Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไม่ว่ารัฐมนตรีกระทรวงแรงงานในรัฐบาลใหม่จะเป็นใคร เห็นว่าจังหวะนี้น่าจะเป็นโอกาสจะได้สนทนากับรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงที่สำคัญต่อพี่น้องแรงงานที่สุดกระทรวงหนึ่ง ที่ผ่านมากระทรวงนี้มักถูกมองข้าม ทั้งยังผู้ที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีระยะห่างทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงผลประโยชน์ร่วมกันกับพี่น้องแรงงานอยู่มากนัก ครั้งนี้จะเป็นใคร คงยังไม่มีใครกล้ายืนยัน เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลยังอยู่ในช่วงฝุ่นตลบ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้หวังจะสร้างบทสนทนากับว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ก่อนที่จะจัดตั้งรัฐบาลไว้เบื้องต้น

ผู้เขียนมีอยู่ 4 ประเด็นที่จะชวนสนทนา นั่นคือ ค่าแรง สภาแรงงาน การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม และการทำให้วันแรงงานแห่งชาติเป็นวันหยุดราชการ

 

1. ค่าแรง

ไม่ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท จะเกิดขึ้นหรือไม่ เนื่องจากยังต้องฝ่าฝันอุปสรรคทางการเมืองและความร่วมมือจากเจ้าของกิจการและนักธุรกิจทั้งหลาย สิ่งหนึ่งที่อาจริเริ่มทำได้เลยก็คือ การปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เท่ากันทุกจังหวัด เนื่องจากทุกวันนี้ค่าแรงขั้นต่ำมีความเหลื่อมล้ำกันในแต่ละจังหวัด แม้จะมีข้ออ้างว่า ปรับตามค่าครองชีพในแต่ละจังหวัด แต่ในทางปฏิบัติแล้วค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าใช้จ่ายต่างๆ แทบจะไม่แตกต่างกัน ถ้าไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว

อีกส่วนหนึ่งคือ กลไกการบังคับใช้กฎหมาย ผ่านบุคลากรในนามว่า "พนักงานตรวจแรงงาน"[1]  ควรจะตรวจตราอย่างเอาจริงเอาจัง น่าจะช่วยให้การละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานในประเด็นที่สำคัญๆ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ ที่เป็นสิทธิ์พื้นฐานสำคัญที่สุด แต่เราพบว่าปัญหาดังกล่าวไม่ได้ถูกยกเป็นประเด็นที่สนใจต่อสื่อมวลชนทั่วไปมากนัก เมื่อเทียบกับข่าวแรงงานประเภทอื่น เช่น การจับกุมแรงงานข้ามชาติ อย่างไรก็ตามเท่าที่มีข้อมูลพบว่า พนักงานตรวจแรงงานมีจำนวนน้อยมาก

อนึ่ง การจับปรับกรณีที่ผู้ว่าจ้างไม่จ่ายแรงงานขั้นต่ำ อาจนำไปสมทบกองทุนเพื่อแรงงานและสวัสดิการ ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนกิจกรรมของเหล่าแรงงานที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ บางจังหวัดตั้งเป้าไปตรวจได้แค่ประมาณ แห่งต่อวัน ท่ามกลางสถานประกอบการมหาศาล แต่เนื่องจากมีพนักงานตรวจในหลัก 10 นิติกรอีกไม่กี่คน ทำให้ไม่สามารถดูแลแรงงานหลักแสนได้เลย นั่นหมายความว่า หากไม่เพิ่มพนักงานตรวจแรงงาน ก็ต้องมีกลไกอื่นช่วยเหลือ นั่นอาจจะเป็นอาสาสมัคร หรือการร่วมกับองค์กรทางแรงงานอย่างสหภาพแรงงาน หรือที่จะเสนอต่อไป นั่นคือ สภาแรงงานและสวัสดิการ

 

2. กลไกเสริมแรงเหล่าแรงงาน

กองทุนแรงงานและ “สภาแรงงานและสวัสดิการ” ระดับจังหวัดและประเทศ

เมื่อเทียบกับสามทหารเสือองค์กรเอกชนอย่าง หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และชมรมธนาคารจังหวัดที่เป็นปากเป็นเสียงให้เหล่านักธุรกิจภายในจังหวัดแล้ว พวกเขายังมีปากเสียงในระดับประเทศผ่าน สภาหอการแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยที่ร่วมตัวกันในนาม คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ที่มีทั้งในส่วนกลางและในระดับจังหวัดโดยอาศัยกลไกดังกล่าว

จะเป็นไปได้เพียงใดหาก กระทรวงจะสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “สภาแรงงานและสวัสดิการ” ที่จะทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงและพื้นที่ทางประชาธิปไตยของเหล่าแรงงานในแต่ละจังหวัด และระดับประเทศ จังหวัด องค์กรนี้ยังจะเป็นกลไกเสริมในฐานะอาสาสมัครพนักงานตรวจแรงงานการรวมตัวของเหล่าแรงงานจะเป็นพลังในการต่อรองกับผู้ว่าจ้างในธุรกิจภาคเอกชน หรือกระทั่งผู้มีอำนาจในหน่วยงานราชการที่เป็นผู้จ้างงานด้วย (แม้ในปัจจุบันหน่วยงานราชการจะไม่อยู่ในกฎหมายแรงงานสัมพันธ์และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ในอนาคตการผลักดันให้หน่วยงานดังกล่าวอยู่ใต้กฎหมายก็ถือเป็นเรื่องที่เป็นไปได้)

 

3. การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมตามกฎหมาย!

ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ได้ระบุว่า ที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม หรือบอร์ดประกันสังคมนั้น มีที่มาจากฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายละ 7 คน และตัวแทนหน่วยงานรัฐอื่นๆ อีก 7 คน โดยมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานบอร์ด ในปัจจุบันปรากฏว่า หลังจากที่อยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการและเกี่ยวเนื่องมาอย่างยาวนาน ยังไม่เห็นวี่แววการเลือกตั้งดังกล่าว

การเลือกตั้งดังกล่าว แม้จะไม่ได้ทำให้อำนาจอยู่ในมือแรงงานอย่างจริงจัง เพราะจำนวนสมาชิกในบอร์ดนั้นฝ่ายลูกจ้างมีสัดส่วนเพียง 7 ใน 21 แต่การเปิดพื้นที่ให้มีการเลือกตั้ง จะทำให้เกิดการรณรงค์อย่างคึกคักจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จากเหล่าแรงงานที่อยู่ในประกันสังคมกว่า 24.38 ล้านคน[2] จากประชากรไทยทั้งหมดราว 66 ล้านคน การเลือกตั้งจึงมิใช่เป็นการหาเสียงและกากบาท แต่มันคือ การรณรงค์ให้คนทั่วประเทศตื่นรู้ถึงสิทธิแรงงานที่ถูกละเมิด หรือเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยจะตระหนักกันด้วยซ้ำ

นี่คือ ส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตยเช่นกัน

 

4. การยกให้ “วันแรงงานแห่งชาติ” เป็นวันหยุดราชการ

ที่ผ่านมา วันแรงงานแห่งชาติ ถูกทำให้เป็นเพียงวันหยุดเฉพาะกลุ่ม ขณะเดียวก็กีดกันแรงงานที่ควรจะถูกนับเป็นแรงงานอย่าง แรงงานในระบบราชการออกไปด้วย ในทางกลับกันวันดังกล่าวเป็นวันหยุดในปฏิทินของธนาคาร ทั้งที่วันดังกล่าวควรเป็นวันหยุดเฉลิมฉลองความสำคัญของแรงงานอันเป็นคนสำคัญของประเทศที่มีสัดส่วนมากที่สุดในสังคมไทย เช่นเดียวกับว่า วันดังกล่าวควรอำนวยความสะดวกให้กับการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง และเป็นโอกาสที่ดีที่วันดังกล่าวควรจะมีรายการที่ให้ความสำคัญสิทธิแรงงาน พูดคุยกันในหลายระดับ หลายประเด็น หลายความเข้มข้น

ในประเด็นที่ยกขึ้นมานี้ มีเพียง “สภาแรงงานและสวัสดิการ” ที่เป็นองคาพยพใหม่ที่ต้องใช้เวลา และการผลักดันทางกฎหมายขึ้นมารับรองแบบที่พวกเขามี พระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. 2509 และพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530 เช่นเดียวกับการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหมู่แรงงาน ดังนั้น การผลักดันให้เกิดความเป็นไปได้เพื่อเสริมแรงให้กับเหล่าพี่น้องแรงงานทั่วไทย อาจไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย

หวังว่าในวัน MAY DAY ปีหน้า เราจะได้ฉลองความสำเร็จอะไรร่วมกันซักอย่างในนามของพี่น้องแรงงาน บนบรรยากาศใหม่ของสังคมประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบานไปด้วย.

 

อ้างอิง

[1] กระทรวงแรงงาน. "การคุ้มครองแรงงาน". สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2566 จาก https://lb.mol.go.th/คนทำงาน/สิ่งที่ลูกจ้างควรรู้/การคุ้มครองแรงงาน

[2] ฐานเศรษฐกิจ. "ประกันสังคม"อัพเดทจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ม.40 เดือน ม.ค.66". สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2566 จาก https://www.thansettakij.com/business/economy/555798 (10 กุมภาพันธ์ 2566)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net