Skip to main content
sharethis

มูลนิธิ HRDF ประสานชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง ช่วยเหลือแรงงานพม่า 14 ราย ใน จ.กาญจนบุรี หลังถูกนายจ้างหลอกมาทำงาน โดยนายจ้างบังคับให้ทำงานในไร่อ้อยแบบไม่มีเวลาพัก ทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ด้วยอาวุธปืนเพื่อให้ทำงาน และยังนำหนี้สินภาระผูกพันมาเป็นเหตุแห่งการบังคับให้ทำงานอีกด้วย

 

2 มี.ค. 2566 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง บุกไร่อ้อย จังหวัดกาญจนบุรี ช่วยเหลือแรงงานชาวพม่า 14 ราย ที่ถูกนายจ้างหลอกมาทำงาน โดยไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่พบว่า แรงงานทั้งหมดเป็นชาย 10 ราย หญิง 4 ราย ทำงานตัดอ้อยอยู่ในพื้นที่ ม.9 ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โดยนายจ้างตกลงว่า หากตัดอ้อยได้ 100 ตารางเมตร จะได้รับค่าแรง 200 บาท การการทำงานแรงงานระบุว่า การจะตัดอ้อยให้ได้ 100 ตารางเมตร ต้องใช้เวลา 2 วัน

ทั้งนี้ นายจ้างได้ทำการยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานแต่ละคนไว้ ผูกภาระหนี้สิน ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทน ให้ทำงานเกินเวลากว่าที่กฎหมายกำหนด ทำร้ายร่างกายและจิตใจข่มขู่โดยใช้อาวุธปืน และจากการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 นายจ้างได้ทำการหลบหนี และติดต่อขอเข้ามอบตัวกับชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองในเวลาต่อมา

การเข้าตรวจค้นและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก กรมการปกครองได้รับการประสานอย่างเร่งด่วนจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ว่ามีแรงงานสัญชาติพม่าถูกบังคับใช้แรงงานจากนายจ้าง โดยบังคับให้ทำงานในไร่อ้อย ไม่มีเวลาทำงานและเวลาพักอย่างชัดเจน ทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ด้วยอาวุธปืนเพื่อบังคับให้ทำงาน นอกจากนี้ยังนำหนี้สินภาระผูกพันมาเป็นเหตุแห่งการบังคับให้แรงงานทำงานอีกด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการบังคับใช้แรงงาน หรือการค้ามนุษย์ที่จะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงนายจ้างอาจเข้าข่ายการกระทำความผิด ดังนี้

  • ข่มขื่นใจผู้อื่นให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง มาตรา 309 และ 310 ประมวลกฎหมายอาญา
  • การค้ามนุษย์ ตามมาตรา 6 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑
  • การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ตามมาตรา 6/1 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑

การช่วยเหลือผู้เสียหายในครั้งนี้ ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้เสียหายตามแนวทางตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย จากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 โดยได้บุคคลที่คาดว่าจะเป็นผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ เข้าสู่กระบวนการคัดกรองตามแนวทางของ NRM (National Referral Mechanism) เพื่อให้มีระยะเวลาได้รักษาสภาพจิตใจ ให้มีความพร้อมในการให้ข้อมูล

นอกจากนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ยังได้รวบรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเกี่ยกับนายจ้างหรือบุคคลอื่นที่ร่วมขบวนการการกระทำผิดนี้ด้วย เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้ได้ตัวมาดำเนินคดีต่อไป

รณรงค์ ทิพย์ศิริ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เผยว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นการดำเนินการตามตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย จากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 ที่ดี เนื่องจากเป็นนโยบายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งและกรณีนี้นอกจากช่วยเหลือแรงงานที่เป็นเหยื่อจากแรงงานบังคับและกาค้ามนุษย์แล้ว ยังถือว่าได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ตามหลักมนุษยธรรมอีกด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net