Skip to main content
sharethis

1 พ.ค. 2566 หลายพรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหว-เรียกร้อง-เสนอนโยบาย เพื่อให้ความสำคัญกับคนทำงาน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ

'ประยุทธ์' ส่งความระลึกถึง-ปรารถนาดียังผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ

1 พ.ค. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปราศรัยเนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ใช้แรงงานทุกคน เผยแพร่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีโทรทัศน์ต่างๆ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 ขอส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีมายังผู้ใช้แรงงานทุกคน ย้ำผู้ใช้แรงงานทุกคนถือเป็นบุคลากรที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศที่ต้องได้รับการดูแล เพื่อยกระดับคุณชีวิต พร้อมทั้งพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสร้างความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที

นายกรัฐมนตรี กล่าวในนามของรัฐบาล ขอชื่นชมทุกภาคส่วนและขอบคุณผู้ใช้แรงงานทุกคนที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ตลอดจนมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของตน เพื่อเป็นแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจบริการ มาโดยตลอด จนทำให้ประเทศของเราเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ พร้อมทั้งสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงท่ามกลางวิกฤตการณ์ของสังคมโลก

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้อวยพร ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากล อีกทั้งเดชะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้โปรดดลบันดาลประทานพรให้ผู้ใช้แรงงานทุกคนประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพแรงงานไทย และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืนตลอดไป

'เพื่อไทย' ย้ำแรงงานคือแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ

นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยโพสต์คลิปวิดีโอผ่านเฟสบุ๊คโดย นายเศรษฐา ระบุข้อความโดยให้ความสำคัญเนื่องในวันแรงงาน วันที่ 1 พ.ค. 2566 โดยระบุข้อความว่า 

“แรงงานถือเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ พี่น้องแรงงานต้องได้รับการพัฒนาทั้งด้านศักยภาพและสวัสดิการ คุณภาพชีวิตของทุกคน ต้องดีขึ้น ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยครับ”

เวลาต่อมา นายเศรษฐา ก็ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ส่วนตัวอีกครั้ง โดยย้ำถึงนโยบายปรับค่าแรง 600 บาท และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท ว่าการแก้ปัญหาค่าครองชีพและความเหลื่อมล้ำอันต้องมองแบบบูรณาการ ตนเชื่อว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ประชาชนไทยจำนวนมากมีปัญหาเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่ ซึ่งฉายภาพให้เห็นก็คือ 8 ปีที่ผ่านมา เราเห็นมีการปรับค่าแรงขึ้นเพียง 54 บาท จาก 300 บาทเป็น 354 บาท เงินเดือนในการจ้างงานผู้ที่จบวุฒิปริญญาตรี ได้มีการปรับขึ้นเพียง 1 ครั้ง จาก 14,000 เป็น 15,000 บาทในปี 2558 แต่ตนอยากชี้ให้เห็นว่าปัญหาความลำบากของพี่น้องประชาชนชาวไทยนี้ไม่ได้มีแค่มิติเดียว แต่มี 2 เรื่องที่ทับซ้อนกันอย่างแยกไม่ออก โดยมิติแรก ถ้าดูกันแบบตรงๆ ก็จะเป็นปัญหาเรื่องของค่าครองชีพ ซึ่งถ้าหากมองอัตราเงินเฟ้อกับค่าแรงขั้นต่ำเพียงอย่างเดียว จะเห็นว่าระหว่างปี ‘57 กับปี ‘65 เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 8% แต่ มีการปรับค่าแรงเพิ่มถึง 16% ในระยะเวลาเดียวกัน ก็อาจจะดูว่าโอเค แต่ถ้าเรามองลึกลงไปอีกจะเห็นว่าสิ่งจำเป็นต่อการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี นั้นกลับแพงขึ้นมาก ยกตัวอย่างเนื้อหมู สี่ปีที่ผ่านมา ราคาหมูแพงขึ้น 30% ราคาเนื้อไก่แพงขึ้น 20% หรือ ราคาผักบางชนิดที่แพงขึ้นถึง 70% ซ้ำยังพ่วงเข้าไปด้วยภาระหนี้ต่อครัวเรือนที่สูงขึ้นถึง 47% ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากพิษโควิด 19 ที่ทำให้หลายคนตกงาน ทำให้เห็นได้ว่าในชีวิตจริงแล้ว ความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยแย่ลงอย่างน่าสลดใจ แต่กลับถูกเพิกเฉยโดยรัฐ

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ส่วนอีกประเด็นที่ทับซ้อนเรื่องของค่าครองชีพดังกล่าวก็คือปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ ที่ซ้ำเติมยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งถ้าจะยกให้เห็นภาพก็คือเปรียบเทียบการเติบโตกว่า 31% ของ Real GDP ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ค่าแรงที่โต 18% และ เงินเดือนวุฒิปริญญาตรีที่ขึ้นแค่ครั้งเดียวเพียง 7% และไม่ปรับอีกเลยในช่วงเวลาดังกล่าว ในขณะเดียวกันคนรวยยังรวยขึ้นก้าวกระโดด โดยเฉพาะกลุ่มนายทุน ที่ได้อานิสงส์จากต้นทุนค่าแรงที่โตช้า ส่งผลให้เกิดการฟื้นฟูและเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปแบบ k-shape ตามที่ตนเคยกล่าวไว้เสมอมา (คนรวยยิ่งรวยห่างจากกลุ่มที่อ่อนไหวทางเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ) ดังนั้น จึงเป็นที่มาของนโยบายต่างๆ ที่เราได้นำเสนอ หากพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทอย่างทันทีภายในปี 2567 และภายใน 4 ปีเราตั้งเป้าค่าแรงขั้นต่ำที่ 600 บาท รวมถึงเงินเดือนขั้นต่ำของปริญญาตรีที่ 25,000 บาท ซึ่งจากการวิเคราะห์ของเราสามารถทำได้เพราะไม่ได้ปรับทันทีทีเดียว แต่จะค่อยๆ ปรับตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งเราคาดว่าจะทำให้ GDP โตเฉลี่ยที่ 5% ต่อปี นอกจากนั้นแล้ว เราจะเน้นเรื่องการศึกษาเพื่อให้ประชากรของเราได้พัฒนาความรู้ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในบางภาคธุรกิจเช่น ภาคอุตสาหกรรมหรือการผลิตซอฟท์แวร์ ซึ่งทุกวันนี้จ่ายค่าแรงสูงกว่า 600 บาทต่อวัน และ 25,000 บาทต่อเดือนอยู่แล้ว หากเรามีโอกาสได้ดำเนินนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่เราวางไว้ จะเกิดประโยชน์มากมาย เราจะเป็นประเทศที่อยู่ด้วยหลัก ทุนนิยมมีหัวใจ คือ การทำให้เศรษฐกิจโต แต่เป็นการโตทั้งระบบ ไม่เอาเปรียบใคร ทำให้ช่องว่างของความไม่เท่าเทียมนั้นลดลง เราจะดึงดูดคนให้เข้าสู่ระบบการศึกษาและจบปริญญามากขึ้น เป็นการลดปัญหาสังคม และยังสร้างพนักงานมีคุณภาพให้กับภาคเอกชนด้วย นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายดังกล่าวจะช่วยยกระดับส่วนงานภาคราชการซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศอีกด้วย ตนขอยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์เป็นกรณีศึกษา ที่ราชการเป็นอาชีพที่เงินเดือนไม่แพ้ภาคเอกชน ดังนั้นเราต้องมองถึงการทำให้ค่าตอบแทนราชการไทยเหมาะสม และดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงมาทำงาน เพราะที่ผ่านมาตนเชื่อว่ามีคนมีความสามารถมากมายที่อยากจะทำงานราชการ ให้บริการภาคประชาชนอย่างเต็มที่ แต่ติดตรงที่ค่าตอบแทนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

“ผมอยากชวนให้ทุกท่านมองนโยบายนี้เชื่อมโยงกับนโยบายอื่นๆ ของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะเมื่อทำควบคู่กับนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น นโยบายเรียนรู้มีรายได้ เรียนรู้ง่ายตลอดชีวิต (Learn to Earn) นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท การเพิ่มนักท่องเที่ยว การจัดตั้งเขตธุรกิจใหม่ เราจะเห็นว่าทุกนโยบายล้วนเป็นฟันเพืองสำคัญที่ทำงานร่วมกัน และจะช่วยเสริมสร้างให้ประเทศมี ศักยภาพที่ดีขึ้น และช่วยยกระดับประเทศตั้งแต่ฐานรากครับ” นายเศรษฐา ระบุ

นอกจากนี้พรรคเพื่อไทย ยังได้ออกแถลงการณ์เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี โดยระบุว่า "พี่น้องแรงงานคือแรงขับเคลื่อนสำคัญในเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมาโดยตลอด แต่ 8 ปีที่ผ่านมากลับเป็นภาคส่วนที่ถูกละเลย ได้รับผลกระทบสูงสุดจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ คุณภาพชีวิตเปราะบางย่ำแย่ลงจาก 8 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงถูกแช่แข็ง รายได้ไม่พอต่อค่าใช้จ่าย ภาระหนี้สินฉุดรั้ง ไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ อีกทั้งยังเจอปัญหาสังคม ยาเสพติด มลภาวะ คอยกัดกร่อนชีวิต

วันนี้เป็นวันสำคัญของพี่น้องแรงงาน พรรคเพื่อไทยจะยกระดับแรงงานไทย มีงานให้เลือก มีรายได้ให้พอ มีเงินให้เหลือในกระเป๋า มีอำนาจให้ต่อรอง มีสังคมและคุณภาพชีวิตให้สามารถส่งต่อให้ลูกหลานได้อย่างมีศักดิ์ศรี พรรคเพื่อไทยจะ “รดน้ำที่ราก” โดยนโยบายของพรรคจะเริ่มจากการสร้างฐานที่แข็งแรง พี่น้องแรงงานต้องได้รับการดูแลในทุกมิติ

1. ค่าแรงขั้นต่ำ: พรรคเพื่อไทยจะยกระดับรายได้ของพี่น้องแรงงานทั้งระบบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ผ่าน 2 นโยบายหลัก คือ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ต่อวัน และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ต่อเดือน ภายในปี 2570 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ความกินดีอยู่ดี ลดความเหลื่อมล้ำ และลดทอนภาระหนี้ให้กับพี่น้องแรงงานทั้งประเทศ นอกจากนั้นพรรคเพื่อไทยจะมีการเติมเงินดิจิทัลให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน จำนวน 10,000 บาท ซึ่งนอกจากเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่แล้ว ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

นโยบายทางเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจของประเทศโตเฉลี่ยอย่างต่ำปีละ 5% บริหารจัดการค่าครองชีพให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ดูแลทุกภาคส่วนตั้งแต่ การเกษตร การท่องเที่ยวและบริการ การผลิตและส่งออก เพื่อให้ทั้งฝ่ายแรงงานและภาคเอกชนได้รับประโยชน์จากขนาดของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างยุติธรรม

2. ศักยภาพแรงงาน: พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการเพิ่มทักษะแรงงาน โดยเฉพาะการค้นหาทักษะใหม่ ปลดล็อคศักยภาพของคนไทยในระดับครัวเรือนผ่านนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ Soft Power เพื่อสร้างรายได้ให้ทุกครัวเรือนผ่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างงานใหม่กว่า 20 ล้านตำแหน่ง และพรรคเพื่อไทยมีนโยบายสร้างแพลตฟอร์มการศึกษา Learn to Earn เพื่อจะพัฒนาศักยภาพแรงงานในทุกช่วงอายุและจะเชื่อมกับระบบการจัดหางานกลางของประเทศ การศึกษาจะยืดหยุ่น ทันสมัย สามารถผลิตแรงงานคุณภาพสูงที่ตรงต่อกับความต้องการของตลาด การหางานที่เหมาะสมกับตัวเองจะง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว

3. สิทธิและสวัสดิภาพแรงงงาน: พรรคเพื่อไทยจะยกระดับสวัสดิการพี่น้องแรงงานทั้งระบบ นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคและระบบประกันสังคม จะทำให้การเข้าถึงระบบสาธารณสุขสะดวกรวดเร็วขึ้นผ่านเทคโนโลยี รวมทั้งมีความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากขึ้น ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงาน เพื่อให้ได้รับสิทธิการเข้าถึงการจ้างงานโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ก่อตั้งสหภาพแรงงานหรือองค์กรของแรงงาน ผลักดันให้รัฐบาลให้การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ดูแลด้านสวัสดิการ สุขอนามัย และคุณภาพชีวิตของแรงงานในทุกเพศสภาพ สิทธิวันลาคลอดและสิทธิแรงงานคู่สมรสลาเลี้ยงลูกเพื่อสร้างรากฐานครอบครัวให้แข็งแรง รวมถึงการศึกษาและเสนอกฎหมายแรงงานให้ทันสมัย ครอบคลุมธุรกิจรูปแบบใหม่ และมีความยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย"

พรรคเป็นธรรมออกแถลงการณ์เนื่องในวันแรงงาน

พรรคเป็นธรรมออกแถลงการณ์เนื่องในวันแรงงาน 1 พ.ค. 2566 ระบุว่าวันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี คือ วันกรรมกรสากล ที่หลายคนคงคิดเพียงแค่การฉลองให้กับหยาดเหงื่อของ “ผู้ใช้แรงงาน” และ “คนที่ทำงาน” โดยทั่วไปที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคม 

หากแต่สิ่งสำคัญของการระลึกถึงวันกรรมกรสากลนี้ ควรมองถึงการต่อสู้ในการได้มาของหลัก “วันทำงาน 8 ชั่วโมง” หรือ “Eight-hour day” ที่กลุ่มพี่น้องผู้ทำงานต่อสู้กับนายจ้างที่ริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ โดยให้แรงงานทำงานอย่างยาวนานและไม่คำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชนใดๆ 

การต่อสู้ดังกล่าวสะท้อนถึงการเรียกร้องสิทธิที่จำเป็นต่างๆ รวมถึง เสรีภาพในการแสดงออกของพี่น้องแรงงานที่ถูกกดขี่อย่างไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง

ในปี 2566 นี้ พรรคเป็นธรรมได้เล็งเห็นความสำคัญที่ประเทศไทยต้องเร่งมีแนวทาง หลักการ และกฎหมายที่เกี่ยข้องกับแรงงานในประเทศ โดยพิจารณาการนำกระบวนการที่อยู่บนฐานทางด้านสิทธิ (rights-based approach) มาเป็นหลักสำคัญของการสร้างแนวทาง หลักการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

ทั้งนี้ การปรับใช้และบังคับใช้แนวทาง หลักการ และกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจำเป็นต้องมองก้าวข้ามปัญหา เรื่อง “สัญชาติ” และ “สถานะ” ของแรงงานในประเทศ เนื่องจากแรงงานทั้งหลายได้สร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมทั้ง การเคลื่อนตัวทางเศรษฐกิจและสังคม และลดการว่างงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง 

พรรคเป็นธรรมจึงเสนอรายละเอียดนโยบายด้านแรงงานของพรรค 6 ข้อ ซึ่งจะเป็นการทำให้ไทยเป็นสากล หากไทยทำได้ทั้ง 6 ข้อนี้ ไทยจะก้าวข้ามผ่านกำแพงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนกับแรงงาน และไทยจะสามารถยืนแนวหน้าของการเป็นผู้นำด้านการดูแลและให้ความคุ้มครองแรงงานในเวทีโลกต่อไปได้

นโยบายด้านแรงงานพรรคเป็นธรรม

1. นำหลักการความมั่นคงมนุษย์มาแทนที่ความมั่นคงกระแสเก่าเมื่อพิจารณาเรื่องแนวทาง หลักการ และกฎหมายด้านแรงงาน

2. นำไทยสู่สากลด้านแรงงาน ด้วยการเข้าร่วมเป็นภาคีและให้สัตยาบันกับกรอบกฎหมาย/ข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและการเคารพสิทธิแรงงาน ดังนี้
- อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัว
- อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง 
- อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา 
- อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการคุกคามในโลกแห่งการทำงาน และ 
- อนุสัญญาระหว่างประเทศเรื่องแรงงานข้ามชาติ และสมาชิกในครอบครัว ค.ศ. 2007

3. ปรับปรุงกฎหมายไทยที่มีอยู่ด้านแรงงาน หรือ หากมีความจำเป็นที่มีข้อทับซ้อนของกฎหมายที่มีอยู่ สมควรอนุวัตรกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับกรอบและกฎกติการระหว่างประเทศด้านแรงงาน

4. ยกระดับคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันสังคม และคณะกรรมการประกันสังคม โดยใช้หลักการไม่เอนเอียงและความเป็นกลาง

5. ยกระดับและขยายการคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุมทุกการทำงานและอาชีพ อาทิ แรงงานบริการทางเพศ (sex worker) แรงงานทำงานในบ้าน และแรงงานแพลตฟอร์ม

6. ขยายการคุ้มครองแรงงานแบบครอบคลุม โดยก้าวข้าม เรื่องสัญชาติและสถานะบุคคลของแรงงานในไทย (ผู้ลี้ภัยและบุคคลไร้สัญชาติ) โดยจดทะเบียนแรงงาน เพื่อรับรองสถานะและนำเข้าระบบแรงงานอย่างถูกต้อง

'ประวิตร' ชี้นโยบาย พปชร.ยกระดับแรงงานภาคอีสาน สร้างรายได้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวเนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ใช้แรงงานทุกคนว่า ตนตระหนักถึงหยาดเหงื่อของผู้ใช้แรงงานในประเทศ ที่ได้ทำประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ตนขอให้ผู้ใช้แรงงานทุกท่านมีความสุข ร่างกายแข็งแรง และมีพลานามัยที่ดีในทุกๆ วัน พร้อมที่จะร่วมกันพัฒนาประเทศ ให้เจริญก้าวหน้า และขอให้ทุกคน ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ เดินตามความฝันของตนเองที่วางไว้ ขออวยพรให้ทุกคนมีพลังใจ มีพลังงาน มีแรงทำงานต่อไป

พล.อ.ประวิตร กล่าวต่อว่า ในส่วนของพรรค พปชร. มีนโยบายในการยกระดับแรงงานให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยเรามีเป้าหมายในการยกระดับภาคอีสานให้เป็นแหล่งงาน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจ เกิดแรงงานใหม่ให้กับในพื้นที่ ลูกหลานคนอีสานจะได้ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานออกไปอยู่ที่อื่นหรือกรุงเทพฯ เพื่อประกอบอาชีพ เพราะเราจะผลักดัน นโยบายอีสานประชารัฐฯ สู่การพัฒนา สร้างเมืองอีสานให้มีเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ และจะเชื่อมโยงระบบขนส่งคมนาคมที่ครอบคลุมทั้งการโดยสารและขนส่งสินค้า เชื่อมโยงเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เพื่อสร้างการค้าการลงทุนทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม จีน ดังนั้นแรงงานอีสานต้องรวย มีชีวิตที่ดี มีความมั่นคง

ประชาธิปัตย์ ชู 12 ประเด็นยกระดับคุณภาพแรงงานไทย พร้อมดันระบบประกันสังคมถ้วนหน้า

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย  รองโฆษกพรรคและทีมโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ประกาศนโยบาย 12 ข้อ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานจากปัญหาการเงิน ภายใต้ยุทธศาสตร์ สร้างเงิน-สร้างคน-สร้างชาติ 1. สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคีในการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับภาวะทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ภาวะเงินเฟ้อ และความสามารถในการปฏิบัติงาน เพื่อให้ลูกจ้างได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม

2. พัฒนาและฝึกอบรมแรงงานทุกระดับให้มีความรู้ และทักษะฝีมือที่มีมาตรฐานสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยความร่วมมือของฝ่ายนายจ้าง และหน่วยงานภาครัฐ เช่น ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นต้น ทั้งนี้ ให้มีสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ฝ่ายจ้างตามเหมาะสม 

3. ดำเนินนโยบายขยายอายุเกษียณออกไปอีก 5 ปี ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยให้เป็นไปตามความสมัครใจของแรงงานเป็นสำคัญ

4. สนับสนุน และผลักดันให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ และไม่มีรายได้ประจำให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 33 เพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิ สวัสดิการ การเยียวยา  และการคุ้มครองอย่างเสมอภาค ตามกฎหมายแรงงาน 

5. ส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ และคนพิการ โดยกำหนดให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เหมาะสมกับความสามารถ และสภาพแห่งร่างกาย โดยสนับสนุนให้มีการร่วมกลุ่มเพื่อทำงานที่ถนัดในลักษณะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprises) พร้อมทั้ง จัดให้มีระบบการดูแลสวัสดิการที่เป็นธรรม  

6. ดำเนินการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้เกิดเป็นธรรมแก่กลุ่มผู้ที่เคยเป็นสมาชิกตามมาตรา 39 และกลุ่มอาชีพอิสระตามมาตรา 40 ให้ได้รับสิทธิ สวัสดิการ และการคุ้มครองเท่าเทียมกับผู้ประกันตนภาคบังคับ ตามมาตรา  33

7. จัดให้มีการออมเพื่อใช้ยามชราอย่างทั่วถึง โดยการปรับปรุงกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ส่งเสริมการออมตั้งแต่วัยเริ่มต้นทำงาน 8. สนับสนุนนโยบาย “แรงงานคืนถิ่น” เพื่อประกอบอาชีพในภูมิลำเนา โดยการสนับสนุนแหล่งทุนสร้างงาน สร้างอาชีพ จากกลไกธนาคารหมู่บ้าน – ชุมชน 

9. ส่งเสริมให้มีศูนย์เด็กเล็กคุณภาพในสถานประกอบการ ด้วยมาตรการที่หลากหลาย เช่น ให้นำค่าใช้จ่ายมาคำนวณหักภาษีนิติบุคคลได้ เป็นต้น และส่งเสริมการจัดสวัสดิการที่จำเป็นเพิ่มขึ้นในสถานประกอบการ

10. แก้ไขกฎหมายเพื่อให้ลูกจ้าง และข้าราชการสามารถนำเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กบข. เพื่อจัดหาที่อยู่อาศัย หรือลดหนี้ได้ 11. แก้ไขกฎหมายให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สามารถนำหุ้นสหกรณ์มาแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ 12. จัดให้มีระบบประกันสังคมถ้วนหน้า เพื่อยกระดับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการในการทำงานให้แก่แรงงานทั้งในและนอกระบบครอบคลุมทั่วถึง และมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน เช่น การรักษาพยาบาล การประกันรายได้จากการว่างงาน กรณีทุพพลภาพ เป็นต้น รวมทั้ง ส่งเสริมให้การออม


ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย [1] [2] | ผู้จัดการออนไลน์ | ไทยรัฐออนไลน์ | สยามรัฐ



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net