Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เดินรณรงค์คัดค้านมติ ครม. เห็นชอบสร้างเหมืองโปแตชในจังหวัด อ้างลดการนำเข้าปุ๋ยเคมี แต่ชาวอุดรฯ หวั่นสิ่งแวดล้อมทรุด เอื้อนายทุนกลุ่ม บ.อิตัลไทย และไม่เชื่อว่าทำให้ปุ๋ยเคมีราคาถูกลงจริง

 

24 ก.ค. 2565 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานี ออกเดินรณรงค์เรื่องเหมืองแร่โปแตซหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการสร้างเหมืองโปแตช บริเวณตัวเมือง จ.อุดรธานี โดยแบ่งเป็น 2 เส้นทาง โดยเส้นทางแรกเริ่มที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธารี และเส้นทางที่ 2 เริ่มที่สถานีรถไฟอุดรธานี-ทุ่งศรีเมือง 

เวลา 9.00 น. ชาวบ้านเดินรณรงค์แจกจดหมายเปิดผนึกให้ประชาชนตามบ้านเรือน และสถานที่ต่างๆ ตามเส้นทางที่เดินผ่าน และมีการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องโปแตช และทำไมต้องออกมาคัดค้าน 

เมื่อเดินรณรงค์ถึงทุ่งศรีเมือง ชาวบ้านพูดถึงโครงการเชิญชวนให้ประชาชนชาวอุดรธานี ออกมาต่อสู้เรื่องเหมืองโปแตช พร้อมทิ้งท้ายว่า “ใต้ถุนบ้านของพวกเราต้องไม่เป็นเหมืองแร่”

รายละเอียดจดหมายเปิดผนึกระบุดังนี้ 

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเป็นการรวมตัวของชาวบ้านในพื้นที่ 4 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลโนนสูง ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง, ตำบลนาม่วง และตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช ที่จะส่งผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเวลากว่า 20 ปี ที่เราได้ทำหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการที่ไม่โปร่งใสของโครงการเหมืองแร่โปแตชมาโดยตลอด

ในเอกสารระบุว่าเมื่อ พ.ศ.2547 บริษัทเอเชียแปซิฟิค โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด หรือ เอพีพีซี ได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน จำนวน 2 แหล่ง รวมเนื้อที่กว่า 78,400 ไร่ แบ่งออกเป็น 

1.แหล่งอุดรใต้ ครอบคลุมพื้นที่ ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลโนนสูง ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมืองอุดรธานี, ตำบลนาม่วง และตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม เนื้อที่กว่า 26,400 ไร่ 

และ 2.แหล่งอุดรเหนือ ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลหนองนาคำ ตำบลโนนสูง ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมืองอุดรธานี, ตำบลโพนงาม อำเภอหนองหาน และตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม เนื้อที่กว่า 52,000 ไร่

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้เดินหน้าเหมืองแร่โปแตช แหล่งอุดรใต้ โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม เป็นผู้เสนอโดยให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมาเหมืองแร่โปแตช อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ไม่สามารถระดมเงินลงทุน จึงไม่สามารถทำการผลิตได้ และเหมืองแร่โปแตช อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ได้มีการขุดอุโมงค์ลงไปใต้ดินแล้วมีน้ำรั่วเข้ามาในอุโมงค์ จึงไม่สามารถดำเนินงานต่อได้ ตามที่เป็นข่าว คือ ชาวบ้านได้รับผลกระทบที่เกิดจากการแพร่กระจายของน้ำเค็มไหลลงสู่ไร่นา บ้านเรือนผุพัง ข้ออ้างที่รัฐบาลประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ สื่อสารให้สังคมรับรู้ด้วยการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร มากว่า 1 ปี คือ ปัจจุบันการนำเข้าปุ๋ยเคมีราคาแพง และมีความจำเป็นที่ต้องขุดเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี เพื่อลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ จะทำให้ปุ๋ยเคมีราคาถูกลง ต่อประเด็นดังกล่าวกลุ่มฯ จะขออธิบาย ดังนี้

1. เรื่องการขุดเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี จะทำปุ๋ยเคมีราคาถูกนั้น ในสัญญาสำรวจและผลิตแร่โปแตช พ.ศ. 2527 ที่รัฐบาลไทยเซ็นไว้กับบริษัทเอเชียแปซิฟิค โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ที่ถือหุ้นโดยทุนแคนนาดาในอดีต ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกลุ่มบริษัท อิตัลไทย เนื่องจากบริษัททำธุรกิจ และมีอิสระภายใต้การค้าเสรี และมีระบบตลาดค้าปุ๋ยเคมีโปแตชที่มีกลุ่มทุนระดับโลกผูกขาด จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ราคาปุ๋ยเคมีถูกลง และรัฐบาลไม่สามารถที่จะแทรกแซงธุรกิจเอกชนได้ เช่นเดียวกับ ราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้า ราคาสินค้าอุปโภค บริโภคอื่นๆ เห็นได้จากราคาสินค้าแพงขึ้นทุกวัน แต่รัฐบาลไม่มีมาตรการอะไรที่จะช่วยเหลือประชาชนหรือทำให้ราคาสินค้าถูกลง

2. รัฐบาลประยุทธ์ และ ครม. มีมติเห็นชอบเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ภายใต้ผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ แน่นอนว่าการเลือกตั้งใกล้เข้ามาจะต้องใช้เงินสำหรับหาเสียง และในจังหวะนี้สามารถที่เรียกรับเงินจากกลุ่มทุนเพื่อผลักดันโครงการฯ ซึ่งเราพบว่า หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี บริษัท อิตัลไทย มีหุ้นพุ่งขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์

3. ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตแร่โปแตช จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เรื่องฝุ่นเกลือที่ต้องปลิวออกจากปล่องควันโรงงาน ลานตากกองเกลือกลางแจ้งที่ขนาดใหญ่กว่าสนามฟุตบอลสิบสนามรวมกัน สูงพอๆ กับตึก 20 ชั้น การแย่งชิงน้ำจากชุมชนใกล้เคียง (หนองนาตาล) การแพร่กระจายของน้ำเค็มลงสู่ไร่นา การขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินให้เป็นโพรงจะทำให้เกิดดินทรุดตัวลงได้ รวมทั้งน้ำบาดาลใต้ดินก็จะมีความเค็มถ้ามีการรั่วซึม ซึ่งการแก้ไขปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่กล่าวมา จะไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ด้วยการระบบราชการรวมศูนย์ เราคงทราบถึงกลไกราชการที่เชื่องช้า ไม่เท่าทันสถานการณ์ เช้าชามเย็นชาม ขาดจิตสำนึกต่อส่วนรวม ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและรับใช้นักการเมือง และกลุ่มทุนเหมืองแร่

4. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองอุดรธานี เกี่ยวกับกระบวนการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินของบริษัท เอเชียแปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลก็ได้มีคำพิพากษาให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ไปดำเนินการใหม่ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด รัฐบาลควรรอให้ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีถึงที่สุดเสียก่อน

5. สภา อบต.ห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม มี มติ 12 ต่อ 9 ไม่เห็นชอบต่อโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี วันที่ 25 กันยายน 2558  

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จึงขอยืนยันที่จะคัดด้านโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ต่อไปจนถึงที่สุด และขอเชิญชวนผู้รักความเป็นธรรมทุกท่าน ช่วยกันตั้งคำถาม ตรวจสอบความไม่โปร่งใสของโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ที่ขาดหลังธรรมาภิบาล เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินของเราไม่ให้นักการเมือง กลุ่มทุนเหมืองแร่ เข้ามากอบโกยผลประโยชน์ ทิ้งซากดินเค็ม ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางสุขภาพ ผลกระทบทางสังคม ไว้ให้ลูกหลานคนอุดรต้องรับภาระในอนาคต

ภาพบรรยากาศการทำกิจกรรม 

ภาพบรรยากาศการทำกิจกรรมของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net