Skip to main content
sharethis

หลังจากที่เคยมีกระแสการเปิดโปงการล่วงละเมิดทางเพศอย่าง #MeToo ก็มีกระแสการเปิดโปงการล่วงละเมิดทางเพศในวงการคริสต์ศาสนาที่เรียกว่า #ChurchToo (แปลว่า "คริสตจักรก็ด้วย") ตามมา หลายปีผ่านมาแล้วการเปิดโปงในเรื่องนี้ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง และมีการพูดถึง "วัฒนธรรมความบริสุทธิ์ผุดผ่อง" (purity culture) ในศาสนาที่กลายเป็นสิ่งที่ช่วยปกปิดความรุนแรงทางเพศมาอย่างยาวนาน

เมื่อไม่นานนี้มีการรายงานเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศและการพยายามปกปิดการล่วงละเมิดทางเพศโดย "สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ทางตอนใต้" ซึ่งเป็นสำนักนิกายโปรแตสแตนต์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ มีกรณีไวรัลวิดีโอของผู้หญิงคนหนึ่งที่ประจันหน้ากับบาทหลวงในโบสถ์อิสระเพื่อประณามเรื่องที่บาทหลวงผู้นี้ก่อเหตุคุกคามทางเพศต่อเธอในช่วงที่เธอยังเป็นวัยรุ่น มีสารคดีทางโทรทัศน์ที่เปิดโปงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในหมู่ชุมชนชาวคริสต์คือชาวอามิชและเมมมอนไนท์

กระแสการเปิดโปงการล่วงละเมิดทางเพศในคริสตจักรเหล่านี้อาจจะมองได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ #ChurchToo 2.0 หรือก็คือ #ChurchToo ระลอกที่สองก็เป็นได้

#ChurchToo เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่มีกระแสการเปิดโปงการล่วงละเมิดทางเพศจากคนในวงการฮอลลิวูดสู่วงการอื่นๆ ที่เรียกว่า #MeToo กระแส #ChurchToo ที่แปลตรงตัวว่า "คริสตจักรก็ด้วย" นั้นเกิดขึ้นในช่วงประมาณปลายปี 2560 ผู้ที่เริ่มต้นเปิดโปงเรื่องนี้คือ ฮันนาร์ ปาช และ เอมิลี จอย แอลลิสัน ซึ่งในกรณีของแอลลิสันนั้นมีการเขียนออกมาเป็นหนังสือในชื่อ "#ChurchToo : How Purity Culture Upholds Abuse and How to Find Healing" ("#ChurchToo : วัฒนธรรมความบริสุทธิ์ผุดผ่องคอยเกื้อหนุนการล่วงละเมิดทางเพศได้อย่างไร และจะแสวงหาการเยียวยาได้อย่างไร")

#ChurchToo ทำให้ผู้ที่เคยเผชิญการล่วงละเมิดทางเพศในคริสตจักรและกลุ่มผู้สนับสนุนผู้เผชิญการล่วงละเมิดทางเพศเหล่านี้พากันเรียกร้องให้สำนักคริสตจักรยอมรับเรื่องที่มีการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นจริง อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสการเปิดโปง #ChurchToo ก็กลับมาอีกครั้ง โดยมีการเปิดโปงในหลายสำนักนิกายและในหลายคณะสงฆ์ ทำให้มีผู้รับรู้เรื่องนี้ในวงกว้างผ่านทางสื่อต่างๆ และทางหน้าโซเชียลมีเดีย ซึ่งเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศจากคนในวงการสงฆ์เช่นนี้ เป็นเรื่องราวที่กลุ่มนักกิจกรรมพยายามจะสื่อกับสังคมมาโดยตลอด

จิมมี ฮินตัน นักกิจกรรมผู้เรียกร้องให้กับผู้เผชิญการล่วงละเมิดทางเพศและเป็นผู้ดำรงตำแหน่งคณะสงฆ์ในคริสตจักรเชิร์ชออฟไครสที่ซอมเมอร์เซต เพนซิลเวเนีย กล่าวว่า สำหรับพวกเขาแล้วปรากฏการณ์ #ChurchToo นี้เป็นเครื่องยืนยันในสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาโดยตลอดในช่วงหลายปี มีการล่วงละเมิดทางเพศในหมู่สงฆ์และในพื้นที่ทางศาสนาแพร่ระบาดไปทั่ว

การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในคริสตจักรกลายเป็นเรื่องเด่นที่เกิดขึ้นในเมืองอนาไฮม์ รัฐแคลิฟอร์เนีย จากการที่สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ได้จัดประชุมประจำปีหลังจากที่มีการรายงานในเรื่องที่ว่ากลุ่มผู้นำศาสนาของสหคริสตจักรแห่งนี้จัดการอย่างไม่เหมาะสมต่อกรณีการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นและทำการปิดกั้นไม่ให้ผู้เผชิญการล่วงละเมิดทางเพศได้พูดถึงเรื่องนี้

รายงานเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในสหคริสตจักรแห่งดังกล่าวนี้ออกมาในวันที่ 22 พ.ค. วันเดียวกับที่โบสถ์อิสระในอินเดียนากำลังเผชิญข้อกล่าวหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเช่นกัน โดยมีทั้งการที่บาทหลวงประจำโบสถ์ จอห์น บี โลว์ ที่ 2 สารภาพเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายปี โดยลดทอนมันเป็นแค่เรื่อง "การคบชู้" ซึ่งผิดประเด็น ทำให้ โบบี เกบพาร์ต ก็เข้าไปแย่งไมค์แล้วเล่าความจริงที่เกิดขึ้นกับเธอเอง เธอได้พูดถึงการเผชิญการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่เธออายุ 16 ปี วิดีโอของการเผชิญหน้าในครั้งนี้มีผู้รับชมเกือบ 1 ล้านวิวบนเฟสบุค และทำให้โลว์ลาออกจากโบสถ์์ในที่สุด

เกบพาร์ต ให้สัมภาษณ์ว่าเธอไม่แปลกใจที่มีคนเปิดโปงในเรื่องนี้ออกมาจำนวนมาก มีคนจากทั่วโลกให้กำลังใจที่เปิดโปงในเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ มีผู้คนเปิดเผยเรื่องราวการล่วงละเมิดทางเพศที่พวกเขาประสบมาเช่นกัน เกบพาร์ตมองว่าสำหรับคริสตจักรหลายแห่งแล้วพวกเขาพยายามปกปิดในเรื่องนี้เพื่อให้ดำเนินอะไรๆ ต่อไปได้ แต่เกบพาร์ตก็มองว่าไม่ควรจะมีการละทิ้งผู้คนที่เจ็บปวด มันเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่จะทำเช่นนี้ และดูเหมือนว่าคริสตจักรหลายแห่งจะไม่เข้าใจในเรื่องนี้

ในกรณีของฮินตัน เขาเป็นคนที่เปิดโปงพ่อของตัวเองซึ่งเป็นอดีตคณะสงฆ์ จนทำให้พ่อของเขาถูกจำคุกในที่สุดจากข้อหาการประทุษร้ายทางเพศอย่างอุกฉกรรจ์ ฮินตันได้กล่าวในวิดีโอที่กลายเป็นไวรัลว่าผู้ที่เคยเผชิญการล่วงละเมิดทางเพศมาก่อนมีศักยภาพในการเล่าเรื่องของตัวเอง เรื่องเล่าของพวกเขาจะมีพลังมากในแบบที่พวกเขาไม่เคยคาดคิดมาก่อน

"วัฒนธรรมความบริสุทธิ์ผุดผ่อง" ที่ช่วยปกปิดปัญหาล่วงละเมิดทางเพศในศาสนจักร

ถึงแม้ว่าการเปิดโปงคริสตจักรต่างๆ จะเกิดขึ้นทั้งจากคริสตจักรสายเสรีนิยม และคริสตจักรสายอนุรักษ์นิยม แต่การเปิดโปงที่เกิดขึ้นในช่วงไม่นานนี้มักจะเกิดขึ้นกับคริสตจักรนิกายโปรแตสแตนต์สายอนุรักษ์นิยมที่มี "วัฒนธรรมความบริสุทธิ์ผุดผ่อง" เด่นชัดมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมที่ว่านี้คือการเน้นให้ผู้ชายมีอำนาจในการกำหนดวิถีทางเพศของผู้หญิง กดให้ผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัวและกดดันไม่ให้คบหากับคนอื่นเพื่อรอให้มีความสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่การแต่งงานแบบประเพณีนิยมเท่านั้น

แอลลิสัน หนึ่งในผู้ริเริ่ม #ChurchToo และเป็นผู้ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ระบุว่า หลักจริยธรรมทางเพศที่ถูกเทศนาในหมู่ศาสนจักรสายอนุรักษ์นิยมพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้เกิดการปกปิดการล่วงละเมิดทางเพศ

ในบทความของ จูลี อิงเกอโซลล์ ผู้ที่ศึกษาเรื่องคริสเตียนนิกายอีวานเจลิกและเรื่องเพศสภาพ ระบุว่าสาเหตุเพราะวัฒนธรรมความบริสุทธิ์ผุดผ่องมันเน้นทำใหเกิดการสร้างความอับอายแก่ผู้เผชิญการล่วงละเมิดทางเพศในแง่ที่ถูกมองว่าเป็นผู้มีมลทินหรือไม่ทำตามวิถีทางเพศแบบประเพณีนิยม ตามมาด้วยการทำให้เงียบเสียงในเรื่องนี้

อิงเกอโซลล์ ระบุในบทความว่าวัฒนธรรมความบริสุทธิ์นี้เริ่มแพร่กระจายมาจากการรณรงค์ของ สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ทางตอนใต้นี่เอง ภายใต้คำขวัญที่ออกมาในปี 2535 ว่า "รักแท้ต้องรอ" กลายเป็นจุดที่เริ่มทำให้เกิดวัฒนธรรมนี้แพร่ออกไป เรื่องที่เป็นที่รู้จักกันมากคือการให้ "แหวนแทนความบริสุทธิ์" ให้เด็กผู้หญิงสวมเพื่อให้พวกเธอสัญญาจะมอบความบริสุทธิ์ให้กับพระผู้เป็นเจ้าและต่อครอบครัวเท่านั้น

แต่วัฒนธรรมความบริสุทธิ์ผุดผ่องจากกลุ่มศาสนาเหล่านี้ไม่ได้จบลงแค่การรักนวลสงวนตัวแต่อย่างเดียวเท่านั้น ในหนังสือของ ลินดา เคย์ ไคลน์ ที่ชื่อ "Pure" ("บริสุทธิ์") ระบุว่าผู้หญิงถูกสอนให้ไม่เพียงแค่ต้องรับผิดชอบกับความบริสุทธิ์ของตัวเองเท่านั้น แต่ต้องรับผิดชอบกับความบริสุทธิ์ของผู้ชายรอบตัวพวกเธอด้วย ทำให้พวกเธอหลงเชื่อว่าเธอต้องรับผิดชอบถ้าหากสวมใส่ชุดอะไรก็ตามที่นำพาผู้ชายเข้าสู่การทำ "บาป" และมักจะถูกโจมตีถ้าหากพวกเธอกล้าออกปากพูด แทนที่จะสงบเสงี่ยมเจียมตัว

เรื่องนี้ยังทำให้เกิดวัฒนธรรมการปกป้องผู้ชายที่ถูกกล่าวหาในวงการสงฆ์ด้วย ขณะที่ผู้หญิงที่กล้าเปิดโปงจะถูกประณามด้วยคำเหยียดเพศต่างๆ ไปถึงขั้นเป็นถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่ซาตานส่งมา สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ก็เคยกล่าวหาผู้หญิงในเรื่องนี้ผ่านทางหน้าสื่อของพวกเขาจนทำให้ผู้หญิงที่เปิดโปงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศถูกข่มเหงรังแกในโลกออนไลน์มาแล้ว และทำให้เธอสูญเสียตำแหน่งงานในองค์กรของคริสตจักร

ไม่เพียงแค่ "วัฒนธรรมความบริสุทธิ์ผุดผ่อง" จะทำให้เกิดปัญหาต่อผู้เผชิญการล่วงละเมิดทางเพศเท่านั้น มันยังกลายมาเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นฐานคิดการเหยียดเชื้อชาติสีผิวจากวัฒนธรรมนี้เองด้วย

อินเกอโซลล์ ระบุว่าวาทกรรมความบริสุทธิ์ผุดผ่องนี้มีต้นตอที่มาจากการเหยียดเชื้อชาติสีผิวของสหคริสตจักรแบ๊บติสต์ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ เองด้วย พวกเขาปกป้องการใช้ทาสผิวสีซึ่งเป็นฐานที่ทำให้เกิดการสร้างนิกายนี้ขึ้น และเน้นเรื่องการปกป้อง "ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของความเป็นผู้หญิงผิวขาว" เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้ความชอบธรรมแก่การใช้ทาสและดำรงไว้ซึ่งลัทธิคนขาวเป็นใหญ่ด้วย

คริสทีน หง ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะสงฆ์ฝ่ายศึกษาธิการของวิทยาลัยเทววิทยาโคลัมเบียในแอตแลนตากล่าวว่า "แนวคิดความบริสุทธิ์ผุดผ่องทางเพศในเชิงเทววิทยาถูกผูกติดอยู่กับแนวคิดคนขาวเป็นใหญ่ เพราะในประวัติศาสตร์ข้ามทวีปเผยให้เห็นว่าผู้หญิงเอเชียมักจะถูกทำให้เป็นวัตถุทางเพศและถูกขับเน้นลักษณะทางเพศอย่างสุดโต่งโดยอาศัยแนวคิดแบบบูรพาคดีศึกษา (แนวคิดที่ชาติตะวันตกสร้างภาพให้ชาติตะวันออกแบบเหมารวมทำให้ดูแปลกหูแปลกตาและดูด้อยกว่า) รวมถึงลัทธิทหารนิยมในชาติเอเชีย"

ช่องทางผลักดันแก้ไขปัญหาในระยะยาว

แอลลิสันบอกว่าการจะแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศได้นั้น ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งจากในระดับนโยบายคริสตจักรและในระดับเทววิทยา ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้นในสหคริสตจักรแบ๊บติสต์ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ

แต่ก็มีนักกิจกรรมบางคนที่มองว่าการเดินหน้าเปิดโปงเรื่องเหล่านี้จะทำให้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในระยะยาวเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่สามารถปรับปรุงในตัวของคริสตจักรเองได้ พวกเขาก็จะเน้นไปที่การปรับปรุงกฎหมาย

เช่น มิสตี กริฟฟิน นักกิจกรรมที่ช่วยเหลือผู้เคยเผชิญการล่วงละเมิดทางเพศในชุมชนอามิช ได้ล่ารายชื่อเรียกร้องสภาคองเกรสออกกฎหมาย "สิทธิเด็ก" ซึ่งในช่วงต้นเดือน มิ.ย. มีผู้ลงนามมากกว่า 5,000 รายชื่อแล้ว ตัวกฎหมายดังกล่าวนี้จะกำหนดให้โรงเรียนศาสนาและโฮมสคูล (การสอนเด็กเองในครอบครัว) ต้องมีการสอนให้เด็กรับทราบประเด็นการล่วงละเมิดต่อเด็กและการละทิ้งเด็ก รวมถึงวิธีการรายงานในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งกริฟฟินมองว่าสำคัญมากต่อเด็กที่อยู่ในระบบอำนาจนิยมศาสนา เพราะพวกเขามักจะหาคนช่วยเหลือเรื่องนี้ไม่ได้

สำหรับสหคริสตจักรแบ๊บติสต์ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ที่กำลังสั่นคลอนจากการร้องเรียนเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศมาเป็นเวลานานหลายปี ก็ประกาศในที่ประชุมประจำปีนี้ว่าพวกเขาจะพิจารณาข้อเสนอในการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจสำหรับการทำลิสต์รายชื่อคนที่ถูกกล่าวหาเรื่องล่วงละเมิดทางเพศ แต่กลุ่มผู้เผชิญการล่วงละเมิดทางเพศก็วิจารณ์ว่าข้อเสนอนี้ยังไม่ดีพอ และขอให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการพิจารณาเรื่องข้อกล่าวหาเหล่านี้รวมถึงให้ตรวจสอบเกี่ยวกับการร่วมปกปิดการล่วงละเมิดทางเพศ อีกทั้งยังต้องการให้จัดตั้ง "กองทุนเยียวยาผู้เผชิญการล่วงละเมิดทางเพศ" ด้วย

จากการที่กลุ่มผู้เผชิญการล่วงละเมิดทางเพศออกมาเปิดโปงอย่างต่อเนื่อง จนนำมาซึ่งการสืบสวนอิสระต่อสหคริสตจักรแบ๊บติสต์ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ การสืบสวนทำให้ได้รายงาน 288 หน้าระบุถึงเนื้อหารายละเอียดเกี่ยวกับการที่คณะกรรมการบริหารของสหคริสตจักรแบ๊บติสต์ฯ ให้ความสำคัญกับการปกป้องสถาบันตัวเองมากกว่าจะปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของเหยื่อและไม่ยอมป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการล่วงละเมิดทางเพศขึ้นอีก หลังรายงานออกมาก็ส่งผลให้คณะกรรมการออกลิสต์รายชื่อผู้ที่เคยถูกกล่าวหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศหลังจากที่เคยปิดลับมานาน

จูลส์ วูดสัน หนึ่งในผู้เปิดโปงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในสหคริสตจักรแห่งนี้บอกว่ามันเป็นเรื่องน่าเจ็บปวดที่ได้ทราบว่าคณะกรรมการเหล่านี้รู้ดีเรื่องที่มีคนก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศแต่ก็ไม่มีใครออกปากเตือนคนอื่นเลย วูดสันกล่าวอีกว่าคณะกรรมการเหล่านี้ "พูดออกมาไม่กี่คำในการยอมรับปัญหา แต่ก็ไม่มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงและมีปฏิบัติการจริงๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสำนึกผิดจากใจจริงหรือใส่ใจเป็นห่วงผู้เผชิญการล่วงละเมิดทางเพศรวมถึงคนที่เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศเลยแม้แต่น้อย"

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net