Skip to main content
sharethis

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โพสต์เฟซบุ๊กครบรอบ 8 ปี กปปส. ล้มเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 หวังสังคมไทยได้บทเรียน ปฏิเสธอำนาจนอกระบบและยึดหลักการประชาธิปไตย ด้านพรรคเพื่อไทย ชี้ 8 ปี กปปส. ปิดคูหาเรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 'ไม่มีจริง' ทิ้งมรดกบาป คสช. ให้ประเทศถึงปัจจุบัน

2 ก.พ. 2565 ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และแกนนำเครือข่ายไล่ประยุทธ์ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ถึงเหตุการณ์ครบรอบ 8 ปีที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 โดยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง จนทำให้การเลือกตั้งในหลายจุดไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ต่อมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่อนเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าการเลือกตั้งในวันดังกล่าวเป็นโมษะหรือไม่ หลังจากนั้น ในวันที่ 21 มี.ค. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวมีผลเป็นโมฆะ โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้จัดการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วราชอาณาจักร

ณัฐวุฒิ โพสต์ข้อความระบุว่า "ตั้งแต่นายสุเทพเริ่มตั้งเวทีชุมนุมได้ระยะหนึ่ง หลายคนก็ประเมินตรงกันว่าสถานการณ์จะจบด้วยการยึดอำนาจ แต่ทุกอย่างยิ่งชัดขึ้น หลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา โดยประชาธิปัตย์บอยคอตไม่ลงเลือกตั้ง เราพูดย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก ว่าหนังม้วนเก่าเมื่อปี 2549 กำลังฉายซ้ำ ยุบสภา บอยคอต ขัดขวางการเลือกตั้งจนเป็นโมฆะ สร้างเกมเปิดทางให้รถถัง เรียกร้องว่าอย่าหาทำ แต่ประชาธิปัตย์และแกนนำ กปปส. กลับดึงดันเดินตามรอยเดิม

ผมเชื่อว่านักการเมืองทั้งที่เป่านกหวีด และในพรรคที่สนับสนุน รู้แก่ใจว่าถึงที่สุดจะรัฐประหาร เมื่อ คสช. เข้าสู่อำนาจมีการเลี้ยงฉลองเอิกเกริก หลายคนขึ้นเรือแป๊ะไปรับงาน ถ้าจะปฏิเสธว่าไม่รู้ ไม่เจตนา ประชาชนก็โปรดใช้วิจารณญาณ

การชุมนุมต่อต้านจนรัฐบาลยุบสภาเป็นเรื่องเข้าใจได้ ถ้าจบตรงนั้น ทุกพรรคลงเลือกตั้งให้ประชาชนตัดสินใจ ใครเป็นรัฐบาลยกเอาวาระปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องหลัก เสร็จแล้วเลือกตั้งกันใหม่ บ้านเมืองจะไม่พังยับเหมือนวันนี้

การขัดขวางการเลือกตั้ง ขมขู่ ทำร้ายร่างกายผู้ประสงค์ลงคะแนน ประณามบุคคลที่ออกไปใช้สิทธิ์ ดารา คนมีชื่อเสียงชวนกันผลิตสื่อรณรงค์ไม่ไปเลือกตั้ง เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่เกิดขึ้นจริง และวันนี้ 2 ก.พ. 2565 ครบ 8 ปีแล้ว

การล้มเลือกตั้ง ปฏิเสธอำนาจอธิปไตยของประชาชนด้วยกันเอง แล้วยอมรับการยึดอำนาจไปเป็นของคนเพียงคนเดียว คือบาดแผลฉกรรจ์ของสังคมไทย และไม่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นซ้ำกันได้ 2 ครั้ง ในเวลาไม่ถึง 10 ปี หลังการยึดอำนาจ พลังเกรี้ยวกราดที่เรียกร้องการปฏิรูปกลับอ่อนโทรมลง ที่เคยขวางเลือกตั้งก็พร้อมใจกันเข้าร่วม ภายใต้กติกาล็อคสเปค ฉ้อฉลอำนาจประชาชน ลุงกำนันที่ประกาศเลิกการเมืองเด็ดขาดก็ตั้งพรรค แม้แต่คณะยึดอำนาจเองก็เป็นพรรคการเมือง ลงเลือกตั้ง ร่วมรัฐบาล การเมืองมีแต่เรื่องกล้วย แย่งชิงอำนาจ ผลประโยชน์ในรัฐบาล ปฏิรูปอะไรสำเร็จแล้วบ้าง ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่หยิบยกมาพูดกัน

ถึงวันนี้หวังว่าสังคมไทยจะได้สรุปบทเรียน การรักษาระบบ ปฏิเสธอำนาจนอกระบบ ต้องเป็นหลักการใหญ่แม้แต่ละฝ่ายจะคิดเห็นทางการเมืองต่างกัน ที่เคยเผลอใจมีสิทธิ์คิดใหม่ เลือกยืนบนหลักการประชาธิปไตยได้ตลอดเวลา ประเทศที่มีเลือกตั้งบ่อยครั้ง กับประเทศที่มีการยึดอำนาจบ่อยครั้ง แบบไหนจะมีอนาคตมากกว่ากัน ประเทศที่มีการขัดขวางการเลือกตั้ง แต่ไม่ขัดขวางการรัฐประหาร ยอมรับอำนาจเผด็จการ จะเหลือความหวังอะไรให้คนรุ่นต่อไป"

เพื่อไทย ชี้ครบรอบ 8 ปี กปปส. ล้มเลือกตั้ง 57 'ปฎิรูปก่อนเลือกตั้งไม่มีจริง'

ขณะที่วานนี้ (1 ก.พ. 2565) ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานว่า ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าในวันที่ 2 ก.พ. 2565 เป็นครบรอบ 8 ปี ที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ปิดคูหาเพื่อ "ล้มการเลือกตั้ง" เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 พร้อมเรียกร้องให้ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" แม้ว่ารัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาไปเมื่อ 9 ธ.ค. 2556 เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนได้ตัดสินอนาคตของประเทศด้วยตัวเองตามระบอบประชาธิปไตยก็ตาม เกิดความวุ่นวายในหน่วยเลือกตั้งหลายจุด สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ จนเกิดรัฐประหารในอีก 3 เดือนต่อมา

แม้แกนนำ กปปส. ที่มีคดีติดตัว และศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้อดีตแกนนำ ทั้ง 5 พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีและ ส.ส. ไปแล้วในคดีกบฏก็ตาม แต่ก็ไม่อาจชดเชยความเสียหายของประเทศในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาได้แม้แต่น้อย เพราะเหตุการณ์ในครั้งนั้นถือเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ปูทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่อ้างว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง" มีกลไกใหม่ๆ ไว้จัดการกับนักการเมือง มีการตั้งองค์กรอิสระและคณะกรรมการต่างๆ โดย คสช.ให้ทหารเป็นคนคุมบังเหียน แต่การดำเนินงานที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่าองค์กรดังกล่าวไม่ได้มีไว้เพื่อการปราบปรามทุจริตอย่างแท้จริง กลับมุ่งตรวจสอบเฉพาะนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ละเว้นการตรวจสอบฝ่ายเดียวกัน แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีไม่ยอมเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน อ้างว่ากฎหมายไม่ให้อำนาจ

ชญาภา สินธุไพร
 

ชญาภา กล่าวอีกว่า จากวันนั้นเรียกร้องต้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ถามหาการเมืองสะอาด ปราศจากคอร์รัปต์ชัน มาถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากหัวหน้าคณะรัฐประหาร สู่นายกรัฐมนตรีที่นั่งบริหารประเทศมาเกือบ 8 ปี เคยประกาศให้ “การทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ” แต่อันดับและคะแนนเฉลี่ยของดัชนีการรับรู้การทุจริตคอรัปชั่นอยู่ที่ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก แย่กว่าปีที่แล้ว และหากเปรียบเทียบกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจมา พบว่าคะแนนเฉลี่ยของดัชนีการรับรู้ทุจริตของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังตกต่ำลงเรื่อยๆ ปีแรกของการยึดอำนาจมา คะแนนลดฮวบจาก 38 เหลือ 35 หากปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศต่อไป ยิ่งอยู่นานการทุจริตคอร์รัปชันยิ่งเบ่งบาน เป็นที่อับอาย ไร้ความน่าเชื่อถือในเวทีโลก 

“ล้มเลือกตั้ง ล้มรัฐบาลที่มาจากประชาชน อ้างว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง กลับกลายเป็นว่าประเทศไทยต้องจมอยู่กับยุคคอร์รัปชันที่เบ่งบานกว่าเก่า นี่ใช่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งที่เคยเรียกร้องและต้องการหรือไม่ ดังนั้นรัฐประหารจึงไม่ใช่ทางออกของประเทศ ไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาตามครรลองระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการสร้างปัญหาเพิ่มและซ้ำเติมปัญหาเก่า กฎหมายหลายฉบับที่ถือกำเนิดขึ้นโดยคณะรัฐประหารก็ยังดำรงอยู่ซึ่งไม่สามารถยกเลิกและแก้ได้ กลายเป็นมรดกบาปกัดกร่อนประเทศจวบจนทุกวันนี้” ชญาภา กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net