Skip to main content
sharethis

จิรายุ เบ็ญจวงศ์ ชูเพื่อไทยแลนด์สไลด์ รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เปลี่ยนการเมือง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตคน ด้วยการมีรัฐบาลที่เข้มแข็งทำงานเชิงนโยบายได้เต็มความสามารถ ย้ำเหตุผลที่ลงเพื่อไทยเพราะมีวาระที่อยากผลักดัน พร้อมตอบโจทย์คำถาม ภาพจำของ 'ทักษิณ' ต่อคนในพื้นที่ ความสัมพันธ์กับ 'ประชาชาติ' ประเด็น พ.ร.บ.นครปัตตานี และกระบวนการเจรจาสันติภาพ

จิรายุ เบ็ญจวงศ์ หรืออาจารย์ยุ อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 ยะลา สังกัดพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย

จิรายุ เบ็ญจวงศ์ หรืออาจารย์ยุ เคยเป็นอดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 ยะลา สังกัดพรรคอนาคตใหม่ เมื่อการเลือกตั้งปี 62 ได้คะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับ 4 ด้วยคะแนน 13,229 คะแนน ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดยะลา ประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอยะหา ยกเว้นตำบลบุดี ตำบลเปาะเส้ง ตำบลบังนังสาเร็ง ตำบลยะหา ตำบลตาซี และตำบลบาโงยซิแน จิรายุกล่าวว่า เขาคือหนึ่งในผู้สมัครอนาคตใหม่ เป็นสัญลักษณ์ร่วมกันของพรรคต่อในพื้นที่ บริบทการเลือกตั้งในสามจังหวัดสี่อำเภอ สำหรับคนในพื้นที่นั้นเขาจะไม่มองแยกขาดระหว่างผู้สมัครกับตัวพรรคการเมือง ตัวบุคคลกับพรรคจึงสำคัญเท่าๆ กัน

 

“ไม่มีพื้นที่ทำงาน” จิรายุกล่าวถึงเหตุผลที่จำเป็นต้องออกมาร่วมทำงานกับเพื่อไทย หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ตนในฐานะที่อยากทำงานการเมือง ทำงานกับเชิงพื้นที่กับประชาชนในพื้นที่ที่ยังร้องเรียนขอความช่วยเหลือในประเด็นต่างๆ ซึ่งตนตระหนักดีว่าการแก้ปัญหาที่สมควร คือ การแก้ปัญหาเชิงระบบด้วยการเข้าสู่รัฐสภาและออกแบบโครงสร้าง กฎหมายการปกครองที่สอดคล้องกับบริบทความต้องการของคนในพื้นที่

ภาพจำของ ทักษิณ ต่อเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ คิดว่าจะส่งผลกระทบต่อคะแนนเลือกตั้งของชาวมลายูหรือไม่?

ตอนนี้ชาวบ้าน คนรุ่นใหม่ เขาเข้าถึงข้อมูลการสื่อสาร เขารับรู้ข้อเท็จจริงมากขึ้น จิรายุกล่าว พร้อมระบุว่า ตนจึงไม่ได้มีความกังวลใดๆ ในประเด็นนี้ คุณทักษิณ (ชินวัตร)เองก็ตอบชัดเรื่องตากใบ เห็นบอกให้ไปถามพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้บังคับบัญชาทหารบกในตอนนั้น รวมทั้งจริงๆ แล้วคุณทักษิณไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับพรรคเพื่อไทย พรรคมีระบบระเบียบการทำงานของพรรคอยู่แล้ว

มีโอกาสที่จะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่?

การเมืองเป็นเรื่องของการประนีประนอม (Compromise) ขอโอกาสให้เพื่อไทยได้ทำงาน ทางเลือกแรก คือ เลือกเพื่อไทยให้ครบ 250 ที่นั่ง เราจะได้ไม่ต้องจับมือกับใคร ส่วนตัวจิรายุแล้ว กองเชียร์ของเพื่อไทยอย่างไรเสียเขาก็เชื่อมั่นต่อยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว พรรคแรกที่เพื่อไทยควรจับมือตั้งรัฐบาลก็คือพรรคก้าวไกล หรือหากแม้แต่เพื่อไทยเป็นรัฐบาล ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านประชาชนก็จะได้ประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น หากวาระร่วมกัน คือ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เพื่อไทยเสนอ ตนคิดว่าก้าวไกลก็เอาด้วยในวาระนี้ การมีรัฐบาลที่บริหารเก่ง และมีฝ่ายค้านที่ดี ก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน สิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องการทำคือทำให้รัฐสภาเข้มแข็ง ให้ประชาชนศรัทธาต่อระบบรัฐสภา แล้วอย่าเรียกว่าเผด็จการรัฐสภา

“ให้โอกาสเราทำงาน ถ้าเราทำไม่ได้ สมัยหน้าก็ไม่ต้องเลือก แต่ต้องไม่เชิญชวนรถถังให้เข้ามารัฐประหาร” จิรายุ กล่าว

ภาพสมัยลงกับพรรคอนาคนใหม่ปี 62

ความสัมพันธ์ในพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชาติเป็นอย่างไร?

ความเชื่อว่าเพื่อไทยกับพรรคประชาชาติเป็นพรรคพี่พรรคน้องมีอยู่จริง บางทีผู้สนับสนุนก็แตก เมื่อคนหนึ่งเลือกประชาชาติคนหนึ่งเลือกเพื่อไทย แต่มันเป็นธรรมชาติของการเมืองการเลือกตั้ง บางคนเขาชอบชา บางคนชอบกาแฟ แม้สิ่งที่เพื่อไทยนำเสนอต่อสามจังหวัดดูเหมือนไม่ต่างกัน จิรายุมองว่าคนต้องเลือกพรรคเพื่อไทย เพราะคิดว่าเพื่อไทยดีกว่าทำได้มากกว่า การที่เพื่อไทยชูแลนด์สไลด์ คือ การไม่เอาประยุทธกลับมา เพื่อไทยต้องเป็นแกนนำรัฐบาล ถ้าเลือกเพื่อไทยพรรคเดียวนโยบายทุกอย่างเราก็ทำได้ เลือกตั้งครั้งนี้จึงสำคัญ ว่าเราจะอยู่แบบเดิมหรือจะมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงแบบใหม่ 

“ในสนามการเลือกตั้งก็ต้องแข่งขันกัน หลังเลือกตั้งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การเลือกตั้งก็มียุทธศาสตร์ของมัน” จิรายุกล่าว

สำหรับประเด็น พ.ร.บ.นครปัตตานี รูปแบบการปกครองตนเองในฐานะทางเลือกการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยอาวุธ มีคิดเห็นอย่างไร?

จิรายุเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.นครปัตตานี จริงๆ แล้วบรรยากาศในการเสนอร่างตอนนั้นดีกว่า บรรยากาศทางการเมืองตอนนี้ มันถูกล้มเลิกไปเพราะการรัฐประหาร ไม่ใช่เพราะคนที่นี่ไม่เอา ผลการเลือกตั้งสามารถถูกตีความได้หลายรูปแบบ ตอนนั้นมันมีเงื่อนไขสำคัญๆ อยู่สามประการในความเห็นของจิรายุ

หนึ่ง เงื่อนไขประชาชน เมื่อก่อนความเกลียดชังความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันมีน้อยกว่า วันนี้ความขัดแย้ง ความเกลียดชังระหว่างประชาชนกันเองมีมากขึ้น เรายื่นร่างใหม่ได้ แต่ปัญหาคือ ประชาชนจะเอาอย่างไรกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้  

สอง เงื่อนไขจากกลุ่มคนเห็นต่างทางการเมือง ตอนนี้ข้อเสนอของพวกเขาถูกผลักดันสูงมาก พวกเขาพูดถึงเรื่องเอกราช ผู้มีอำนาจของกลุ่มเห็นต่างจะเห็นด้วยหรือไม่ เขาดันเพดานไปไกลแล้ว ถามว่า พ.ร.บ. นี้ จะได้รับการสนับสนุนจากพวกเขาหรือไม่ หากพวกเขาไม่สนับสนุนทางนี้เราจะเอาอย่างไร

สาม เงื่อนของรัฐบาล สมมติถ้าเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล เราอยากทำให้เป็นรัฐบาลที่ทำเรื่องนโยบายการเมืองนำการทหาร ต้องมีรัฐบาลที่บริหารอย่างต่อเนื่อง มีรัฐสภาที่เข้มแข็ง ประเด็นคือเราต้องแก้ด้วยรัฐสภา ถ้าขบวนการเอกราช ลดเพดาน แสวงหาทางออกภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ นี่ก็เป็นสัญญาณที่ดี ที่จะสามารถแสวงหาทางออกด้วยแนวทางการเมือง ผ่านระบบรัฐสภา แต่ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะอดทนกับกระบวนเหล่านี้หรือไม่ หากไม่พอใจก็รอเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่ดึงไปสู่เกมการเมืองนอกรัฐสภา

“การเสียโอกาสในการปกครองท้องถิ่น ไม่ใช่เพราะคนที่นี่ปฏิเสธ แต่มันเกิดจากการรัฐประหาร” จิรายุ กล่าวย้ำ

หลังจากประยุทธ์ยึดอำนาจ เขาพยายามทำให้รัฐราชการโตขึ้น โดยลดบทบาทอำนาจของท้องถิ่น สังเกตจากงบประมาณรายจ่ายประจำที่กระจายไปยังส่วนราชการต่าง ๆ งบประมาณลงทุนสมัยเพื่อไทยในตอนนั้นมีอยู่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้รัฐบาลกล้าเสนอเรื่องรถไฟความเร็วสูง ณ วันนี้เงินลงทุนเหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลหน้าใครได้เป็นก็ทำงานค่อนข้างลำบาก นโยบายที่ออกได้ จะทำอย่างไรใช้งบประมาณรัฐให้น้อยที่สุด

กระบวนการสันติภาพจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระต่อไปของเพื่อไทย

ในฐานะที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแรกที่ทำให้เกิดกระบวนการเจรจาในทางสาธารณะ แน่นอนว่าวาระกระบวนการเจรจาสันติภาพจะถูกผลักดันให้มีการเจรจาต่อไป หมายถึงเป็นการใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร ความเห็นส่วนตัวของจิรายุแล้ว การเจรจาสันติภาพควรให้มีตัวกลางที่ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียเป็นตัวกลาง รัฐบาลไทยอย่างไรก็ไม่ใจมาเลเซีย เป็นประเทศที่คุยภาษาเดียวกัน (หมายถึงภาษามลายู) มันควรเป็นประเทศที่ประเทศไทยโอเคและรู้สึกปลอดภัย อาจจะเป็นสวิสแลนด์ หรือประเทศที่สามอื่น ๆ ที่ไม่มีส่วนได้เสีย และต่อจากนี้ควรยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะการมีตัวแทนจากประชาชนเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการ เช่นการมีตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกระบวนการเจรจา เพื่อตรวจสอบหรือทำหน้าแทนประชาชนในเรื่องนี้

คนรุ่นใหม่ ที่อยากผลักดันเรื่อง อัตลักษณ์วัฒนธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ด้วยการเริ่มต้นที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐาน

จิรายุเล่าว่า ตนมีความฝันที่อยากเป็นนักการเมือง ด้วยความเป็นอาจารย์สอนหนังสือมาก่อน อยู่กับพื้นที่อยู่กับชาวบ้าน พอมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์อยู่บ้าง การฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนนั้นสัมพันธ์กับการมีโครงสร้างพื้นที่ที่ดี จิรายุยกตัวอย่างเรื่องคุณภาพของรถไฟความเร็วสูง หากมีรัฐบาลที่เข้าใจ มองเห็นศักยภาพของพื้นที่ ตอนนี้สามจังหวัดสี่อำเภอสามารถเชื่อมต่อการคมนาคมกับมาเลเซียได้อย่างดี เราเห็นรถไฟมาเลเซียที่ปาดังเบซาร์ พอย้อนดูฝั่งไทยยังเป็นรถไฟหัวตัด ทำให้ศักยภาพในการเชื่อมต่อกันมันขาดหาย

จิรายุเล่าต่อว่า ตนอยากเห็นระบบรางที่ดีมีคุณภาพสำหรับสามจังหวัดสี่อำเภอ ซึ่งมันจะเป็นโครงสร้างที่ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ยะลาเป็นเมืองเดียวในสามจังหวัดที่มีสถานีรถไฟในเมือง จุดแข็งนี้หากมีการต่อยอด จะยกระดับคุณภาพชีวิตคนยะลา การคิดถึงระบบรางที่ดีมีคุณภาพ คนก็จะคิดถึงพรรคเพื่อไทย ที่มีศักยภาพความพร้อม ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับท้องถิ่น พรรคเพื่อไทยก็เป็นพรรคที่ชูเรื่องการกระจายอำนาจ ลดอำนาจราชการจากส่วนกลาง เพิ่มงบประมาณอำนาจให้กับท้องถิ่นในการตัดการตนเอง ซึ่งเพื่อไทยเคยพิสูจน์มาแล้ว ตั้งแต่การเป็นไทยรักไทยจนถึงเพื่อไทยในวันนี้  ถ้าระบบรางดี การขนส่งสาธารณะดี ความปลอดภัยของคนก็จะมีหลักประกันมากขึ้น เด็ก ๆ ที่ใช้มอไซต์จากหมู่บ้านต่างๆ มุ่งสู่โรงเรียนในเมือง ผู้ปกครองจะมั่นใจได้อย่างไรว่าตลอด 5-6 ปี พวกเขาจะปลอดภัย การลดจำนวนยานพาหนะส่วนตัว แล้วทดแทนด้วยระบบขนส่งมวลชนที่ดี บริการให้ประชาชน ยังไงประชาชนก็เลือกอนาคตตนเองทางนี้ ผมยกตัวอย่าง ลูกหลานของเราหลายครอบครัวทำงานกันที่หาดใหญ่ เช่าบ้านอยู่หาดใหญ่ ทิ้งแม่อยู่ที่บ้าน เหตุผลเพราะค่าใช้จ่าย หากรถไฟเปลี่ยนเป็นรถไฟความเร็วสูง จากยะลาถึงหาดใหญ่ใช้เวลา 20-30 นาที อย่างไรพวกเขาก็เลือกที่จะไปแล้วกลับมาทุกวัน คิดดูว่าจำนวนตัวเลขเงินที่เขาใช้จ่ายในหาดใหญ่ กลับมาใช้จ่ายในบ้านเกิดตนเอง สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับบ้านของเขาเอง โครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะทำให้คนมีความสุข ได้อยู่กับครอบครัว

นอกจากประเด็นโครงสร้างพื้นฐานแล้ว จิรายุยังต้องการให้มีการผลักดันจุดขายที่เป็น อัตลักษณ์วัตธรรมของคนในพื้นที่ ทางจิรายุจะเสนอให้ทางพรรคเพื่อไทยพิจารณาส่งเสริมคุณภาพของเด็กนักเรียนฮาฟิส ท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่ม เด็ก ๆ เหล่านี้เป็นต้นทุนสำคัญของพื้นที่ พวกเขาเดินทางไปเป็นอิหม่ามประจำมัสยิดต่างๆ ในภูมิภาคมลายู มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย การต่อยอดศักยภาพของเด็ก ๆ เหล่านี้ นอกจากเป็นการเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมแล้ว จะทำให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกด้วย การเป็นอิหม่ามนำละหมาดในเดือนรอมฎอนเดือนหนึ่งเด็ก ๆ เหล่านี้จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาทต่อคน จิรายุเห็นว่าตรงนี้เป็นจุดแข็งและความภูมิใจของคนในพื้นที่

การเป็นพื้นที่ที่คนมลายูมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ จิรายุเห็นว่าหากมีการผลักดันให้เกิดโรงพยาบาลฮาลาล ที่มีคุณภาพแล้ว ด้วยต้นทุนทางประวัติศาสตร์อารยธรรม จะสามารถดึงตลาดจากโลกอาหรับ ตะวันออกกลางเข้ามาพักรักษาพยาบาลในพื้นที่ จะทำให้เกิดงานเกิดรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ตอนนี้มีตัวเลขที่คนจากตะวันออกกลางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยเยอะมาก และมันจะเพิ่มขึ้นหากมีการสร้างมันขึ้นมาในพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่อย่างสามจังหวัดสี่อำเภอ

สุดท้ายแล้วจิรายุคาดหวังว่า หากเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งแล้ว การสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยว เชิงนิเวศน์วัฒนธรรม จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ประชาชนมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี จิรายุย้ำว่าอัตลักษณ์วัฒนธรรมเป็นต้นทุนสำคัญสำหรับประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตอนนี้เราเพียงต้องการรัฐบาลที่บริหารเป็น นี่เป็นเหตุผลที่จิรายุเลือกที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net