Skip to main content
sharethis

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ พบ ผู้ลี้ภัยพม่า ในแม่สอด จ.ตาก ถูกตำรวจจับกุมและรีดไถเงิน หลังพยายามที่เข้ารับบริการสาธารณสุข เรียกร้องรัฐบาลไทยป้องกันไม่ให้มีการจับกุมโดยพลการและรีดไถเงินผู้ลี้ภัย และควรกำหนดสถานะคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย

 

27 ต.ค. 2566 ฟอร์ตี้ฟายไรต์เปิดรายงานการสอบสวนใหม่ของฟอร์ตี้ฟายไรต์เผยให้เห็นว่า ผู้ลี้ภัยจากพม่าที่เข้ารับบริการสาธารณสุข ถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมและรีดไถในอำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของไทย

“ผู้ลี้ภัยจากพม่าในประเทศไทยควรได้รับสถานะคุ้มครองทางกฎหมายโดยเร่งด่วน เพื่อประกันสิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อพวกเขา” แพททริก พงศธร ผู้เชี่ยวชาญการรณรงค์อาวุโส ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว “ผู้ลี้ภัยในอำเภอแม่สอดกำลังตกเป็นเหยื่อการรีดไถของตำรวจในพื้นที่ที่ดำเนินไปโดยไร้การตรวจสอบ การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเช่นนี้ และการขาดสถานะทางกฎหมายของผู้ลี้ภัยในประเทศไทย กำลังทำให้ชีวิตของพวกเขาตกอยู่ใต้ความเสี่ยง”

 

นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ฟอร์ตี้ฟายไรต์สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยจากพม่า 38 คน ในพื้นที่บริเวณพรมแดนประเทศไทย-พม่า โดยมีผู้ให้สัมภาษณ์แปดคนเป็นผู้หญิง ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังได้พูดคุยกับบุคคลอีกสี่คนที่มีความรู้เกี่ยวกับบริบทของบริการสาธารณสุขตามแนวพรมแดนประเทศไทยกับพม่า ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนชื่อจริงของประจักษ์พยานและผู้รอดชีวิตจากการถูกละเมิดฯ ที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้ เพื่อป้องกันมิให้พวกเขาเผชิญกับผลลัพธ์ใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง

“ชเว ซิน”

“ชเว ซิน” วัย 51 ปี จากรัฐฉาน พม่า ต้องการหาหมอเพื่อรักษาอาการข้อนิ้วอักเสบที่คลินิกอำเภอแม่สอด เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 แต่ก็ถูกตำรวจในพื้นที่เรียกให้หยุดตรวจ

“ตอนนั้นเวลาประมาณบ่ายโมง ตำรวจเรียกเราให้หยุด” “ชเว ซิน” บอกกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ “มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็รู้สึกกลัวตอนที่ตำรวจเรียกตรวจ พวกเราอยู่ใกล้คลินิกมากแล้ว...จนขนาดที่เรามองเห็นป้ายชื่อคลินิกแล้ว ตอนที่ตำรวจเรียกหยุดตรวจ”

จากนั้นตำรวจไทยก็ได้จับกุม “ชเว ซิน” และคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และพาตัวพวกเขาไปที่โรงพักแถวนั้น และซักถามเป็นเวลาสามชั่วโมง 

“จากนั้นมาดิฉันก็ไม่เคยไปที่คลินิกอีกเลย ดิฉันรู้ว่าหมอสามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วยของดิฉันได้ แต่ก็ไม่อยากเสี่ยงอีก” “ชเว ซิน” กล่าว

“จ่อ เอย์”

“จ่อ เอย์” วัย 46 ปี จากภาคพะโค พม่า บอกกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 เขาถูกตำรวจเรียกตรวจถึงสามครั้ง ระหว่างที่ไปหาหมอเพื่อรักษาอาการเบาหวาน

เหตุการณ์ครั้งแรกเกิดระหว่างทางไปคลินิก ตำรวจเรียกหยุดตรวจพวกเราตรงแยกใกล้กับป้อมจราจร....พอเราอธิบายว่าเรากำลังจะไปคลินิก พวกเขาก็ปล่อยเราไป....ครั้งที่สอง พวกเขาเรียกให้หยุดตรวจบนถนนตรงข้ามกับคลินิก ส่วนครั้งสุดท้าย เจ้าหน้าที่เรียกหยุดตรวจตรงที่ตลาดอำเภอแม่สอด ระหว่างที่เราเดินทางกลับจากคลินิก

เมื่อพูดถึงผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจต่อความสามารถของเขาในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข “จ่อ เอย์” บอกกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า 

“ผมรู้สึกว่า ผมคงต้องตายสักวันหนึ่งจากการถูกตำรวจเรียกตรวจ....ผมคงไม่มีทางได้รับการรักษาพยาบาลทันเวลาแน่นอน” จ่อ เอย์ กล่าว

“โม โม”

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังได้พูดคุยกับผู้ลี้ภัยอีกคนหนึ่ง “โม โม” วัย 52 ปี จากภาคพะโค ซึ่งเคยถูกจับติด ๆ กันในช่วงต้นปี 2565 ระหว่างที่เข้ารับบริการสาธารณสุขในอำเภอแม่สอด บอกว่า

ครั้งแรกที่ดิฉันถูกจับคือเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ตอนนั้นดิฉันมีอาการปวดตัวทางด้านขวา....พวกเราเดินทางออกจากบ้านหลังทานข้าวเช้าเสร็จ ตำรวจหยุดตรวจเราประมาณเก้าโมงครึ่ง ตรงทางแยกใกล้ถึงคลินิกซึ่งติดกับถนนใหญ่ พวกเขาซุ่มรออยู่ตรงมุมถนนและเรียกเราให้หยุด....ตอนนั้นดิฉันรู้สึกปวดมาก 

เจ้าหน้าที่ไทยได้จับกุม “โม โม” อีกครั้งในเดือนมีนาคม 2565 พร้อมกับสามีและลูกอีกสองคน ระหว่างที่เดินทางกลับจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่คลินิก

“หม่อง หม่อง”

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังพูดคุยกับบรรดาแพทย์ชาวพม่า ซึ่งหลบหนีมายังประเทศไทย หลังตกเป็นเป้าของการคุกคามของรัฐบาลทหารพม่า “หม่อง หม่อง” วัย 30 ปี แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปจากภาคย่างกุ้ง เป็นผู้ให้การรักษาพยาบาลผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร และได้ตั้งคลินิกขึ้นในพื้นที่ที่มีการสู้รบในรัฐกะเหรี่ยงและคะเรนนี เขาและภรรยาหลบหนีออกจากพม่าเมื่อเดือนมีนาคม 2565 หลังมีการโพสต์ข้อมูลส่วนตัวของเขาในช่องเทเลแกรมของกองทัพพม่า ทำให้เกิดความเสี่ยงภัยกับเขาอย่างยิ่ง

เมื่อเขาเดินทางมาถึงอำเภอแม่สอด “หม่อง หม่อง” ยังคงให้ความช่วยเหลือคลินิกที่เขาได้ร่วมก่อตั้งขึ้นมาในพม่า เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ตำรวจไทยได้บุกตรวจค้นบ้านพักของ “หม่อง หม่อง” และได้ยึดยารักษาโรคและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เขาเก็บรวบรวมมาเพื่อบริจาคให้กับคลินิกในพื้นที่สงครามในพม่า

“[ตำรวจ] ค้นบ้านพักของผม จากนั้นก็เห็นยารักษาโรค” “หม่อง หม่อง” บอกกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ “พวกเขาเห็นหลอดฉีดยาและขวดยา....เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่” จากนั้นตำรวจได้จับกุม “หม่อง หม่อง” และเอาตัวไปซักถามที่โรงพัก “พวกเขาถามผมว่า ‘คุณเป็นหมอหรือ?’ ผมบอกว่า ‘เปล่าเลย ผมไม่ได้เป็นหมอ’ [ในประเทศไทย] ผมแค่สนับสนุนผู้ลี้ภัย’ ถ้าพวกเขารู้ว่าผมเป็นแพทย์ พวกเขาก็คงขอเงินจากผมเพิ่มขึ้นอีก”

สุดท้ายเจ้าหน้าที่ไทยได้ปล่อยตัว “หม่อง หม่อง” และเอายาและเครื่องมืออื่น ๆ คืนให้กับเขา หลังจากที่เขายอมจ่ายเงินมากกว่า 30,000 บาทให้กับตำรวจในพื้นที่ ฟอร์ตี้ฟายไรต์เชื่อว่าการที่เจ้าหน้าที่เรียกรับเงินดังกล่าวเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย และยังเข้าข่ายเป็นการรีดไถ

“หม่อง หม่อง” เป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยหลายคนที่ระบุว่าถูกรีดไถโดยตำรวจไทยในอำเภอแม่สอด

“จ่อ มิน”

ตำรวจไทยจับกุม “จ่อ มิน” วัย 38 ปี จากเมืองย่างกุ้ง ระหว่างที่เขากำลังเดินทางกลับจากคลินิกแห่งหนึ่งในอำเภอแม่สอด หลังจากที่เขาได้ไปหาหมอเพื่อรักษาอาการติดเชื้อในดวงตา “ตำรวจจับผมบนถนน ก่อนจะถึงคลินิกประมาณสองกิโลเมตร [มากกว่าหนึ่งไมล์]” “จ่อ มิน” กล่าว เขายังบอกกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ต่อไปว่า

ล่าม [ที่โรงพัก] บอกกับผมว่า ‘ถ้าคุณอยากกลับบ้าน ก็ต้องยอมจ่ายเงิน’ .... ‘คุณไม่มีเอกสารประจำตัว [คุณก็] ต้องจ่ายเงิน 30,000 หรือ 40,000 [บาท]’ ผมจึงตอบว่า ‘ผมไม่มีเงิน [มีแค่] 5,000 [หรือ] 6,000 [บาท]’ พวกเขาเลยบอกว่า ‘8,000 แล้วกัน’ ผมก็เลยต้องจ่าย 8,000 บาท เพื่อจะได้กลับ [บ้าน]

“ชเว ซิน”

“ชเว ซิน” ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 เล่าถึงประสบการณ์ที่ถูกตำรวจไทยรีดไถว่า “ตอนนั้นดิฉันกำลังไปคลินิกเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ฉันจะได้รับการรักษาโดยไม่ต้องจ่ายเงิน ดิฉันก็เลยไม่ได้เอาเงินติดตัวไปด้วย ดิฉันบอกตั้งหลายครั้งกับ [ตำรวจไทย] ว่า งั้นก็จับดิฉันไปเลย เพราะดิฉันไม่สามารถจ่ายเงินได้ตามจำนวนที่พวกคุณเรียกหรอก”

สุดท้ายตำรวจก็ปล่อยตัว “ชเว ซิน” ไป โดยแลกกับเงินจำนวน 5,000 บาท “หลังจากนั้น พวกเขาก็ปล่อยตัวดิฉันไป” “ชเว ซิน” กล่าว “ดิฉันไม่ต้องเซ็นชื่ออะไรทั้งสิ้น และก็ไม่มีใบเสร็จด้วย”

ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยบอกว่า ความกลัวที่จะถูกจับกุม การไม่มีเอกสารยืนยันสถานะทางกฎหมาย การเข้าไม่ถึงประโยชน์จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐ และอุปสรรคด้านภาษา เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีความจำเป็นได้ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลหรือสถานให้บริการของรัฐ เหล่านี้ทำให้ผู้ลี้ภัยในแม่สอดมักจะต้องพึ่งพาคลินิกที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งดำเนินงานโดยองค์กรภาคประชาสังคม

“โม โม” บอกกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า เธอต้องเปลี่ยนวิธีที่ไปรับบริการสาธารณสุขสำหรับตัวเองและครอบครัว หลังจากถูกจับซ้ำติด ๆ กันในประเทศไทยเมื่อปี 2565

เราพยายามซื้อยามาตุนไว้ที่บ้านไว้ให้ได้มากที่สุด ตอนที่ลูก ๆ ฉันป่วย ฉันก็อาศัยซื้อยาจากร้านขายยาใกล้บ้าน ซึ่งมีพนักงานขายเป็นคนพม่า ถ้าไม่มีอาการร้ายแรงจริง ๆ พวกเราจะหลีกเลี่ยงไม่ไปคลินิก เพราะกลัวจะถูกจับ หรือกลัวว่าจะมีปัญหา

พันธกรณีตามกฎหมายที่จะต้องจัดให้ทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุข

ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยกว่า 90,000 คนจากพม่าในค่ายที่พักพิงชั่วคราวเก้าแห่งในประเทศไทย ตามข้อมูลของหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ทั้งยังมีผู้ลี้ภัยอื่น ๆ ที่ไม่ทราบจำนวน กำลังหลบซ่อนตัวอยู่ในอำเภอแม่สอด และพื้นที่อื่นทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะหลังการทำรัฐประหารในพม่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลไทย รายงานเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ว่า มีผู้ลี้ภัยจากพม่ากว่า 40,000 คนที่เข้ามาพักพิงอยู่ในประเทศไทย นับตั้งแต่การทำรัฐประหารในพม่า แต่รัฐบาลไทยแสดงข้อมูลที่เชื่อได้ยากว่าเกือบทั้งหมดเดินทางกลับพม่าไปหมดแล้ว

ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายต่อกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศ ที่จะต้องจัดให้มีการเข้าถึงบริการสาธารณสุขสำหรับบุคคลทุกคน รวมทั้งผู้ลี้ภัย มาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประเทศไทยประกันว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน” (หมายเหตุ : มาตรา 51 ดังกล่าวอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นยังบัญญัติสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา 47)

ประเทศไทยยังเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ซึ่งตามข้อ 12 ประเทศไทยมีพันธกิจต้อง “รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้” ตามข้อ 2 ของกติกานี้ ประเทศไทยยังมีพันธกิจต้องประกันสิทธิดังกล่าว โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ ในเรื่องชาติหรือสังคมดั้งเดิม

แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 หรือพิธีสารเลือกรับ พ.ศ. 2510 แต่อนุสัญญานี้กำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ลี้ภัยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในข้อ 23 ของอนุสัญญา ผู้ลี้ภัยจะต้องสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขในระดับเดียวกับพลเมืองของชาติที่ตนเข้าไปแสวงหาที่พักพิง

หากไม่มีกรอบกฎหมายที่เป็นผลเพื่อรับรองและคุ้มครองผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ผู้ลี้ภัยจะต้องถูกลงโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ของประเทศไทย ซึ่งห้ามการเข้ามาหรือพำนักอาศัยในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยต้องตกเป็นเหยื่อของการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ การไม่มีสถานะทางกฎหมายยังทำให้ผู้ลี้ภัยไม่สามารถใช้ประโยชน์จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างที่แรงงานต่างชาติมีสิทธิเข้าถึงได้

ในเดือนธันวาคม 2562 รัฐบาลไทย ประกาศจัดทำกลไกคัดกรองระดับชาติ (NSM) ซึ่งเป็นกลไกใหม่เพื่อจำแนกและให้ความคุ้มครองต่อผู้ลี้ภัยในประเทศไทย หลังจากล่าช้ามาหลายปี กลไกคัดกรองระดับชาติได้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 จากข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตำรวจไทยได้เริ่มกระบวนการคัดกรองดังกล่าว และระบุให้ผู้ที่ได้รับ “สถานะคุ้มครอง” สามารถเข้ารับบริการสาธารณสุข การศึกษา และบัตรผู้อยู่อาศัยชั่วคราวได้

ก่อนหน้านี้ บทวิเคราะห์ของฟอร์ตี้ฟายไรต์ต่อกฎเกณฑ์ภายใต้กลไกคัดกรองระดับชาติ (NSM) ได้แสดงความกังวลต่อบทบัญญัติหลายข้อที่กีดกันบุคคลบางจำพวก เช่น แรงงานชาวพม่า กัมพูชา และลาว ไม่ให้เข้าถึงการคุ้มครองในประเทศไทยโดยไม่จำเป็นและโดยพลการ

ประเทศไทยควรให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสารเลือกรับทันที และในระหว่างนี้ จะต้องมีการเปิดลงทะเบียนเพื่อให้สถานะของการคุ้มครองชั่วคราว และประกันการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เสมอภาคกับผู้ลี้ภัยจากพม่า ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว

“แนวปฏิบัติหลักของประเทศไทยต่อผู้ที่หลบหนีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในพม่านับเป็นความป่วยไข้อย่างหนึ่ง” แพททริก พงศธร กล่าว “ในวาระที่การประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลกใกล้จะมาถึง รัฐบาลใหม่ของไทยมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแนวทางนี้ ไม่ควรมีใครถูกจับเพียงเพราะเป็นผู้ลี้ภัย หรือเพราะพยายามเข้าถึงบริการสาธารณสุข”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net