Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิฯ แนะถ้ารัฐบาลไทยอยากนานาชาติเลือกเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น เรื่องแก้ม.112 และจัดการแก้ไขปัญหาคดีทางการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะเป็นประเด็นที่กลไกด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นเตือนหลายรอบแล้ว และทางออกในการลดความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่ก็คือการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

2 ม.ค. 2567 เวลา 18.00 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย มีเสวนา “Thailand’s Road to the UN Human Rights Council หนทางสู่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ประเทศไทย จะทำได้หรือเปล่า?”  ที่จัดโดย แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเสวนากล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลไทยแสดงเจตจำนงค์ในการเสนอตัวเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (the United Nations Human Rights Council) ในช่วงวาระปี 2568 - 2570 ในฐานะตัวแทนเดียวของสมาคมอาเซียน ในงานจึงมีการกล่าวถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยตลอด 3 - 4 ปีที่ผ่านมาด้วยและมีการกล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย ก่อนการเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ

เวทีสะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชนและคดีการเมืองไทยที่ยังไม่ถูกสะสาง ก่อนไทยจะไปคณะมนตรีสิทธิฯ ของ UN

ภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบายอาวุโส แอมเนสตี้ฯ เล่าถึงปัญหาการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังไปติดตามการทำงานขององค์กรเธอในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้แล้วก็ยังพบว่ามีการสอดส่องการทำงานขององค์กรอย่างผิดกฎหมายและการติดตามแบบนี้ของเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินมากว่าสามปีนับตั้งแต่แอมเนสตี้ฯ เริ่มแคมเปญเรื่องสิทธิในการชุมนุมกับนักกิจกรรมบางคน และยังมีปัญหาแม้กระทั่งในการขอวีซ่าทำงานจนถึงการโทรศัพท์ไปที่ออฟฟิศภูมิภาคด้วย และเหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลทหารมาจนถึงรัฐบาลพลเรือน

ตัวแทนจากแอมเนสตี้กล่าวว่าปฏิบัติการแบบนี้ทำให้เห็นว่างานความมั่นคงยังนำทิศทางการทำงานของรัฐบาลพลเรือนอยู่ทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนส่วนแนวหน้ายังไม่เปลี่ยน คนยังต้องไปศาลทุกวัน ประกันได้บ้างไม่ได้บ้างทำให้มีคนถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีรวมถึงคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112

ภัทรานิษฐ์การที่รัฐบาลไทยประกาศคำมั่นและแสดงความพร้อมที่จะลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นก็เป็นสัญญาณที่ดีจากรัฐบาลเศรษฐาว่าจะนำประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาลแต่ก็เป็นข้อท้าทายของรัฐบาลด้วยว่าจะจัดการสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ซับซ้อนและถูกซุกใต้พรมด้วย ซึ่งก็อยากให้รัฐบาลมีความรับผิดชอบต่อคนในประเทศด้วย

ตัวแทนจากแอมเนสตี้ฯ กล่าวถึงข้อเสนอขององค์กรต่อรัฐบาลไทยทำเพื่อให้ถูกเลือกเป็นคณะมนตรีฯ

ข้อแรก รัฐบาลต้องยกเลิกมติ ครม.ที่ตั้งเรื่องยกร่าง พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงกำไร และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ควรจะยุติส่งร่างพ.ร.บ.นี้เข้าสภาด้วย

ข้อสอง รัฐบาลต้องตอบรับคำขอเยี่ยมประเทศอย่างเป็นทางการจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะด้านนักปกป้องสิทธิ ด้านแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และด้านชุมนุม

ข้อสาม รัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีต่อเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีที่ออกมาชุมนุมและตั้งคณะกรรมการสอบสวนการใช้กำลังสลายการชุมนุมช่วงปี 2563-2565 และออกคำสั่งเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย รวมถึงการแก้ไขพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ด้วย

ข้อสี่ ศาลต้องใช้ดุลพินิจในการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีทางการเมือง และกระทรวงยุติธรรมเองก็ต้องยอมรับว่ามีนักโทษทางการเมืองและคนเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากรและไม่ปฏิบัติกับเขาเช่นอาชญากร

ข้อห้า รัฐบาลต้องเร่งผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนให้เร็วที่สุด โดยร่างนั้นต้องไปยกเว้นกับคดีมาตราใดมาตราหนึ่ง

อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศและนโยบาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าการพิจารณาที่นานาประเทศจะเลือกประเทศใดเข้าไปเป็นคณะมนตรีสิทธิฯ ก็จะดูจากคุณูปการในด้านการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของประเทศนั้นๆ และจะสามารถทำตามกติกาของยูเอ็นได้แล้วหรือยัง

ข้อเสนอแนะของศูนย์ทนายความฯ มีอยู่สองข้อคือ ข้อแรก ต้องยุติการดำเนินคดีและแก้ไขมาตรา 112 และข้อสองออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยจะต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกคณะมนตรีสิทธิฯ ในเดือนตุลาคมนี้

อัครชัยกล่าวว่าข้อเสนอเรื่องแก้ไขมาตรา 112 เป็นประเด็นก็เพราะที่ผ่านมากลไกด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นเองก็เคยมีคำแนะนำและข้อกังวลต่อเรื่องมาตรา 112 ถึงรัฐบาลไทย โดยนับตั้งแต่หลังปี 2549 เป็นต้นมามีข้อร้องเรียนถึง 21 ข้อร้องเรียนจากกรณีต่างๆ และทางยูเอ็นเองก็มีฉันทามติชัดเจนด้วยว่าการใช้มาตรา 112 นั้นขัดกับข้อ 19 ในกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) อีกทั้งยังมีประเด็นที่การใช้มาตรา 112 ในการคุมขังถือเป็นควบคุมตัวโดยไม่ชอบตาม

“ในสายต่อของยูเอ็นนั้นไม่มีข้อที่ต้องถกเถียงกันในมาตรา 112 เลย” อัครชัยกล่าว

ตัวแทนจากศูนย์ทนายความฯ ยังกล่าวด้วยว่าข้อเสนอเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ต้องมีเพราะนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมามีคดีมากกว่าพันคดีและยังมีคดีอยู่ในชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาลกว่าแปดร้อยคดี เท่ากับมีคดีที่ยังไม่เสร็จสิ้นอยู่ถึง 65% และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่นิรโทษกรรม และการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีไปเรื่อยๆ ยังเหมือนเป็นเชื้อเพลิงคว่ามขัดแย้งทางการเมืองก็ยิ่งสูงขึ้น การนิรโทษกรรมจึงเป็นกระดุมเม็ดแรกที่จะลดความขัดแย้งนี้และรัฐบาลสามารถทำได้

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนจาก iLaw กล่าวว่าการที่รัฐบาลไทยจะไปเข้าร่วมเป็นคณะมนตรีสิทธิฯ ก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่ามีอะไรแตกต่างกับรัฐบาลประยุทธ์เพราะเมื่อปี 2564 ในเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหรือ UPR ไทยได้รับความเห็นจากนานาประเทศหลายข้อแต่ก็มีข้อที่ไทยขอสงวนไว้ซึ่งหมายถึงว่ารับทราบแต่ไม่ทำถึง 60 ข้อก็ให้ย้อนกลับไปดูว่าจะรับเพิ่มขึ้นหรือไม่เพราะประเด็นเหล่านี้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม รัชพงษ์ก็ได้กล่าวถึงข้อเสนอของ iLaw เองที่จะมีถึงรัฐบาลไทยก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิฯว่ามีอยู่สองข้อ

ข้อแรก ต้องมีกระบวนการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเดินหน้าโดยที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้เต็มรูปแบบ ไม่มีการซ่อนเงื่อนไขใดๆ เอาไว้และพรรคเพื่อไทยเองก็เคยสัญญาไว้ 3 ข้อว่าเมื่อตั้งรัฐบาลได้จะ ครม.มีมติทำประชามติ ข้อสอง จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม และสาม จะทำให้การร่างรัฐญธรรมนูญฉบับใหม่สำเร็จ แต่วันนี้ทั้งสามข้อนี้จะเป็นจริงอย่างไร

รัชพงษ์ยังกล่าวอีกว่าเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทที่ต้องจัดการ เช่น เรื่องจะทำอย่างไรกับองค์กรอิสระทั้งศาลรัฐธรรมนูญ กกต. หรือ กสม.เองก็มีปัญหา หรือเรื่องรับรองสิทธิเสรีภาพ

ข้อสอง เรื่องที่ไอลอว์เรียกร้องคือหลังจาก สว. 250 คนจะหมดอายุในเดือนพฤษภาคมนี้และจะมี สว.ชุดใหม่ 200 คนมาจากการเลือกกันเองซึ่งมีกระบวนการที่ซับซ้อนและไม่ได้เปิดกว้างให้คนทั่วไป แต่เป็นกระบวนการ “สำหรับคนมีอายุ คนมีพรรคพวกและมีเงิน”

รัชพงษ์อธิบายว่าเพราะต้องมีอายุถึง 40 ปีก่อนแล้วก็ชวนพรรคพวกไปสมัครแล้วก็ต้องจ่ายเงินค่าสมัครเพื่อให้คนเหล่านั้นมาโหวตให้ตัวเองเพื่อมาเป็น สว. โดยที่กระบวนการเหล่านี้ไม่มีอะไรรับประกันถึงความโปร่งใส จึงอยากเห็นกระบวนการที่โปร่งใส ประชาชนเข้าใจและสามารถไปสังเกตการณ์ได้เพราะที่ผ่านมาก็เห็นปัญหาของ สว.อยู่แล้วและไม่อยากให้ชุดใหม่ที่เข้ามามีปัญหาต่อไป

“เกือบสิบปีที่แล้วประเทศไทยเองเราก็เดินอยู่บนเวทีระหว่างประเทศด้วยการที่คอตก จนถึงวันนี้เรารู้รู้สึกมั่นใจมากขึ้น เราอยากไปสมัครเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแล้วเรารู้สึกว่าคออยากตั้งตรงขึ้นมานิดนึง ผมก็ยังอยากบอกว่าเมื่อคอคุณตั้งตรงแล้วบ่ามันก็หนักขึ้น มันมีความรับผิดชอบที่มากขึ้น เราก็หวังว่าก่อนจะถึงเดือนตุลาคมปีนี้เราอยากเห็นพัฒนาการของเรื่องการปฏิรูปการเมือง เรื่องของสิทธิทางการเมืองและเรื่องสิทธิพลเมืองของประชาชน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net