Skip to main content
sharethis

เก็บตกประมวลกิจกรรมเฉลิมฉลองวันแรงงานสากล จัดโดย สหภาพคนทำงาน ย้ำแนวคิด ‘เราทุกคนคือคนทำงาน’ เดินขบวนจากแยกราชประสงค์ไปแยกปทุมวัน ปราศรัยอัดเผด็จการขุนศึก-นายทุนศักดินาคือศัตรูของชนชั้นแรงงาน ระหว่างทางแวะไว้อาลัยคนเสื้อแดงที่วัดปทุมฯ  

 

ตามที่มีการนัดหมายโดยสหภาพคนทำงาน รวมตัวทำกิจกรรมเฉลิมฉลองวันแรงงานสากล หรือวัน May Day ตอกย้ำแนวคิด “เราทุกคนคือคนทำงาน” โดยตามกำหนดการจะมีการเดินขบวนแรงงาน เริ่มต้นที่แยกราชประสงค์ ไปที่สิ้นสุดที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร หรือ BACC แยกปทุมวัน 

2 พ.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (1 พ.ค.) ที่หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิล์ด ฝั่งถนนราชดำริ เมื่อเวลา 15.30 น. มีประชาชนทั้งชาวไทย และชาวพม่า เริ่มทยอยรวมตัวเพื่อรอทำกิจกรรมที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์อย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ ช่วงระหว่างรอทำกิจกรรม ชุมชนชาวพม่าในประเทศไทยมีการถือป้ายไวนิลเกี่ยวกับวันแรงงานสากล ชูรูป ‘อองซานซูจี’ ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD และรูปของ ‘วินมยิ้ด’ ประธานาธิบดีของพม่า พร้อมกับการร้องเพลง และตะโกนโห่ร้อง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า หลังถูกกองทัพพม่ายึดอำนาจมานานกว่า 1 ปี 

แรงงานชาวพม่าในไทยรอทำกิจกรรมวันแรงงานสากลที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์

ขณะเดียวกัน ทีมสังเกตการณ์บริเวณที่ชุมนุม Mobdata รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการวางกำลังหลวมๆ ตามเส้นทางที่ขบวนเดินจะเคลื่อนผ่าน โดยเฉพาะหน้าโรงพยาบาลตำรวจ จนถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่นำเอาผ้าใบพลาสติกสีฟ้า มาคลุมที่พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระพันปีหลวง หน้า สตช.อีกด้วย 

กระทั่งเวลา 16.00 น. ประชาชนเริ่มตั้งขบวนที่ถนนราชดำริ หันหน้าไปทางแยกราชประสงค์ เตรียมการเดินไปที่หอศิลป์ฯ แยกปทุมวัน ขณะที่พิธิกรกิจกรรมเริ่มประกาศต้อนรับและเชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมกิจกรรม

บรรยากาศตอนตั้งแถวเดินขบวนของสหภาพคนทำงานที่แยกราชประสงค์

ตำรวจอำนวยความสะดวกการชุมนุมโดยปิดถนนด้านหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ฝั่งถนนราชดำริ และถนนพระราม 1 ตั้งแต่หน้าโรงพยาบาลตำรวจ ไปจนถึง สตช.

เวลา 16.33 น. นักกิจกรรมแสดง “Performance art” มีการแต่งตัวเป็นแรงงานสาขาวิชาชีพต่างๆ เป้าหมายเพื่อแสดงออกว่าเราทุกคนคือคนทำงาน เมื่อแสดงเสร็จ จึงมีการเตรียมพร้อมเดินขบวนประชาชนโดยมีทีมการ์ดจากมวลชนอาสา หรือ We volunteer ยืนด้านหน้า ต่อด้วยคณะราษดรัม และประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม 

กลุ่มคนทำงานดนตรีบรรเลงเพลงระหว่างตั้งขบวนที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์

ทั้งนี้ ประชาชนมีการถือป้ายกระดาษปรากฏข้อความต่างๆ เช่น “ไรเดอร์ = แรงงาน” “ค่าแรงเท่าขอทาน เผด็จการอย่างราชา” “ปล่อยเพื่อนเรา” “#saveตะวัน” “แรงงานสร้างชาติ ไม่ใช่มหาราษฎร์องค์ใด” และอื่นๆ ขณะที่ประชาชนพม่าในไทยตะโกนโห่ร้องกันอย่างคึกคัก  

เวลา 16.46 น. ‘แชมป์’ ฉัตรชัย พุ่มพวง ตัวแทนสหภาพคนทำงาน ขอให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนพูดพร้อมกันว่า “คนทำงานสร้างชาติ ไม่ใช่ทรราชคนใด” และนำร้องเพลงชื่อ “Einheitsfrontlied" หรือ “United front” เป็นหนึ่งในเพลงที่มีชื่อเสียงของขบวนการแรงงานประเทศเยอรมนี ซึ่งสหภาพคนทำงานแปลเนื้อร้องเป็นภาษาไทย ซึ่งมีชื่อว่า “แนวร่วมคนทำงาน” พร้อมระบุว่า การชุมนุมเนื่องในวันแรงงานปี 2565 เป็นครั้งแรกที่เพลงได้ถูกเล่น ก่อนเริ่มเคลื่อนขบวนไปหอศิลป์ฯ 

เนื้อเพลง "แนวร่วมคนทำงาน"

โอ้! คนนั้นไซร้ต้องเป็นคน
พวกเราล้วนต้องกินและต้องการ
เราไม่ยอมรับ คำพูดจาฟุ่มเฟือย
ที่ไม่ได้ทั้งเงินและงาน

*เอ้า! เดินเราเดิน
เอ้า! เดินเราเดิน 

มุ่งหน้าไป สู่เป้าหมายของเรา
ก้าวไปร่วมใจ มิตรสหายของเรา
ก้าวไปร่วมใจ มิตรสหายแรงงาน
เพราะพวกเราคือคนทำงาน

เพราะคนนั้นไซร้ต้องเป็นคน
พวกเราไม่ควรก้ม แทบเท้าใคร 
เราไม่ต้องการทั้งไพร่และทาส
และไม่เอาเจ้า-นายเช่นกัน

*(คอรัส (Chorus))

เพราะเราเป็นเพียงแค่คนงาน
พวกเราไม่มีใคร มาอุ้มชู
การปลดแอกปวงชน เพื่อคนทำงาน
จึงเป็นงานของเรานั่นเอง 

*(คอรัส (Chorus))

ไว้อาลัยให้เสื้อแดงผู้เสียชีวิตปี’53

ผู้สื่อข่าวรายงานที่แยกราชประสงค์ เมื่อเวลา 17.10-17.20 น. ขบวนประชาชนเริ่มเดินไปที่หอศิลป์ฯ แยกปทุมวัน โดยระหว่างทางมีการปราศรัยย้ำจุดยืนว่า “เราทุกคนคือแรงงาน” เรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และให้รัฐบาลยกระดับสิทธิแรงงาน

ระหว่างทางมีการทำกิจกรรมไว้อาลัยให้คนเสื้อแดงที่เสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อพฤษภาคม 2553 มีอาสาสมัครนำช่อดอกไม้สีแดงไปวางที่หน้าป้ายวัดปทุมฯ พร้อมกับมีการยืนสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัยให้ผู้เสียชีวิตเป็นเวลา 53 วินาที 

ภาพขณะอาสาสมัครนำดอกไม้มาวางหน้าวัดปทุมวนาราม

นอกจากนี้ ระหว่างทำกิจกรรมไว้อาลัย มีประชาชนตะโกนด้วยว่า “ที่นี่มีคนตาย” และ “ทหารฆ่าประชาชน” รวมถึงมีประชาชนนำป้ายกระดาษมาแขวนตามกำแพงวัดปทุมฯ เขียนเป็นข้อความต่างๆ “เลือดไพร่ไม่ไร้ค่า” “เหี้ยสั่งฆ่า ห่าสั่งยิง” “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” และอื่นๆ 

เวลา 17.22 น. พิธีกรนำขบวนประกาศว่ามีตำรวจล็อกล้อรถมอเตอร์ไซค์หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ แต่ทางผู้จัดงานระบุว่า ตำรวจจะมีการปลดล็อกล้อให้ ขอให้ขบวนเดินหน้าต่ออย่างสบายใจ

จุดหมายต่อไปคือหน้าศูนย์การค้าลิโด้ คอนเนกต์

ร้องเพลงหน้า ‘ลิโด้’-เฟมฟูแสดง 'คนทำงานลุยไฟ'

ทีม Mobdata รายงานว่า เมื่อเวลา 17.47 น. ขบวนประชาชนเคลื่อนที่ถึงหน้าศูนย์การค้าลิโด้ คอนเนกต์ พร้อมปราศรัยถึงพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนควรได้รับ และพื้นที่การแสดงของนักดนตรี หลังจากนั้น กลุ่มนักดนตรีมีการทำการแสดงดนตรีสดหน้าลิโด้ ก่อนเคลื่อนขบวนไปที่หน้าหอศิลป์ฯ แยกปทุมวัน 

เมื่อเวลา 18.10 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนสหภาพคนทำงาน เดินมาถึงสี่แยกปทุมวัน พร้อมร้องเพลง “แนวร่วมคนทำงาน” 

เวลาประมาณ 18.15 น. ถึงจุดหมายที่ลานหน้าหอศิลป์ฯ และจัดพื้นที่เตรียมเวทีปราศรัยในช่วงต่อไป ขณะที่บริเวณรอบๆ เวทีจัดปราศรัย มีประชาชนตั้งโต๊ะขายสินค้า

“คนทำงานคือทุกที่ และคนทำงานคือเจ้าของที่นี่” 

“วันนี้คนทำงานอย่างพวกเรามาแสดงพลังในวันที่ 1 พฤษภาคม และในโอกาสนี้คนทำงานคือคนที่ขับเคลื่อนประเทศ คนทำงานคนที่อยู่ทั่วทุกอณูเศรษฐกิจของประเทศไทย ทุกๆ การเคลื่อนไหวเราคือองค์ประกอบที่สำคัญ แต่น้อยเหลือเกินที่นโยบายรัฐจะผลักดันที่คำนึงถึงพวกเรา น้อยเหลือเกินที่เสียงในสภา กฎหมายร่างต่างๆ จะออกมาโดยคำนึงถึงเสียงคนส่วนใหญ่แบบพวกเรา” พิธีกรนำกิจกรรมกล่าวขอให้ประชาชนมารวมตัวที่หน้ารถเครื่องเสียง  พร้อมเริ่มกิจกรรมร้องเพลง “แนวร่วมคนทำงาน” เพื่อคนทำงาน และส่งต่อให้คนทำงาน

สำหรับกิจกรรมที่ลานหน้าหอศิลป์ฯ นอกจากการนำร้องเพลงแนวร่วมคนทำงานแล้ว มีการเต้นเพลง “คนทำงานลุยไฟ” นำโดยเฟมินิสต์ฟูฟู

ศัตรูชนชั้นแรงงานคือเผด็จการ

ศรีไพร นนทรีย์ สมาชิกเครื่องข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวปราศรัยที่ลานหน้าหอศิลป์ฯ กล่าวถึงวันกรรมกรสากล ถือเป็นวันที่แรงงานทั่วโลกจะออกมาร่วมทำกิจกรรม เพื่อระลึกถึงการต่อสู้ของแรงงาน จนการรูปแบบการทำงานแบบ ‘สาม แปด’ หรือการทำงาน 8 ชั่วโมง (ชม.) ศึกษา 8 ชม. และพัก 8 ชม. เพราะในอดีต คนงานต้องทำงานเป็นเวลายาวนาน ประมาณ 16-18 ชั่วโมง วันหยุดไม่มี สวัสดิการไม่มี และได้ค่าจ้างไม่เป็นธรรม

ในบริบทในไทย การจัดกิจกรรมแรงงานเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2489 สมัยรัฐบาลประชาธิปไตย ‘ปรีดี พนมยงค์’ ซึ่งศรีไพร ระบุว่าเป็นยุคที่ขบวนการแรงงานเฟื่องฟู ได้ยกระดับจากการเป็นสมาคม มาเป็นสหภาพแรงงาน 

อย่างไรก็ตาม รัฐประหารในปี 2490 ยึดอำนาจจากปรีดี และกลายเป็นรัฐบาลเผด็จการของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้กิจกรรมวันแรงงานต้องหยุดลง และรัฐบาลในปี 2499 มีการกำหนดให้วันแรงงานแห่งชาติตรงกับวันที่ 20 เม.ย. เพื่อทำให้คนหลงลืมวันแรงงานสากล 

ศรีไพร ให้ความเห็นว่า หลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2500 เป็นรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งเป็นการจับมือกันระหว่าง ขุนศึก-นายทุนศักดินา และเมื่อใดที่ 2 ขั้วนี้จับมือกัน ก็จะกดขี่สวัสดิการและความมั่นคงของแรงงาน ทำให้สิทธิแรงงานไม่ขยับไปไหน ผู้นำแรงงานต้องสูญเสียชีวิตมากมาย เพื่อออกมาเรียกร้องชีวิตที่ดีขึ้น

“การสูญเสียมากที่สุดก็คือ การรัฐประหารที่ทำให้ทหารไปรวมตัวกับกลุ่มทุนศักดินา พอรวมตัวกันได้ก็ริดรอนสวัสดิการ และความมั่นคงในชีวิตของแรงงาน ที่ผ่านมา มีผู้นำแรงงานมากมาย มีรายชื่อติดที่ข้างฝาพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ที่มักกะสัน ถูกฆ่าตาย ถูกจำคุก หลังจากที่มาเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตคนงานดีขึ้น แต่กลับทุนศักดินาปรสิตบงการอยู่เบื้องหลังติดคุก เจ็บป่วยจนตาย ถูกฆ่าตาย” ศรีไพร กล่าว 

กลับกัน ในยุคประชาธิปไตยอย่างในช่วงปี 2533 และปี 2540 สิทธิของแรงงานได้รับการยกระดับ เช่น สิทธิประกันสังคมที่ต่อสู้นานนับ 10 ปีได้รับการขึ้นเป็นกฎหมายในปี 2533 สมัยพลเอกชาติชาย ชุนหะวัณ สิทธิการลาคลอด การยืดเวลาการเกษียณอายุแรงงานหญิงจากอายุ 45 ปี เป็น 55 ปี ค่าจ้างขั้นต่ำได้รับการยกระดับที่ 300 บาท 

แต่หลังจากรัฐประหารอีกครั้ง 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็เป็นรัฐบาลเผด็จการที่มีปรสิตหนุนหลัง ทำให้ไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้าง ความเหลื่อมล้ำพุ่งสูงขึ้น แรงงานแพลตฟอร์มเข้าไม่ถึงสวัสดิการ ขณะที่แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายประกันสังคม ม.33 และการเยียวยาช่วงโควิด-19 แถมกระทรวงกลาโหมและสถาบันกษัตริย์เรียกร้องให้มีการเพิ่มงบฯ ทุกปี 

ดังนั้น นักสิทธิแรงงานจากกลุ่มเครือข่ายแรงงานฯ ให้ความเห็นว่า รัฐบาลเผด็จการขุนศึก และมีนายทุนศักดินา หนุนหลังคือศัตรูตัวฉกาจของชนชั้นแรงงาน ซึ่งเป็นคน 99% ของประเทศ และเธอขอเรียกร้องให้พวกเราลุกขึ้นสู้กับเผด็จการอีกครั้ง 

“วันนี้เราไม่ได้สู้กับเผด็จการที่เป็นทหาร แต่สู้กับเผด็จการที่มีปรสิตชักใยมาอย่างยาวนาน”

“เราต้องการเห็นคน 99% ที่เป็นส่วนใหญ่ของเมืองไทย และเป็นคนยากจน ได้ลืมตาอ้าปาก และมีชีวิตดีขึ้น และเราต้องต่อสู้ต่อไป อย่ากลัว เราจงอย่าหยุดเดิน จงอย่าหยุดส่งเสียง จงอย่าหยุดเรียกร้อง จงอย่าสิ้นหวังในทุกๆ โอกาสที่เรามี แม้ว่าจะน้อยนิด มันคือความหวังที่เราคิดว่า เราจะเปลี่ยนชีวิตผู้ใช้แรงงาน เปลี่ยนชีวิตประชาชนที่อยู่ใน 99% ให้ดีขึ้น ดังนั้น ปรสิตต้องคืนภาษีให้กับประชาชน” ศรีไพร ทิ้งท้าย  

ต่อมา มีการปราศรัยโดย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน หัวหน้าพรรคสามัญชน และตัวแทนขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยที่ลานหน้าหอศิลป์ฯ ชวนแรงงานเข้าร่วมชุมนุมใหญ่หน้าทำเนียบล้มร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการร่วมกลุ่ม 23 พ.ค.นี้ และย้ำว่าสิทธิในการรวมกลุ่มเป็นสิทธิพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของขบวนแรงงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปราศรัยขับไล่กองทัพพม่า

เมื่อเวลา 19.13 น. ตัวแทนแรงงานเมียนมา กล่าวปราศรัยหน้าหอศิลป์ฯ ต่อต้านเผด็จการทหารพม่า ซึ่งทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนนำโดยพรรค NLD และขอให้ไทยมีการแต่งตั้งตัวแทนจากรัฐบาลคู่ขนานพม่า ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ หรือ NUG ซึ่งมีอองซานซูจี เป็นผู้นำ ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนเอกอัครราชทูตเมียนมา ประจำประเทศไทย ที่ถูกแต่งตั้งจากเผด็จการทหาร 

นอกจากนี้ แรงงานพม่ากล่าวย้ำว่า ที่เขาอยากให้คนจาก NUG มาทำหน้าที่ในสถานทูตพม่าในไทย เพราะว่าสมัยรัฐบาลอองซานซูจีนั้น เวลาคนงานพม่ามีเรื่องอะไร ทางการจะช่วยเหลือตลอด ค่าพาสสปอร์ตในสมัยอองซานซูจี ราคา 5,000 บาทเท่านั้น แต่หลังรัฐประหาร กองทัพพม่าขึ้นค่าพาสสปอร์ตเป็นราคา 18,000 บาท พร้อมตะโกนไม่เอาเผด็จการทหารพม่า

“ตอนนี้พม่าโดนเผด็จการกดขี่มาตลอด เขายึดอำนาจด้วยความรุนแรง ทั้งที่การเป็นผู้นำต้องมาจากรัฐสภา และประชาชน แต่ถ้าไม่ได้มาจากประชาชน ตอนนี้เผด็จการก็คือหมาตัวหนึ่ง” ตัวแทนแรงงานเมียนมาคนเดิมกล่าว 

ปิดท้ายด้วยการแสดง “Performance Art” และอ่านแถลงการณ์ของสหภาพคนทำงาน โดยภาคีการละคร และร้องเพลงแนวร่วมคนทำงาน ก่อนยุติกิจกรรมในเวลา 19.45 น. 

ภาคีการละคร ทำการแสดงและอ่านแถลงการณ์ก่อนยุติกิจกรรม ภายโดย iLaw

รายละเอียดแถลงการณ์ของสหภาพคนทำงาน

หมายเหตุ มีการปรับเปลี่ยนพาดหัวเมื่อ 2 พ.ค. 65 เวลา 22.39 น. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net