Skip to main content
sharethis

เครือข่ายแรงงานร่วมเดินขบวนพาเหรดวันแรงงานสากลปี'66 จากแยกราชประสงค์จรดแยกปทุมวัน รำลึการต่อสู้เพื่อสิทธิของขบวนการแรงงาน พร้อมกิจกรรมปราศรัยสะท้อนปัญหาคนทำงาน เชื่อการรวมตัวสร้างอำนาจต่อรอง จะเปลี่ยนประเทศเป็นของแรงงานได้

 

1 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (1 พ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. บริเวณแยกราชประสงค์ หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ฝั่งถนนพญาไท กลุ่ม 'Bright Future' ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติเมียนมา และประชาชนคนไทย เริ่มทยอยมารวมตัวหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตามการนัดหมายของเครือข่ายแรงงานหลากหลายอาชีพ ซึ่งวันนี้จะมีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานสากล หรือวันเมย์เดย์ ภายใต้ชื่อ "คนทำงานลงถนนวันแรงงานสากล เพื่อคนทำงาน เพื่อสวัสดิการและความเท่าเทียม" 

ป้ายรณรงค์ที่กลุ่ม Bright Future นำมาชูระหว่างรอทำกิจกรรม

ฝากรัฐบาลใหม่ รับรองอนุสัญญา 87 และ 98 สร้างอำนาจต่อรองนายจ้าง

'ธัน' กษิดิศ ปานหร่าย สมาชิกสหภาพคนทำงาน ให้สัมภาษณ์ว่า งานวันนี้จัดโดยเครือข่ายแรงงานหลากหลายกลุ่ม เพื่อรำลึกถึงขบวนการแรงงานที่ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประกันสังคม สิทธิวันหยุด ค่าแรงขั้นต่ำ หรือสิทธิลาคลอด 

'ธัน' กษิดิศ ปานหร่าย

ธัน ระบุต่อว่า กำหนดการทำกิจกรรมวันนี้จะมีการเดินขบวนพาเหรดจากแยกราชประสงค์ไปที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC) แยกปทุมวัน 

นอกจากนี้ ที่ BACC จะมีการแสดงดนตรีสดโดยวง 'Rap Against Dictatorship' (RAD) วงสามัญชน และวงดนตรีจากพี่น้องเมียนมา และมีการปราศรัย "หอบหิ้วความหวัง ความฝัน และข้อเสนอของคนทำงาน โดยเครือข่ายแรงงานหลากหลายกลุ่ม 

เมื่อสอบถามถึงข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลใหม่เกี่ยวกับนโยบายด้านสิทธิแรงงาน ธัน กล่าวว่าอยากให้ภาครัฐรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพและการเจรจาต่อรอง ซึ่งหากปลดล็อกตรงนี้ได้ จะทำให้แรงงานมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างมากขึ้น และอยากให้รัฐคุ้มครองการจัดตั้งสหภาพทั้งในสถานประกอบการ และในด้านสังคมมากขึ้น เขาเชื่อว่าการรวมตัวจะทำให้สังคมเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ รวมถึงค่าแรง และสวัสดิการ

ธัน ระบุด้วยว่า ข้อดีของการรับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ จะทำให้แรงงานนอกระบบสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงาน รวมถึง แพทย์ พยาบาล และข้าราชการ ก็สามารถจัดตั้งสหภาพได้ด้วย

"ก่อนหน้านี้เวลาจะจัดตั้งสหภาพแรงงาน ก็ต้องแจ้งกับกระทรวงแรงงาน ซึ่งขั้นตอนนี้มีความยุ่งยาก และเมื่อสถานประกอบการทราบ ก็จะหาวิธีกลั่นแกล้งผู้ก่อการเหล่านี้ ซึ่งที่ผ่านมา เราพยายามผลักดัน เพื่อที่จะคุ้มครองการจัดตั้งสหภาพแรงงานอย่างเสรี โดยที่รัฐไม่เข้ามาควบคุม หรือแทรกแซง" ธัน กล่าว และระบุว่า เรื่องที่จะฝากไปยังรัฐบาลใหม่มีเรื่องนี้เรื่องเดียวเท่านั้น 

ร้องรัฐไทยช่วยลดค่าทำ VISA ของแรงงานข้ามชาติ

‘วันดี’ แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ซึ่งวันนี้เขามาทำหน้าที่การ์ดอาสาให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องในวันแรงงานสากล เขาอยากฝากให้รัฐไทยช่วยอำนวยความสะดวกให้แรงงานเมียนมาสามารถทำงานในไทยได้อย่างถูกกฎหมายทุกคน และช่วยทำใบอนุญาตทำงานให้แรงงานเมียนมา

วันดี แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา

วันดี ระบุว่า เขาไม่อยากให้รัฐไทยจับกุมแรงงานชาวเมียนมา แล้วผลักดันพวกเขากลับประเทศทันที อยากให้เป็นการปรับ และให้ช่วยทำใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมายให้เขา 

"เป็นไปได้ถ้าโดนจับ ก็ทำให้ถูกต้องไปเลยดีกว่า ไม่ต้องส่งกลับ ให้ส่งกลับไปที่ประเทศพม่า ผมยอมตายที่ประเทศไทยดีกว่า" วันดี ระบุ และกล่าวถึงสถานการณ์การปกครองของเมียนมาที่ยังตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ 

วันดี ระบุว่า เขามาทำหน้าที่การ์ดวันนี้ในฐานะอาสา แต่ถ้ามีรายได้หรือมีโอกาสเมื่อไร เขามักจะส่งของอุปโภคบริโภค หรือข้าวสารอาหารแห้งส่งกลับไปที่บ้านเกิดประเทศเมียนมาเสมอ เพื่อเป็นการสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วย 

อีกข้อเรียกร้องของวันดี อีกข้อ คือ เขาอยากให้ไทยทบทวนลดค่าทำ 'VISA' หรือใบอนุญาตทำงาน เนื่องจากเขาต้องใช้เงินราว 20,000 บาทในการทำ 1 ครั้ง ซึ่งราคาแพงมาก และจะอยู่ได้ราว 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี 

วันดี ระบุต่อว่า เป็นไปได้อยากให้รัฐไทยลดค่าทำ VISA เหลือประมาณ 15,000-17,000 บาทต่อการดำเนินการ 1 ครั้ง 

เมื่อเวลา 16.11 น. ประชาชนตั้งแถวบนถนน (ใต้สะพานลอยเขียว) หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ฝั่งถนนพญาไท มุ่งหน้าไปที่แยกราชประสงค์

เริ่มเดินพาเหรดฉลองวันแรงงานสากล

เวลา 16.20 น. ขบวนพาเหรดคนทำงานเริ่มเดินจากราชประสงค์แล้ว โดยจะใช้เส้นทางเดินบนถนนพระราม 1 เดินผ่านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน และไปสิ้นสุดที่แยกปทุมวัน หน้า BACC

บรรยากาศการเดินพาเหรด

ระหว่างการเดินมีการตะโกนคำขวัญปลุกใจแรงงาน "แรงงานสร้างชาติ ไม่ใช่ทหารยศนายพล แรงงานสร้างชาติ ไม่ใช่เจ้าสัวตระกูลไหน แรงงานสร้างชาติ ไม่ใช่ศักดินาปรสิต แรงงานสร้างชาติ  ไม่ใช่มหาราชคนใด แรงงานสร้างชาติ และจะสร้างประชาธิปไตย"

ทั้งนี้ ในระหว่างการเดิน มีขบวนการปีกแรงงานจากพรรคก้าวไกล นำโดย เซีย จำปาทอง วรรณวิภา ไม้สน และสมาชิกก้าวไกลคนอื่นๆ ส่วนพรรคเพื่อไทย นำโดย ชานันท์ ยอดหงส์ มาร่วมเดินขบวนพาเหรดร่วมกับประชาชนคนอื่นๆ 

เวลา 16.50 น. ประชาชนเดินทางถึงหน้า 'BACC' โดยไม่มีเหตุกระทบกระทั่ง หรือเหตุปะทะแต่อย่างใด 

(ขวาสุด) 'ปกป้อง' ชานันท์ ยอดหงส์ จากเพื่อไทย

บรรยากาศหน้า BACC

ไรเดอร์ต้องอยู่ในระบบ ม.33 ประกันสังคม

เมื่อเวลา 18.00 น. มีการปราศรัยจากเครือข่ายแรงงานจากหลายภาคส่วนที่หน้า BACC  ‘แหม่ม’ ไรเดอร์หญิง อายุ 54 ปี ปราศรัยถึงปัญหาของไรเดอร์ หรือแรงงานแพลตฟอร์มในปัจจุบัน และเรียกร้องให้รัฐพิจารณาทบทวนให้ไรเดอร์เป็นแรงงานในประกันสังคม ม.33 หรือในฐานะลูกจ้าง

แหม่ม ระบุว่า การทำงานของไรเดอร์เปรียบเสมือนลูกจ้างทำงานบนท้องถนน ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีเงินชดเชย และถูกเรียกว่าเป็นแรงงานนอกระบบ แหม่ม ตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงถูกเรียกว่าเป็นแรงงานนอกระบบ แม้ว่าพวกเธอจะมีนายจ้างก็ตาม เวลาเกิดอุบัติเหตุก็ไม่มีใครเหลียวแล และไม่มีค่าชดเชย 

"ทุกวันนี้เช้าออกมาทำงาน เย็นไม่รู้ว่าจะได้กลับบ้านรึเปล่า อุบัติเหตุวันนี้ไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อไร ข่าวที่เพิ่งออกมา LINE MAN โดนรถทับหัว ใครรับผิดชอบตรงนี้ …และเขาเป็นหัวหน้าครอบครัวซึ่งเขาเสียชีวิต ใครรับผิดชอบเขาได้บ้าง" แหม่ม กล่าว

แหม่ม ระบุว่า เธออยากให้ทุกคนช่วยเรียกร้องให้ไรเดอร์เข้าไปเป็นแรงงานในระบบมาตรา 33 ของประกันสังคม อยากได้สวัสดิการ และอยากได้กฎหมายแรงงานที่ไม่เอาเปรียบไรเดอร์ อยากได้กองทุนทดแทนเวลาเกิดอุบัติเหตุและเวลาเจ็บป่วย เวลารักษาพยาบาล และอยากให้มาตรา 33 มาช่วยชดเชยเวลาขาดรายได้

"ประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว เขาจะนำไรเดอร์เข้าแรงงานอยู่ในกฎหมาย อยู่ในระบบแรงงานของประเทศเขานั้นๆ ทำไมไทยไม่มีระบบกฎหมายแรงงาน ทำไมให้นายจ้างขูดรีดเอาเปรียบไรเดอร์แบบนี้

"ในฐานะตัวแทนไรเดอร์ตัวเล็กๆ อยากให้พี่ๆ ช่วยกันร่วมมือ ช่วยกันร่วมใจ เพื่อเราจะมีอำนาจต่อรองกันต่อไป" แหม่ม ไรเดอร์ กล่าว 

รัฐบาลหน้าต้องรับ พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติ

ชุตินาถ ชินอุดมพร ตัวแทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าวปราศรัยถึงข้อเรียกร้องของเธอถึงรัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้ง 2 ข้อ ได้แก่ รัฐบาลหน้า และพรรคการเมืองทุกพรรค ต้องรับ พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพราะเพศ โรคประจำตัว หรือการศึกษา ไม่ควรจะเป็นสิ่งที่ขัดขวางเราจากการทำงาน ถ้าพิการ แต่ทำงานได้ ทำไมต้องขัดขวางเราจากการทำงาน สิ่งเหล่านี้ควรหมดไปได้แล้วในรัฐบาลสมัยหน้า 

(ซ้าย) ชุตินาถ ชินอุดมพร สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน

"ขอให้รัฐบาลหน้าและพรรคการเมืองทุกพรรครับร่าง พ.ร.บ. เลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการเรียน การศึกษา การรักษาพยาบาล และงานได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าคุณจะเป็นคนชาติไหน ไม่สำคัญว่าคุณเพศอะไร มีโรคประจำตัวรึเปล่า หรือท้องไหม ทุกคนควรได้เข้าถึงสิทธิเหล่านี้เท่าเทียม" ชุตินารถ กล่าว 

อีกข้อเรียกร้องคือ ชุตินารถ อยากเรียกร้องให้ผู้ค้าบริการทางเพศ หรือ sex worker เป็นอาชีพที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย เพราะว่าเป็นงานที่มีคุณค่า งานทุกงานมีคุณค่า และควรได้รับเกียรติและสวัสดิการอย่างเท่าเทียม

'CUT' ปราศรัยปลุกแรงงาน ร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศ สร้างรัฐสวัสดิการ

'ไนล์' เกศนคร พจนวรพงษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (Creative Worker Union Thailand - CUT) และประกอบอาชีพนักเขียนการ์ตูน  กล่าวปราศรัยถึงปัญหาของแรงงานสร้างสรรค์ในประเทศไทย

เกศนคร พจนวรพงษ์ ผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย

'ไนล์' กล่าวต่อว่า เธอมาจาก CUT หรือสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ ซึ่งบางคนมองว่าคนทำงานสร้างสรรค์ไม่สามารถรวมตัวกันได้ เป็นศิลปิน ฟรีแลนซ์ เป็นคนที่ทำงานคนเดียว หรือบางคนมองว่าเราเป็นคนชั้นกลางมีต้นทุนในชีวิต ไม่เข้าใจความเจ็บปวดของชนชั้นแรงงาน แต่การมารวมตัววันนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าแรงงานสร้างสรรค์ถูกกดขี่ไม่ต่างจากแรงงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ 

"เคยดูละครกันไหม มันมาจากการทำงาน 16 ชั่วโมงต่อวันของแรงงานในกองถ่าย นักดนตรีกลางคืนที่เราเจอกันอยู่ในร้านเหล้า พวกเขาอาจจะดูมีความสุขเวลาร้องเพลงเวลาเล่นดนตรี แต่พวกเขาสูญเสียอาชีพตนเองตอนไหนก็ได้ถ้าเกิดสถานการณ์แบบโควิดขึ้นมา การ์ตูนไทยที่เราอยากผลักดันให้ดังไปไกลถึงนานาชาติ นักวาดการ์ตูนวาดทำงานทั้งวันได้ค่าจ้างแค่ภาพละร้อยบาท ไม่มีสวัสดิการใดๆ คุ้มครอง… หนังสือที่วางขายในร้าน ประเทศไทยที่บอกว่าเป็นเมืองนักอ่าน มีงานหนังสือตลอด นักเขียนของเราเกือบครึ่งไม่มีสัญญาจ้างที่เป็นธรรม เมื่อถูกโกง นายจ้างจะบอกให้เราไปฟ้องเอา 

"ประเทศแบบไหนที่กลางเมืองที่มีรถเต็มไปหมด กลางเมืองที่มีรถไฟฟ้า มีความเจริญขนาดนี้ มีอุตสาหกรรมที่ส่งออก 'Soft Power' ที่โตขึ้นเรื่อยๆ แต่ชีวิตของคนทำงานสร้างสรรค์ และชีวิตของคนทำงานทุกคนยังเป็นอยู่แบบนี้  

"พวกเราต้องใช้ชีวิตอยู่กับความกังวลว่าพรุ่งนี้จะมีคนจ้างเราไหม อยู่กับความกังวลว่าเกษียณไปจะเอาเงินที่ไหนมาดูแลตัวเอง อยู่กับความกังวลว่าเราจะได้ทำอาชีพนี้จนไปถึงเมื่อไร กังวลว่าพรุ่งนี้เราจะอดตาย หรือกังวลว่าเมื่อไร เราจะหนีออกจากประเทศนี้ไปได้" ผู้ร่วมก่อตั้ง CUT กล่าว 

ไนล์ ระบุถึงโอกาสของคนต่างจังหวัดที่จะได้มีโอกาสเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์นั้นน้อยมาก เพราะว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ศิลปะถูกผูกขาดในเมืองหลวง คนต่างจังหวัดไม่มีสิทธิที่จะฝันว่าตัวเองอยากเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมนี้ คนเขาจะบอกว่าให้คนต่างจังหวัดไปทำงานอย่างอื่น หรือไปต่างประเทศแทน 

ไนล์ ตั้งคำถามด้วยว่า ทำไมศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฯ ถึงมากระจุกแค่ในกรุงเทพฯ ที่เดียว ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ไม่มีสถานที่ที่เกี่ยวกับศิลปะ ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าที่นี่คือประเทศกรุงเทพฯ ที่ๆ ทุกอย่างต้องมากระจุกที่กรุงเทพฯ อย่างเดียวหรืออย่างไร

ผู้ร่วมก่อตั้ง CUT ระบุต่อว่า ทุกความไม่มั่นคงและความเปราะบางที่เธอได้กล่าวมา ทำให้พวกเธอต้องมารวมตัวกันไม่ต่างจากแรงงานทุกคน เพื่อค่าแรง สภาพแวดล้อมในการทำงาน และสัญญาจ้างที่เป็นธรรม และเพื่อสวัสดิการที่มีแล้วในประเทศที่เจริญ เช่น สวัสดิการเด็กแรกเกิด เพื่อการเรียนฟรี ประกันสังคมถ้วนหน้า บำนาญประชาชน เพื่อผลักดันให้รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ใครต้องมาสูญเสียอาชีพตัวเอง

"มันจะต้องเป็นมือของพวกเรา เป็นมือของทุกคนในประเทศนี้ที่เราต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อตัวของพวกเราเอง มันจะไม่มีใครมาสู้แทนพวกเราได้ พวกเราทุกคนต้องรวมตัวกัน เพื่อสร้างอำนาจที่จะใช้เปลี่ยนแปลงประเทศนี้

"ถ้าคุณฟังอยู่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของประเทศนี้ เราขอให้ทุกคนมาสู้ด้วยกันพร้อมๆ กับเรา จนกว่าประเทศนี้จะเป็นประเทศของแรงงานสร้างสรรค์ จะเป็นประเทศของแรงงานทอผ้า จะเป็นประเทศของแรงงานข้ามชาติ จะเป็นประเทศของแรงงานทุกภาคส่วน จนกว่าประเทศนี้จะเป็นประเทศของพวกเราทุกคนโดยแท้จริง" ไนล์ ทิ้งท้าย  

หลังจากนั้น เป็นการปราศรัยของ 'เอส' กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ว่าด้วยสวัสดิการเรียนฟรีถ้วนหน้า และเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ และเป็นการอ่านแถลงการณ์และการแสดงดนตรีสดจากชาวเมียนมา วงสามัญชน และวง "Rap Against Dictatorship" 

นอกจากนี้ การแสดงบนเวทีปราศรัย ยังมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์รอบๆ หน้า BACC อาทิ การแสดงละครจาก 'คณะละครไม่เป็นทางการ' การทำโพลสำรวจความคิดเห็นว่า ประชาชนชอบนโยบายแรงงานของพรรคการเมืองไหนมากที่สุด หรือมีการระบายสีป้ายผ้าเป็นข้อความรณรงค์การเมืองในเรื่องต่างๆ 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net