Skip to main content
sharethis

นักศึกษานักกิจกรรมปาตานี ปฏิเสธข้อกล่าวหาคดีความมั่นคง หลังถูกฟ้องร้องจากแม่ทัพภาคที่ 4 องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างชี้การลงประชามติจำลองเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ผู้ถูกกล่าวหายันการแสดงออกทางความคิดด้วยสันติวิธี เพื่อนำเสนอทางเลือกใหม่ในการจัดการความขัดแย้งให้สังคมไทย

8 ธ.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 ธ.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ สภ.เมือง ปัตตานี อิรฟาน อุมา ประธานขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ หรือ Pelajar Bangsa อาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani ฮากิม พงติกอ รักษาการประธาน Patani Baru ฮูเซน บือแน นายกองค์การบริหารกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และสารีฟ สาแลมัน นักกิจกรรมนักศึกษาสมาชิก Pelajar Bangsa เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฐาน "ร่วมกันกระทำให้​ปรากฏ​แก่​ประชาชน​ด้วยวาจา​ หนังสือ​หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่​เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมาย​แห่งรัฐธรรมนูญ​ หรือมิใช่​เพื่อแสดงความคิดเห็น​หรือติชมโดยสุจริต" โดยให้การปฏิเสธในทุกข้อกล่าวหา และขอให้การเป็นลายลักษณ์อักษรในขั้นตอนต่อไป

เนื่องจากแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.ศานติ ศกุนตนาค โดย ร.อ.พนมกรณ์ พันพรมมา ผู้รับมอบอำนาจ แจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว ภายหลังจากทางขบวนการนักศึกษาแห่งชาติจัดเวทีวิชาการเสวนาเกี่ยวกับประเด็นสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง ในวาระการเปิดตัวขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ Patanian Students Movement หรือ Pelajar Bangsa เมื่อวันที่ 7 เดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

อิรฟาน ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยืนยันเจตนารมณ์บริสุทธิ์ในการจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้น และจะให้การเป็นลายลักษณ์อักษรในขั้นตอนต่อไป

“การแสดงออกทางความคิดของนักศึกษาผ่านกิจกรรมที่ผ่านมานั้น เป็นการแสดงออกแบบสันติวิธี เพื่อนำเสนอทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับสังคมไทยในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้น”  อิรฟานกล่าว พร้อมระบุว่าเสรีภาพในการแสดงออกนั้นสำคัญต่อทิศทางการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่ปาตานีหรือจังหวัดชายแดนใต้

อาเต็ฟ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหากล่าวว่า เรื่องคดีที่เราถูกฟ้องนั้นไม่ใช่สาระสำคัญไปกว่าประเด็นหลักที่เกิดขึ้น หลังจากมีการเลือกตั้งมีรัฐบาลพลเรือนคือ การที่รัฐไทยเลือกแนวทางในการจัดการความขัดแย้งด้วยอาวุธด้วยการใช้กฎหมายในลักษณะนี้ ทั้งที่แนวทางร่วมกันคือเราอยากให้การจัดการความขัดแย้งนั้นเป็นการแสวงหาทางออกทางการเมืองแบบไม่ใช้อาวุธ

อาเต็ฟ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม่ทัพภาคที่ 4 เองก็เป็นเหยื่อจากโครงสร้างการเมืองของประเทศนี้ หมายถึงทางแม่ทัพภาคที่ 4 เอง รับนโยบายตามวิธีคิดที่เป็นผลจากโครงสร้างอำนาจในแบบที่รัฐไทยเป็นอยู่ ซึ่งการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองต้องอาศัยพัฒนาการที่ดีด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

“มันไม่สำคัญว่าใครคือคนที่โดนคดีความ แต่สิ่งสำคัญคือ ครั้งนี้อาจจะสามารถนับได้ว่าเป็นคดีแรกที่แรงจูงใจในการดำเนินคดีความนั้น มาจากเหตุผลทางการเมือง ซึ่งแน่นอนจะส่งผลต่อทางเลือกใหม่ในการต่อสู้ทางการเมืองแบบไม่ใช้อาวุธของประชาชน” อาเต๊ฟ กล่าว

นักกิจกรรมนักศึกษาที่เดินทางร่วมให้กำลังใจ ยืนยันว่า " เสรีภาพในการแสดงออกไม่ใช่อาชญากรรม " โดยการชูป้ายสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น Freedom of Expression is not a crime , Anti SLAPP Law , RSD = PATANI PEACE , ประชามติ = เสรีภาพ , เสรีภาพในการแสดงออกไม่ใช่อาชญากรรม

ขณะที่พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ทนายความนักกฎหมาย จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่เดินทางมาให้กำลังใจและร่วมสังเกตการณ์ กล่าวว่า กิจกรรมการรวมกลุ่มเรียกร้องสิทธิในการแสดงออกความคิดเห็น เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับนักกิจกรรมทั้ง 5 คน และบางส่วนเป็นนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวที่ทำงานต่อเนื่องในการช่วยสื่อสารสาธารณะระหว่างประชาชนในพื้นที่กับหน่วยงานของรัฐ ในบริบทที่เกิดกิจกรรมเสวนานั้นเป็นช่วงเดือนมิถุนายน ช่วงเวลาที่ประเทศกำลังอยู่ในบรรยากาศประชาธิปไตย ภายหลังการเลือกตั้ง การสร้างความเชื่อมั่นกับผู้แทนราษฎร กิจกรรมของนักศึกษาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการมีส่วนร่วมของพรรคการเมือง นักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ และจัดในมหาวิทยาลัย เราไม่เชื่อว่าองค์ประกอบเหล่านี้เป็นความผิด ตามที่ตำรวจ สภ.เมืองปัตตานีกำลังจะแจ้งข้อกล่าวหากับนักกิจกรรมทั้ง 5 คน ว่าเป็นการละเมิดกฎหมายมาตรา 116 ซึ่งเป็นข้อหาที่ใหญ่มาก และข้อหาลักษณะนี้ไม่ควรที่จะนำมาใช้กับนักกิจกรรมที่ทำงานเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่

การดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการบริหารจัดการความขัดแย้ง และแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือโดยยืมมือตำรวจในการกลั่นแกล้ง และตั้งข้อกล่าวหาปิดปากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเรื่องราวลักษณะนี้ประชาชน นักสิทธิมนุษยชนรับไม่ได้

และนอกจากคดีนี้แล้ว ยังมีอีกหลายคดีที่นักกิจกรรมหลายคนถูกเครื่องมือทางกฎหมายนำมาใช้เพื่อกลั่นแกล้ง เราเรียกคดีเหล่านี้ว่าคดี SLAPP เป็นลักษณะคดีที่เป็นยุทธศาสตร์ที่จะปิดปากไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม สุดท้ายการตั้งข้อกล่าวหาเหล่านี้มันไม่ครบองค์ประกอบความผิด พวกเขาไม่ใช่อาชญากร พวกเขาเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง การดำเนินการในการใช้ข้อกล่าวหาทางการเมืองในการปิดปากประชาชน โดยใช้กลไกของรัฐ คือ พนักงานสอบสวน อัยการ ศาล เป็นการกระทำที่เรารับไม่ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่กำลังมีการพูดถึงการเจรจาสันติภาพ มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการภายใต้สภาผู้แทนราษฎร มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยสันภาพซึ่งเป็นพลเรือน โดยมีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นเลขานุการคณะพูดคุยสันติภาพ

เมื่อเลขานุการการพูดคุยตั้งข้อกล่าวหากับนักกิจกรรม ที่ใช้เพียงกระดาษกับปากกาในการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของพวกเขา การกระทำลักษณะนี้จะเป็นกระบวนการสันติภาพได้อย่างไร ดังนั้นความย้อนแย้งของรัฐเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องแก้ไข" พรเพ็ญกล่าว

ในครั้งนี้ทางเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้แถลงการณ์ร่วมเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้แก่ 1 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 2. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD  3.องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี – HAP 4. กลุ่มด้วยใจ  5. สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพcap ร่วมแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีนักกิจกรรม โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

แถลงการณ์ ขอให้ยุติการดำเนินคดีนักกิจกรรมปัตตานีทันที

​กรณีพลโทศานติ ศกุนตนาค ผอรมน.ภาคสี่ แจ้งความปิดปากปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็น กรณีกิจกรรมประชามติจำลอง เมื่อ 7 มิย 66 ในวันนี้ วันที่ 8 ธันวาคม 2566 เวลา 14.00น. นักกิจกรรมชาวปัตตานี 5 คน จะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา ว่า “ร่วมกันกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น  หรือติชมโดยสุจริตฯ” คดีนี้เป็นคดีที่ทางพลโทศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ดำรงตำแหน่งผอ.รมนภาคสี่ แจ้งความดำเนินคดีด้วยตนเอง  จากเหตุที่เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินท์ วิทยาเขตปัตตานีได้จัดกิจกรรมเพื่อเปิดพื้นที่การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของพื้นที่ชายแดนใต้ จัดให้มีการลงประชามติจำลองกับคำถามว่า “ คุณเห็นด้วยกับ “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย”  กิจกรรมดังกล่าวได้มีการเชิญนักการเมืองและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมด้วย แต่ต่อมากลับกลายเป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์โดยหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงว่าหมิ่นเหม่ในการละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย  จนนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีโดยพล.ท ศานติ ศกุนตนาค ที่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคสี่ ผอ.รมน.ภาคสี่ และปัจจุบันได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นสมาชิกคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ชุดใหม่ด้วย

องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายนามนี้ เห็นกิจกรรมการลงประชามติจำลอง เป็นสิทธิในการแสดงออกทางความคิดที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ขอเรียกร้องให้พลโทศานติฯ ถอนแจ้งความในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการมีส่วนร่วมในการดำเนินการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2566 นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ชุดใหม่ นำโดยฉัตรชัย บางชวด เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย แทนพลเอก วัลลภ รักเสนาะ และแต่งตั้งชุดใหม่ มีสมาชิกประกอบด้วย เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ, ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ขณะที่ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 จะเป็นสมาชิกในคณะพูดคุยและเลขานุการร่วม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net