Skip to main content
sharethis

ปภ.สรุปสถานการณ์น้ำท่วม 29 จังหวัด 159 อำเภอ ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัย คลี่คลายสถานการณ์ภัย - 'เพื่อไทย' ชี้ 'ประยุทธ์' สอบตกแก้น้ำท่วม ลั่นงบ 400,000 ล้านใครได้ประโยชน์


ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

15 ต.ค. 2565 สำนักข่าวไทย รายงานว่ากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย และความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลางรวมถึงการระบายน้ำจากเขื่อนลงแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง โดยช่วงวันที่ 28 ก.ย. – 15 ต.ค. 2565 เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่รวม 59 จังหวัด 314 อำเภอ 1,574 ตำบล 9,669 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 425,287 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 29 จังหวัด 159 อำเภอ 1,004 ตำบล 6,448 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 363,048 ครัวเรือน แยกเป็น

ภาคเหนือ 4 จังหวัด 14 อำเภอ 78 ตำบล 493 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,632 ครัวเรือน ดังนี้

1.ลำปาง น้ำท่วมในตำบลแม่วะ อำเภอเถิน รวม 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 60 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

2.ตาก น้ำท่วมในอำเภอสามเงา รวม 3 ตำบล 22 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 461 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

3.พิจิตร น้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามง่าม อำเภอวชิรบารมี อำเภอทับคล้อ อำเภอบึงนาราง อำเภอบางมูลนาก อำเภอเมืองพิจิตร อำเภอตะพานหิน อำเภอโพทะเล และอำเภอโพธิ์ประทับช้าง รวม 56 ตำบล 330 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,416 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

4.นครสวรรค์ น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพยุหะคีรี อำเภอโกรกพระ และอำเภอตาคลี รวม 18 ตำบล 140 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,695 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด 59 อำเภอ 308 ตำบล 2,319 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 64,313 ครัวเรือน ดังนี้

5.ขอนแก่น น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอชนบท อำเภอน้ำพอง อำเภอโคกโพธิ์ชัย อำเภอบ้านไผ่ และอำเภอแวงใหญ่ รวม 13 ตำบล 48 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 120 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

6.มหาสารคาม น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองมหาสารคาม อำเภอกันทรวิชัย อำเภอโกสุมพิสัย และอำเภอเชียงยืน รวม 46 ตำบล 527 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,407 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว

7.กาฬสินธุ์ น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอร่องคำ อำเภอฆ้องชัย อำเภอกมลาไสย อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และอำเภอยางตลาด รวม 24 ตำบล 187 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,047 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

8.ร้อยเอ็ด น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโพนทราย และอำเภอจังหาร รวม 6 ตำบล 38 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,369 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

9.ยโสธร น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอค้อวัง อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอเมืองยโสธร อำเภอป่าติ้ว และอำเภอมหาชนะชัย รวม 27 ตำบล 156 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

10.นครราชสีมา น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลำทะเมนชัย อำเภอสูงเนิน และอำเภอชุมพวง รวม 11 ตำบล 28 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,195 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว

11.บุรีรัมย์ น้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพุทไธสง อำเภอสตึก อำเภอคูเมือง อำเภอนางรอง อำเภอกระสัง อำเภอแคนดง และอำเภอลำปลายมาศ รวม 54 ตำบล 343 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,697 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

12.สุรินทร์ น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม อำเภอรัตนบุรี และอำเภอสำโรงทาบ รวม 22 ตำบล 91 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 19,096 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

13.ศรีสะเกษ น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอราษีไศล อำเภอกันทรารมย์ อำเภอบึงบูรพ์ อำเภอยางชุมน้อย และอำภอศิลาลาด รวม 33 ตำบล 240 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 13,284 ครัวเรือน อพยพประชาชน 830 ครัวเรือน ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 จุด มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

14.อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ อำเภอสว่างวีระวงศ์ อำเภอเดชอุดม อำเภอดอนมดแดง อำเภอสำโรง อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอเขื่องใน อำเภอตระการพืชผล และอำเภอตาลสุม รวม 38 ตำบล 247 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,828 ครัวเรือน อพยพประชาชน 246 ชุมชน ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว 116 จุด ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

15.หนองบัวลำภู น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโนนสัง อำเภอเมืองหนองบัวลำภู อำเภอนากลาง อำเภอศรีบุญเรือง อำเภอสุวรรณคูหา และอำเภอนาวัง รวม 34 ตำบล 423 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 264 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

ภาคกลาง 12 จังหวัด 77 อำเภอ 566 ตำบล 3,292 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 276,583 ครัวเรือน

16.อุทัยธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุทัยธานี อำเภอสว่างอารมณ์ อำเภอทัพทัน อำเภอห้วยคต อำเภอบ้านไร่ อำเภอหนองขาหย่าง อำเภอลานสัก และอำเภอหนองฉาง รวม 67 ตำบล 507 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,402 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

17.ชัยนาท น้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชัยนาท อำเภอวัดสิงห์ อำเภอมโนรมย์ อำเภอสรรพยา อำเภอหนองมะโมง อำเภอหันคา อำเภอเนินมะขาม และอำเภอสรรคบุรี รวม 35 ตำบล 211 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,860 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

18.สิงห์บุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี อำเภอพรหมบุรี อำเภอท่าช้าง และอำเภอบางระจัน รวม 20 ตำบล 94 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 16,230 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

19.อ่างทอง น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอป่าโมก อำเภอไชโย อำเภอเมืองอ่างทอง และอำเภอโพธิ์ทอง รวม 38 ตำบล 172 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,430 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

20.พระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมในพื้นที่ 14 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะหัน อำเภอท่าเรือ อำเภอนครหลวง อำเภอมหาราช อำเภออุทัย อำเภอวังน้อย อำเภอภาชี และอำเภอบ้านแพรก รวม 150 ตำบล 963 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 66,348 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

21.ปทุมธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอสามโคก รวม 21 ตำบล 62 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,584 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

22.นนทบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางกรวย และอำเภอบางบัวทอง รวม 42 ตำบล 268 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 110,562 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว

23.ลพบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลพบุรี อำเภอชัยบาดาล อำเภอบ้านหมี่ อำเภอพัฒนานิคม อำเภอท่าหลวง และอำเภอโคกสำโรง รวม 28 ตำบล 98 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,157 ครัวเรือน อพยพประชาชน 252 คน ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว 2 จุด ระดับน้ำทรงตัว

24.สุพรรณบุรี น้ำในแม่น้ำท่าจีนล้นตลิ่งเข้าท่วม 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสองพี่น้อง อำเภอบางปลาม้า อำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอสามชุก และอำเภอดอนเจดีย์ รวม 52 ตำบล 325 หมูบ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 27,199 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

25.นครปฐม น้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนครชัยศรี อำเภอบางเลน อำเภอสามพราน อำเภอเมืองนครปฐม อำเภอกำแพงแสน อำเภอดอนตูม อำเภอพุทธมณฑล รวม 37 ตำบล 224 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,976 หมู่บ้าน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

26.นครนายก น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครนายก อำเภอปากพลี อำเภอบ้านนา และอำเภอองครักษ์ รวม 33 ตำบล 212 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,652 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

27.สระบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังม่วง อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอหนองแค อำเภอหนองโดน อำเภอแก่งคอย อำเภอบ้านหม้อ อำเภอเสาไห้ และอำเภอดอนพุด รวม 43 ตำบล 156 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,183 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

ภาคตะวันออก 2 จังหวัด 9 อำเภอ 52 ตำบล 344 หมู่บ้าน

28.ปราจีนบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอประจันตคาม อำเภอศรีมหาโพธิ์ อำเภอบ้านสร้าง และอำเภอศรีมโหสถ รวม 41 ตำบล 276 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,965 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

29.ฉะเชิงเทรา เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพนมสารคาม อำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางน้ำเปรี้ยว รวม 11 ตำบล 68 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,555 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว

สำหรับการให้ความช่วยเหลือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระบายน้ำท่วมและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับ แจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”

'เพื่อไทย' ชี้ 'ประยุทธ์' สอบตกแก้น้ำท่วมลั่นงบ 400,000 ล้านใครได้ประโยชน์

ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งข่าวว่านายสมคิด เชื้อคง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน เปิดเผยว่า กรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเอาจริงเอาจังกับปัญหายาเสพติด อยากถามว่าทำไมเพิ่งมาคิดได้ ทั้งๆที่อยู่ในอำนาจมานาน 8 ปี ทำไมไม่ทำ ตลอดเวลาที่ผ่านมาพรรคฝ่ายค้านได้อภิปรายปัญหายาเสพติดมาโดยตลอด ทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็เคยชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่พลเอกประยุทธ์ไม่เคยสนใจ และไม่ให้ความ สำคัญ ปัญหายาเสพติดเป็นความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ เพราะไม่มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น

ปัญหาสังคมในประเทศไทยเกิดมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด เงินกู้นอกระบบ ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น ทั้งขู่ฆ่า ทั้งทำร้ายร่างกาย ทำลายสิ่งของ ปัญหาทั้งหมดนี้มาจากความยากจน ที่ทำให้ชาวบ้านไม่มีทางเลือก ถ้าจะแก้ต้องแก้ทั้งระบบ เรื่องยาเสพติดประชาชนรู้ ตำรวจรู้ ฝ่ายความมั่นคงรู้ ว่าใครเสพยา ใครค้า แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่เลวและเห็นแก่เงินมีส่วนรู้เห็นในขบวนการยาเสพติดในประเทศไทย ดังนั้นหากจะแก้ รัฐต้องกวาดบ้านตัวก่อนและตั้งใจที่จะกวาดล้างอย่างจริงจัง

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ขอฝากไปยังพลเอกประยุทธ์ว่า ถึงเวลานี้ ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือพี่น้องประชาชน ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัด อยากเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์เร่งจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนอย่างเร่งด่วน อย่าชักช้าเหมือนปี 2562 ในปีนั้นชาวบ้านรอนานกว่า 6-8 เดือน กว่าจะได้รับเงินเยียวยา ที่เป็นเช่นนี้ รัฐบาลออกขั้นตอนมากมายทำ ให้ประชาชนที่ประสบเหตุต้องรอนานกว่าจะได้เงินจาก 1 วัน เป็น 1 เดือนเป็นหลายเดือน จังหวัดอุบลราชธานี ประสบเหตุน้ำท่วมหนักมากกว่าทุกปี พี่น้อง ประชาชนต้องหนีน้ำขึ้นหลังคานับหมื่นครัวเรือน นาข้าวหลายแสนไร่ ต้องจมน้ำ ปศสัตว์ตายเพราะน้ำท่วม กว่าจะได้เงินเยียวยาต้องรอข้ามปี ดังนั้นรัฐบาลต้อง มีเจ้าภาพที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ อย่าหวังพึ่งระบบราชการ ดำเนินการ เพราะจะไม่ทันความเดือดร้อนของประชาชน

“8 ปีที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์สอบตกทุกเรื่อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำแล้งน้ำล้น ล้มเหลวหมด เพราะยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ไม่รับกับสถานการณ์ที่แท้จริง งบประมาณกว่า 400,000 ล้านที่ใช้ไปในการแก้ปัญหาน้ำไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน แต่เกิดประโยชน์ กับผู้รับเหมางานที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ทำอะไรไม่ได้ เลย เห็นแต่ผู้รับเหมารวยขึ้น ดังนั้นในปีนี้หวังว่าเงินภาษีของประชาชน รัฐบาลจะใช้เงินอย่างรู้ค่า เกิดประโยชน์กับประชาชนไม่ ใช่เกิดประโยชน์กับ พวกพ้องของรัฐบาล”นายสมคิด กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net