Skip to main content
sharethis

ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาคดีชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo หลังสู้คดีมากว่า 2 ปีครึ่ง ศาลชี้ จำเลยทั้งสี่ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้ชุมนุมในสถานที่โล่ง ไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก บางคนไม่สวมหน้ากาก อาจทำให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ลงโทษปรับคนละ 6,000 บาท ให้การเป็นประโยชน์ ลดเหลือปรับคนละ 4,000 บาท

 

16 ก.พ. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 9.00 น. ศาลแขวงเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีจากการชุมนุมแฟลชม็อบ #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo ที่จัดขึ้นที่ลานประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2563 โดยภายหลังจากกิจกรรมดังกล่าวมีนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4 ราย ได้แก่ ธนาธร วิทยเบญจางค์, ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์, วัชรภัทร ธรรมจักร และ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ ถูกตำรวจดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาคดีชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo ศาลชี้ จำเลยทั้งสี่ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้ชุมนุมในสถานที่โล่ง ไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก บางคนไม่สวมหน้ากาก อาจทำให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ลงโทษปรับคนละ 6,000 บาท ให้การเป็นประโยชน์ ลดเหลือปรับคนละ 4,000 บาท

คดีนี้ นับเป็นคดีจากการชุมนุมทางการเมืองคดีแรกในจังหวัดเชียงใหม่ หลังเริ่มมีการชุมนุมเยาวชนปลดแอกในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา กิจกรรมจัดขึ้นเพื่อร่วมสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ หยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมไปถึงปัญหาการรับมือกับสถานการณ์โควิด–19 ในช่วงเวลาดังกล่าว ในระหว่างกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยสังเกตการณ์ในพื้นที่ และประกาศแจ้งเตือนผู้เข้าร่วมให้ทำการยุติการชุมนุม เนื่องจากอาจจะเสี่ยงต่อโรคโควิด–19 แต่ไม่เกิดเหตุวุ่นวายใดๆ

ภายหลังกิจกรรม ตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้ออกหมายเรียกและแจ้งข้อกล่าวหาต่อจำเลยทั้ง 4 โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนคดีจะอยู่ที่ชั้นอัยการกว่า 1 ปี 9 เดือน พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งฟ้องที่ศาลแขวงเชียงใหม่เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2565

คดีมีการสืบพยานไประหว่างวันที่ 30 พ.ย. จนถึง 2 ธ.ค. 2565 โดยพนักงานอัยการนำพยานโจทก์เข้าเบิกความรวม 4 ปาก ได้แก่ ตำรวจผู้กล่าวหา, ตำรวจชุดสืบสวน, หัวหน้าชุดสืบสวน และพนักงานสอบสวนในคดี โดยฝ่ายจำเลยรับคำให้การของพนักงานสอบสวนอีกปากหนึ่ง ที่มีเนื้อหาคล้ายกันกับพยานที่เข้าเบิกความแล้ว ทำให้ไม่ต้องนำพยานเข้าสืบ

ด้านฝ่ายจำเลยมีพยานเข้าเบิกความจำนวน 5 ปาก คือ จำเลยทั้ง 4 อ้างตนเองเป็นพยาน และผู้สังเกตการณ์ชุมนุมจากโครงการ Mob Data ที่ไปสังเกตการณ์กิจกรรม นอกจากนั้นยังมีอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ยื่นหนังสือเป็นคำเบิกความในประเด็นการใช้และตีความ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้ามา แต่ไม่ได้เข้าเบิกความ

ประเด็นการต่อสู้สำคัญของฝ่ายจำเลย คือจำเลยทั้ง 4 รับว่าขึ้นกล่าวปราศรัยในกิจกรรมตามฟ้อง แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุม ทั้งจำเลยทั้ง 4 ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดในเบื้องต้นก่อนจะเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ขณะที่สถานที่เกิดเหตุยังเป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้ มีการเว้นระยะห่างระหว่างกันกับผู้ปราศรัย คนส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากาก กิจกรรมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ได้มีเหตุวุ่นวาย ไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่อย่างใด ทั้งบริเวณที่เกิดเหตุยังมีการจัดถนนคนเดินร่วมด้วย ซึ่งมีทั้งนักท่องเที่ยวและประชาชนอื่นๆ เดินไปมาเป็นปกติ โดยยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่ขณะนั้นก็มีตัวเลขเป็นศูนย์

หลังผ่านไป 2 ปี 7 เดือนนับจากวันเกิดเหตุ หากเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในวันนั้น ก็กำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 ผู้กำลังจะจบการศึกษาในวันนี้ ก่อนศาลชั้นต้นกำลังจะมีคำพิพากษา 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net