Skip to main content
sharethis

สื่อ 'Hfocus' รายงาน สหภาพลูกจ้างของรัฐฯ เรียกร้องขอความเป็นธรรมลูกจ้างสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เสนอ 6 ข้อลดความเหลื่อมล้ำคนทำงานสายสนับสนุนบริการ รพ.ทั่วประเทศ ขอเลิกจ้างรายวันเหตุไร้ความมั่นคง ชี้พยาบาลยังถูกจ้างวันละ 562 บาท ทั้งที่ภาระงานเพียบ


ที่มาภาพ: Hfocus

1 พ.ค. 2566 Hfocus รายงานบรรยากาศเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ซึ่งเป็นวันแรงงานสากล หรือวันเมย์เดย์  (MayDay) ซึ่งจัดขึ้นทุกปี โดยองค์กรและเครือข่ายแรงงานมีการจัดกิจกรรมขับเคลื่อนข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลมาโดยตลอด ซึ่งปี 2566 ก็เช่นกัน โดยปีนี้มีการจัดกิจกรรมข้อเรียกร้องเริ่มจากการเคลื่อนขบวนบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ และกระจายออกไปโดยกลุ่มหนึ่งไปยังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และอีกกลุ่มไปยังทำเนียบรัฐบาล

นายโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.) ให้สัมภาษณ์หลังร่วมกิจกรรมวัน MayDay ซึ่งร่วมกับสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล ฝั่งประตู 5 เพื่อยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนรับหนังสือดังกล่าว  ว่า กลุ่มลูกจ้างได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องแก่รัฐบาล ซึ่งรายละเอียดเป็นเรื่องที่เคยยื่นต่อกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)มาแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนองหรือให้การช่วยเหลือใดๆ ให้ลูกจ้างที่ทำงานในสถานพยาบาลมีความก้าวหน้า ไม่มีความมั่นคงในสายงานสนับสนุน

ยกเลิกจ้างงานไม่เป็นธรรม ทั้งลูกจ้างชั่วคราว จ้างเหมา

นายโอสถ กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการจ้างงานลูกจ้างประเภทต่างๆ โดยเฉพาะลูกจ้างสายสนับสนุนบริการมี 56 สายงาน มีทั้งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.) ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการทั้งรายวัน รายเดือน มีกว่า 140,000 คน ทำให้ในรพ.หน่วยงานในสังกัด สธ. เช่น พนักงานขับรถยนต์ พนักงานช่วยเหลือคนไข้ ผู้ช่วยพยาบาล พนักงานเปล พนักงานบัตรรายงานโรค พนักงานห้องเอกซเรย์ เป็นต้น ต่างทำงานสนองนโยบายมาตลอด ยิ่งในช่วงโควิดระบาด ยิ่งทำงานกันหนักหน่วงมาก และต่างเฝ้ารอสิทธิสวัสดิการต่างๆ ตามที่กระทรวงฯ เคยประกาศให้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นค่าโอทีที่บอกเพิ่มขึ้น ค่าเสี่ยงภัย หรือแม้แต่ค่าตอบแทนพิเศษฉบับ 11  โดยทั้งหมดทางสหภาพลูกจ้างฯ ได้รับการร้องเรียนจากบุคลากรว่า ยังไม่ได้รับอีกจำนวนมาก บางรายถูกตัดค่าโอทีเสียอีก

ยกตัวอย่าง พยาบาล ถูกจ้างรายวัน

“นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นความเหลื่อมล้ำ แต่ในเรื่องค่าตอบแทน การจ้างงาน โดยเฉพาะการจ้างรายวัน จ้างเหมาเป็นปัญหามาก เพราะทำให้คนทำงานรู้สึกไม่มั่นคง ยกตัวอย่าง พยาบาลยังจ้างรายวันวันละ 562บาทก็มี พบได้ทุกแห่งของ รพ.ในสธ. ทั้งที่ไม่ควรมีแล้ว พยาบาลทำงานวันละ 16 ชั่วโมงแต่ได้เงินแค่นี้ ล่าสุดมีการตัดค่าโอทีบุคลากรอีก ซึ่งเรื่องนี้ สธ.ทราบเรื่องนี้ดี มีคนร้องเรียนเยอะมาก ดังนั้น วันนี้จึงต้องมาเรียกร้องในฐานะลูกจ้าง เรียกร้องเนื่องในวันแรงงาน เพื่อให้รัฐบาลได้เห็นและให้ความสำคัญ” นายโอสถ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อมูลดังกล่าวได้เสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขแล้วหรือไม่ และได้ประสานนำข้อร้องเรียนให้ทางสธ.แล้วหรือไม่อย่างไร นายโอสถ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีข้อมูลอยู่แล้ว เขามีหมด เราเรียกร้องมาตลอด แต่ยังไม่มีความคืบหน้า พวกเราลูกจ้างจึงต้องมาร้องเนื่องในวันแรงงานสากลด้วย

เมื่อถามว่าขณะนี้ยังเป็นรัฐบาลรักษาการ นายโอสถ กล่าวว่า  เมื่อมีรัฐบาลใหม่ รัฐมนตรีว่าการสธ.ใหม่เราจะขอหารือกับทางกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งอย่างกัลยาณมิตร และจะเสนอต่อรัฐบาลใหม่ด้วยเช่นกัน

“จริงๆรัฐบาลรักษาการก็สามารถบริหารจัดการได้ อย่างเรื่องงบประมาณ ทางนายกฯ เคยบอกให้ใช้งบกลางได้ นี่เราก็รอแล้วรออีก อย่างล่าสุดปลัดสธ. ให้ข่าวว่า มี 3 พันล้านบาทจะนำมาจ่ายค่าเสี่ยงภัยก่อน ตอนนี้ลูกจ้างสายสนับสนุนก็ยังไม่ได้เช่นเดิม” ประธานสหภาพฯ กล่าว

6 ข้อขอความเป็นธรรมลูกจ้างสายสนับสนุนบริการ

สำหรับข้อเรียกร้องสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.) มีทั้งหมด 6 ข้อ ดังนี้

1. ขอให้พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) สายสนับสนุนบริการเข้าสู่ระบบการจ้างงานด้วยเงินงบประมาณโดยตรง มิใช่การจ้างงานด้วยเงินบำรุงของรพ.หรือหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งทำให้ไม่มีความมั่นคงในการจ้างงาน

2. ขอให้กระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกการจ้างงานระยะสั้น 4 ปีที่ทำให้ไม่มีความมั่นคงในการทำงานของพนักงานกระทรวงฯ ขอให้ปรับระบบสัญญาการจ้างงานจนถึงอายุ 60 ปีเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ เนื่องจากในรอบปีที่ผ่านมา มีการกระทำที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมจากกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ปรับลดสัญญาจ้างงานของกระทรวงฯ จากเดิม 4 ปี ลดให้เหลือสัญญาจ้าง 1 ปี ทั้งที่มีระเบียบของคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.) รองรับอยู่แล้ว ทางสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย(สลท.) มองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และอาจจะมีการกระทำซ้ำได้อีกในอนาคต

3. ขอให้ยกเลิกการจ้างที่ไม่มีความมั่นคงของระบบการจ้างงานแบบลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการ(รายเดือน รายวัน) ของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด โดยขอให้มีการปรับเข้าสู่ระบบการจ้างงานบรรจุเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ทั้งหมดทั่วประเทศ ให้มีลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขเพียงสายงานเดียว คือ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.)

4. ขอให้พนักงานกระทรวงฯ และลูกจ้างฯ ที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 5 อำเภอของจังหวัดสงขลาได้รับค่าเสี่ยงภัยเหมือนข้าราชการเช่นกัน

5. ขอให้พนักงานกระทรวงสาธารณสุขและลูกจ้างทุกประเภทได้รับค่าเสี่ยงภัยจากการปฏิบัติงานตามสถานการณ์โควิด19 ในรพ.หรือหน่วยงานตามคำสั่งของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข

6. ขอปรับค่าทำงานนอกเวลา หรือค่าโอที (OT) ของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขและลูกจ้างสายสนับสนุนบริการให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่สูงขึ้น โดยปรับเป็นขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศในส่วนของสายงานที่ไม่กำหนดวุฒิ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net