Skip to main content
sharethis

สรุป บทเรียน ปัญหาการจัดการศึกษา ในรูปแบบการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม โฮมสคูล กับผู้เรียนโฮมสคูลรุ่นแรกๆ ของประเทศไทย จนมาถึงยุคปัจจุบัน หลายฝ่ายหลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง พยายามแก้ไขปัญหาที่ยังเป็นวังวนไม่รู้จบในขณะนี้

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

มาทำความรู้จัก โฮมสคูล (Home School)

โฮมสคูล (Home School) หรือการจัดการศึกษาโดยครอบครัว  คือ การเรียนรู้อย่างอิสระ เป็นอีกหนึ่งการศึกษาทางเลือก สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองยุคใหม่ที่กลายเป็นผู้จัดการศึกษา จัดการเรียนขั้นพื้นฐานให้กับลูกหลานด้วยตัวเองที่บ้าน เด็ก ๆ ไม่จำเป็นต้องเข้าโรงเรียน เพราะครอบครัวจะคอยทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ออกแบบหลักสูตรตามสิ่งที่ลูกๆ ถนัดและสนใจ ไปจนถึงการสอน และส่งผลการประเมินไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้ช่วยออกใบรับรองและสอบเทียบชั้น เมื่อต้องการยื่นเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยนั่นเอง ที่สำคัญ คุณค่าความหมายของโฮมสคูล นั้นไม่ใช่จำกัดอยู่เพียงการเรียนรู้ที่บ้านเท่านั้น เพียงแต่แต่ละครอบครัวนั้นได้ใช้บ้านเป็นฐานการเรียนรู้ แล้วเชื่อมโยงเข้ากับทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นองค์ความรู้รอบตัวของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน วัด โบสถ์ ตลาด หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด วัฒนธรรมพื้นบ้าน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทะเล ทุ่งนาป่าเขา แม้กระทั่งในโลกออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เป็นการเรียนบนวิถีชีวิตของครอบครัว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในตัวเด็กให้มีการเรียนรู้ โดยมีบ้านเป็นตัวเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงสังคมรอบตัว และสิ่งแวดล้อม พูดง่ายๆ ก็คือโลกทั้งใบนี้ ล้วนเป็นพื้นที่การเรียนรู้ในรูปแบบโฮมสคูลกันทั้งหมดทั้งสิ้น

มีการสรุป รูปแบบของ โฮมสคูล (Home School) เอาไว้อย่างน่าสนใจ ว่า การเรียนรู้สำหรับเด็กบ้านเรียน สามารถทำได้กับเด็กในทุกระดับชั้น ตั้งแต่เตรียมอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) และมีทั้งหมดอีกหลายรูปแบบ ที่ครอบครัวสามารถเลือกได้ตามความต้องการ ได้แก่

การเรียนโฮมสคูลในรูปแบบบ้านเรียน โดยพ่อแม่เป็นผู้จัดการศึกษาที่บ้าน โดยจดทะเบียนผู้เรียนกับสำนักงานเขตพื้นที่จัดการศึกษาในพื้นที่ภูมิลำเนาที่อาศัยอยู่ นอกจากพ่อแม่จัดการเรียนการสอนด้วยตัวเอง ยังมีการนัดรวมกลุ่มกับครอบครัวที่ทำโฮมสคูลแบบเดียวกันบ้างในบางโอกาส เพื่อให้ลูก ๆ ได้ทำกิจกรรม และฝึกการเข้าสังคมพร้อมกับเด็กวัยเดียวกันนั่นเอง

การเรียนโฮมสคูล ในรูปแบบการจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยเป็นการรวมกลุ่มพ่อแม่ที่ทำโฮมสคูลในจำนวนที่ใหญ่ขึ้น เพื่อปรึกษาหารือและช่วยกันออกแบบวิธีการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุดในทุก ๆ พัฒนาการ และมีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะเพื่อสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ร่วมกันอยู่บ่อยครั้ง เช่น การจัดกิจกรรมด้านศิลปะ การเพิ่มทักษะในเรื่องกีฬา  หรือวิทยาศาสตร์  การเดินสำรวจป่า หรือการทำอาหาร ขนม เป็นต้น

การเรียนโฮมสคูล ร่วมกับทางโรงเรียนในชุมชน

ทางโรงเรียนคอยช่วยเหลือพ่อแม่ในการสนับสนุนสื่อการเรียนหรือสถานที่ให้ลูกใช้ทดลองทำกิจกรรม และอาจมีการพาเด็ก ๆ ไปออกทริป ไปทัศนศึกษาร่วมกับนักเรียนคนอื่น ๆ เพื่อให้พวกเขาได้ทำความรู้จักและคุ้นชินกับเพื่อนใหม่อีกด้วย

การเรียนโฮมสคูลที่บ้านแบบทางไกลและออนไลน์ เป็นการเรียนที่บ้าน โดยใช้หลักสูตรและเนื้อหาภาษาอังกฤษของต่างประเทศนั่นเอง เป้าหมายเพื่อเสริมสร้างทักษะในเรื่องภาษาในการสื่อสาร และเพื่อต่อยอดในการออกไปท่องโลกกว้างหรือเรียนต่อต่างประเทศในอนาคตต่อไปได้

กว่าจะมาเป็นการศึกษาในรูปแบบโฮมสคูลในประเทศไทย

อย่างที่หลายคนรู้กันว่า ว่าโฮมสคูลนั้นยังไม่ค่อยมีใครรู้จักกันมากในวงกว้างสักเท่าไร แต่แท้จริงแล้ว โฮมสคูลนั้นมีมานานนับ 1 ทศวรรษมาแล้ว

‘ป้อมปืน’ วรวัส สบายใจ เป็นหนึ่งในนักเรียนโฮมสคูลรุ่นแรกๆ ของเมืองไทย

‘ป้อมปืน’ วรวัส สบายใจ เป็นหนึ่งในนักเรียนโฮมสคูลรุ่นแรกๆ ของเมืองไทย ปัจจุบัน เขาเป็นนักพัฒนาระบบสนับสนุนการเรียน ศึกษาเรื่องการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ ที่คอยขับเคลื่อนการศึกษาแบบโฮมสคูล  ได้บอกเล่าความทรงจำให้ฟังว่า  ช่วงนั้น ตนเองน่าจะเข้าโรงเรียนตั้งแต่อนุบาล 2 โรงเรียนเเห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ต่อมาคุณพ่อได้ทุนไปเรียนต่อที่เมืองนอก จึงมีโอกาสได้ไปสเปนกับคุณพ่อ ก็ไปอยู่มาดริด จากนั้น พอพ่อเรียนจบ ก็กลับมาเมืองไทย ช่วงที่กลับมาเมืองไทย จะเป็นช่วงปี 2540 กำลังมีการร่างรัฐธรรมนูญ  ช่วงนั้นกำลังมีเวที ส.ส.ร. หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 เป็นสภาที่มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีการรวมตัวกันของคนที่ไปร่างกฎหมาย ช่วงนั้น ตนได้เจอเพื่อนๆ คนอื่นๆ ที่เป็นแบบ Home School เหมือนกัน

“พอรัฐธรรมนูญปี 2540 ประกาศใช้แล้ว มันก็ตามมาด้วยการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 พอผมกลับมาเมืองไทยก็เป็นช่วงจังหวะนั้นพอดี ก็จะเป็นช่วงที่ผมกำลังมีอายุประมาณ 5- 6 ขวบ กำลังเข้าป.1 พอดีก็จะเป็นช่วงที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ประกาศใช้ในช่วงนั้น ก็จะมีเวทีหลายเวทีมากเลย ที่ผมตามแม่ไป แล้วก็ไปเจอเพื่อนๆ โฮมสคูลด้วยกัน ห้วงเวลานั้นยังไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องโฮมสคูล  กฎหมายยังไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น ผมก็เลยต้องไปอาศัยเรียนกับโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ที่จังหวัดกาญจนบุรี ก็ไปจดทะเบียนเป็นนักเรียนหมู่บ้านเด็ก ซึ่งกฎหมายมันมาชัดขึ้น ก็คือหลังปี 2542 ก็คือจัดการศึกษาโดยครอบครัว ในรูปแบบบ้านเรียนได้ แต่ว่าจัดยังไงเขายังไม่ได้บอก ก็ยังไม่ได้มีหน่วยงานรองรับ  จนถึงปี 2547 มีการออกกฎกระทรวงขึ้นมา  และปี 2549 ถึงจะมีคู่มือ ซึ่งกว่าทางเขตพื้นที่การศึกษา จะเริ่มเข้าที่เข้าทาง มีการเซ็ตโครงสร้างกัน ผมก็อยู่ในช่วงมัธยมต้นพอดี”  

ใช่แล้ว ถือว่าป้อมปืน เป็นนักเรียนโฮมสคูลรุ่นแรกๆ หรือก่อนจะเริ่มต้นโฮมสคูลด้วยซ้ำ

“ก็ถือว่าเป็นรุ่นเขียนแผนหน้าเดียว ก็ว่าได้ คือ ตอนนั้นคุณแม่เขาจะเขียนแผนหน้าเดียว ซึ่งช่วงปี 2549-2551

หลักการยังไม่มีอะไรเยอะแยะเหมือนตอนนี้” หนึ่งในนักเรียนโฮมสคูลรุ่นแรกๆ ของเมืองไทย กล่าว

แต่ก็เริ่มมองเห็นถึงปัญหาเรื่องโครงสร้าง ของการจัดการศึกษาทางเลือก มีให้เห็นบ้างแล้ว

วรวัส บอกว่า ตอนนั้น อยู่กับโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ทางแม่แอ๊ว "รัชนี ธงไชย" ครูใหญ่ โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ก็มีการประสานงานกับทางเจ้าหน้าเขตพื้นที่การศึกษากันตลอด ซึ่งรูปแบบการเรียน การวัดผลประเมินผลก็ยังเป็นรูปแบบของการศึกษาในระบบอยู่  ปีหนึ่ง ทางเขตพื้นที่การศึกษาก็ส่งข้อสอบอะไรมาให้เราทำ และมีการนัดไปเข้าค่ายเพื่อทำกิจกรรม เพื่อวัดผลในเรื่องของการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อะไรแบบนี้  ซึ่งก็เป็นไปตามมุมมองของเจ้าหน้าที่เขาเป็นห่วงกันนั่นแหละว่า การเป็นเด็กโฮมสคูลนั้นจะมีทักษะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ไหม

“แต่สำหรับผม ผมไปแหกข้อสอบเขา คือมันเป็นข้อสอบซีร็อกซ์มาให้ แล้วในโจทย์มีคำถามมาประมาณ มีรูปภาพ สัตว์ สิ่งของ แล้วให้เขียน ตอนนั้น ข้อสอบซีร็อกซ์ ออกมาเป็นสีดำๆ รูปไก่ เขาถามว่าไก่กินได้มั้ย ผมก็เขียนตอบไปว่า ไก่กินไม่ได้ เพราะถ่ายซีร็อกซ์ออกมาเป็นไก่มันไหม้เป็นสีดำไปหมดแล้ว(หัวเราะ)  หลังจากนั้น ทางแม่แอ๊วก็เลยตัดสินใจยกเลิกไม่สอบแบบนี้ แล้วหันมาใช้วิธีการสอบ โดยหยิบเอาสมุดที่เราบันทึก ไปประเมินแทน เพราะเราจะเป็นคนชอบจดรายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้นเลยคิดว่าเป็นทักษะหนึ่งที่ติดตัวเรามา ซึ่งทำให้เราเห็นว่ารูปแบบวิธีการเรียนการสอน การสอบ การวัดผลประเมิน นั้นเริ่มมีรูปแบบ มีการปรับเปลี่ยนวิธีการมาเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยอยู่กับโรงเรียนหมู่บ้านเด็กนั้นแล้ว”

ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ  คุณแม่ของป้อมปืน วรวัส สบายใจ บอกเล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือโฮมสคูล ให้กับป้อมปืน ลูกชาย มาตั้งแต่ยุคแรกๆ ว่า คือพี่จะเล่นบทบาทสมมติ ครู นักเรียน มาตั้งแต่เด็ก พอโตมาก็ให้ช่วยสอนน้องตั้งแต่เรียนมัธยม สอนหลาน เด็กข้างบ้าน หารายได้พิเศษสอนเด็กๆ ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยตามเทรนด์ของเฟรชชี่ครุศาสตร์ ทำงานแล้วก็ยังสอนการบ้านเด็กๆ มาตลอด พอมีลูกเองเลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า คนอื่นต้องเอาลูกมาฝากเราสอน ทำไมเราจะสอนลูกตัวเองด้วยไม่ได้ ก็เลยไม่ได้เอาป้อมปืนเข้าอนุบาลตั้งแต่เล็ก 

“เพราะเราเป็นครอบครัวใหญ่ และมีโรงเรียนอนุบาลเองด้วย ลูกก็โตมาที่บ้านบ้างกับการไปวิ่งเล่นที่โรงเรียนบ้าง การไปเล่นในฐานะนักเรียนบ้าง เราสังเกตเห็นพฤติกรรมลูกไม่เป็นธรรมชาติ เหมือนหุ่นยนต์ ส่วนใหญ่เราเห็นการเรียนรู้ของลูกเติบโตอย่างน่าสนใจจากการเดินทาง การพบเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ พอลูกชายกำลังขึ้น ป.1 พี่เลยศึกษากฎหมายการศึกษา และตัดสินใจโฮมสคูลเลย” แม่ของป้อมปืน กล่าว

ปัญหาเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ หลังมีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาโดยครอบครัว

‘ป้อมปืน’ วรวัส บอกเล่าหลังจากเป็นเด็กโฮมสคูลในรุ่นแรกๆ ว่า ในช่วงขณะนั้น ทั้ง ผอ. ทั้งศึกษานิเทศก์ เขาก็รับโจทย์เรา กับรูปแบบวิธีการของเรา เนื่องจากเขาก็ผ่านการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือก แล้วก็เห็นพวกเราตามงานต่างๆ มาตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่ปี 2547-2548 เขาก็จะเชิญครอบครัวบ้านเรียนไปร่วมวงเสวนาแลกเปลี่ยนกันร่วมกับทางเขตการศึกษา ซึ่งทำให้ในแง่ของการจดทะเบียน ตอนนั้นจะราบรื่น ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมาก

“จะมีก็แค่เรื่องของความล่าช้า กว่าที่จะมีการอนุมัติ ซึ่งในระเบียบนั้นจะระบุว่า ให้อนุมัติภายในสามสิบวัน แต่บางครั้งกว่าจะอนุมัติก็ผ่านไปสามเดือนหกเดือน หรือหนึ่งปีบ้าง ซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่า ว่ากำลังเริ่มต้น ทำให้ไม่ได้ตาม ซึ่งจริงๆ แล้ว กฎหมายบอกให้ภายในกรอบระยะเวลานั้นๆ แต่เขาก็ทำได้แค่นั้น ก็อลุ้มอล่วยกันไป และครอบครัวบ้านเรียนตอนนั้นก็ยังมีน้อย มีแค่ 3-4 บ้านเท่านั้นเอง เท่าที่จำได้ก็จะมี บ้านเรียน ที่ จ.ขอนแก่น ที่ จ.จันทบุรี และก็มีบ้านเรียนที่กรุงเทพฯ เท่านั้นเอง” วรวัส กล่าว

เริ่มมองเห็นปัญหา เมื่อเข้าสู่ช่วงประเมินผลการเรียน  

วรวัส บอกว่า ตอนนั้น อยู่ในระดับ ม.ปลาย กำลังเข้าสู่ช่วงสอบเข้าเตรียมทหาร ต้องการใบวุฒิ ไปรับรอง เพื่อนำไปยื่น  เขาก็เลยมีการเร่งในเรื่องของการประเมิน เขาก็ส่งเราไปที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ ซึ่งตอนนั้น ยังมีการประเมินในรูปแบบ 8 สาระกันอยู่  ยังไม่มีในเรื่องของกลุ่มประสบการณ์ชัดเจนเหมือนในขณะนี้  เขาก็มีการประเมินให้เรา ซึ่งเราก็ทำได้ เพราะเราก็มีการศึกษาแนวนี้มาบ้างอยู่แล้ว แต่ก็มีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น ครูวิทยาศาสตร์ก็จะมีรูปแบบมุมมองการสอนแบบไสยศาสตร์(หัวเราะ) คือต้องมีการท่องจำอะไรแบบนี้ แต่ก็มีครูหลายคนที่เข้าใจในรูปแบบวิธีการของเรา ก็มีครูหลายคนบอกว่า ชอบแนวทางของเรา ขนาดนักเรียนที่เขาสอนก็ยังไม่รู้เรื่องอะไรแบบนี้เลย

“ซึ่งหลังจากนั้น ทางกลุ่มเครือข่ายบ้านเรียน การศึกษาทางเลือก มีการศึกษาดูข้อกฎหมาย ข้อหนึ่ง ที่ให้สิทธิผู้จัดการบ้านเรียนมีสิทธิที่จะวางหลักเกณฑ์ในการปรับใช้หลักสูตรกันได้  ซึ่งตอนที่จะมีการประเมินผลในระดับชั้น ม.ปลาย ในปี 2556 ตอนนั้นยังไม่มีการรื้อในเรื่องใบ ปพ.1/ฉ  ผมก็จบในรูปแบบ 8 สาระ แต่หลังจากนั้น ก็มีการมารื้อดูกฎเกณฑ์ข้อระเบียบกันใหม่ โดยได้หยิบยกประเด็นนี้มาพูดคุยกัน ทางบ้านเรียนมีสิทธิที่จะไม่จำเป็นต้องมีการประเมินผลผู้เรียน แบบ ปพ.1 เหมือนกับโรงเรียนในระบบทั่วไป ทำไมต้องประเมินเด็กตาม 8 สาระ ทำไมไม่ประเมินตามที่ผู้เรียนสนใจตามกลุ่มประสบการณ์  ซึ่งเราสามารถประเมินในรูปแบบ ปพ 1/ฉ แบบพิเศษกันได้ สามารถปลดล็อคได้ ประเมินในรูปแบบใหม่ได้ สามารถเขียนถึงผลลัพท์ใหม่เองได้”

วรวัส บอกเล่าอีกว่า จริงๆ ปัญหามันก็มีหลายๆ จุด หลายๆ เรื่อง  แต่อยากจะเล่าถึงปัญหาที่มันตลกๆ คือ ไปเจอเขตการศึกษา เขาไม่รู้จักวิธีสื่อสารกับเรา คือเขาไม่รู้ว่าโลกข้อมูลความจริงจากข้างนอกนั้นมันเป็นเช่นไร เขาไม่รู้ว่าคนสมัยนี้เขาใช้ชีวิตกันอย่างไรบ้าง เขาไม่รู้ว่า วิชาอื่นที่เขารู้ที่เขาสอนเด็กๆ ในโรงเรียนนั้นมันแตกต่างกันอย่างไร เพราะฉะนั้น เมื่อเขาจะมาประเมินเรา หรือมาประเมินเด็กรุ่นใหม่ เขาจะไปไม่เป็นเลย

“ยกตัวอย่างในช่วง ม.ปลาย ผมสนใจทำโปรเจคเรื่องสะพาน เรื่องวิศวกรรม เขาก็ไปไม่เป็น หรือรุ่นน้องผม เขาสนใจทำโปรเจคเรื่องเทรด เรื่องหุ้น การออมเงิน การลงทุน เขาก็ไปไม่เป็น ซึ่งเราไปถึงเรื่ององค์ความรู้ และเรียนรู้ว่าเราจะไปต่อสายสาชาวิชาชีพที่เราสนใจอย่างไรแล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่เขต ยังประเมินไม่เป็น ซึ่งตอนนั้น ยังเป็นปัญหาแค่เรื่องการประเมินในช่วงระยะเวลาปีหนึ่งมีการประเมินกันเท่านั้นเอง แต่มาตอนหลัง ยิ่งมีการเข้มข้นกันตั้งแต่ในเรื่องของการจัดทำแผนกันด้วย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เขต เขาก็ไม่รู้จะอธิบายบอกให้ผู้ปกครองบ้านเรียนกันอย่างไร เขาก็ยังในรูปแบบเก่าๆ อย่างเช่น ต้องมีชั่วโมงการอ่าน ชั่วโมงการเรียนนะ ซึ่งมันยังเป็นรูปแบบการใช้ในระบบโรงเรียนกันอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้ว เราทุกคนก็ใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกกันอยู่แล้ว เขาก็จะไม่เข้าใจแบบนี้  ก็จะมีหลายเคส ที่มีปัญหาทะเลาะกัน บางเคสมีการดองเรื่องนี้ไว้ 5-6 เดือนก็มี ซึ่งก็คือ ทางเจ้าหน้าเขตคุยไม่รู้เรื่อง ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าทางเขตปล่อยโจทย์สั้นๆ ว่า คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง ช่วยไปเขียนอธิบายแผนเพิ่มเติมให้หน่อยว่า ผู้เรียนชอบและสนใจอยากเรียนรู้ มีกิจกรรมในสิ่งที่ผู้เรียนชอบตามความสนใจ มีอะไรบ้าง แบบนี้จบเลย  แต่ส่วนใหญ่ทางเขตจะมีการบอกให้ไปปรับทำแผน มักจะให้โจทย์ปุ๊บแล้วก็ให้ตัวอย่างต่อเลย เช่น ให้ไปอ่านแบบฝึกหัด  ซึ่งนั่นเป็นวิถีของเขตการศึกษา แต่ไม่ใช่วิถีของเรา ไม่ใช่วิถีของผู้เรียนแบบบ้านเรียน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องตลกดี เพราะเขามองภาพการศึกษา หรือมองภาพการเรียนรู้ของคน ไม่ตรงกับเรา ดังนั้น ภาษา การสื่อสาร และการเข้าใจ  การมองโลกทัศน์ หรือการแนะนำของเขานั้นไปในทางที่ไม่เข้าใจตรงกัน พอไม่เข้าใจตรงกันปุ๊บ พ่อแม่ก็ถูกทำให้เป็นอื่น หรือมองว่านี่ไม่ใช่แนวทางที่จะทำกับลูก ในขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่เข้าใจในแนวทางของครอบครัวบ้านเรียน อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่ง”

ผ่านมา 1 ทศวรรษ โฮมสคูลในประเทศไทย กับวังวนปัญหาที่ไม่รู้จบ

ผ่านมานับสิบปี จนถึงตอนนี้ โครงสร้างการจัดการศึกษาทางเลือก การศึกษาในรูปแบบบ้านเรียน หรือโฮมสคูล ยังคงเหมือนการพายเรือวนอยู่ในอ่าง  ยังคงเต็มไปด้วยอุปสรรคปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องการศึกษาบ้านเรียน ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้จัดการบ้านเรียนอยู่อย่างต่อเนื่องเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ปัญหาทัศนคติของเจ้าหน้าที่เขตการศึกษาที่ต่อเด็กโฮมสคูล การจำกัดสิทธิและละเมิดสิทธิเด็ก โดยการพูดโน้มน้าวให้เด็กและผู้ปกครองว่าทำโฮมสคูลนั้นด้อยค่ากว่าในระบบโรงเรียน โดยมักอ้างว่า กลัวเด็กจะเข้าสังคมไม่ได้ หรือมองโลกแคบ อ้างว่ากลัวพ่อแม่จะสอนลูกตัวเองไม่ได้ รวมไปถึงการยื้อไม่อนุมัติการจดทะเบียน จนเด็กพลาดโอกาสทางการศึกษา และเสียสิทธิในเรื่องเงินอุดหนุนกับทางสพฐ.ในภาคเรียนนั้นๆ

นอกจากนั้น ยังเจอปัญหาเจ้าหน้าที่เขตการศึกษา ขาดความเข้าใจเรื่องการยื่นจดแผนกลุ่มประสบการณ์ตามแนวทางการศึกษาทางเลือกที่เป็นการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ซึ่งครอบครัวสามารถออกแบบแผนการเรียนได้ตามที่ระบุไว้ในคู่มือหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ  แต่ทางสำนักงานเขตก็ยังไม่เข้าใจโดยให้บ้านเรียนปรับแผนอิงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ซึ่งใช้กับกลุ่มที่เป็นการศึกษาในระบบ

รวมไปถึงปัญหาเรื่องการประเมินผู้เรียนของเด็กบ้านเรียน  โดยเจ้าหน้าที่เขตการศึกษา พยายามแนะนำให้ครอบครัวปรับแผนตามแนวทางของสำนักงานเขต โดยให้เขียนแผนเชื่อมโยงสาระวิชา  เขียนแผนเป็นรายชั่วโมง เป็นรายชั้นปี โดยอ้างเรื่องการประเมินและการออกใบปพ.1 ซึ่งตามกฎหมายแล้วในคู่มือหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ 2551 ก็จะเขียนระบุไว้ชัดเจนเรื่องการเขียนแผนการประเมินวัดผล เกณฑ์การจบ  และเรื่องใบปพ.1 ใบปพ.2 ใบปพ.3 สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ หรือกลุ่มประสบการณ์ตามแนวทางการศึกษาทางเลือกที่เป็นการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยไว้ชัดเจนอยู่แล้ว

ซึ่งที่ผ่านมา ทางเด็ก ผู้ปกครอง ผู้จัดการบ้านเรียน เครือข่ายบ้านเรียน และสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย พยายามเข้าร่วมประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา  เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน และหาทางออกร่วมกัน แต่ก็ยังเกิดปัญหาขึ้นมาซ้ำๆ ไม่รู้จักจบสิ้น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ที่ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ทางศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีความพยายามหาทางออกในการแก้ไขปัญหา  โดยได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนกันระหว่างเจ้าหน้าที่เขตการศึกษา ผู้ปกครองบ้านเรียน และเครือข่ายการศึกษาทางเลือกไทย

ศรีไพร ทักข์อิทธิพร ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนทักข์อิทธิพร และที่ปรึกษาเครือข่ายบ้านเรียนจังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า เรามีความคาดหวังกันว่า การประชุมในครั้งนั้น จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องการยื่นจดบ้านเรียน หรือ Homeschool แบบกลุ่มประสบการณ์ตามแนวทางการศึกษาทางเลือก ซึ่งเป็นการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย กับสำนักงานเขตพื้นที่ทุกเขตในจังหวัดเชียงใหม่ แต่เท่าที่ได้แลกเปลี่ยนกัน ยังพบว่า เจ้าหน้าที่บางเขตพื้นที่การศึกษา ยังขาดความเข้าใจเรื่องการยื่นจดแผนกลุ่มประสบการณ์ตามแนวทางการศึกษาทางเลือกที่เป็นการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ซึ่งครอบครัวสามารถออกแบบแผนการเรียนได้ตามที่ระบุไว้ในคู่มือหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ แต่ทางสำนักงานเขตก็ยังไม่เข้าใจโดยให้บ้านเรียน ปรับแผนอิงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ซึ่งใช้กับกลุ่มที่เป็นการศึกษาในระบบ โดยแนะนำให้ครอบครัวปรับแผนตามแนวทางของสำนักงานเขต โดยให้เขียนแผนเชื่อมโยงสาระวิชา  เขียนแผนเป็นรายชั่วโมง เป็นรายชั้นปี โดยอ้างเรื่องการประเมินและการออกใบปพ.1

“ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ในคู่มือหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ก็จะเขียนระบุไว้ชัดเจนเรื่องการเขียนแผนการประเมินวัดผล เกณฑ์การจบ  และเรื่องใบปพ.1 ใบปพ.2 ใบปพ.3 สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ หรือกลุ่มประสบการณ์ตามแนวทางการศึกษาทางเลือกที่เป็นการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการยื่นจดแผนการศึกษาแบบกลุ่มประสบการณ์ตามแนวทางการศึกษาทางเลือก ในวาระการประชุมวันนั้น ยังไม่ได้คุยเจาะลึกถึงเรื่องนี้ เพราะเหตุเนื่องด้วยเวลาจำกัด แต่ทางที่ปรึกษาของกลุ่มเครือข่ายบ้านเรียนเชียงใหม่ก็ได้อธิบายในภาพรวมเรื่องแผนกลุ่มประสบการณ์ตามแนวทางการศึกษาทางเลือกไว้แล้ว  โดยทางเครือข่ายบ้านเรียนเชียงใหม่ได้เรียนปรึกษากับทางศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ไว้ว่าอยากให้มีการนัดประชุมออนไลน์เรื่องแผนการศึกษาของกลุ่มประสบการณ์ตามแนวทางการศึกษาทางเลือกแบบในวาระต่อไป” ที่ปรึกษาเครือข่ายบ้านเรียนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

ศรีไพร ทักข์อิทธิพร ที่ปรึกษาเครือข่ายบ้านเรียนจังหวัดเชียงใหม่

ตัวแทนเครือข่ายบ้านเรียนจังหวัดเชียงใหม่ บอกอีกว่า อีกปัญหาหนึ่ง ที่ยังคงเกิดขึ้น นั่นคือเรื่องระยะเวลาการยื่นจดบ้านเรียน  ซึ่งแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่ก็จะกำหนดปฏิทินในการยื่นจดไม่เท่ากัน ซึ่งไม่ตรงตามในหนังสือคู่มือประชาชนและคำสั่งของสพฐ. ซึ่งการประชาสัมพันธ์ก็จะแขวนแปะไว้ที่หน้าเพจของแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึง ทำให้หลายบ้านไปยื่นจดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือหนังสือประชาชนและตามที่สพฐ.กำหนด ถูกปฏิเสธและแนะนำให้นำบุตรกลับไปเรียนต่อในระบบโรงเรียนก่อนแล้วให้ไปยื่นจดในเทอม 2 หรือปีหน้า ซึ่งหลายบ้านก็มีปัญหาไม่สามารถนำลูกเรียนต่อในระบบโรงเรียนได้ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา

“ซึ่งตามกฎหมายในหนังสือคู่มือประชาชนได้ระบุไว้ชัดเจนว่าสามารถยื่นจดได้ปีละ 2 ครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับการปิด-เปิดภาคเรียนของสถานศึกษา โดยภาคเรียนที่ 1 ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม และภาคเรียนที่ 2 ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน   เพื่อประโยชน์ในการรับเงินอุดหนุนประจำปีการศึกษา ดังนั้น ทางเครือข่ายบ้านเรืยนเชียงใหม่จึงได้ติดต่อกับทางศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหารือและหาทางออกและปรับความเข้าใจกับทางสำนักงานเขตทุกพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อทำงานกับบ้านเรียนที่ยื่นจดแผนกลุ่มประสบการณ์ตามแนวทางการศึกษาทางเลือกด้วยความเข้าใจและถูกต้องตามกฎหมายที่ระบุไว้และทั้งเรื่องระยะเวลาการยื่นจด” ตัวแทนเครือข่ายบ้านเรียนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ชี้ สพฐ.ไม่เข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของโฮมสคูล

ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ คุณแม่ของป้อมปืน ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันเรื่องการศึกษาทางเลือก การศึกษาในรูปแบบบ้านเรียน หรือโฮมสคูลมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปัจจุบัน เธอเป็นรองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และเครือข่ายบ้านเรียน (Home School) ได้บอกเล่าถึงอุปสรรคปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องการศึกษาบ้านเรียน ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้จัดการบ้านเรียนเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า  เราเห็นความผิดพลาดของการวางโครงสร้างที่ฝ่ายกฎหมายไม่ชัดเจน  ตั้งแต่เริ่มมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ตัวใหม่ ที่ไม่เข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของโฮมสคูล นำโฮมสคูลซึ่งเป็นการศึกษาตามอัธยาศัยไปอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ.ซึ่งมีโรงเรียนในกำกับเป็นการศึกษาในระบบ ทำงานต่างกระบวนทัศน์กัน 

“คือที่ผ่านมา ทาง สพฐ.ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ที่กลัวว่ารายหัวในโรงเรียนจะลดลง ใช้อำนาจทางวิชาการในกรอบที่แข็งตัว ไม่มีความไม่วางใจพ่อแม่  ไม่มีทั้งความพร้อมในการทำงาน ไม่รู้กฎหมายและแนวปฏิบัติ ไม่มีองค์ความรู้ใหม่ ทำงานผิดๆ ถูกๆ ไม่ให้เกียรติประชาชนในฐานะที่พ่อแม่เป็นผู้จัดการศึกษา ไม่มีเซ้นส์แบบสากลด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก แก้ปัญหาทีละราย  ทำเด็กตกหล่นไปหลายราย ใช้อำนาจจากนิสัยส่วนตัวและอ้างระบบอย่างไม่เป็นธรรมทั่วไป ที่ใดมีการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่นั่นจะขาดการทำงานร่วมกับพ่อแม่ นิยมใช้คำสั่งทางเดียว  ประเทศไทยจึงยังตกในวงจรการใช้อำนาจทางการศึกษาบริหารงานกับพวกเรามาเกือบยี่สิบปี” แม่ของป้อมปืน กล่าว

ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ รองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยและแม่ของป้อมปืน

รองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย บอกอีกว่า ที่ผ่านมา เครือข่ายบ้านเรียน ได้ส่งปัญหาให้ผู้บริหาร สพฐ.และรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการทุกปี แต่ก็ไม่มีใครสนใจพัฒนาวิสัยทัศน์เพื่อการเปลี่ยนแปลง เหตุนี้ ทำให้เครือข่ายการศึกษาทางเลือก เครือข่ายบ้านเรียน เราแข็งแรงขึ้น เพราะเราต้องร่วมกันสร้างพลังความเชื่อมั่น รักษาสิทธิพ่อแม่และสิทธิการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องทั้งหลักกฎหมายและพัฒนาหลักวิชาการให้กับเครือข่ายขึ้นทดแทนความไม่ใส่ใจแก้ไขโครงสร้างในระบบการทำงานและไม่มีการวางตัวเจ้าหน้าที่ที่เหมาะสมใหม่จากภาครัฐ

“เราคิดว่า สพฐ.สอบตกในเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนครบทุกข้อในการทำงานทั้ง 5 มิติ ได้แก่ มิติสังคม (People)-ไม่เข้าใจบริบทที่ภาคสังคมจัดการศึกษา ทำให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาได้ยาก มิติเศรษฐกิจ (Prosperity) ขาดระบบจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวผู้เรียนอย่างเสมอภาค มีกลุ่มที่ไม่ได้ กลุ่มที่ได้ก็มีรอยรั่วทุกปี มิติสิ่งแวดล้อม (Planet) สร้างมลพิษทางสังคมกระจายในวงกว้าง มิติสันติภาพและสถาบัน (Peace)-ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำงานผิดหลักการ ใช้ความรู้ผิดหลักกฎหมายการศึกษามาสร้างความขัดแย้ง และมิติหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership)-ไม่ไว้วางใจประชาชน ตัดขาดการทำงานแบบมีส่วนร่วมทุกมิติ” ธรรณพร กล่าว

เช่นเดียวกับ ธารินี ชลอร์  ผู้จัดการบ้านเรียนอเล็กซ์และมิคาเอล และผู้ร่วมก่อตั้งเพจเครือข่ายบ้านเรียนล้านนา บอกเล่าให้ฟังว่า ใช่แล้ว ปัญหาที่ผ่านมา เรามองเห็นเหมือนพายเรือวนอยู่ในอ่างเลย เป็นแบบนั้นจริง ๆ ในช่วงที่ตัวเองจัดการศึกษาให้ลูก ปีนี้เป็นปีที่ 11 แล้ว ประสบการณ์ที่พบด้วยตนเองก็เป็นสิ่งที่ยืนยัน ปัญหาอุปสรรคใหญ่ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้จัดการบ้านเรียนคือ การมองโลกคนละใบ

“คือต้องว่าเป็นแต่ละเขต แต่ละเคสด้วยนะคะ ถ้าเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะหัวหน้าผู้ดูแลบ้านเรียนมองโลกใบเดียวกัน เห็นภาพอนาคตร่วมกันว่าเราจะช่วยกันสร้างผู้เรียนให้เป็นนักเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจริง ๆ การฝ่าฟันอุปสรรคกรอบ ระเบียบ การตีความ การปรับใช้อย่างยืดหยุ่น คำต่าง ๆ เหล่านี้เราสามารถฝ่าฟันไปด้วยกันได้ เมื่อต้องเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ใหม่ที่เป็นไปตามระบบราชการ แล้วเจ้าหน้าที่มองโลกใบเดียวกันผู้จัดการบ้านเรียน ก็ยังพอจะมีเรี่ยวแรงร่วมเรียนรู้ไปกับเจ้าหน้าที่คนใหม่ได้อยู่นะคะ แต่ถ้ามองโลกคนละใบ เป้าหมายร่วมไม่ปรับก็เหนื่อยโฮก จนถึงขั้นต้องฟ้องร้องตามที่เราทราบกัน  อันนั้นก็มี ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นเลย”

อีกประเด็นหนึ่ง ที่เป็นปัญหายอดฮิตที่ผู้ปกครองและเด็กโฮมสคูลจะต้องพบเจอ นั่นคือ ถ้อยคำที่ออกมาจากปาก ศึกษานิเทศก์ หรือเจ้าหน้าที่เขตการศึกษา มักจะอ้างว่า เป็นห่วง กังวล กลัวผู้เรียนจะเจอปัญหา พ่อแม่ไม่มีเวลาสอน หรือสอนไม่เป็น หรือกังวลว่า อนาคตเด็กจะไม่สามารถนำหลักฐานไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้นั้น

ธารินี ชลอร์ ผู้จัดการบ้านเรียนอเล็กซ์และมิคาเอล บอกว่า ถ้าเป็นคำถามแบบนี้ คำตอบที่ให้ไว้แล้วคือเรามองโลกคนละใบกัน ซึ่งตนเองที่เป็นผู้จัดการบ้านเรียนของลูกทั้งสองคน เวลาเขียนแผน เราจะแสดงภาพอนาคตของเราไว้แถว ๆ หัวข้อปรัชญา เป้าหมายการศึกษา มันจะชัดเจนอยู่ตรงนั้น ครอบครัวต้องศึกษาค้นคว้าปรับมายด์เซ็ตและแสดงจุดยืนของตัวเองด้วย

“ยกตัวอย่าง อนาคตของพี่อเล็กซ์ ย่างเข้าปีที่สองแล้วนะคะ แก็ปเยียร์หลังจากจบจากระดับชั้น ม.6 หลังพบว่าตัวเองมาทางสายอาร์ตแน่นอน พี่อเล็กซ์มั่นใจตั้งแต่ตอน ม.4 ว่าไม่ไปทางสายวิชาการแน่ ๆ แผนจึงเป็นกลุ่มประสบการณ์ตามเดิม อะไรที่จะเป็นใบประกันของเด็กที่เดินบนเส้นทางนี้ ชัดเจนเลยคือประสบการณ์และผลงานของเขามากกว่าใบประกาศใดๆ พี่อเล็กซ์ช่วยสะท้อนว่า ตั้งแต่ออกมาโฮมสคูลเขารู้สึกเสถียรมากกับการเรียนรู้แทบแยก ไม่ออกเรื่องโรงเรียนและมหาวิทยาลัย แต่ถามว่ามองหาการพัฒนาตนเองไหม มองมาถึงตอนนี้ อเล็กซ์เริ่มรับงาน มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ แล้ว และกำลังมองหาครูที่ถูกใจถูกทางเพื่อต่อยอดเพิ่มการเรียนรู้สะสมในพอร์ตโฟลิโอไปเรื่อยๆ”  ผู้จัดการบ้านเรียนอเล็กซ์และมิคาเอล กล่าว

ธารินี ชลอร์  ผู้จัดการบ้านเรียนอเล็กซ์และมิคาเอล และเครือข่ายบ้านเรียนล้านนา

ธารินี บอกต่อว่า ในขณะที่อนาคตมิคาเอล น้องชายของพี่เอล็กซ์ เส้นทางการเรียนรู้นั้นแตกต่างกัน ในฐานะผู้จัด ผู้ช่วยอำนวยความสะดวก ก็ต้องคอยเฝ้าดูและตั้งคำถาม ช่วง ม.ปลาย เห็นการเรียนรู้ที่ดูเหมือนมะรุมมะตุ้มเข้ามาหลายทาง อะไร ๆ ก็อยากเรียนไปหมด แต่ที่โดดเด่นคือ ประวัติศาสตร์ ภาษา ดนตรี มองดี ๆ นี่คือสายศิลป์ชัด ๆ แต่พื้นเพเดิมคือวิธีคิดที่ลูกชอบออกแบบผ่านการต่อเลโก้ การจ่อมจมอยู่กับการต่อเลโก้ 3 ปีรวดนี่ลูกต้องมีอะไรบางอย่างในนั้นแน่ ๆ

“ช่วงนี้แม่จุ๋มก็ลองถามถึงอนาคตว่าจะสร้างอาชีพมีรายได้ด้วยตัวเองอย่างไร ลูกตอบว่าโปรแกรมมิ่งคืองานที่น่าทำที่สุด โอเค งั้นแม่เตรียมแผนสายนี้ไว้ให้ ทำหน้าที่ผู้จัดไปให้เรียบร้อย  คือไม่ว่าลูกจะไปทางไหน  จะเรียนสายปรัชญา สายประวัติศาสตร์ และสุดท้ายหากลูกต้องการมาสายไอทีจริง ๆ เขาไม่ต้องเรียนในมหาวิทยาลัยก็ได้ค่ะ แต่มิคาเอลเขามองว่ามหาวิทยาลัยดีสำหรับการไปเรียนรู้ร่วมกันกับผู้อื่นนะคะ นี่คือเด็กเก็บตัวอินโทรเวิร์ต  แต่พร้อมจะไปมหาวิทยาลัย ซึ่งในฐานะผู้จัดการบ้านเรียน ก็จัดความพร้อมไว้ทุกสายให้ลูก และในมุมมองส่วนตัวของเรา ก็มองว่า มหาวิทยาลัยก็ต้องเปลี่ยนและปรับตัวตามผู้เรียนให้ทันด้วยเช่นกัน”  ผู้จัดการบ้านเรียนอเล็กซ์และมิคาเอล กล่าว

วิสวัส สบายใจ

ทัศนคติและการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ คือปัญหาวัฒนธรรมเชิงอำนาจ

วรวัส สบายใจ นักพัฒนาระบบสนับสนุนการเรียน ศึกษาเรื่องการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ ได้บอกเล่าให้ฟังว่า ปัญหาอีกอันหนึ่ง ก็จะเป็นในเรื่องของการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่การศึกษา ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าเขาเติบโตและอยู่ในกรอบการเรียนรู้มาแบบไหนมาบ้าง แต่พวกเขาถือว่าตัวเองเป็นครู ก็ย่อมมีสิทธิประเมิน เขาก็คงจะเรียนรู้ในสิ่งที่เรียนรู้มาในกรอบแบบนั้น แต่เราก็มองว่า เฮ้ย แต่ความรู้สมัยใหม่มันไม่ใช่แค่ตีความความรู้แบบนั้นอย่างเดียว ซึ่งพอมีการใช้ดุลยพินิจเยอะขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะเห็นเริ่มมีการบังคับใช้ทุกขั้นตอนโดยใช้ดุลยพินิจ แต่ไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์หรือกฎหมายมาพิจารณา

“ฉะนั้น ปัญหาอีกอันหนึ่งที่มันซ้อนอยู่ภายใต้การเรียนรู้ ก็คือ วัฒนธรรมเชิงอำนาจ คือมีการเอาดุลยพินิจส่วนตัวไปผสมกับการทำงานในหน้าที่ของตนเอง ยกตัวอย่างเคสล่าสุด หลังมีการประชุม ศธจ.เชียงใหม่ ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่เขตก็จะพยายามบอกว่า ที่แนะนำเพราะเป็นห่วง แต่คุณเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คุณไม่มีสิทธิแจ้งว่าคุณต้องทำอย่างนั้นอย่างงี้  ซึ่งก็คือปัญหาการใช้ดุลยพินิจที่ไม่สอดคล้องกับข้อกฎเกณฑ์ ข้อกฎหมายมาพิจารณาด้วย คือเขาไม่ได้พยายามศึกษาในเรื่องของระเบียบข้อกฎหมาย การใช้ดุลยพินิจอำนาจให้ถ่องแท้” วรวัส กล่าว

ข้อมูลอ้างอิง

  • “ฉันโตมากับการไม่ไปโรงเรียน” อัปเดตชีวิตเด็กโฮมสคูลรุ่นเเรก,ณัฐธนีย์ลิ้มวัฒนาพันธ์กรกนกสุเทศฐ 13 ส.ค. 2021,https://mappalearning.co
  • ออกแบบการศึกษาตามใจนักเรียน การเรียนแบบ Home school ที่ไม่จำกัดการเติบโตของเด็ก, 30 June 2020, Jiratchaya Chaichumkhun, https://thematter.com
  • Home School คืออะไร? https://owlcampus.com/home-school-program/
  • Home School คือ อะไร https://www.chulatutor.com/blog/homeschool/
  • What Is a Homeschool Co-op? https://www.thehomeschoolmom.com/what-is-homeschool-co-op/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net