Skip to main content
sharethis

ส.ส.โรม พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายในสภา สอบถามเหตุผลการใช้สิทธิ 'วีโต้' ของพระมหากษัตริย์ต่อร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ แม้เคยผ่านสภา แต่ไม่ได้รับคำตอบ ส.ว.สมชาย แสวงการ ชี้เป็นอำนาจรัฐธรรมนูญ ขอสภาทำหน้าที่ต่อ ก่อนรัฐสภามีมติไม่ยืนยันร่างดังกล่าว

 

6 ก.ย. 2565 iLaw หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน รายงานวันนี้ (6 ก.ย.) รัฐสภามีวาระปรึกษาหารือร่างพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ร่างพ.ร.บ.เครื่องราชฯ) ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าว ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร "สามวาระรวด" ในวันเดียว เมื่อ 22 ธ.ค. 2564 และต่อมา 17 ม.ค. 2565 ก็ผ่านการพิจารณาโดยวุฒิสภาจบสามวาระรวดในวันเดียว หลังจากนายกฯ นำร่าง ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อ 31 ม.ค. 2565 แต่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วัน และไม่ได้พระราชทานร่างกฎหมายคืนกลับมา อาจกล่าวสั้นๆ ว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้ง (Veto) ร่างกฎหมาย โดยการไม่ลงพระปรมาภิไธยภายในกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด

กรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงยับยั้งร่างกฎหมาย ไม่ได้แปลว่าร่างกฎหมายนั้นจะตกไปในทันที เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 146 กำหนดให้รัฐสภาจะต้องนำร่างพระราชบัญญัตินั้นมา "ปรึกษา" ใหม่ เพื่อหาทางว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ หากรัฐสภาประสงค์จะยืนยันตามที่ลงมติเดิม ต้องใช้มติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสองสภา (ส.ส. บวกกับ ส.ว.) ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ แต่ถ้าเสียงยืนยันไม่ถึง 2 ใน 3 ร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ ก็จะเป็นอันตกไป

ร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า พุทธศักราช 2484 ที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดในปี 2509 (พ.ร.บ.เครื่องราชฯ) โดยเสนอให้ยกเลิก มาตรา 9 และมาตรา 10 ซึ่งวางหลักการสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้ โดยมีหลักสำคัญว่า กรณีที่ผู้ชายได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ชั้นที่ 2 คือ ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) ขึ้นไป เมื่อผู้ได้รับพระราชทานเสียชีวิตลง บุตรชายคนโตสามารถเลื่อนขึ้นมารับสืบตระกูลเครื่องราชได้โดยอัตโนมัติ

โดยก่อนที่ ส.ส. และ ส.ว.จะอภิปราย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า กรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย หรือไม่ได้พระราชทานร่างกฎหมายคืนมาในเวลาที่กำหนด ถ้าพูดตามความเป็นจริงแล้วก็ไม่ได้มีการแจ้งเหตุผลให้รัฐบาลทราบ แต่เท่าที่มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง เข้าใจว่าการแก้กฎหมายครั้งนี้เป็นการยกเลิกมาตรา 9 และมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.เครื่องราชฯ ซึ่งใน พ.ร.บ.เครื่องราชฯ กำหนดหลักสืบตระกูลโดยบุตรชายคนโตเอาไว้ ซึ่งก็เป็นประเพณีและเป็นกฎหมายที่ปฏิบัติกันมา ต่อมา ก็ได้มีพระราชดำริว่า การที่บุคคลได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไม่ว่าจะเป็นเครื่องราชตระกูลหรือชั้นตราใด ควรมาจากการทำคุณงามความดีให้ประเทศชาติ มากกว่าจะได้รับโดยอัตโนมัติโดยบุตรชาย จึงให้ยกเลิกมาตรา 9 และมาตรา 10

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ที่มา: TP Channel)

แต่ต่อมาก็ได้พบว่า ปัจจุบันมีผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าที่เสียชีวิตไป และบุตรก็ได้ขอรับพระราชทานการสืบสกุลเครื่องราช อยู่ในลำดับค้างไว้ 74 คน นับแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการพระราชทานตราสืบสกุลให้แก่บุคคลทั้ง 74 ราย อันที่จริงแล้ว ถึงแม้จะไม่มีการตราร่าง พ.ร.บ.เครื่องราช ยกเลิกมาตรา 9 และมาตรา 10 การพระราชทานเครื่องราช ก็เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะไปตัดสิทธิในการขอรับตราสืบสกุล เพราะว่าอยู่ที่ว่าจะมีพระมหากรุณาพระราชทานหรือไม่ ที่สำคัญก็คือขณะเดียวกัน พ.ร.บ.เครื่องราชฯ ปี 2484 ที่ยังใช้บังคับอยู่ ได้ใช้มาเป็นเวลานาน ควรจะต้องปรับปรุงแก้ไขเรื่องอื่นเสียใหม่ไม่ใช่แค่เรื่องสืบสกุล จึงได้หยุดรั้งรอไว้เพื่อพิจารณาพร้อมกันเสียทีเดียว น่าจะเป็นเหตุผลที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยตามกำหนดเวลา ซึ่งทั้งหมดก็ได้ปรึกษาหารือผู้เกี่ยวข้องแล้ว มิใช่เป็นการทำไปโดยพลการทั้งสิ้น

จึงนำร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ มาเสนอต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณาว่าจะยกขึ้นปรึกษาหารือใหม่ แต่ขออนุญาตกราบเรียนว่า ทางรัฐบาลไม่มีความขัดข้องหากรัฐสภาจะไม่ยกขึ้นพิจารณา หรือเห็นสมควรจะให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ตกไปโดยไม่มีการยืนยัน เพราะไม่ใช่เครื่องมือในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่เป็นเรื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ด้านสมาชิกรัฐสภา มีผู้อภิปราย 2 ราย รายแรก รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออภิปรายร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ยึดถือหลักการ “ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ที่กำหนดว่า

“มาตรา 3  อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้น องค์กรที่เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จึงอยู่ในฐานะที่จะถวายคำแนะนำแด่พระมหากษัตริย์ในการใช้อำนาจนั้นได้ ซึ่งในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผู้ที่อยู่ในฐานะที่จะถวายคำแนะนำได้ คือผู้นำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย นั่นก็คือ นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทว่า ในกรณีนี้ ตามหนังสือที่สำนักนายกฯ แจ้งมายังรัฐสภา ไม่ได้มีการระบุไว้ว่ากรณีนี้มีสาเหตุเกิดจากอะไร ซึ่งรองนายกฯ ได้ชี้แจง จับใจความได้ว่า ท่านได้คาดเดาว่ามีสาเหตุจากอะไร นั่นหมายความว่ารัฐบาลก็ไม่ทราบว่าการวีโต้กรณีนี้ เกิดจากอะไรกันแน่

“ผมและพรรคก้าวไกลเราไม่ได้มีข้อขัดข้องอะไรต่อเนื้อหาสาระ (ร่าง) พ.ร.บ.เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้น มันคือการวีโต้ร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากผู้แทนประชาชน ผ่านการพิจารณาทั้งในชั้น ส.ส. สามวาระ และ ส.ว.อีกสามวาระ ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายไปก็มิใช่น้อย โดยผู้วีโต้ในกรณีนี้ก็คือ พระมหากษัตริย์ ที่ในทางหลักการแล้ว มิได้ทรงใช้อำนาจด้วยพระองค์เอง ดังนั้น จึงจำเป็นที่รัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ที่รับสนองพระบรมราชโองการ จะต้องชี้แจงต่อรัฐสภาที่จะลงมติต่อจากนี้ ให้ทราบถึงสาเหตุของ (ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่ามันมีปัญหาเกิดจากอะไร ทำไมร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งมีการเริ่มต้นจาก ครม.แท้ๆ ถึงถูกวีโต้ สิ่งที่สภาเราอยากจะได้ยิน ไม่ใช่แค่การคาดเดา แต่คือสาเหตุจริงๆ ว่าเกิดจากอะไร”

“เรียนด้วยความเคารพ ในการทำหน้าที่ของพวกเรา ค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชนในการใช้จ่ายเพื่อผ่านกฎหมายแต่ละฉบับ มันมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ส.ส.แต่ละท่านที่จะเดินทางมาจากต่างจังหวัด ต้นทุน ค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าต่างๆ มันมีราคา และเป็นจำนวนมาก ดังนั้น สิ่งที่สภาเราต้องการรับทราบ คือ เพราะเหตุใดกฎหมายที่ ครม.เป็นผู้เสนอ จึงไม่สามารถผ่านในส่วนของการลงพระปรมาภิไธยได้ คาดเดาอย่างเดียวไม่เพียงพอครับ”

“การที่ผมอภิปรายตรงนี้ เจตนารมณ์ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะมิเช่นนั้น มันจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่จะเกิดขึ้นต่อไปว่า กฎหมายที่ถูกวีโต้ เราในฐานะตัวแทนประชาชนจะไม่มีสิทธิที่จะรู้อย่างเพียงพอต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แล้วการชี้แจงของรัฐบาลแบบนี้ ด้วยความเคารพนะครับท่านประธาน การชี้แจงแบบนี้ ไม่ได้เป็นการชี้แจงที่เป็นการปกป้องพระมหากษัตริย์ เพราะท่านได้แต่คาดเดาโดยไม่ได้ชี้แจงเหตุผล ถ้าท่านบอกว่าจะมีกฎหมายฉบับนี้หรือไม่มี สาระไม่ต่างกัน แล้วท่านจะเสนอกฎหมายฉบับนี้ไปทำไม ทำไมท่านไม่เสนอกฎหมายที่มีความจำเป็นต่อการบริหารบ้านเมือง เราจำเป็นต้องใช้สภาให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ถ้ากฎหมายที่ท่านคิดว่า จะมีหรือไม่มี มีค่าเท่ากัน เสนอมาแบบนี้ มันเป็นการตัดโอกาสกฎหมายฉบับอื่นครับ”

“จึงเรียนไปยังท่านประธาน ถึงท่านรองนายกรัฐมนตรี ว่าผมมีความคาดหวังถึงการชี้แจงที่ประกอบด้วยเหตุผลที่มีน้ำหนัก มากกว่าการคาดเดา การตอบว่าไม่รู้ว่าสาเหตุลึกๆ คืออะไร ผมคิดว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่สภาของเราอยากจะได้ยินหรืออยากจะรับทราบ เราอยากจะรู้เหตุผลที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร ขอบคุณครับท่านประธาน”

ผู้อภิปรายรายที่สอง สมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายว่า 

"ความจริงผมเกรงใจสภาและก็คิดว่าโดยประเพณีการปกครองของประเทศไทย ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เราอยู่ด้วยกันโดยมีระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญถึง 10 ฉบับ ที่เขียนอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย หรือที่เรียกว่าวีโต้จากพระมหากษัตริย์ได้ ตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ 2475, รัฐธรรมนูญ 2492, รัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495, รัฐธรรมนูญ 2511, รัฐธรรมนูญ 2517, รัฐธรรมนูญ 2521, รัฐธรรมนูญ 2534, รัฐธรรมนูญ 2540, รัฐธรรมนูญ 2550, และรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 146 นี้ก็เป็นอำนาจครับ เช่นเดียวกับที่บางท่านก็เอ่ยอ้างอำนาจประชาชน อ้างในเรื่องของการที่ผมคิดว่าบางเรื่องอาจจะมิบังควร สภาเองทำกฎหมายไม่เสร็จเยอะครับ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ใช้เวลานานมาก งบประมาณเยอะมาก ประชุมร่วมรัฐสภาหลายรอบ กรรมาธิการก็งบเยอะมาก ในที่สุดก็ทำไม่สำเร็จ เกินเวลา มีกฎหมายเยอะครับที่ไม่ผ่านสภา ไม่ว่าสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา ที่เราก็ไม่ได้รับความรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น"

"ผมจึงลุกขึ้นมา เพื่ออธิบายความตามที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีได้อธิบายต่อสภา ผมคิดว่ามาตรา 146 แม้เขียนว่า ‘ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง’ ผมกราบเรียนเลยว่า สมาชิกวุฒิสภาเห็นด้วยว่าไม่ยืนยันครับ เพราเป็นเรื่องที่ท่านรองนายกฯ ชี้แจงแล้ว ผมเข้าใจชัดเจนครับว่า เหตุผลนั้นเป็นเรื่องการพระราชทานเหรียญอิสริยาภรณ์ตามพระราชอัธยาศัย และก็เป็นอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพราะฉะนั้น เมื่อท่าน (พระมหากษัตริย์) ทรงใช้สิทธิวีโต้ เราก็ควรดำเนินการตามประเพณีการปกครองและให้ความเคารพ ผมจึงอยากเห็นสภาทำหน้าที่ตามที่ท่านรองนายกฯ ได้ชี้แจงว่า รัฐบาลก็ไม่ขัดข้องแม้เป็นผู้เสนอร่าง ผ่านสภา ผ่านวุฒิสภาแล้ว ก็เมื่อทรงใช้สิทธิวีโต้ ก็ตามปกติครับ และก็ไม่ควรอภิปรายยืดเยื้อหรือพยายามพาดพิงไปในส่วนที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด"

"ผมคิดว่า สภาทำหน้าที่ของตัวเองเถอะครับ ในการไม่ยืนยัน ก็ขออนุญาตกราบเรียนท่านประธานด้วยความเคารพ แล้วก็ไม่อยากเห็นการอภิปรายเพื่อนำไปสู่สิ่งที่เกิดความไม่สบายใจของพวกกระผม กราบขอบพระคุณครับท่านประธาน" สมชาย แสวงการ กล่าว

หลังจากนั้น วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวชี้แจงต่อโดยอธิบายเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่กำหนดเรื่องการวีโต้ ด้านรังสิมันต์ โรม ก็ลุกขึ้นกล่าวว่า ทางสภาต้องการทราบรายละเอียดถึงสาเหตุ วีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จึงขอให้ปิดการอภิปราย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาแจ้งว่ามีผู้อภิปรายเท่านี้ จึงขอมติที่ประชุมว่า "จะยืนยันร่างพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามเดิมหรือไม่"

ท้ายที่สุด ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติไม่ยืนยันร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ ด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย (ไม่ยืนยัน) 431 เสียง เห็นด้วย (ยืนยัน) 1 เสียง งดออกเสียง 28 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 ด้วย เนื่องจากคะแนนเห็นด้วยไม่ถึง 2 ใน 3 ของจำนวน ส.ส.บวกกับ ส.ว. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คือ ไม่ถึง 485 เสียง มติที่ประชุมจึงไม่ยืนยันร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ ที่พระมหากษัตริย์ทรงวีโต้ ร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ ที่ผ่านการพิจารณาชั้นสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามาแล้ว ก็เป็นอันตกไป ทั้งนี้ 1 เสียงที่เห็นด้วย (ยืนยัน) พิทักษ์ ไชยเจริญ ส.ว. ระบุหลังลงมติแล้วว่า ความจริงแล้วตนไม่เห็นด้วย (ไม่ยืนยัน) แต่กดปุ่มผิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net