Skip to main content
sharethis

แม้บางประเทศในยุโรปประกาศต้อนรับผู้ลี้ภัยสงครามจากยูเครน แต่ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยทุกคนที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะคนเชื้อชาติสีผิวอื่นนอกยุโรป ซึ่งพวกเขาต้องเผชิญการถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติอย่างไม่ธรรม อย่างในโรมาเนีย จนท.ใช้กำลังลากตัวผู้ลี้ภัยหญิงชาวชาติพันธุ์ 'โรมานี' หรือยิปซี ออกจากห้องสำหรับผู้ลี้ภัย หรือที่โปแลนด์ ตร.ใช้ปืนเล็งนักเรียนเชื้อสายแอฟริกัน และอื่นๆ 

   


17 มี.ค. 65 เว็บไซต์ ‘Foreign Policy in Focus’ (FPIF) เผยแพร่บทความเมื่อ 15 มี.ค. 65 เขียนโดย Abdoulie Nijai, Micaela Torres ซึ่งเป็น 2 นักศึกษาแพทย์ และ Margareta Matache ครูผู้สอนและผู้อำนวยการของโครงการโรมานี แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด โดยบทความดังกล่าวเปิดเผยให้เห็นวิกฤตมนุษยธรรม และการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อผู้ลี้ภัยจากสงครามยูเครน 

นับตั้งแต่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ใช้กำลังรุกรากยูเครนเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากต้องเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีกลุ่มคนผิวดำและผิวสีน้ำตาลรวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม พวกเขากลับถูกเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติจากประเทศรอบข้าง เช่น มีกรณีที่ตำรวจในประเทศโรมาเนียใช้กำลังรุนแรงต่อหญิงชาวชาติพันธุ์ ‘โรมานี’ (ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของยุโรปที่มีเชื้อสายมาจากยุคกลางของอินเดีย และมักถูกเรียกว่า ‘ยิปซี’) ออกจากห้องที่จัดไว้ให้เฉพาะผู้ลี้ภัย หรือมีกรณีที่ตำรวจโปแลนด์ใช้ปืนเล็งที่นักเรียนและนักศึกษาเชื้อสายแอฟริกัน 

สงครามยูเครน (ที่มา เฟซบุ๊ก สถานทูตยูเครน ประจำประเทศไทย)

ผู้เขียนบทความทั้ง 3 คน มองว่า แม้ว่าวิกฤตการณ์ในยูเครนทำให้เห็นตัวอย่างมากมายที่สะท้อนความเป็นอันหนึ่งอันเดียว และการยืนหยัดเพื่อต่อต้านรัสเซียในระดับโลก แต่กลุ่มสื่อมวลชน นักการเมือง ภาคประชาาสังคม และประชาคมโลกกลับเอาแต่ส่งสัญญาณต่อโลกว่า การคร่าชีวิตคนผิวขาวเท่านั้นที่ถูกนับเป็นการโจมตีต่อมนุษยชาติ

พวกเขายกตัวอย่างแถลงการณ์ล่าสุดของ เดวิด ซาควาเรลิดเซ อดีตรองอัยการสูงสุดของยูเครน ที่ระบุว่า สงครามที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสะเทือนอารมณ์ความรู้สึกของเขาอย่างมาก เนื่องจากเขาต้องเห็นชาวยุโรปที่มีตาสีฟ้า และผมสีบลอนด์ ถูกคร่าชีวิตทุกวัน จากถ้อยแถลงดังกล่าวผู้เขียนชี้ว่า วาทกรรมจากแถลงการณ์นี้ส่งเสริมภาพเหมารวมคู่ตรงข้ามแบบเก่า ระหว่างกลุ่มที่มีความศิวิไลซ์กับกลุ่มที่มีความป่าเถื่อน ซึ่งภาพเหมารวมคู่ตรงข้ามแบบนี้เป็นสิ่งที่คนยุโรปมักนำเสนอว่า ตัวเองดูศิวิไลซ์และมีสันติภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับชาวแอฟริกันหรือชาวตะวันออกกลาง

คนที่หนีออกจากยูเครนต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ครอบครัวคนรัก การศึกษา และการงาน เพื่อไปให้ถึงชายแดนอย่างปลอดภัย แต่พอไปถึงที่ชายแดนแล้ว พวกเขากลับได้รับการช่วยเหลือที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับอัตลักษณ์และค่านิยมทางสังคมของแต่ละประเทศ มีนักเรียนนักศึกษาเชื้อสายแอฟริกันจำนวนมากกล่าวว่า พวกเขาต้องรออยู่ที่ชายแดนโปแลนด์หลายชั่วโมงท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บ แต่รถเมล์ที่พาชาวยูเครนผิวขาวกลับได้รับอนุญาตให้ผ่านไปได้ แม้กระทั่งห้องของโรงแรมก็ถูกจัดเอาไว้ให้ "ชาวยูเครน" โดยเฉพาะเท่านั้น

ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่ในยูเครนแล้ว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของยูเครนจะคอยคัดกรองผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้ขึ้นรถบัสและรถไฟไปยังพื้นที่ปลอดภัย เรื่องนี้สะท้อนว่ามีแต่ชาวยูเครนเท่านั้นที่มีค่าพอที่จะได้รับพื้นที่สำหรับยานพาหนะขนส่งมวลชน แต่ชาวแอฟริกันในประเทศยูเครนกลับต้องเผชิญการกีดกัน เนื่องด้วยที่ยูเครนมีอุดมการณ์เหยียดเชื้อชาติที่ตกทอดมาแล้วหลายยุคหลายสมัย

มีชาวไนจีเรียจำนวนมากที่ยังคงติดอยู่ในยูเครน เพราะพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่ประเทศที่เปิดรับผู้ลี้ภัยจากสงครามที่รัสเซียเป็นผู้ก่อ ผู้คนเหล่านี้นอกจากต้องเผชิญกับบาดแผลทางใจจากการอพยพออกจากพื้นที่สงครามแล้ว พวกเขายังเผชิญกับการถูกประทุษร้ายทั้งทางร่างกายและทางวาจาจากเจ้าหน้าที่ชายแดน มีวิดีโอและคำบอกเล่าจากนักเรียนนักศึกษาแอฟริกันที่แสดงให้เห็นถึงการกีดกันเลือกปฏิบัติ และการเหยียดเชื้อชาติอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่เขาพยายามจะอพยพไปยังที่ๆ ปลอดภัย     

เมื่อ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา มูฮัมมาดู บูฮารี ประธานาธิบดีของไนจีเรีย แถลงข่าวมีใจความว่า "ทุกคนที่หนีจากสถานการณ์ความขัดแย้ง ต้องมีสิทธิโดยเท่าเทียมกันในการเดินทางอย่างปลอดภัย ภายใต้อนุสัญญาแห่งสหประชาชาติ และไม่ว่าสีของพาสสปอร์ตและสีผิวจะเป็นสีใดก็ตาม เรื่องเหล่านั้นไม่ควรกลายเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาถูกปฏิบัติแตกต่างกัน" 

มูฮัมมาดู บูฮารี ประธานาธิบดีของไนจีเรีย (ที่มา Chatham House, London)

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนชาวไนจีเรีย เมื่อ 2 มี.ค. 65 ผู้นำไนจีเรียรับรองงบประมาณสำรองจำนวน 8.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการให้ความช่วยเหลือการอพยพเคลื่อนย้ายพลเรือนชาวไนจีเรีย

ผู้เขียนกล่าวต่อว่า สิ่งที่ประเทศยุโรปเคยบอกต่อโลกตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือ พวกเขามีอำนาจและความเต็มใจที่จะเปิดประตูรับผู้ลี้ภัย แต่นั่นเหมือนจะจำกัดเฉพาะคนที่ดูเหมือน ‘ชาวยุโรป’ เท่านั้น เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา มาริอุซ คามินสกี รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของโปแลนด์ ประกาศว่า "ใครก็ตามที่หนีจากระเบิด จากปืนไรเฟิลของรัสเซีย มาขอพึ่งพาประเทศโปแลนด์ได้" อย่างไรก็ตาม 1 เดือนก่อนหน้าคำประกาศนี้ หรือ ม.ค. 65 รัฐบาลเดียวกันนี้ใช้งบฯ ราว 353 ล้านยูโร ไปกับการสร้างกำแพง เพื่อกีดกันผู้ลี้ภัยที่มาจากซีเรีย ชาวอิรักจากพื้นที่เคอร์ดิสถาน และจากอัฟกานิสถาน

อีกประเทศหนึ่งในยุโรปที่มีการกีดกันผู้ลี้ภัยบนฐานของเชื้อชาติและสีผิว คือ ‘ฮังการี’ พวกเขาต้อนรับชาวยูเครนมากกว่า 255,000 ราย แต่ก็สร้างรั้วไฟฟ้ากั้นไม่ให้ผู้ลี้ภัยอื่นๆ เข้าประเทศ นอกจากนี้ ในปี 2560 วิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวถึงผู้ลี้ภัยที่มาจากแอฟริกาและตะวันตกกลางที่ต้องการความปลอดภัยในชีวิตว่า "เป็นภัยต่อวิถีชีวิตแบบยุโรป" วิกฤตมนุษยธรรมในประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรมากกับยูเครน ผู้คนล้มตายจากสงคราม จากความอดอยาก และการขาดแคลนสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่สภาพเหล่านี้ก็ถูกทำให้กลายเป็นเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติ และคาดหวังได้ว่าจะเกิดขึ้นในประเทศของกลุ่มคนผิวสี

วิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี (ขวา) จับมือกับ ไมค์ ปอมเปโอ (ซ้าย) รมว.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ

ยูเครนควรได้รับการสนับสนุนและการยืนหยัดเคียงข้างจากประชาคมโลก และสมควรได้รับความช่วยเหลือแบบที่พวกเขาได้รับในตอนนี้ จุดนี้เองควรจะเป็นมาตรฐานสำหรับการวางมาตรการช่วยเหลือด้านมุนษยธรรม และความช่วยเหลือแบบเดียวกันนี้ควรจะส่งไปถึงที่ต่างๆ บนโลก เช่น เยเมน, ซีเรีย, อัฟกานิสถาน, โซมาเลีย, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, ซูดานใต้, อิหร่าน หรือเวเนซุเอลา พวกเราควรจะเลิกคิดว่าวิกฤตมนุษยธรรมในประเทศอื่นๆ เป็นเรื่องปกติได้แล้ว ซึ่งรวมถึงในตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และที่อื่นๆ

ผู้เขียนบทความให้ FPIF ระบุว่า พวกเขายืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวยูเครนจากการที่พวกเขาต้องประสบกับแผลทางใจในช่วงสงคราม และถูกบีบให้ต้องทิ้งบ้านเกิดและคนที่พวกเขารัก และพวกเขาเรียกร้องให้มีการตอบสนองแบบเดียวกัน รวมถึงการให้ความคุ้มครองแก่เหยื่อสงครามที่เป็นคนผิวสี การจัดสรรทรัพยากรและนโยบายเปิดประตูรับผู้ลี้ภัยของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านยูเครน ถือเป็นการช่วยเหลืออย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันท่ามกลางวิกฤต

"นี่ไม่ใช่วิกฤตมนุษยธรรมครั้งแรก และจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย พวกเรามีพลัง โครงสร้าง และทักษะ ในการให้ความช่วยเหลือทุกประเทศเมื่อมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น แทนที่จะสร้างกำแพงเพื่อกีดกันผู้คนออกไป พวกเราจำเป็นต้องแก้ไขระบบที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ผู้คนหนีออกจากบ้านเกิด และประชาคมโลกควรพิสูจน์ให้เห็นว่า เม็ดสีบนผิวหนังของผู้คนไม่ใช่สิ่งที่จะตัดสินว่า ชีวิตของคนๆ หนึ่งสมควรได้รับการช่วยเหลือหรือไม่" ผู้เขียนทิ้งท้าย


เรียบเรียงจาก

UKRAINE: THE REFUGEE DOUBLE STANDARD, Foreign Policy In Focus, 15-03-2022
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net