Skip to main content
sharethis

เครือข่ายพิทักษ์เขาเตราะปลิง จ.ปัตตานี จัดเวทีประชาคมประชาชนกำหนดอนาคตตนเอง ค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดแกรนิต ยืนยันภูเขาทุกลูกเป็นสมบัติสาธารณะ ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน นักวิชาการชี้การทำเหมืองหินเป็นการใช้ประโยชน์ที่ติดลบ

5 ธ.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่ชุมชนเตราะปลิง ตำบลทุ่งคล้า อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี และชุมชนใกล้เคียง ร่วมกันจัดเวทีประชาคมประชาชนกำหนดอนาคตตนเอง เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดแกรนิตเพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง โดยบริษัทอิบนูอัฟฟาน แกรนิต กรุ้ป จำกัด ในพื้นที่ 152ไร่ตลอดแนวภูเขาเตราะปลิง ชุมชนบ้านเตราะปลิง หมู่ 4  ตำบลทุ่งคล้า อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

ก้องการฉริยะพงศ์พันธุ กล่าวเปิดเวทีประชาคม โดยกระบวนการของเวทีนั้นเริ่มต้นด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นของนักวิชาการ แพทย์ชนบท ชาวบ้านในชุมชนเตราะปลิง และมุมมองของนักกฎหมาย เขาระบุว่า ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหา ปี 2539 มีโครงการเหมืองหินในพื้นที่ชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกันกับที่บริษัทอิบนุอัฟฟานขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองหิน บาดแผลครั้งแรกเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน และมันกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง จึงเป็นเหตุผลของการเกิดเวทีเพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของชุมชนในครั้งนี้

เกื้อ ฤทธิบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีชี้ว่าปัญหาโลกในปัจจุบันที่เป็นอยู่นั้นเราเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้มันก่อเกิดขึ้นมาและเราต่างได้รับผลกระทบ ประเด็นโลกร้อนที่ตอนนี้กลายเป็นโลกเดือดไปแล้วต่างสัมพันธ์กับวิถีของมนุษย์ทั้งสิ้น แหล่งใหญ่สำหรับการเกิดภาวะโลกร้อนคือ ภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน และภาคเกษตร ความพยายามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีแสดงว่ากระบวนการยังไม่เพียงพอ

เกื้อสะท้อนว่ามีการพูดถึงประเด็นป่าในฐานะแหล่งใหญ่ในการปกป้องโลกร้อนปรากฏว่าเรามีพื้นที่ป่าไม่ถึง 50 เปอเซ็นต์ เมื่อพูดถึงบริบทปัตตานีพบว่าไม่ถึง 6 เปอเซ็นต์ พื้นที่เขาเตราะปลิงเดิมเป็นพื้นที่ป่าสงวนในปัจจุบันมีพื้นที่ไม่ถึง 12 เปอเซ็นต์จากทั้งหมด เขาเตระปลิงในฐานะบทบาทของระบบทางธรรมชาตินั้นสำคัญโดยตัวมัน เขาเตราะปลิงยังมีป่าไม้ มีสายน้ำ 3 สาย มีสัตว์ป่า มีแหล่งแร่ มีน้ำตก เป็นปัจจัยที่หนึ่งที่คนใช้ประโยชน์ได้เลย เขาเตราะปลิงไม่พังลงมาเพราะระบบของเขายังสมดุลให้ผู้คนได้ใช้ชีวิต และเขาเตราะปลิง ในฐานะความงดงามทางธรรมชาติ มีแหล่งโบราณสถาน มีน้ำตก มีบทบาทสร้างความสุขทางจิตใจ ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศให้พื้นที่ลักษณะนี้เป็นพื้นที่ดูแลสุขภาพของผู้คน การบริการทางนิเวศน์ของภูเขานั้นมีอยู่มากมาย ขึ้นอยู่กับวิธีคิดของเราจะเลือกใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในทิศทางไหน 

“หากเราเลือกใช้ประโยชน์จากแร่ ซึ่งเป็นการเลือกใช้ประโยชน์แค่ส่วนเดียวและมีผลกระทบเกิดขึ้นมากกว่า การใช้ประโยชน์ในลักษณะนี้เป็นการใช้ประโยชน์แบบติดลบ นี่เป็นการเลือกใช้ที่ชาญฉลาดหรือเปล่า” เกื้อตั้งคำถามไว้ในการเสวนา

อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี ยังย้ำว่า วันนี้การออกมาคัดค้านของชาวบ้าน ประชาชน ชุมชนเตราะปลิง เป็นการสะท้อนว่าพวกเขาไม่อยากใช้ประโยชน์จากการบริการทางนิเวศน์ หกเปอเซ็นต์จากการทำเหมืองแร่ เป็นการรักษาประโยชน์ของชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องโลก 

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และ ผอ.โรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา อธิบายข้อมูลความรู้ทางการแพทย์ที่เป็นผลกระทบจากการทำเหมืองหิน โดยอ้างอิงข้อมูลจากตำราเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมว่า หากการระเบิดภูเขาระเบิดหิน ก่อเกิดฝุ่นขนาดต่างๆ และฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า PM2.5 การแนะนำทางการแพทย์สำหรับคนทำงานเหมืองคือให้ยุติการทำงานภายในระยะเวลาสามปี หรือหนึ่งปียิ่งดี เพื่อป้องกันการเป็นฝุ่นจับปอด เมื่อร่างกายสะสมการรับฝุ่นยาวนาน แม้ว่าจะหยุดการทำงานไปแล้วก็ตามความเสี่ยงที่จะเป็นโรคยังคงมีอยู่ตลอดเวลา

การรับเอาสิ่งเล็กๆ ซ้ำๆ เข้ามาสู่ร่างกาย แม้เป็นมลพิษต่ำๆ แต่ยาวนาน ร่างกายจะสะสมสิ่งเหล่านั้น ร่างกายจะรับรู้เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามา วิธีการกำจัดคือเม็ดเลือดขาวจะกินฝุ่นแล้วส่งน้ำย่อยออกมา ฝุ่นหินที่ละเอียดมีขนาดเท่า ๆ กับ PM.5 เมื่อร่างกายรับเข้าไปนานๆ เม็ดเลือดขาวก็จะตาย แล้วร่างกายก็จะสร้างไฟเบอร์เพื่อสร้างใยปกป้องชั้นใน ใยพวกนี้จะทำให้เกิดผังผื่น ไม่ยืดไม่หดมันจะแข็ง เมื่อถุงลมเริ่มแข็งๆ การแลกเปลี่ยนออกซิเจนจะลดลง ทำให้เป็นโรคฝุ่นจับปอด ซึ่งปรากฏในการศึกษาชุดความรู้ที่มีมีมายาวนาน

“หัวใจสำคัญอยู่ที่การทำเหมืองจะจัดการฝุ่นได้ดีอย่างไร ในทางองค์ความรู้ทางวิศวกรรม คือ ตั้งให้ไกลจากชุมชน เหมืองที่ดีต้องอยู่ไกลจากชุมชน” นพ.สุภัทร กล่าว

ตัวแทนชาวชุมชนเตราะปลิง อธิบายถึงความเจ็บปวดของชุมชนในช่วงของการมีการระเบิดภูเขา เมื่อปี 2539 จนถึงประมาณ ปี 2545 ที่ดินแปลงเกษตรได้รับผลกระทบ สายน้ำเสียหายเกิดภาวะตื้นเขินจากทรายและโคลนที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ ชาวสวนทุเรียน สวนมะพร้าวได้รับความเสียหาย ระบบนิเวศน์เปลี่ยนสายน้ำเปลี่ยนทำนาไม่ได้ สัตว์ป่าสัตว์หาย ระยะผ่านไปกว่า 20 ปี ตอนนี้ป่าเริ่มฟื้นกลับมา สัตว์ป่าเริ่มกลับมา นกเหงือกกลับมาโบยบินระหว่างภูเขาที่ตั้งอยู่สองฝั่งถนน คือ เขาใหญ่กับเขายีโดะ มีมากกว่า 30 ตัว ทางกลุ่มชาวบ้านเริ่มคิดถึงการออกแบบแผนการท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

“เราเคยได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองมาก่อน เราเห็นความเจ็บปวดของชาวบ้าน เราจึงอยากกำหนดทิศทางการพัฒนาบ้านเราด้วยตนเอง” ตัวแทนชาวชุมชนเตราะปลิงกล่าว

ผู้ใหญ่บ้านทุ่งคล้า ซึ่งเป็นประธานเครือข่ายฟื้นฟูนาร้างจังหวัดปัตตานี ถามถึงกระบวนการศึกษาผลกระทบเป็นอย่างไรมีการศึกษาหรือไม่ โดยคำถามเทียบเคียงเพื่อชี้ให้เห็นกรณีตัวอย่างที่เขาคูหา จังหวัดสงขลา การระเบิดหินที่เกิดขึ้นในชุมชน พวกเขายังสามารถทำนาได้หรือไม่ ที่อำเภอยะหาจังหวัดยะลามีการระเบิดหิน ชุมชนยังสามารถทำนาได้อีกหรือไม่ ชาวบ้านบ้านพอเหมาะอยู่ห่างจากชุมชนที่นี่สองกิโลเมตรทำนาข้าวเป็นส่วนใหญ่ จะได้รับผลกระทบโดยตรง ยิ่งคนในชุมชนเตราะปลิงยิ่งได้รับผลกระทบตนจึงยืนยันไม่เห็นด้วยที่จะมีการทำเหมืองหินในบริเวณชุมชน

“ผมมีความฝันที่อยากจะข้าวปลอดสารพิษ ฝันไว้ในอนาคตข้างหน้า อยากให้มีข้าวข้าวอินทรีย์ หากมีการระเบิดหินขึ้นมาความฝันของผมก็จะสลายไป ” ผู้ใหญ่บ้านกล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงพื้นที่ลักษณะเดียวกับกับภูเขาเตราะปลิงเป็นแหล่งกำเนิดน้ำ พื้นที่ที่มีลักษณะเป็นแหล่งชุ่มน้ำไม่สามารถทำเหมืองแร่ได้ตามกฎหมาย ข้อสังเกตุคือการทำแผนแม่บทนั้นเกิดจากการสำรวจจริงหรือไม่ เสนอให้มีการลงตรวจสอบอีกครั้ง การทำนิยามข้อเท็จจริงของคนในพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ด้านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาอธิวัฒน์ให้ความเห็นว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในรัศมี 500 เมตรนั้น ไม่เหมาะสม เพราะชุมชนที่ได้รับผลกระทบนั้นไม่ได้มีเพียงรัศมี 500 เมตรเท่านั้น สุดท้ายอธิวัฒน์ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินจากข้อมูลชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่าที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่ถูกประกาศไว้เป็นป่าสงวน เอกสารสิทธิในที่ดินบริเวณชุมชนเตราะปลิงและเขายีโดะส่วนใหญ่เป็นเอกสาร สค 1 ซึ่งชาวบ้านตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการได้มาของโฉนดที่ดินว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ขณะที่มีการออกเอกสารสิทธิให้กับเจ้าของที่ดิน ที่ซึ่งบริษัทใช้เป็นพื้นที่ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ แต่ชาวบ้านไม่สามารถขอเอกสารสิทธิเป็นโฉนดได้ จึงขอฝากให้นักการเมืองช่วยแสวงหาข้อเท็จจริงในประเด็นที่เกี่ยวข้อง

รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลที่เข้าร่วมสังเกตการณ์เวทีประชาคมของชาวบ้าน ให้ความเห็นว่าจากการสะท้อนออกมาผ่านเวทีประชาคมในครั้งนี้ การพูดถึงข้อจำกัดของกฎหมายในกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตนเห็นว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงกฎหมาย และการตัดสินใจต่างๆ ในการอนุมัติหรืออนุญาตนั้น เป็นเรื่องที่สามารถตั้งข้อสังเกตว่าเป็นผลของการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ตนจึงเห็นว่ามันมีความจำเป็นที่ต้องกระจายอำนาจให้คนในท้องถิ่นสามารถตัดสินใจ

รอมฎอน เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้สัมพันธ์กับกรรมาธิการศึกษาหลักๆ อยู่ 4 คณะ ได้แก่ กรรมาธิการที่ดิน กรรมาธิการอุตสาหกรรม กรรมาธิการการมีส่วนร่วม และกรรมาธิการความมั่นคง ที่ตนอยู่เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีมิติความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคงทางอาหาร ที่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับประชาชน รอมฎอนย้ำว่าประชาชนสามารถส่งข้อเรียกร้อง ข้อมูลต่างๆ ให้กับผู้แทนราษฎรในพื้นที่ของตนเองเพื่อให้พวกเขาทำงานต่อไป

ก้องการ ฉริยะพงศ์พันธุ ประชาชนในพื้นที่ชุมชนเตราะปลิง ตั้งคำถามต่อผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัดว่า ข้อมูลผลกระทบต่อชุมชนตอนการทำเหมืองหินปี 39 นั้น เพียงพอหรือไม่ที่จะชี้ว่าชาวบ้านในชุมชนเตราะปลิงได้รับผลกระทบจริง บ้านร้าว พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายอย่างหนัก วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ผลกระทบมากมายในตอนนั้นชาวบ้านไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ จนถึงตอนนี้ที่จะมีการกลับมาทำเหมืองอีกครั้ง

สุดท้ายเครือข่ายพิทักษ์เขาเตระปลิง จากชุมชนต่างๆ ในอำเภอสายบุรีทุ่งยางแดง อำเภอมายอ และอำเภอทุ่งยางแดง ได้ร่วมอ่านแถลงการณ์คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของภูเขา ในฐานะปัจจัยการผลิต อาทิ ป่าไม้ สัตว์ป่า แหล่งน้ำ แหล่งแร่ และการหาของป่า ที่มนุษย์สามารถ ใช้ประโยชน์ได้โดยตรง  การรักษาสมดุลทางนิเวศ พืชพันธ์ สัตว์ แหล่งน้ำ อากาศ และคุณค่าทางวัฒนธรรม วิถี ประวัติศาสตร์ การศึกษา วิจัย หากคิดเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์จากทั้ง 3 ส่วน ของการให้บริการทางนิเวศน์ของภูเขา สามารถแบ่งออกเป็นส่วนละ 33% ความพยายามในการขอประทานบัตรระเบิดภูเขาทำเหมืองแร่ของบริษัท อิบนู อัฟฟาน แกรนิต กรุ๊ป ถือเป็นการใช้ประโยชน์แหล่งแร่จากบริการนิเวศภูเขาที่อยู่ในเรื่องของการเป็นปัจจัยการผลิต ซึ่งการระเบิดภูเขาเพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งแร่ คือ การใช้ประโยชน์เพียง 1 ใน 5 ของส่วนที่เป็นปัจจัยการผลิต ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งคิดเป็นตัวเลขการใช้ประโยชน์เพียง 6.6 % ของการบริการทางนิเวศของภูเขา แต่อีก 93.4 % ต้องถูกทำลายทิ้งจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ใดๆ ได้อีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net