Skip to main content
sharethis

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันไม่ได้ให้ผู้ใหญ่บ้านนำหน้าทหารในเหตุปะทะที่ปัตตานีจนเสียชีวิต ส่วนตำรวจเจ็บ 2 ผู้ก่อเหตุเสียชีวิต ชาวเน็ตเผยความหนักใจของผู้นำท้องที่ เรียกร้องหลายครั้งให้หลีกเลี่ยงใช้ผู้นำศาสนาเจรจาต่อรอง ชาวบ้านไม่สมัครใจให้ที่พักพิง

8 พ.ย. 2565 ปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น จนนำมาสู่การปะทะหลายต่อหลายครั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่มักใช้ผู้นำศาสนา หรือไม่ก็ผู้นำชุมชนและญาติใกล้ชิดของผู้ต้องสงสัยมาช่วยเจรจาต่อรองหรือเกลี้ยกล่อมให้มอบตัว ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้ามักอธิบายว่เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการจากเบาไปหาหนัก เมื่อการเจรจาต่อรองไม่เป็นผล และส่วนใหญ่มักจบลงด้วยการบาดเจ็บหรือสูญเสียทั้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง

ทว่า เหตุปะทะเมื่อช่วงค่ำวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ในพื้นที่ ม.7 ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อาจจะแตกต่างออกไป เมื่อผู้เสียชีวิตกลับเป็นผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่กับผู้ต้องสงสัยที่มีหมายจับหลายคดี จนเกิดคำถามถึงความเหมาะสมของปฏิบัติการดังกล่าว อีกทั้งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงให้ผู้ใหญ่บ้านนำหน้าเจ้าหน้าที่

ปิดล้อมปะทะดอนรัก 2 ตำรวจเจ็บ ผู้ใหญ่บ้านกับผู้ก่อเหตุเสียชีวิต

โดยทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แถลงในวันต่อมาว่า ขั้นตอนการปฏิบัติได้ดำเนินการตามมาตรการจากเบาไปหาหนัก ด้วยการเชิญผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา และเครือญาติเข้าร่วมเจรจาเกลี้ยกล่อมให้คนร้ายที่หลบซ่อนอยู่ภายในบ้านยอมออกมามอบตัว

ต่อมาเวลาประมาณ 18.00 น. ขณะพยายามเจรจาเกลี้ยกล่อมอยู่นั้น คนร้ายได้ยิงสวนออกมาทำให้เกิดการยิงต่อสู้กันขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกยิงได้รับบาดเจ็บ 2 นาย คือ จ.ส.ต.อนุพล มะลิสุวรรณ และ ส.ต.อ.เจษฏา ธนาวุฒิ และเจ๊ะมูหามะญากี เจ๊ะเด็ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ต.ดอนรัก ที่เข้าร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ด้วยถูกคนร้ายถูกยิงได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลปัตตานี แต่เจ๊ะมูหามะญากีเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ส่วนผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 1 ราย ทราบชื่อ คือ มะนาเซ ไซร์ดี อายุ 32 ปี พบอาวุธปืนยี่ห้อซิกซาวเออร์ขนาด 9 มิลลิเมตรของคนร้ายตกอยู่ 1 กระบอก ตรวจสอบประวัติมีหมายจับในคดีความมั่นคง 7 หมาย เช่น เหตุลอบวางระเบิดหลายจุดในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนเมื่อปี 2559 เหตุลอบวางระเบิดบริเวณหน้าห้างบิ๊กซี สาขาปัตตานีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 เหตุโจมตีชุดคุ้มครองตำบลบ้านกอแลปิเละ ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 และมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุลอบวางระเบิดปั๊มน้ำมันบางจาก สาขาดอนยาง ในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

เจรจาเกลี้ยกล่อมเพราะไม่ต้องการความสูญเสีย

พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงศ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ชี้แจงว่า เจ๊ะมูหามะญากี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ต.ดอนรัก ถูกยิงขณะที่คนร้ายได้วิ่งฝ่าวงล้อมของเจ้าหน้าออกมาจากบ้านที่หลบซ่อนอยู่ โดยคนร้ายได้ยิงเปิดทางเพื่อหลบหนีในช่วงพลบค่ำแล้ว ซึ่งระหว่างยิงเปิดทางนั้นกระสุนไปโดนผู้ใหญ่บ้านขณะที่หลบอยู่หลังรถหุ้มเกราะและไม่ได้สวมชุดเกราะกันกระสุน

“เป็นไปไม่ได้และไม่มีทางที่เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ใหญ่บ้านนำหน้าเจ้าหน้าที่ไปก่อนในลักษณะของการเป็นโล่มนุษย์ เพราะเจ้าหน้าที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด คนที่วิพากษ์วิจารณ์ไปอย่างนั้นก็เพราะไม่ได้อยู่ในจุดเกิดเหตุ จึงไม่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร” พ.อ.เกียรติศักดิ์ กล่าว

พ.อ.เกียรติศักดิ์ ต่อไปว่า การให้ผู้นำชุมชนหรือผู้นำศาสนาที่ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความเคารพนับถือมาเป็นคนกลางในการเจรจาเกลี้ยกล่อมนั้นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดอยู่แล้ว และเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียเป็นอันดับแรก เพราะอยากให้คนร้ายมอบตัวสู้คดี แต่ถ้าต้องการปิดเกมทันทีก็สามารถทำได้ไม่ยาก เพียงแค่โยนระเบิดแก๊ซน้ำตาเข้าไปก็สามารถจัดการจัดร้ายได้ทันที

ภายหลังเกิดเหตุ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวถึงเจ๊ะมูหามะญากีว่า เป็นการกระทำที่น่ายกย่องและเชิดชูเกียรติอย่างถึงที่สุด พร้อมให้ช่วยเรื่องการจัดการศพและช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบและสิทธิอย่างเร่งด่วน ส่วนผู้ให้ที่พักพิงแก่คนร้ายจะต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด

เผยความหนักใจของผู้นำท้องที่

สำหรับเสียวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีดังกล่าวแล้ว ในโลกออนไลน์ยังมีการสะท้อนถึงความรู้สึกของผู้นำชุมชนอย่างผู้ใหญ่บ้านที่ต้องมาเป็นคนกลางในการเจรจาเกลี้ยกล่อมผู้ก่อความไม่สงบด้วยว่า บางครั้งก็เกินความสามารถของผู้ใหญ่บ้าน ต่างจากการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านด้วยกันเอง แต่หากไม่ทำก็เกรงว่าจะถูกมองว่าไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ อย่างเช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Apinan Latiwong ที่โพสต์ถึงเรื่องนี้

โดยเขาตั้งหัวข้อที่โพสต์ว่า “ความใน(ที่หนัก)ใจ..ผู้นำท้องที่ใน จชต.” โดยมีเนื้อหาดังนี้ “18 ปีความในขัดแย้งทางความคิดและการเมืองที่เลือกใช้ความรุนแรงด้านอาวุธในการแก้ปัญหาไม่รู้ว่าตัวเองจะอยู่ยังไง อยู่ตรงไหน ซ้าย ขวา ตรงกลาง(ตรงไหนก็ได้ขอให้รอด) ยิ่งอยู่ในหมู่บ้านที่ถูกตราว่าเป็นหมู่บ้านสีแดงแล้วยิ่งอยู่ยาก”

“เมื่อฝ่ายความมั่นคงทำการปิดล้อมตรวจค้นบ้านเป้าหมายผู้ต้องสงสัย จะให้เราไปเป็นพยานในการค้น บางทีให้เราเป็นผู้นำการค้น คือนำหน้าเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น เสมือนเราเป็นโล่ ..กลัวไหม? กล้วซิ.ไม่มีเสื้อเกราะ ไม่มีโล่กำบัง ...ไม่มีทักษะด้านนี้ ถ้าไม่ทำกล้วจะถูกมองว่าไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ ทำแล้วต้องตามเช็ดตามแก้หากมีทรัพย์สินเสียหายหรือสูญหายจากการตรวจค้น”

“หลายเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ปิดล้อมผู้ต้องสงสัยที่มีหมายจับหลบซ่อนในอาคารบ้านเรือนแล้วให้ผู้นำท้องที่ทำการเจรจาเกลี้ยกล่อมให้มอบตัว รู้ทั้งรู้ว่าเขาสู้ตาย เกิดปะทกันผู้นำทีมาเจรจา เกลี้ยกล่อมยังอยู่ในวงปะทะ ไม่มีเสื้อเกราะ ไม่มีโล่กำบัง อันตรายสุดๆ ...วันนี้เห็นแล้ว...ทีดอนรัก หนองจิก ... ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากการปะทะ”

เขายังได้ทิ้งท้ายด้วยว่า การเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านเป็นหน้าที่ที่ผู้ใหญ่บ้านต้องคลี่คลายให้จบที่ความพอใจทั่งสองฝ่าย ... แต่ข้อพิพาท ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับกลุ่มผู้เห็นต่างนี่ มันเกินความสามารถและอำนาจหน้าที่ที่จะเจรจาไกล่เกลี่ย เราเป็นอะไร? คนกลางรึ..   เราไม่ใช่ผู้ที่ถูกยอมรับในการเจรจา หรือเป็นหมากที่ถูกวางไว้กดดันอีกฝ่าย ...”

เรียกร้องหลายครั้ง เลี่ยงใช้ผู้นำศาสนาเจรจาต่อรอง

สำหรับกรณีการใช้คนในพื้นที่มาเป็นคนกลางในการเจรจาเกลี้ยกล่อม โดยเฉพาะผู้นำศาสนานั้น ก่อนหน้านี้เคยมีการเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐทบทวนมาแล้วมหลายครั้ง เนื่องจากอาจทำให้ผู้นำศาสนาได้รับอันตรายและมีผลร้ายตามมาในภายหลังได้ ล่าสุดคือข้อเสนอของคณะประสานงานระดับพื้นที่หรือที่เรียกว่า สล.3 ซึ่งเป็นกลไกในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกลุ่ม สล.3 จังหวัดยะลาได้รวบรวมข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการปิดล้อมตรวจค้นจากกลุ่มต่าง ๆ ไว้ ซึ่งทุกกลุ่มมีข้อเสนอที่คล้ายกันในเรื่องการปิดล้อมบ้านต้องสงสัยว่า ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ในขณะที่กลุ่มผู้นำ ศาสนา ครูตาดีกา ศิษย์เก่าต่างประเทศมีข้อเสนอ 3 ข้อเกี่ยวกับการปิดล้อมตรวจค้น โดยเฉพาะข้อที่ว่า ไม่ควรให้นำผู้นำศาสนาหรือโต๊ะอิหม่ามเป็นผู้เจรจาต่อรอง ควรผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการเจรจา หรือครอบครัวของผู้ถูกปิดล้อม เพื่อปกป้องความเป็นกลาง ภาพลักษณ์ และความปลอดภัยของผู้นำศาสนา อีกข้อคือ ให้ใช้เวลาปิดล้อมกดดันจนกว่าผู้ต้องสงสัยมอบตัวนานขึ้น แม้จะใช้ระยะเวลานาน เพราะไม่อยากให้เกิดความรุนแรงการปะทะจนเสียชีวิต

รัฐต้องเข้าใจชาวบ้านบางคนไม่สมัครใจให้ที่พักพิง

กลุ่มผู้นำ ศาสนา ครูตาดีกา ศิษย์เก่าต่างประเทศ ยังมีข้อเสนอด้วยว่า ในกรณีการให้ที่พักพิงผู้ต้องหาของชาวบ้านนั้น ชาวบ้านบางคนไม่ได้สมัครใจหรือมีส่วนร่วมสนับสนุนในการให้ที่พักพิง เจ้าหน้าที่รัฐต้องไต่สวนให้ความเป็นธรรมเสียก่อน และไม่ดำเนินคดีกับเจ้าของบ้าน

ส่วนกลุ่มสตรีมีข้อเสนอว่า กรณีการปิดล้อม ควรแจ้งให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าเพื่อไม่ให้เกิดความแตกตื่น และหลังการปิดล้อม ควรมีคำชี้แจงให้กับพื้นที่และสร้างความเข้าใจ ให้งดใช้ความรุนแรง ต้องใช้ความพยายามและเวลา เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียให้มากที่สุด และ ยกเลิกการปิดล้อมบ้านเรือนของประชาชน หากไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน

สุดท้ายกลุ่มเด็กและเยาวชน มีข้อเสนอว่า กรณีมีการปิดล้อมบ้านผู้ต้องสงสัยหรือแนวร่วมต้องให้ผู้นำทราบก่อนทุกครั้งเพื่อปกป้องชาวบ้านผู้บริสุทธิ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net