Skip to main content
sharethis

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ออกรายงานฉบับใหม่ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันยืดเยื้อ บทบาทของเอกสารประจำตัวในเหตุการณ์ฮอโลคอสต์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาและเมียนมา” เผย รัฐบาลทหารเมียนมาใช้เอกสารประจำตัวเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาเป็นรูปแบบเดียวกับยุทธวิธีที่เคยใช้ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา แนะรัฐภาคีสหประชาชาติต้องตรวจสอบความรับผิดของ รัฐบาลทหารเมียนมาต่ออาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง

 

10 มิ.ย. 2565 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) ออกรายงาน “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันยืดเยื้อ บทบาทของเอกสารประจำตัวในเหตุการณ์ฮอโลคอสต์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาและเมียนมา” เผย รัฐบาลทหารเมียนมาใช้เอกสารประจำตัวเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาเป็นรูปแบบเดียวกับยุทธวิธีที่เคยใช้ในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว(ฮอโลคอสต์) และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา 

จากข้อมูลในรายงานฉบับใหม่โดยฟอร์ตี้ฟายไรต์ที่เผยแพร่ ภาคีสหประชาชาติควรปราบปรามและยุติบทบาทของรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ให้เข้าถึงอาวุธและเงินทุน รวมถึงปฏิเสธที่จะให้ความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลทหารเมียนมา นอกจากนี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต้องส่งเรื่องสถานการณ์ในเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) โดยทันที

“ผู้ละเมิดในหลายประเทศใช้เอกสารประจำตัวเพื่อประโยชน์ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาเป็นเวลานานแล้ว” ดร.เคน แมคคลีน ผู้ร่วมเขียนรายงานนี้กล่าวไว้ ดร.เคนเป็นที่ปรึกษาอาวุโสฟอร์ตี้ฟายไรต์ และศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยคลาก ศูนย์สแตรสเซอร์เพื่อการศึกษาด้านฮอโลคอสต์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 

“หลักฐานจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฮอโลคอสต์และรวันดา สะท้อนให้เราเห็นภาพที่ใกล้เคียงกับความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลทหารในการที่จะขจัดอัตลักษณ์ของชาวโรฮิงญาในเมียนมา” ที่ปรึกษาอาวุโสฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว

 

รายงาน 63 หน้า ชื่อ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันยืดเยื้อ: บทบาทของเอกสารประจําตัวในเหตุการณ์ฮอโลคอสต์ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาและเมียนมา เปิดเผยข้อมูลว่า รัฐบาลทหารดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อบังคับให้ชาวโรฮิงญาต้องขอรับบัตรพิสูจน์สัญชาติ (NVCs) ซึ่งเป็นการปิดกั้นไม่ให้ชาวโรฮิงญาเข้าถึงสิทธิที่จะมีสัญชาติเต็มขั้น และไม่ให้เข้าถึงความคุ้มครอง รายงานนี้เผยข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการที่รัฐบาลทหารเมียนมาพุ่งเป้าโจมตีประชากรชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ รวมทั้งกรณีศึกษาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฮอโลคอสต์และรวันดา สะท้อนให้เห็นว่าระบอบเผด็จการใช้ประโยชน์จากเอกสารประจำตัว เพื่อการจำแนก ประหัตประหาร สังหารอย่างเป็นระบบต่อประชากรกลุ่มเป้าหมาย ในลักษณะที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและรุนแรงได้อย่างไร

สืบเนื่องจากจากบริบทของฮอโลคอสต์และรวันดา รายงานใหม่นี้พบว่า บัตรประจำตัวมีส่วนสนับสนุนให้เกิด “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ยืดเยื้อ” หรือการทำลายล้างกลุ่มที่ได้รับการคุ้มครองอย่างช้า ๆ  ด้วยการบั่นทอนกำลัง ผ่านวิธีการทำลายแบบอ้อมที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

ในเมียนมา การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ยืดเยื้อเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และยังคงดำรงอยู่แม้จนทุกวันนี้ ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว

จากงานวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในอดีต และการสัมภาษณ์ชาวโรฮิงญาที่ตกเป็นเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กว่า 20 คน จากเอกสารของรัฐบาลทหารเมียนมาที่หลุดรอดออกมา และจากการวิเคราะห์รายงานข่าวจากสื่อของรัฐบาลทหาร รายงานใหม่นี้พบว่า การใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องจากกระบวนการออกบัตรประจำตัว มีส่วนสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างต่อเนื่องต่อชาวโรฮิงญาในเมียนมา เช่นเดียวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกรณีอื่น ๆ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไข

นับแต่เกิดการทำรัฐประหารภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ได้ฆาตกรรมและคุมขังประชาชนหลายพันคนทั่วประเทศ ทั้งยังเร่งโจมตีองค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ และกองกำลังปกป้องประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มทหารจัดตั้งของพลเรือนเพื่อรับมือกับการโจมตีของกองทัพ 

 

เสียงจากชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่

ท่ามกลางการโจมตีเหล่านี้ ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ในเมียนมาให้ข้อมูลกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า รัฐบาลทหารยังคงใช้การพิสูจน์สัญชาติเพื่อขัดขวางไม่ให้พวกเขาได้รับสถานะเป็น “ชาวโรฮิงญา” จำกัดการเดินทางของพวกเขา และปิดกั้นการประกอบอาชีพ เป็นการบั่นทอนสภาพชีวิตของพวกเขา

“[เจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารที่หน่วยตรวจคนเข้าเมือง] ยืนยันว่า ดิฉันต้องเขียนคำว่า ‘เบงกาลี’ ในใบขอพิสูจน์สัญชาติ” นี่คือคำกล่าวของผู้หญิงชาวโรฮิงญาวัย 26 ปี ที่ต้องสูญเสียสามี บ้านของตัวเอง และทะเบียนบ้านของครอบครัวไปทั้งหมด ระหว่างการโจมตีของกองทัพในปี 2559 ต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ส่งผลให้เธอต้องเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติในเดือนตุลาคม 2564 “ดิฉันจึงเขียนว่า ‘เบงกาลี’ พวกเขารู้ว่าดิฉันเป็นชาวโรฮิงญา แต่อ้างว่ารู้จักแต่ชาวเบงกาลี ไม่รู้จักชาวโรฮิงญา”

“พวกเขาต้องการทำให้เราเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย และให้เราเป็นชาวเบงกาลี สิ่งเหล่านี้เป็นยุทธศาสตร์เพื่อกีดกันไม่ให้เราได้สัญชาติ และสถานะด้านชาติพันธุ์ [ในเมียนมา]” ชายชาวโรฮิงญาวัย 19 ปีจากเมืองมินเบียะในรัฐยะไข่ให้ข้อมูลกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ “การยอมรับการพิสูจน์สัญชาติ เท่ากับการยอมรับสถานะของตัวเองว่าเป็น ‘ผู้เข้าเมืองชาวเบงกาลี’ พวกเรา [ชาวโรฮิงญา] ไม่มีทางเลือกอื่น เราต้องใช้เอกสารเพื่อเดินทางไปเมืองอื่น อย่างเช่นที่เมืองซิตเว หรือเมืองอื่น โดยเฉพาะเมื่อต้องรีบไปหาหมอโดยด่วนหรือทำธุรกิจ”

 

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังได้บันทึกข้อมูลที่รัฐบาลทหารจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของชาวโรฮิงญาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกำหนดให้ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ต้องขอเอกสาร อย่างเช่น “แบบฟอร์มหมายเลข 4” ซึ่งเป็นหนังสือเดินทางชั่วคราว หากต้องการเดินทางระหว่างเมือง หรือนาน ๆ ครั้งหากจะเดินทางออกนอกรัฐยะไข่ พวกเขาต้องยื่นขอแบบฟอร์มหมายเลข 4 ซึ่งก็อาจจะถูกปฏิเสธได้อีก ยกตัวอย่างเช่น ตามคำสั่งภายในของหน่วยงานบริหารทั่วไปที่เมืองพุทธิดอง รัฐยะไข่ ภายใต้การบริหารของรัฐบาลทหาร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ระบุว่า “ชาวเบงกาลีจะเดินทางได้ก็ต่อเมื่อได้รับหนังสืออนุญาต (แบบฟอร์มหมายเลข 4)” หากมีการละเมิดคำสั่งนี้ จะส่งผลให้เกิด “การใช้มาตรการรุนแรงตามกฎหมายที่มีอยู่”

เช่นเดียวกับระบอบที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่น ๆ รัฐบาลทหารอ้างว่า จำเป็นต้องจำกัดสิทธิเหล่านี้เพื่อคุ้มครอง “ความมั่นคงปลอดภัยของเมืองและหลักนิติธรรม” 

 

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันยืดเยื้อ

สำนักงานสหประชาชาติเพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พบว่า “กระบวนการสร้างความแตกแยกด้านอัตลักษณ์” และ “มาตรการหรือกฎหมาย” ที่เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการคุ้มครอง เป็นตัวชี้วัดที่บ่งชี้ถึงการเกิดขึ้นของ “สภาพแวดล้อมที่มีแนวโน้มนำไปสู่การก่ออาชญากรรมในรูปแบบของการทารุณกรรม” รัฐที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มักใช้เครื่องมือทางกฎหมายและมาตรการของรัฐ เพื่อสนับสนุนการทำลายประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ฮอโลคอสต์ ซึ่งเป็นการสังหารประชากรชาวยิว และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชากรชาวตุดซีในรวันดา

หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เราจะพบว่าฮอโลคอสต์ไม่อาจกลายเป็นการสังหารอย่างรวดเร็วและในวงกว้างได้เลย หากไม่มีการจำแนกและขึ้นทะเบียนชาวยิวตั้งแต่แรก พวกนาซีใช้กระบวนการจำแนกและออกเอกสารประจำตัวอย่างเป็นทางการ เพื่อให้สามารถลิดรอนสัญชาติชาวยิวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพื่อยึดทรัพย์สินของพวกเขา โดยเฉพาะการจำกัดให้อยู่แต่ในนิคมและค่าย จนถึงขั้นสุดท้ายคือการสังหารหมู่พวกเขา

ในทำนองเดียวกัน การพิสูจน์สัญชาติก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ในบางกรณี ผู้ละเมิดชาวฮูตูใช้บัตรประจำตัวประชาชนของรวันดาเพื่อจำแนกบุคคลในการสังหาร โดยที่ในบัตรมีการระบุข้อมูลของชาติพันธุ์ ยกตัวอย่างเช่นการที่กลุ่มทหารบ้านชาวฮูตูตั้งด่านสกัดในเมือง และกดดันให้ผู้เดินทางต้องแสดงบัตรประจำตัว นำไปสู่เหตุสังหารหมู่ผู้ถือบัตรประจำตัวชาวตุดซี และผู้ที่ไม่มีเอกสารประจำตัว

 

สถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา

“ชาวโรฮิงญายังคงต้องเผชิญกับภัยคุกคามต่อความอยู่รอดภายใต้รัฐบาลทหาร ซึ่งเป็นระบอบปกครองที่ไม่ชอบธรรม และมีส่วนรับผิดชอบต่อการทารุณกรรมอย่างกว้างขวาง” จอห์น ควินลีย์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านสิทธิมนุษยชน ฟอร์ตี้ฟายไรต์ และผู้ร่วมเขียนรายงานกล่าว “การปฏิเสธอย่างต่อเนื่องไม่ให้ชาวโรฮิงญาได้รับสถานะด้านชาติพันธุ์และสัญชาติ เป็นตัวชี้วัดของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติประกาศพันธกิจที่จะช่วยให้ชาวโรฮิงญาได้รับสัญชาติและมีส่วนร่วม อย่างไรก็ดี รัฐบาลทหารยังคงใช้มาตรการเด็ดขาด เพื่อบังคับให้ชาวโรฮิงญายอมรับสถานะการเป็นพลเมืองต่างชาติ เพื่อลบข้อมูลการมีตัวตนอยู่ของพวกเขา”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดการยอมรับถึงความเชื่อมโยงระหว่างเอกสารประจำตัวและอาชญากรรมระหว่างประเทศอย่างแพร่หลายมากขึ้น แต่ท่ามกลางการโจมตีเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ สถานทูต และบุคคลอื่นบางคนในเมียนมาไม่เพียงเลือกที่จะไม่ประณามการใช้บัตรพิสูจน์สัญชาติที่มุ่งโจมตีชาวโรฮิงญาเท่านั้น ในบางกรณี พวกเขายังเห็นชอบอย่างเปิดเผยต่อบัตรพิสูจน์สัญชาติ โดยมองว่าเป็นทางออกที่เป็นไปได้สำหรับการแก้ปัญหา “ความไร้รัฐ” ของชาวโรฮิงญา

การยอมให้มีกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติและส่งผลกระทบต่อชาวโรฮิงญา รวมทั้งกระบวนการพิสูจน์สัญชาติถือเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2564 รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ของเมียนมา ซึ่งเป็นรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2564 โดยสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง และสามารถหลบรอดการจับกุมหลังรัฐประหารไปได้ พวกเขาได้ประกาศพันธกิจที่จะ “ยกเลิก” กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ โดยมองว่ากระบวนการนี้เป็น “กระบวนการซึ่งกองทัพใช้โจมตีชาวโรฮิงญาและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในลักษณะเป็นการบังคับ และถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

ข้อมูลการละเมิดในรายงาน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันยืดเยื้อ สะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งควรได้รับการสอบสวนอย่างต่อเนื่องและต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อาจหมายถึงการกระทำครั้งหนึ่งหรือหลายครั้ง โดยมีเจตนาเพื่อทำลายเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด ต่อกลุ่มประชาชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเชื้อชาติ หรือกลุ่มศาสนา ตามข้อ 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พ.ศ. 2491 สามในห้าของคุณสมบัติที่ถือว่าเป็น “การกระทำ” ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เชื่อมโยงโดยตรงกับ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ยืดเยื้อ” และมีความเกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับบริบทของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างต่อเนื่องต่อชาวโรฮิงญาในเมียนมาอันก่อให้เกิดอาชญากรรม รวมถึง “(ข) ทำให้สมาชิกของกลุ่มได้รับอันตรายแก่กายหรือใจอย่างสาหัส (ค) กระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีสภาพชีวิตที่คาดหมายได้ว่าจะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมทางกายทุกส่วนหรือบางส่วน [และ] (ง) ใช้มาตรการอันประสงค์จะป้องกันอัตราการเกิดภายในกลุ่ม”

 

ตั้งแต่ปี 2558  ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้บันทึกข้อมูลอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของกองทัพต่อชาวโรฮิงญา 

รายงานเมื่อปี 2558 ของฟอร์ตี้ฟายไรต์ และคลินิกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอัลลาร์ด เค โลวเวนสตีน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล พบหลักฐานมากเพียงพอที่จะพิสูจน์องค์ประกอบความผิดของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญาในเมียนมา

ภายหลังการโจมตีที่นำโดยรัฐบาลทหารเมียนมา ระหว่างปี 2559 และ 2560 ต่อพลเรือนชาวโรฮิงญา ฟอร์ตี้ฟายไรต์และ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ รายงานที่จัดทำร่วมกัน ที่บันทึกข้อมูลว่า กองกำลังของรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มพลเรือนได้ทำการสังหารหมู่ในหลายสิบหมู่บ้านที่เขตเมืองมองดอว์ จากความรุนแรงในรอบแรกเมื่อปื 2559 และในอีกหลายหมู่บ้านตลอดทั้งสามเขตทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ภายหลังวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เป็นต้นมา

ส่วนใน รายงาน 160 หน้า เมื่อปี 2561 ฟอร์ตี้ฟายไรต์เผยว่า รัฐบาลทหารเมียนมาและกลุ่มพลเรือนได้เตรียมการอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ เพื่อการโจมตีที่มุ่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อพลเรือนชาวโรฮิงญาในปี 2560 และเปิดเผยข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา การข่มขืนอย่างเป็นระบบต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง และการทำลายหมู่บ้านชาวโรฮิงญาหลายร้อยแห่งจนราบเป็นหน้ากลองในตอนเหนือของรัฐยะไข่ ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ 

นอกจากนี้ รายงาน 102 หน้า ของฟอร์ตี้ฟายไรต์เมื่อปี 2562 ยังเปิดเผยว่าทางการเมียนมารวมทั้งกองทัพ ได้บังคับหรือขืนใจให้ชาวโรฮิงญาต้องยอมรับการพิสูจน์สัญชาติ โดยเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการอย่างเป็นระบบเพื่อขจัดอัตลักษณ์ของชาวโรฮิงญา

 

“รัฐบาลทหารเมียนมาเป็นภัยคุกคามที่ไม่อาจปฏิเสธได้ต่อความสงบสุขและความมั่นคงระหว่างประเทศ” จอห์น ควินลีย์กล่าว “รัฐภาคีสหประชาชาติต้องตื่นตัว และดำเนินการโดยทันทีเพื่อขัดขวางไม่ให้รัฐบาลทหารเข้าถึงทรัพยากรที่ต้องการ และต้องตรวจสอบความรับผิดที่มีต่ออาชญากรรมทั้งปวง รวมทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้น”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net