Skip to main content
sharethis

'รังสิมันต์ โรม' พรรคก้าวไกล ชี้การเล่นเกมสภาล่มเพื่อหวังให้มีการยุบสภา เป็นการทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐสภา มากกว่าจะทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ พร้อมย้ำว่า ส.ส. มีหน้าที่เข้าสภาไปผ่านกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน


รังสิมันต์ โรม ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล | แฟ้มภาพ

5 ก.พ. 2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่ารังสิมันต์ โรม ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ออกมาชี้แจงกรณีที่มีการพาดพิงว่า พรรคก้าวไกลไม่เคารพมติพรรคร่วมฝ่ายค้านเรื่องการแสดงตนในการนับองค์ประชุม โดยระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้ฝืนมติ และทำผิดมารยาททางการเมือง เพราะพรรคก้าวไกลได้แจ้งต่อพรรคร่วมฝ่ายค้านทราบล่วงหน้าแล้ว

“ผมยืนยันว่า การแสดงตนของพรรคก้าวไกลในวันพุธที่มีร่างธรรมนูญศาลทหารและ พ.ร.บ. สุรา ของก้าวไกลเข้าสภา เราได้มีการแจ้งให้พรรคร่วมทราบล่วงหน้าตั้งแต่ประชุมแล้ว วันนี้ที่มีรายงานคลองไทยเข้า มติพรรคร่วมกำหนดว่า ห้ามแสดงตน เพื่อทดสอบองค์ประชุมของรัฐบาล ส.ส. ก้าวไกลส่วนใหญ่ยึดตามนั้น แต่ปรากฎว่าเป็นเพื่อไทยไม่ปฏิบัติตามมติ ก้าวไกลจึงตัดสินใจว่า เราจะยืนยันจุดยืนของเรา คือ การแสดงตน ในวาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน”

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า การเล่นเกมสภาล่ม เพื่อหวังให้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบสภานั้นเปรียบเหมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตน เพราะที่ผ่านมา เกิดเหตุสภาล่มมาแล้วหลายครั้ง หรือแม้กระทั่งได้รับเสียงไว้วางใจน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ ก็ไม่เคยสนใจท่าทีของสภาเลย

“เรื่องคะเนกันว่าสุดท้ายประยุทธ์ จะยุบสภาถ้า #สภาล่ม บ่อยๆ เห็นล่มไม่รู้กี่ครั้งแล้ว ก็ไม่เห็นจะยุบสักที เกมที่เล่นกันอยู่แทนที่จะทำลายประยุทธ์ กลับทำลายเครดิตสภา ทำลายความหวังประชาชน ไม่ต่างกับการเมืองเก่า ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการเมืองและความน่าเชื่อถือต่อประชาชนระยะยาว” รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าว

รังสิมันต์ ย้ำว่า หาก ส.ส. ไม่แสดงตนเข้าประชุมปล่อยให้สภาล่มเช่นนี้ ถือเป็นการประกาศว่าไม่ให้ความสำคัญกับกฎหมายที่กำลังจ่อเข้าสภา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ปากท้องและสิทธิประโยชน์ของประชาชน ที่เสียภาษีให้ ส.ส. เข้าไปทำงานในรัฐสภา

แม้พรรคก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้าน มี ส.ส. ไม่มาก แต่ก็พยายามทำงานอย่างเต็มที่ เสนอกฎหมายรายงานหลายฉบับในสภา แม้รู้ทั้งรู้ว่าผ่านยาก แต่ก็พยายามต่อสู้จนกว่าจะได้กฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน มันก็ต้องทำงานอย่างเต็มที่ให้คุ้มกับภาษีประชาชน

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า หากอยากใช้โอกาสนี้สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้านควรเข้าสภาให้ครบ และโหวตลงมติผ่านร่างกฎหมายที่ฝ่ายค้านเสนอ และคว่ำร่างกฎหมายของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มีโอกาสชนะ เพราะฝ่ายค้านมีโอกาสมีเสียงมากกว่าฝ่ายรัฐบาลที่มักจะมาไม่ครบ หรือเสียงแตกเพราะไม่สามารถตกลงผลประโยชน์กันได้ หากใช้วิธีนี้ ประชาชนจะได้ประโยชน์มากที่สุด และจะสามารถกดดันให้รัฐบาลยุบสภาได้อย่างแน่นอน

“ผมยืนยันว่าการประชุมสภาเป็นหน้าที่ ส.ส. ไม่น้อยไปกว่าการทำงานพื้นที่ พรรคก้าวไกลต้องการทำหน้าที่ตามที่ประชาชนมอบหมายมาอย่างดีที่สุด ประชาชนคือผู้ตัดสินว่าการทำหน้าที่ของเราถูกต้องหรือไม่” รังสิมันต์กล่าวทิ้งท้าย

สุรเชษฐ์’ แฉ ‘คลองไทย’ ทำพิษ ‘ณัฐชา’ ถามร่าง ก.ม. ที่ค้างสภา ‘เพื่อไทย’ จะเป็นองค์ประชุมให้ไหม?

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสภาเมื่อวานนี้ (4 ก.พ. 2565) ว่าตนในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร และพรรคก้าวไกล ได้ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนมาตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า จะโหวตคว่ำ แต่เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านมีข้อตกลงกันว่าจะไม่แสดงตน ส.ส. พรรคก้าวไกลก็ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และในเวลาต่อมาที่ประธานการประชุมให้ลงมติ ส.ส. พรรคก้าวไกลจึงค่อยโหวต ‘ไม่เห็นด้วย’

“พอรายงานขุดคลองไทยคว่ำไป เพราะฝ่ายรัฐบาลงดออกเสียง จึงทำให้บางพรรคไม่พอใจ แล้วจะ ‘กลับลำ’ มาโหวตคว่ำผลการศึกษาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งที่เดิมทีพรรคก้าวไกลและทุกพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นด้วยและต้องการให้รายงานนี้ผ่าน ขณะเดียวกัน เราก็เห็นหลักฐานจากใบแสดงผลการแสดงตนและลงมติในรายงานขุดคลองไทยว่า บางพรรค ‘แหก’ ข้อตกลงไม่แสดงตนในวาระขุดคลองไทย เราจึงต้องการแสดงตนในวาระรายงานปัญหากัดเซาะชายฝั่ง และวาระ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ บ้าง เพราะพรรคก้าวไกลเป็นเจ้าของเรื่องอยู่

“ต้นตอของปัญหาอยู่ที่วาระขุดคลองไทย อย่าหลงประเด็นไปที่เกมสภาล่มจนกลบสาระของวาระขุดคลองไทย

พรรคก้าวไกลไม่ได้ ‘แหก’ มติร่วมพรรคฝ่ายค้านก่อน และไม่ได้เสียมารยาททางการเมือง แต่จากนี้ไปก็คงคุมเสียง ‘ไม่แสดงตน’ ลำบากแล้ว” สุรเชษฐ์ กล่าว

ด้าน ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การ ‘เล่นเกม’ เช่นนี้ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อพี่น้องประชาชน เพราะยังเหลือร่างกฎหมายค้างพิจารณาอยู่อีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารของพรรคประชาชาติที่ถูกเตะถ่วงให้ ครม.ไปศึกษาก่อนลงมติ มีกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอจ่อเข้าสภา ตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นต้น

“ปัจจุบัน ร่างกฎหมายที่ค้างพิจารณาอยู่ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ จะทำอย่างไรกันต่อ? พรรคเพื่อไทยจะแสดงความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ช่วยเป็นองค์ประชุมและผ่านร่างกฎหมายเหล่านี้หรือไม่? พี่น้องประชาชนเฝ้ารอกฎหมายเหล่านี้มาหลายปีแล้ว เราจะเตะถ่วง เอากฎหมายของพี่น้องประชาชนมาเป็นตัวประกัน รอให้ พลเอกประยุทธ์ ที่ไม่เคยสนใจว่าสภาจะล่มมาแล้วเกือบ 20 รอบ มาประกาศยุบสภา อย่างนั้นหรือ?

“สิ่งที่จะทำให้ประยุทธ์ยุบสภามากที่สุด คือ ออกกฎหมายที่ก้าวหน้า เป็นคุณกับประชาชน โดยเฉพาะร่างกฎหมายดีๆ หลายฉบับของพรรคฝ่ายค้านและภาคประชาชน ไม่มีช่วงไหนที่คะแนนเสียงในสภาจะมีโอกาสได้มากเท่าช่วงนี้อีกแล้ว” ณัฐชา กล่าว

การประชุมสภาฯ ล่ม วานนี้ (4 ก.พ.) ฝ่ายค้าน-ก๊วน 'ร.อ.ธรรมนัส' ไม่แสดงตัว 'ก้าวไกล' ที่สวนทางแสดงตัวกว่า 40 คน

Nation Online รายงานว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 4 ก.พ. 2565 ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ระหว่างการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยอย่างยั่งยืน โดยคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย เป็นผู้เสนอ

ปรากฏว่าในช่วงลงมติ นายชวน ได้กดออดเรียก ส.ส.ให้เข้ามาในห้องประชุมเพื่อตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติ โดยนายชวนพยายามพูดถ่วงเวลาอยู่หลายนาที แต่ ส.ส.ในห้องประชุมก็ยังบางตา ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอให้ประธานพักการประชุมเป็นเวลา 30 นาที

แต่นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เสนอให้นับองค์ประชุมแบบขานชื่อ ทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงคัดค้าน โดยนายจุลพันธ์ ระบุว่า การประชุมสภาจะจบในเวลา 17.00 น. แต่ถ้าลงมติด้วยการขานชื่อต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมงเท่ากัน และไม่ได้ประชุม และพรรคฝ่ายค้านจะไม่ขอยุ่งด้วย

ขณะที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ระบุว่า การเสนอนับองค์ประชุมของนายวิรัชไม่ถูกต้อง เพราะมีคนรับรองไม่ครบตามข้อบังคับ ขณะที่นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล ยืนยันว่า ให้ลงมติด้วยการใช้บัตรลงคะแนน และยืนยันว่า ส.ส.พรรคก้าวไกลจะอยู่ในห้องประชุม

กระทั่งนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นเป็นตัวแทนพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า การเสนอนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อของนายวิรัช มีผู้รับรองไม่ครบตามข้อบังคับจริง พร้อมเสนอให้ลงมติด้วยการใช้บัตรลงคะแนน ซึ่งนายชวน ได้ขอคำยืนยันจากพรรคภูมิใจไทย จากนั้นจึงเข้าสู่การลงมติ

จนในที่สุด เวลา 14.45 น.นายชวนได้กดออดเชิญให้สมาชิกเข้าห้องประชุมเพื่อเสียบบัตรแสดงตน และประกาศผลองค์ประชุม ปรากฏว่ามีสมาชิกเพียง 195 คน ไม่ถึง 237 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุมและสั่งปิดการประชุมในเวลา 14.50 น.ทั้งนี้ใช้เวลาในการยื้อเวลาเพื่อนับองค์ประชุมนานเกือบ 1 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า จากการตรวจสอบการแสดงตนเป็นองค์ประชุมสภาฯ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่มี ส.ส.แสดงตน จำนวน 195 คน จนทำให้ไม่ครบองค์ประชุม จำนวน 237 คน พบว่า พรรคเพื่อไทย แสดงตน 2 คน คือ นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. ไม่แสดงตน 129 คน ส่วนพรรคก้าวไกล แสดงตน 43 คน ไม่แสดงตน 8 คน พรรคเสรีรวมไทย แสดงตน 1 คน ได้แก่ น.ส.ธนภร โสมทองแดง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่แสดงตน 9 คน พรรคประชาชาติ แสดงตน 1 คน คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่แสดงตน 6 คน พรรคเพื่อชาติ ไม่แสดงตนทั้ง 6 คน

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ แสดงตน 54 คน ไม่แสดงตน 43 คน ส่วน ส.ส.ที่ย้ายออกจากพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 19 คน แสดงตนเพียง 1 คน คือ นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น ที่เหลืออีก 18 คน ไม่แสดงตน ด้านพรรคภูมิใจไทย แสดงตน 33 คน ไม่แสดงตน 25 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้กักตัวโควิด 7คน สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ แสดงตน 35 คน ไม่แสดงตน 15 คน

พรรคชาติไทยพัฒนา แสดงตน 6 คน ไม่แสดงตน 6 คน พรรคชาติพัฒนา แสดงตนครบทั้ง 4 คน ด้านพรรคเศรษฐกิจใหม่ แสดงตน 4 คน ไม่แสดงตน 2 คน พรรคพลังท้องถิ่นไท แสดงตน 4 คน มีเพียง น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี เท่านั้น ที่ไม่แสดงตน ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทย แสดงตน 3 คน ไม่แสดงตน 2 คน คือ นายสุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร และน.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ไม่แสดงตนทั้ง 2 คน ส่วน สำหรับพรรคเล็กที่มีส.ส.เพียงคนเดียว ที่ไม่แสดงตน ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคเพื่อชาติไทย อย่างไรก็ตาม พรรคเล็กที่มีส.ส.หนึ่งคน และแสดงตน คือพรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคไทรักธรรม และพรรคพลเมืองไทย
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net