Skip to main content
sharethis

ศบช. หรือ “สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600” จับมือสปสช. เป็นหน่วยบริการร่วม ขอแพทย์-พยาบาล ชวนผู้ป่วยบัตรทองติดบุหรี่ให้เลิก ชี้จะช่วยให้คนไทยสุขภาพดีขึ้น ควันบุหรี่มือสองต้องหายไป แถมลดค่าใช้จ่ายการรักษาโรคจากบุหรี่ด้วย 


รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์  ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.)

26 ก.พ. 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งข่าวว่า รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์  ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) หรือสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 เปิดเผยว่า สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 เป็นการให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ ไม่มีการให้ยา หรือให้สารทดแทนนิโคติน ให้คำปรึกษาสำหรับคนที่โทรเข้ามาเพื่อต้องการเลิกบุหรี่ หรือสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงบุคลากรในองค์กรที่สนใจจะช่วยคนสูบบุหรี่ให้เลิกสูบ อย่างไรก็ตามพบว่าร้อยละ 80 ที่โทรศัพท์เข้ามายังสายด่วนเลิกบุหรี่ เป็นคนที่สูบเองและต้องการเลิก 

ทั้งนี้ผู้รับบริการจะได้รับการคัดกรองเบื้องต้นโดยเจ้าหน้าที่รับสาย ซึ่งในรายใดมีความตั้งใจจะทิ้งบุหรี่และกำหนดวันเลิกกันอย่างจริงจัง เจ้าหน้าที่จะส่งต่อให้พูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในการช่วยเลิกบุหรี่เพื่อปรับพฤติกรรมและสร้างแรงจูงใจเลิกให้สำเร็จ โดยตลอด 1 ปี จะมีการติดตามผลผ่านโทรศัพท์ หรือส่งข้อความ SMS ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 สามารถช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้ถึงร้อยละ 32 มากกว่าการเลิกสูบเองที่ทำได้สำเร็จเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ซึ่งการวัดผลของการเลิกบุหรี่สำเร็จนั้น คือ การไม่สูบอีกเลยนับจากวันทิ้งบุหรี่ไปจนถึง 6 เดือน 

รศ.ดร.จินตนา กล่าวอีกว่า ล่าสุด ศบช. ได้ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการร่วมให้บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือ บัตรทอง 30 บาท  โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายกับผู้ที่สนใจและต้องการเลิกบุหรี่ ซึ่งสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 นี้ จะเป็นหน่วยบริการร่วมในระบบ มีเป้าหมายให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ไปรักษาตัวยังโรงพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุขต่างๆ แต่ยังมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ โดยจะมีความร่วมมือกับบุคลากรแพทย์หรือพยาบาลในการสอบถามผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทอง หากพบว่าเป็นผู้สูบบุหรี่ก็จะชวนให้เลิกสูบ โดยขออนุญาตส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยมายัง ศบช. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ศบช. โทรศัพท์ไปให้คำปรึกษากับผู้ป่วยรายตามกระบวนการ หรือประชาชนที่ไปรับบริการที่คลินิกเลิกบุหรี่ที่มีการใช้ยาเพื่อลดความยากนิโคติน ก็จะให้มีชักชวนให้มีการปรึกษากับ ศบช. เพื่อสร้างกำลังใจ และแรงจูงใจให้เลิกได้สำเร็จอีกทางหนึ่งด้วย 

"ศบช. คาดหวังว่าจะเป็นการทำให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง รวมถึงประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองเลิกบุหรี่มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากโรคที่เกิดจากบุหรี่" ผู้อำนวยการ ศบช. กล่าว 

รศ.ดร.จินตนา กล่าวด้วยว่า ส่วนค่าบริการเลิกบุหรี่สำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง สปสช. กำหนดค่าบริการให้กับ ศบช. ในการให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่ รายละ 50 บาทต่อครั้ง หรือไม่เกิน 12 ครั้งต่อคนต่อปี ซึ่งผู้เข้ารับบริการจะต้องมีการลงทะเบียนกับ ศบช. โดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เหมือนกับการลงทะเบียนในโรงพยาบาล หรือ หน่วยบริการของ สปสช. ในการใช้สิทธิรับบริการ 

"การร่วมมือกับ สปสช. ทำให้ ศบช. มีเพื่อนในการทำงานมากขึ้น ขณะนี้เรามีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยคนไทยเลิกบุหรี่ได้ แต่ว่าจำนวนผู้เข้ารับบริการยังมีน้อย หากโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการในระบบบัตรทองส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องการเลิกบุหรี่ เพื่อให้ ศบช. ได้ช่วยในการเลิกบุหรี่ ก็จะทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยงโรคที่มีสาเหตุจากบุหรี่ลงได้ ขณะเดียวกันประชาชนทั่วไปที่ไม่สูบบุหรี่ก็ไม่ต้องเจอกับควันบุหรี่มือสองอีกด้วย" รศ.ดร.จินตนา กล่าวตอนท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net