Skip to main content
sharethis
  • พรรคการเมือง 8 พรรคขึ้นเวทีมติชน ประชันนโยบายเลือกตั้งปี'66 แต่ในคำถามเรื่อง 'พรรคของคุณจะรับมือ หรือคลี่คลายปัญหา กรณีสังคมมีข้อเห็นต่างเรื่องข้อกฎหมาย เช่น มาตรา 112 และ มาตรา 116 อย่างไร' มีตอบแค่ 2 พรรค คือ ก้าวไกล และเพื่อไทย 
  • ก้าวไกล เสนอแก้ไขมาตรา 112 จำนวน 3 ข้อ คุ้มครองการวิจารณ์โดยสุจริต ลดโทษเหลือ 0-1 ปี และจำกัดผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้เป็นสำนักพระราชวัง แก้คำนิยามมาตรา 116 ให้แคบลง 
  • เพื่อไทย เสนอนำมาตรา 112 ถกเถียงในรัฐสภา เพื่อหาแนวทางแก้ไข ชงตั้งคณะกรรมการ/องค์กรกลั่นกรองการร้องทุกข์กล่าวโทษมาตรา 112 กันฟ้องกลั่นแกล้ง

13 มี.ค. 2566 ยูทูบ 'Matichon TV' ถ่ายทอดสด วันนี้ (13 มี.ค.) เมื่อเวลา 9.12 น. เวทีประชันนโยบายพรรคการเมืองในการเลือกตั้งปี 2566 ภายใต้ชื่อ "มติชน : เลือกตั้ง'66 บทใหม่ประเทศไทย" ร่วม "ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง" ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมีหลายพรรคการเมืองตบเท้าเข้าร่วม ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล 

โดยคำถามแรกของเวทีคือ "พรรคของคุณจะรับมือ หรือคลี่คลายปัญหา กรณีสังคมมีข้อเห็นต่างเรื่องข้อกฎหมาย เช่น กรณีกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ มาตรา 116 อย่างไร" โดยมีพรรคการเมืองที่ร่วมตอบคำถามนี้ คือ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย

'ก้าวไกล' เสนอ 3 ข้อแก้ไข ม.112 

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกล ยืนยันจุดยืนแก้ไข มาตรา 112 และ 116 เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพการแสดงออก

พริษฐ์ ระบุว่า พรรคก้าวไกล มองมาตรา 112 มี 3 ปัญหา ข้อหนึ่ง เรื่องการบังคับใช้ เพราะหลายครั้งมีการนำมาใช้ในกรณีที่ไม่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทกษัตริย์ อาทิ มีการแจ้งความจากการแชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซี โดยประเด็นนี้ก้าวไกล เสนอว่าต้องเพิ่มความคุ้มครองกรณีที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต หรือพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล

ตัวแทนพรรคก้าวไกล ระบุต่อว่าข้อสอง โทษมาตรา 112 สูงเกินกว่ามาตรฐานสากล และพรรคเสนอแก้ไขลดโทษเหลือเพียง 0-1 ปี สอดคล้องกับกฎหมายหมิ่นประมาทโดยทั่วไป และข้อสาม ปัญหาที่ใครก็ได้มีสิทธิร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาในหลายมิติ ข้อแรกอาจนำมาสู่การใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง และสร้างภาระทางกฎหมายต่อฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้ ยังเปิดช่องคนสามารถทำการทุจริตโดยแอบอ้างชื่อสถาบันฯ เพื่อกันการตรวจสอบ

ก้าวไกล เสนอประเด็นนี้ให้จำกัดคนที่มีสิทธิการร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยต้องให้ตัวแทนผู้เสียหายหรือสำนักพระราชวังมีสิทธิร้องทุกข์กล่าวโทษเพียงผู้เดียว ซึ่งข้อนี้สอดคล้องกับหลายประเทศที่ยังมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่น ญี่ปุ่น จะให้สิทธินายกฯ เป็นผู้ร้องทุกข์ฯ 

“เราเชื่อว่า ถ้าเรามีการปรับปรุงแก้ไข กฎหมายมาตราอาญา 112 ใน 3 ข้อเสนอนี้ จะทำให้เรามีกฎหมายคุ้มครองประมุข ฐานหมิ่นประมาท ที่สามารถพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นฝั่งประชาชนและสถาบันพระมหากษัตริย์” พริษฐ์ ระบุ

พริษฐ์ ระบุต่อว่า มาตรา 116 มีปัญหาที่เขียนคำนิยาม ‘ยุยงปลุกปั่น’ ไว้ค่อนข้างกว้าง ก้าวไกล จึงเสนอให้มีการทบทวนแก้ไขข้อนิยามให้แคบลง เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งฝั่งตรงข้ามทางการเมือง

“ไม่ว่าเป็นกฎหมายใดก็ตามในประเทศนี้ ทางออกที่ดีที่สุดคือการพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา และก็มานำเสนอทางออกว่า ทางออกแบบไหนจะดีที่สุดต่อสำหรับประเทศ” พริษฐ์ ทิ้งท้าย  

'เพื่อไทย' แก้ ม.112 ด้วยการถกเถียงผ่านสภา ชงตั้ง คกก.กลั่นกรอง

พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ในฐานะพรรคเพื่อไทย ตอบคำถามกล่าวว่า ทางพรรคย้ำจุดยืน ยึดมั่นในระบบประชาธิปไตย มีบทบาทมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย มาจนถึงเพื่อไทย เรายืนยันว่าเรื่องการให้สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ เรายังยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

พรหมินทร์ ระบุต่อว่า เมื่อพูดถึงมาตรา 112 ทางเพื่อไทย ยืนยันว่าการมีกฎหมายปกปักษ์รักษาประมุขของชาติเป็นเรื่องจำเป็น อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่โลกเปลี่ยนแปลงไป สาระกฎหมายต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยสันติวิธีผ่านระบบกลไกรัฐสภา เพื่อหารือว่าส่วนไหนบ้างที่ต้องแก้ไข 

พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ในฐานะตัวแทนเพื่อไทย

ตัวแทนของเพื่อไทย ระบุว่า เขาเห็นด้วยกับปัญหาที่พรรคก้าวไกลเสนอหลายประเด็น ซึ่งมีหลายจุดที่ต้องแก้ และต้องหาทางออกร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องการให้สิทธิใครก็ได้เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นมีปัญหา และเสนอว่าต้องมีกระบวนการกลั่นกรองก่อนเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ยกตัวอย่าง สมัยพรรคไทยรักไทย เรื่องเหล่านี้ก็เกิดขึ้น แต่มีคณะกรรมการฯ หรือองค์กรต่างๆ ในการกลั่นกรอง เพื่อพิจารณาว่าเรื่องนี้จะเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่

“เราเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าต้องมีการแก้ไข แต่เนื่องด้วยเรื่องนี้มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากๆ จึงต้องเข้ากระบวนการในสภา เพื่อหารือกัน แต่เรายึดมั่นในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” พรหมินทร์ กล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตาม หลังพรหมินทร์ ตอบคำถามดังกล่าวแล้ว กลับไม่มีพรรคการเมืองไหนตอบคำถามนี้อีก 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net