Skip to main content
sharethis

กระทรวงแรงงานแจงข่าว 'ค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท' ไม่เป็นความจริง

17 มี.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อโซเซียลได้เผยแพร่ข่าวประกาศ เตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 492 บาท (รอการอนุมัติตัวเลข) โดยอธิบายว่าข่าวดังกล่าวบิดเบือนไม่เป็นความจริง เนื่องจากข้อเท็จจริงในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้งนั้น มีคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง พิจารณาและปรึกษาหารืออย่างรอบคอบก่อนจะได้ข้อยุติร่วมกัน

แม้ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบันแล้ว ในปี 2565 คณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดแผนการทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร

ดำเนินการจัดประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใด จากนั้นคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาข้อมูลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565

นายสุชาติกล่าวว่า โดยปกติข้อเท็จจริงในการขึ้นค่าจ้างนั้น มีระบบไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา ถึงความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์สากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) หรือ ไอแอลโอ ซึ่งเป็นผู้กำหนดให้ดำเนินการด้วยหลักเกณฑ์ที่มีเหตุมีผล สามารถตอบสังคมได้

“ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ในระดับต้น ๆ ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ สูงกว่าเวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา นักลงทุนหลายประเทศจึงเลือกที่จะย้ายฐานการผลิตเพื่อไปหาแหล่งค่าจ้างที่ถูกกว่า ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเคยให้สัมภาษณ์และตอบกระทู้สดในสภาไปแล้วว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องของภาวะเงินเฟ้อกี่เปอร์เซ็นต์ บวกกับค่าครองชีพแต่ละจังหวัดนั้น ๆ”

“ถ้าจะขึ้นทั้ง 30%-40% ผมเชื่อว่าไม่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และค่าแรงคนงานของประเทศไทยส่วนมากพี่น้องคนไทยมีทักษะความสามารถได้ค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ค่าแรงขั้นต่ำที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันส่วนมากกว่า 80% เป็นส่วนของคนต่างด้าว 3 สัญชาติที่เข้ามาทำงานเป็นกรรมกร”

“ถ้าเราจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 กว่าเป็น 400 กว่าเกือบ 40% ผมเชื่อว่าไม่มีบริษัทไหนอยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะบริษัทต่าง ๆ รักษาการจ้างงานมา 2 ปี ขาดทุนจ่ายเงินให้ค่าจ้างแรงงาน เพื่อรักษาการจ้างงาน เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจะตัดทิ้ง 40% มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีเหตุผล”

นายสุชาติกล่าวด้วยว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับแน่นอน แต่จะต้องพิจารณาตามภาวะเงินเฟ้อกับค่าครองชีพแต่ละจังหวัดด้วย ขอให้ทุกคนรอฟังข่าวจากกระทรวงแรงงานเท่านั้น ส่วนข่าวที่ปรากฏออกมาตามสื่อโซเซียลนั้นมาจากกลุ่มเรียกร้องค่าแรง

ซึ่งเป็นข่าวบิดเบือนไม่เป็นความจริง ผมได้เรียกกลุ่มที่เรียกร้องค่าแรงมาหารือแล้ว และได้อธิบายเหตุผลไปทั้งหมดแล้วว่า นายจ้างเคยจ่ายค่าจ้างเดือนละ 1,000,000 บาท ขาดทุนมา 2 ปี พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับต้องมาจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 – 1.4 ล้านบาท

“แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้ขึ้นค่าจ้าง แต่รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาตั้งแต่โครงการ ม33เรารักกัน คนละ 6,000 บาท โครงการคนละครึ่ง เยียวยากรณีถูกหยุดงานจากมาตรการของรัฐเป็นเวลา 3 เดือน คนละ 5,000 บาท เป็นเงิน 15,000 บาท ลดเงินสมทบประกันสังคมค่างวด 3 เดือน 4 ครั้ง เยียวยาอาชีพอิสระ คนกลางคืน”

“ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้วและผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไม่เคยนิ่งนอนใจ รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้เป็นห่วงและให้ความสำคัญมาตลอด จึงนำนโยบายช่วยเหลือเยียวยาทางอ้อมทุกเรื่องให้กับพี่น้องประชาชน ผู้ใช้แรงงานมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน”

“ได้ช่วยเหลือเยียวยาทุกมาตรการทุกอย่าง เพื่อชดเชยการที่ไม่ได้ขึ้นค่าแรงให้สถานการณ์ปี 2563 และ 2564 ซึ่งช่วงนั้นโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก วัคซีนไม่มี อย่าว่าแต่การขึ้นค่าแรงเลยโรงงานทุกโรงงานต้องแก้ปัญหาเรื่องระบาดเอาวัคซีนฉีดให้เกิดโครงการแฟคทอรี่แซนด์บ็อกซ์ เพื่อส่งออกใน 4 ประเภทกิจการ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหารแช่แข็ง และอุปกรณ์การแพทย์ ได้เติบโต ซึ่งพนักงานได้โบนัส 7-8 เท่า ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งต่าง ๆ ที่เราได้ทำเพื่อพี่น้องประชาชน พี่น้องผู้ใช้แรงงาน”

นายสุชาติกล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ก็มีออกมาเรื่อยๆ ทั้งช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME) รายละ 3,000 บาท รักษาระดับการจ้างงานให้ลูกจ้างเกือบ 5,000,000 คน ทำให้คนเหล่านี้ไม่ต้องตกงาน

“ดังนั้นขอให้ทุกคนเข้าใจและเชื่อมั่นว่ากระทรวงแรงงานจะติดตามการช่วยเหลือเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19 อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามกฎหมายต่อไป”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 17/3/2565

อนุมัติงบประมาณจ้าง 'ครู-เจ้าหน้าที่ธุรการ-ภารโรง'

15 มี.ค. 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าตอบแทนและค่าจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการสำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และ โรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ วงเงินทั้งสิ้น 1,848,047,228 บาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนและค่าจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ เช่น บุคลากรสนับสนุนการปฏิบัติงานเขต ลูกจ้างตำแหน่งธุรการโรงเรียน นักการภารโรง ครูคลังสมอง ครูจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว เจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ พี่เลี้ยงเด็กพิการ และตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าบุคลากรเหล่านี้จะได้รับเงินเดือนต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2565 หรือ สิ้นเดือนกันยายนนี้อย่างแน่นอน

รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า สำหรับการอนุมัติงบฯดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จัดสรรมาให้ เนื่องจากงบประมาณปกติเรามีไม่เพียงพอ ซึ่ง สพฐ.มีอัตราจ้างจำนวน 61,119 อัตรา ซึ่งที่ผ่านมาได้ขอตั้งงบประมาณดังกล่าวมาแล้ว 4,379 ล้านบาท อีกทั้งมีงบประมาณประจำปีเพิ่มอีก 2,531 ล้านบาท ดังนั้น การขออนุมัติงบกลางที่เป็นงบฉุกเฉินนี้ก็เพื่อให้ได้เงินที่เพียงพอต่อการจ้างและไม่สะดุดและครอบคลุมกลุ่มอัตราจ้างทุกคน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 16/3/2565

ก.แรงงาน ประเดิม 15 มี.ค. ทำงานพื้นที่ 8 จว.ชายแดน แบบไป-กลับ/คุมเข้มโควิด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันแรกที่กระทรวงแรงงานเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวตามมาตรา 64 เพิ่มขึ้นในจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ สระแก้ว ตราด เชียงราย ตาก กาญจนบุรี และระนอง รวม 8 จังหวัด เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย หลังจากสำรวจความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวของนายจ้าง สถานประกอบการ และพบความต้องการจ้างแรงงานในพื้นที่ 8จังหวัด จำนวน 32,479 คน จึงมีการเร่งดำเนินการวางแนวทางการนำคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาและกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานบริเวณชายแดนในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาลในพื้นที่ ทั้งนี้ ตามข้อตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างประเทศทั้งสอง ( มาตรา 64) โดยใช้แนวทางเดียวกับการนำเข้าแรงงานชาวกัมพูชามาทำงานตามฤดูกาลภาคเกษตรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ที่เปิดนำร่องการนำเข้าฯเป็นจังหวัดแรก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ซึ่งขณะนี้กรมการจัดหางานได้เตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามมาตรา 64 เป็นที่เรียบร้อย ตามที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีข้อสั่งการ

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่ากรมการจัดหางานจัดทำแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมาเข้ามาทำงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID19) โดยมี 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1.นายจ้างประสานลูกจ้าง เพื่อจัดเรียมเอกสารและนัดหมายวันเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อให้แรงงานต่างด้าวเตรียมหลักฐาน ได้แก่ หลักฐานการตรวจโควิด - 19 โดยวิธี RT- PCR หรือผลรับรองการตรวจ ATK ไม่เกิน 72 ชม.ก่อนเดินทางเข้ามา เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็มและบัตรผ่านแดนที่ประเทศต้นทางออกให้ หรือเอกสารอื่นที่อธิบดีกรมการจัดหางานประกาศกำหนด 2.ด่านควบคุมโรคติดต่อฯ ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการตรวจโควิด - 19 และเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็มและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลดำเนินการตรวจโรคตามกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนต่างด้าว และทำประกันสุขภาพระยะเวลา 3 เดือน และออกใบรับรอง ต.8

3.ด่านตรวจคนเข้าเมืองฯ ดำเนินการตรวจบัตรผ่านแดนที่ประเทศต้นทางออกให้ หรือเอกสารอื่นที่อธิบดีกรมการจัดหางานประกาศกำหนด และดำเนินการตรวจประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรในบัตรผ่านแดน เป็นระยะเวลา 30วันต่อครั้ง 4.สถานที่กักตัว โดยคนต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนมาจากประเทศต้นทางครบแล้วให้เข้ารับการกักตัวอย่างน้อย 7 วันและให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT - PCR จำนวน 2 ครั้ง กรณีตรวจพบเชื้อให้เข้ารับการรักษาโดยนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษา 5.การขอรับใบอนุญาตทำงาน โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดฯ ดำเนินการตรวจสอบเอกสาร ได้แก่ 1.คำขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าวตามมาตรา 64 (แบบบต.29) 2.สำเนาบัตรผ่านแดนหรือเอกสารซึ่งอธิบดีกรมการจัดหางานประกาศกำหนด และสำเนาหลักฐานการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร 3.ใบรับรองแพทย์ (6 โรค) 4.รูปถ่ายขนาด 3 x 4 ซม.จำนวน 3 รูป 5.สัญญาจ้างและหนังสือรับรองการจ้าง 6.เอกสารนายจ้าง 7.หลักฐานการกักตัวครบกำหนดไม่พบเชื้อ โดยจัดเก็บค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอ ฉบับละ 100 บาท ค่าใบอนุญาตทำงาน ฉบับละ 225 บาทและออกใบอนุญาตทำงานแบบ บต.40 ไม่เกิน 3 เดือน

ที่มา: แนวหน้า, 16/3/2565

ครม. เห็นชอบต่ออายุ ใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (MOU) ที่ครบวาระการจ้างงาน ครบ 4 ปี ในปี 2565 นี้ ออกไปอีก 2 ปี

15 มี.ค. 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ซึ่งเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงาน (Agreement) ในปี 2561 ซึ่งมีวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ในปีนี้ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2565 ให้ให้สามารถดำเนินการขออนุญาตทำงานหรือขอต่ออายุใบทำงานและขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่เป็นการชั่วคราวต่อไปได้อีกไม่เกิน 2 ปี โดยไม่ต้องเดินทางกลับออกไปทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาที่คนต่างด้าวไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยได้โดยสะดวกในขณะนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งเป็นการตอบสนองต่อนายจ้างหรือผู้ประกอบการที่ยังมีความต้องการแรงงานที่เป็นคนต่างด้าว เพื่อให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของประเทศในการป้องกันการแพร่ระบาด ระลอกใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการทำงานสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาวและเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ .... เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปได้เป็นกรณีพิเศษอีก 6 เดือน เพื่อดำเนินการขออนุญาตทำงานหรือต่ออายุใบอนุญาตทำงาน อีกไม่เกิน 2 ปีต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีคนต่างด้าว ภายใต้ MOU ในวาระการจ้างงานจะครบ 4 ปี จำนวนทั้งสิ้น 106,580 คน กัมพูชา 26,840 คน ลาว 25,504 คน เมียนมา 54,236 คน ทั้งนี้ ทางการของประเทศกัมพูชา ลาวและเมียนมา ก็ได้มีหนังสือ เห็นชอบกับการดำเนินการดังกล่าวด้วยแล้ว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 15/3/2565

ซาอุฯ เยือนไทยเตรียมจัดหาแรงงานไทย-ออกวีซ่าระบบอิเล็กทรอนิกส์

13 มี.ค. 2565 ดร.อัฎนัน อับดุลลาห์ อัล-นาอีม (Dr. Adnan Abdullah M. Alnuim) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (Deputy of Minister for International Affair) กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมซาอุดีอาระเบีย และคณะทางวิชาการของซาอุดีอาระเบีย ได้เดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวานนี้ (12 มี.ค. 2565) ด้วยสายการบินกาตาร์แอร์เวย์ เที่ยวบินที่ QR838

เพื่อมาปฏิบัติภารกิจสำคัญในการประชุมเชิงวิชาการเกี่ยวกับการจัดหางานแรงงานระหว่างกระทรวงแรงงานของไทยและกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมซาอุดีฯ การนำเสนอระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการจ้างงานและการออกวีซ่าของซาอุดีฯ การประชุมหารือระหว่างสำนักงาน บริษัทจัดหางานไทยและซาอุดีฯ รวมทั้งการเยี่ยมชมการฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงาน ระหว่างวันที่ 12-16 มี.ค. 2565 โดยมีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ร่วมให้การต้อนรับ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 14/3/2565

สปส.ออกหนังสือถึง รพ.คู่สัญญาทั่วประเทศเข้าร่วม 'เจอ แจก จบ'

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด เรื่อง "แจ้งหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19" โดยระบุว่า ตามแนวทาง "เจอ แจก จบ" ด้วยคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษาชุดที่ 13 มีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคโควิด19 โดยมีแนวทางการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ดังนี้

1.ปรับลดอัตราค่าตรวจคัดกรองด้วยวิธี ATK และ RT-PCR 2 ยีนส์ และ 3 ยีนส์ แบบสว็อปและน้ำลาย ทั่งนี้ สำหรับการตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

2.กรณีผู้ประกนตนที่ได้รับการตรวจคัดกรองด้วยวิธี ATK ผลเป็นบวก(อาการสีเขียว) สามารถเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาในที่พัก ระหว่างรอเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล (Home Isolation) และการดูแลรักษาในโรงพยาบาลสนาม สำหรรับการดูแลรักษาและแยกกักในชุมชน (Community Isolation) สำนักงานประกันสังคมจ่ายชดเชยในลักษณะเหมาจ่ายตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 เป็นต้นไป เว้นแต่กรณีผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารับการรักษาแบบ HI และ CI ได้ให้เข้ารับการรักษาประเภทฮอสปิเทล (Hospitel) สำหรับการรักษา 7 วันในระยะเวลา 2 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-30 เม.ย.2565

3.กรณีผู้ประกันตนทีได้รับการตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR ผลเป็นบวก ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล ให้ปรับปรุงอัตราค่าห้อง อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล PPE และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระบวนการ อุปกรณ์อื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อตามระดับเตียง ระดับ 1-3

สำนักงานประกันสังคม พิจารณาแล้วเพื่อให้การบริการรักษาและการจ่ายเงินบริการทางการแพทย์กรณีผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อโควิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

จึงขอให้สถานพยาบาลของท่านให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคโควิด ตามแนวทาง "เจอ แจก จบ" ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง เข้ารับบริการประเภทผู้ป่วยนอก ในสถานพยาบาลรัฐและเอกชนในระบบประกันสังคมทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 เป็นต้นไป

โดยสำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลตามแนวทางที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ดังนี้

1.ค่าบริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ หรือผู้ป่วยโรคโควิดที่ไม่มีภาวะเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด แบบบริการผู้ป่วยนอก จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาทต่อราย โดยครอบคลุมรายการ ดังนี้

(1) ค่าบริการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในการแยกกักตัวที่บ้าน

(2) การให้ยาที่เป็นการรักษาโรคโควิด ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร หรือยาฟาวิพิราเวียร์(เบิกจากกระทรวงสาธารณสุข) ตามแนวทางกรมการแพทย์ และหรือยารักษาตามอาการรวมค่าจัดส่ง เป็นต้น

(3) การประสานติดตามอาการเมื่อให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง

(4) การจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ

2.ค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้น เมื่อได้รับคำปรึกษาจากผู้ป่วยโควิด หลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมงไปแล้ว เมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง หรือให้ปรึกษาอื่นๆ จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 300 บาทต่อราย สำหรับหน่วยบริการที่ให้การดูแลตามข้อ 1

ในการนี้ แนวทาง "เจอ แจก จบ" ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการแพทย์ในการประชุมครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2565 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าว ลงนามโดย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการ สปส.

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 12/3/2565

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net