่นคงและคาดว่าจะได้รับชัยชนะ พบว่าพรรคที่มีฐานเสียงมากที่สุดคือพรรคเพื่อไทย ที่มีฐานเสียงแล้วใน 136 เขต ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย มีฐานเสียงมั่นคงแล้วใน 22 เขต พรรคก้าวไกลมีฐานเสียงใน 20 เขต พรรครวมไทยสร้างชาติ 15 เขต พรรคประชาชาติ 7 เขต และพรรคชาติไทยพัฒนา 6 เขต ที่เหลือ เป็นพื้นที่แข่งขันสูงที่มีอยู่ทั้งสิ้น 150 เขต

ทั้งนี้ ผลวิเคราะห์นี้ เป็นการคาดการณ์ฐานเสียงของ ส.ส. เขตในแต่ละพื้นที่ทั้ง 400 เขตเลือกตั้ง ซึ่งมีการนำตัวแปรทางสถิติจากหลากหลายแหล่งข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกัน อันได้แก่ ผลการเลือกตั้งในอดีต ปี 2554 และปี 2562 (ไม่นับการเลือกตั้งปี 2557 ที่มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงคูหาลงคะแนน และสุดท้ายผลเลือกตั้งเป็นโมฆะไป) ข้อมูลทางประชากรศาสตร์ ข้อมูลเศรษฐสถานะของประชากรแต่ละภูมิภาค และนอกจากผลไทยรัฐโพลแล้ว ยังนำข้อมูลจากสำนักโพลอื่นๆ มาร่วมคำนวณ อันได้แก่ กรุงเทพโพลล์ นิด้าโพล ม.รังสิตโพล ซูเปอร์โพล และ FT Confidential Poll โดยการนำแหล่งข้อมูลต่างๆ มาใช้ มิได้ให้น้ำหนักกับแหล่งข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งเป็นพิเศษ

ซูเปอร์โพลชี้ 'เพื่อไทย' ได้ 139 ที่นั่ง ไม่มี 'แลนด์สไลด์'

Thai PBS รายงานเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2566 ว่าผศ.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลการศึกษาต่อเนื่อง เรื่อง โพลเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ 7 ว่า จากการสำรวจข้อมูลจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทุกสาขา อาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้น ดำเนินโครงการศึกษาแหล่งข้อมูลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยเครื่องมือประเมินขั้นสุทธิ (Net Assessment)

ทั้งนี้ ผลการสำรวจของซูเปอร์โพล จะแตกต่างจากสำนักอื่น เนื่องได้สำรวจกับประชาชนที่มีโทรศัพท์มือถือและกลุ่มที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือด้วย จากกลุ่มตัวอย่าง 14,332 ตัวอย่าง

ดำเนินโครงการ ระหว่างวันที่ 1 - 5 พ.ค. 2566 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วง ความเชื่อมั่นร้อยละ 95 เมื่อพิจารณาความตั้งใจจะไปเลือกตั้งของประชาชนพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.3 หรือประมาณการ จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 37,431,819 คน จะไปเลือกตั้ง ในขณะที่ร้อยละ 24.7 หรือ ประมาณการจำนวน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 15,662,959 คน จะไม่ไปเลือกตั้ง

ผศ.นพดล กล่าวว่า ที่น่าสนใจคือ ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของจำนวนที่นั่ง ส.ส.พบว่า พรรคเพื่อไทยจะได้จำนวน ส.ส.139 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 111 บัญชีรายชื่อ 28 ที่นั่ง ต่ำสุด 114 ที่นั่ง สูงสุด 164 ที่นั่ง

รองลงมา คือ พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส. 112 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 96 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 16 ที่นั่ง ต่ำสุด 87 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 137 ที่นั่ง อันดับ 3 พรรคก้าวไกล ได้จำนวน 63 ที่นั่ง ส.ส.เขต 40 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 23 ที่นั่ง ต่ำสุด 38 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 88 ที่นั่ง

อันดับ 4 พรรคพลังประชารัฐ ได้ 61 ที่นั่ง ส.ส.เขต 53 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 8 ที่นั่ง ต่ำสุด 36 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 86 ที่นั่ง อันดับ 5 พรรคประชาธิปัตย์ ได้จำนวน 49 ที่นั่ง ส.ส.เขต 44 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5 ที่นั่ง จำนวนต่ำสุด 24 ที่นั่ง และจำนวน สูงสุด 74 ที่นั่ง

อันดับ 6 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้จำนวน 46 ที่นั่ง ส.ส.เขต 35 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 11 ที่นั่ง จำนวนต่ำสุด 21 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 71 ที่นั่ง อันดับ 7 พรรคอื่น ๆ ได้จำนวน 30 ที่นั่ง เป็นเขต 21 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 9 ที่นั่ง จำนวนต่ำสุด 5 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 55 ที่นั่ง

ผศ.นพดล กล่าวว่า ภาพรวมผลสำรวจดังกล่าวบ่งชี้ว่า ไม่มีพรรคใดจะได้ส.ส.แลนด์สไลด์ แม้แต่ในพื้นที่ภาคอีสาน ที่พรรคเพื่อไทยเคยได้สูงสุด ผลการศึกษาครั้งนี้กลายเป็นว่า พรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นตัวแบ่ง โดยสามารถช่วงชิงเก้าอี้ภาคอีสานได้ถึง 20 ที่นั่งจากเพื่อไทยเดิม โดยซูเปอร์โพลก็จะเก็บข้อมูลต่อเนื่องไปจนถึงวันปิดหีบและจะมีการเปิดเผยผลสำรวจ หลังปิดหีบแล้ว

การที่พรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น เป็นเพราะนโยบายโดนใจคนรุ่นใหม่ ซึ่งคนรุ่นใหม่ที่นิยมก้าวไกลจะแรงกว่าคนรุ่นใหม่ที่นิยมพรรคเพื่อไทย คะแนนคนรุ่นใหม่เทไปพรรคก้าวไกลถึงร้อยละ 60 และคนรุ่นใหม่ที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทยก็เปลี่ยนมาเลือกพรรคก้าวไกล จากนโยบายและคำพูดที่โดนใจ

แต่ที่น่าสนใจคือฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ความนิยมภูมิใจไทยมาเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค มีภาพลักษณ์ใจดี ชอบช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย ผู้สูงอายุ และนโยบายไม่ได้แจกเงินอย่างเดียว แต่ส่วนของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ความนิยมค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งที่แล้ว

ผลสำรวจยังสอบถามว่าอยากได้ใครเป็นนายกฯ พบว่า คะแนนนิยมนายอนุทิน และนายพิธา มีความสูสีกันมาก นายอนุทินนำแค่ 0.5 อย่างไรก็ตามผลสำรวจครั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งพบว่าพร้อมเปลี่ยนใจร้อยละ 30 และยังไม่ตัดสินใจร้อยละ 15

ขณะที่นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) กล่าวว่า จากที่ได้ศึกษาผลสำรวจความคิดเห็น ติดตามการเมืองและการพนันในตลาดการเมือง ยังยืนยันแนวคิด 4 ฉากทัศน์ ที่จะเป็นไปได้หมดหลังการเลือกตั้ง

1.ฝ่ายอนุรักษ์นิยม จัดตั้งรัฐบาลโดยผู้จัดตั้งรัฐบาลจะใช้คะแนน 126 เสียง บวก ส.ว. 250 เสียง ไม่เกิน 376 เสียง ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่อยู่สัปดาห์สุดท้ายในการเลือกตั้งว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะขับเคลื่อนได้แรงมากขนาดไหน ถ้าไม่แรงก็แพ้

2.พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จากข้อมูลล่าสุด มีโอกาสสูงจากอีกขั้วหนึ่ง โดยสัปดาห์สุดท้ายจะมีผลมาก แต่โอกาสแลนด์สไลด์ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเป็นไปไม่ได้

นายเกรียงศํกดิ์ยังกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยอาจจะจับมือพรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลแล้วดึงพรรคประชาชาติ เข้ามา ถ้าอยากจะมีความมั่นคง หรือบวกกับอีกพรรคข้ามขั้วที่ยอมรับได้

แต่ในความเห็นส่วนตัวการที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือพรรคก้าวไกลเป็นไปได้ยาก เพราะพรรคก้าวไกลจะขี่พรรคเพื่อไทยมาก ต่อรองขอกระทรวงมากเกินไป จนทนไม่ไหว น่าจะไปเอาพรรคอื่นมากกว่า ที่แน่ ๆ พรรคประชาชาติ 12 เสียง กับพรรคข้ามขั้ว พรรคเล็ก ๆ โดยปล่อยพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน เพื่อประโยชน์ของตัวเองในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคก้าวไกลจะเป็นคู่แข่งสำคัญ ถ้าให้ร่วมรัฐบาลวันนี้จะปลีกกล้าขาแข็ง จึงต้องทอนเสียแต่วันนี้

แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยมองว่า เป็นสงครามครั้งสุดท้ายที่จะนำนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับบ้าน ก็อาจจะเอาพรรคก้าวไกลเข้าร่วม หรืออาจจะมีการจับข้ามขั้วโดยให้อีกขั้วหนึ่งเป็นนายกฯ เพื่อให้ทักษิณได้กลับบ้าน

ฉากทัศน์ที่ 3 อาจจะมีการสอย ส.ส.และเกิดการยุบพรรคการเมือง ซึ่งขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่ไปจ่อและความไวว่าจะทันก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ หากเกิดหลังเลือกตั้งสามารถย้ายพรรคได้ ถ้าคะแนนฝ่ายเสรีนิยมคะแนนเยอะจนน่าอึดอัด สิ่งเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้น

ฉากทัศน์ที่ 4 หากเลือกตั้งแล้วฝ่ายที่มีคะแนนนำ ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล อาจจะเกิดการประท้วงวุ่นวายขึ้น และนำไปสู่การมีทหารออกมา นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลพิเศษโดยทหาร ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสัปดาห์สุดท้าย

ตลาดการพนันจะทำให้เกิดการเบี่ยงเบนคะแนนค่อนข้างมาก และกระสุนยังมีผล พอๆ กับกระแส คาดว่าจะมีการใช้กระสุนมากถึงหมื่นล้านบาทในทุกพื้นที่ แต่การแจกไม่เหมือนทุกครั้ง เป็นการแจกไม่สุด เพราะกลัวว่ากระสุนไม่เต็มที่อาจให้กาก่อน หรือหัวคะแนนรับเงินไปแล้วไม่ยอมแจก

ถ้าไม่อยากให้เกิดฉากทัศน์ที่ 3 และ 4 อย่าพยายามแลนด์สไลด์ เพราะจะทำให้เกิดความหวาดหวั่นมากเกินไป Money Politics มีจริง สัปดาห์นี้ต้องเฝ้าดู key Message ต้องปลุกความกล้า และความกลัวให้คนออกมาลงคะแนน ถ้าปลุก key Message ได้ชัดเจน ให้ประชาชนรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร จะมีผลต่อคะแนน เป็นอย่างมาก

นายเกรียงศักดิ์ยังมองว่า การข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาลโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก วันนี้เป็นปัญหาทางยุทธศาสตร์ ฝ่ายอนุรักษ์ผิดพลาดมากที่ยอมให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ถ้ายังเป็นบัตรใบเดียว โอกาสจะมีมากกว่านี้ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาตกปลาในบ่อเพื่อนอีก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net