Skip to main content
sharethis

กลุ่มแรงงานนำโดย สมานฉันแรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เรียกร้องขึ้นค่าแรงเป็น 712 บาทต่อวันเนื่องใน ‘วันแรงงานแห่งชาติ’

1 พ.ค. 2566 สำนักข่าวไทย รายงานว่าที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ หน้ากระทรวงศึกษาธิการ สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสหภาพแรงงานกลุ่มต่างๆ รวมทั้งพี่น้องแรงงานข้ามชาติ กว่า 1,000 คน ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 โดยนัดหมายกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเคลื่อนขบวน ประศัย และชูป้ายข้อเสนอต่างๆมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล

นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการ สรส. ในฐานะตัวแทนแรงงาน กล่าาว่า นอกจากการมายื่นข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และการใช้ชีวิตของพี่น้องแรงงานต่อรัฐบาล วันนี้ตัวแทนแรงงานทั้งหมดได้มีมติร่วมกันที่จะนำเสนอข้อเรียกร้องเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐบาลจัดการแก้ไขทันที คือ การขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำรายวัน เรียกร้องให้ขึ้นเป็น 712 บาทต่อวัน เพราะตอนนี้เศรษฐกิจของไทยเริ่มฟื้น และค่าครองชีพในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่ค่าครองชีพยังคงอยู่เท่าเดิม

แม้เพิ่งจะมีการปรับขึ้นมาในช่วงต้นปีที่ผ่านมาแต่ก็ยังห่างไกล จากตัวเลขที่เคยนำเสนอ ยืนยันว่าตัวเลข 712 บาทต่อวัน เป็นตัวเลขที่มีความเหมาะสมเพราะผ่านการทำแบบสอบถามจากพี่น้องแรงงานไทยทั่วประเทศ  บวกกับตัวเลขเงิยเฟ้อที่สูงขึ้นมา 7-8%  ถ้าหากไม่ปรับจะอยู่กันยากลำบากยิ่งกว่าเดิม ตัวเลขนี้ทางสมาพันธ์แรงงานได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลไปตั้งแต่ปี 2560 แต่ก็ถูกปัดตกมาตลอด

ส่วนที่บอกว่าตัวเลขหากมีการปรับเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาคเอกชน โรงงาน ตรงนี้ยืนยันว่า จากการได้ไปพูดคุยกับตัวแทนภาคเอกชนนายจ้าง ยอมรับได้กับตัวเลขนี้ เพราะมีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน บวกกับ บีโอไอ ก็มีงบประมาณส่งเสริมการลงทุนให้ภาคเอกชนปีละไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท มั่นใจว่าตัวเลขตรงนี้เป็นตัวเลขที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้

นอกจากนี้ยังยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลปรับลดอัตราค่าของชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปัจจุบันทั้งเรื่องของค่าน้ำค่าน้ำมันและค่าไฟเข้าสู่วาระการพิจารณาเร่งด่วนควบคู่ไปกับการเพิ่มค่าแรง

ส่วนรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศตัวแทนพี่น้องแรงงานอยากฝากว่าควรจะต้องให้ความสำคัญกับแรงงานไทยและแรงงานที่อยู่ในประเทศมากกว่านี้  ทั้งเรื่องของค่าแรงและความเป็นอยู่ ที่ผ่านมาเมื่อมีปัญหาและเกิดการเรียกร้องก็ได้รับการแก้ไขไปทีละอย่างเหมือน พี่น้องแรงงานไม่มีความสำคัญทั้งที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ 

ขณะที่ตัวเลขค่าจ้างรายวันที่บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ นำเสนอในการหาเสียงตั้งแต่ 450 ไปจนถึง 600 บาทต่อวัน ทางสมาพันธ์แรงงาน มองว่าเป็นเรื่องดีที่ บรรดาพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับประชาชนกลุ่มนี้ แต่ยืนยันว่าตัวเลขที่จะนำเสนอรัฐบาลที่ 712 บาทเป็นตัวเลขที่เหมาะสมที่สุดในช่วงเวลาแบบนี้

สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ จะยื่นในปีนี้ ประกอบด้วย

1.รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง 

2.ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวง ให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงเพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของลูกจ้าง 3.ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม อาทิ ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15-60 ปี เป็น 15-70 ปี เมื่อผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพมาแล้ว ขอให้ยังรักษาพยาบาลได้ตลอดชีวิต 

4.ขอให้กระทรวงแรงงาน จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน 

5.ขอให้เร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 

6.เร่งดำเนินการให้พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ มีผลบังคับใช้โดยเร็ว 

7.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2566 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net