Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผย ตร.คุกคามถึงบ้านอดีตนักกิจกรรมหญิงในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยไม่ทราบสาเหตุ - ฟ้อง ม.112 หนุ่มเมืองนนท์ เหตุวางเพลิงรูป ร.10 ที่บางกรวย อัยการขอศาลพิจารณาคดีลับ อ้างเพื่อความสงบเรียบร้อย-ศีลธรรมอันดีของประชาชน

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งกรณีอดีตนักกิจกรรมหญิงในพื้นที่จังหวัดทางภาคตะวันออก ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวน 5 – 6 นาย เข้าติดตามคุกคามถึงที่บ้าน โดยไม่ทราบสาเหตุ 

อดีตนักกิจกรรมหญิงเล่าเหตุการณ์ว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565 เวลาประมาณเที่ยง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 5 – 6 นาย ขับรถกระบะ 4 ประตู สีบรอนซ์ ไปที่บ้านของเธอที่อยู่ในภาคตะวันออก ซึ่งเธอไม่ได้อาศัยอยู่ที่นั่นแล้ว 

ตำรวจได้พบกับพ่อแลเแม่ของอดีตนักกิจกรรมหญิงรายนี้ และได้แจ้งครอบครัวของเธอว่า มาเพื่อตรวจเช็คให้เป็นไปตามความเรียบร้อย แต่ไม่ระบุสาเหตุแน่ชัด

อย่างไรก็ตาม อดีตนักกิจกรรมหญิงยืนยันว่าเธอเพียงแต่เคยร่วมจัดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลในพื้นที่ระหว่างช่วงปี 2563 เท่านั้น ปัจจุบันไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมการแสดงออกหรือเคลื่อนไหวใดๆ แล้ว จะมีก็เพียงแต่เคยไปดูกิจกรรมที่กลุ่มอื่นเป็นผู้จัดเท่านั้น 

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มได้ในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ฟ้อง ม.112 หนุ่มเมืองนนท์ เหตุวางเพลิงรูป ร.10 ที่บางกรวย อัยการขอศาลพิจารณาคดีลับ อ้างเพื่อความสงบเรียบร้อย-ศีลธรรมอันดีของประชาชน

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรีได้ยื่นฟ้อง “โชติช่วง” (นามสมมติ) อายุ 28 ปี ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ”, มาตรา 217 “วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น”, และมาตรา 358 “ทำให้เสียทรัพย์” ในคดีความสืบเนื่องจากการที่เขาถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้เผาพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ซึ่งติดตั้งอยู่ที่สวนหย่อมใต้ทางต่างระดับบางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. โชติช่วงถูกจับกุมที่บ้านพักในจังหวัดนนทบุรี ตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรีที่ออกในวันเดียวกันนั้น ซึ่งระบุเพียงข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ จากนั้นชุดจับกุมได้เข้าตรวจค้นห้องพักและตรวจยึดสิ่งของหลายรายการ รวมทั้งโทรศัพท์มือ โดยไม่มีหมายค้น ต่อมา โชติช่วงถูกนำตัวไปที่ สภ.ปลายบาง เพื่อทำบันทึกจับกุม แจ้งข้อกล่าวหา และสอบปากคำ โดยโชติช่วงให้การรับสารภาพ 

อย่างไรก็ตาม วันต่อมา (23 พ.ย. 2564) พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาโชติช่วงเพิ่มเติม ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ซึ่งโชติช่วงให้การปฏิเสธในข้อหาดังกล่าว ทั้งนี้ ตลอดกระบวนการที่ สภ.ปลายบาง โชติช่วงไม่มีทนายความที่เขาไว้วางใจเข้าร่วมด้วย ก่อนพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขัง โดยศาลจังหวัดนนทบุรีอนุญาตให้ฝากขัง และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวน กำหนดหลักทรัพย์ประกันเป็นเงิน 300,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ นัดรายงานตัวต่อศาลวันที่ 16 ก.พ. 2565

เมื่อโชติช่วงเข้ารายงานตัวตามสัญญาประกันในวันที่ 16 ก.พ. 2565 และรับทราบคำฟ้องของอัยการแล้ว ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในชั้นพิจารณาโดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิม กำหนดนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 23 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มได้ในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net