Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน เปิดแคมเปญ 'แรงงานอุ่นใจ ของขวัญปีใหม่ 2565 กระทรวงแรงงาน' จำนวน 9 ชิ้น

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคน ทุกกลุ่ม และได้สั่งการให้แต่ละหน่วยงานมอบของขวัญปีใหม่ เพื่อเป็นกำลังใจแก่ประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ และแบ่งเบาภาระในช่วงที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกันตน ลูกจ้าง นายจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และประชาชนทั่วไป ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดยในส่วนของกระทรวงแรงงาน ในปีนี้ได้มอบของขวัญปีใหม่ ภายใต้เคมเปญ "แรงงานอุ่นใจ ของขวัญปีใหม่ 2565 กระทรวงแรงงาน" จำนวน 9 ชิ้น เพื่อมอบความสุขแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน  ดังนี้

ชิ้นที่ 1 ฟรี ดอกเบี้ย 0 % นาน 12 เดือน ตั้งแต่ 1 ธ.ค.64-31 ส.ค.65 กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน มอบสิทธิประโยชน์แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านกว่า 6,000 คน ลดภาระในการจ่ายดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 12 เดือน

ชิ้นที่ 2 ฟรี  DSD Service บริการตรวจเช็ครถก่อนเดินทาง 12 รายการ (15-30 ธ.ค.2564) Line Office กพร.พร้อมองค์กรเครือข่ายภาครัฐ และเอกชน

ร่วมเดินทางไปกับคุณ บริการข้อมูลที่ตั้งจุดให้บริการผู้เดินทาง 77 จังหวัด ตลอด 24 ชั่วโมง (27 ธ.ค.2564 - 7 ม.ค.2565)

ชิ้นที่ 3 ฟรี DSD Online Training อบรม ฟรี ทุกที่ทุกเวลา (15 ม.ค.2564 - 31 ม.ค.2565) http://onlinetraining.dsd.go.th อาทิ การทำการ์ดอวยพรออนไลน์ ขับขี่ปลอดภัย การซ่อมบำรุงเบื้องต้นก่อนเดินทาง 10 เมนูอาหารไทยยอดนิยม เป็นต้น

ชิ้นที่ 4 เพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง กรณีโควิด-19 สูงสุด 100 เท่า (1 มี.ค.2563-28 ก.พ.2565)

ชิ้นที่ 5 ฟรี ตรวจวัดระดับแสง เสียง และความร้อน ที่เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน เสริมศักยภาพ "สุขศาสตร์อุตสาหกรรมในสถานประกอบกิจการ" (24 ธ.ค. 2564-14 ม.ค. 2565)

ชิ้นที่ 6 สิทธิพิเศษ สนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานมอบสิทธิประโยชน์แก่สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและในรัฐวิสาหกิจ จำนวน 594 แห่ง 560,476 คน ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 2.25 ต่อปี วงเงิน 50 ล้านบาท

ชิ้นที่ 7 ลด อัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ร้อยละ 60 นาน 6 เดือน มอบสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.57 ล้านคน วงเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 1,408.56 ล้านบาท

ชิ้นที่ 8 ลดขั้นตอนอนุมัติสิทธิฟอกเลือด โดยผู้ประกันตนไตวายเรื้อรังรายใหม่ ไม่ต้องสำรองจ่าย ผู้ประกันตนไตวายเรื้อรังรายใหม่ยื่นสิทธิ์ที่สถานพยาบาลที่รักษาได้ทันทีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเฉลี่ยการใช้บริการเดือนละ 240 คน อัตราค่าใช้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1500 บาทต่อครั้ง 12 ครั้งต่อเดือนต่อคน รวมผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่าย เดือนละ 4.32 ล้านบาท สูงสุด 3 เดือน 12.96 ล้านบาท

ชิ้นที่ 9 สิทธิพิเศษมอบของขวัญปีใหม่ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ประกันตนที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ทุพพลภาพทุกมาตรา (มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40)

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ถือเป็นความตั้งใจอย่างยิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคน ทุกกลุ่มได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้แรงงานทุกคนได้เข้าถึงบริการจากรัฐ สร้างความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้ง กระตุ้นการจ้างงานตามความต้องการในระบบเศรษฐกิจใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การบริหาร

จัดการต่างด้าวอย่างเป็นระบบ พัฒนาทักษะแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ นำไปสู่การต่อยอดการประกอบอาชีพ ยกระดับรายได้ ตลอดจนร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนากำลังแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในอนาคต อันจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงานให้มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิตต่อไป

ที่มา: คมชัดลึก, 23/12/2564

ก.แรงงาน จัด Re-Skill และ Up-Skill สร้างทักษะแรงงานประกอบอาชีพอิสระ หนุนรายได้ภาคการท่องเที่ยว

23 ธ.ค. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน มอบหมายให้นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดฝึกอบรมโครงการ Re-Skill และ Up-Skill เพื่อสร้างทักษะแรงงานในการประกอบอาชีพ ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 10 อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กรุงเทพมหานคร

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเป็นประธานเปิดงานดังกล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญให้กำลังแรงงานได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านทักษะฝีมือแรงงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ก้าวสู่การพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ ประกอบกับประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้แรงงานได้รับผลกระทบอย่างหนัก รัฐบาลจึงมีนโยบายเร่งเยียวยาช่วยเหลือโดยให้ความสำคัญกับการปรับระดับฝีมือ (Re-Skill) รองรับการทำงานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น และยกระดับต่อยอดความรู้ ความชำนาญ (Up-Skill) ให้แก่กลุ่มแรงงานฝีมือที่ได้รับผลจากเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินโครงการดังกล่าว

นางวีรยา รัตนนิตย์ ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้สั่งการให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร ขับเคลื่อนโครงการ Re-Skill และ Up-Skill เพื่อสร้างทักษะแรงงานในการประกอบอาชีพ ดำเนินการฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ดังนี้ (1) สาขาการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ฝึกอบรมให้แก่ผู้ขับรถรับจ้างสาธารณะหรือกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ จำนวน 21 คน ระหว่างวันที่ 22-26 ธ.ค. 2564 (2) สาขาการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ ฝึกอบรมให้แก่แรงงานในภาคบริการและการท่องเที่ยว จำนวน 2 รุ่น 39 คน รุ่นที่ 1 ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 20-25 ธ.ค. 2564 และรุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 23-28 ธ.ค. 2564 (3) ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาพนักงานนวดไทย ระดับ 1 สำหรับแรงงานในภาคการท่องเที่ยว จำนวน 10 คน ดำเนินการทดสอบในวันที่ 23 ธ.ค. 2564 การดำเนินการในครั้งนี้เป็นเพียงการนำร่อง โดยสั่งการให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศจัดฝึกอบรมและทดสอบฯ เพื่อให้กำลังแรงงานได้ Re-Skill และ Up-Skill ต่อไป

ทั้งนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพแรงงานให้มีคุณภาพทั่วประเทศพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีเป้าหมายในปี 2565 จำนวน 4,114,174 คน แบ่งเป็นดำเนินการจัดฝึกอบรมโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ จำนวน 114,174 คน ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการดำเนินการพัฒนาพนักงานตนเองอีก 4,000,000 คน

ที่มา: สยามรัฐ, 23/12/2564

กสร. ร่วมกับ NGOs ยกระดับการคุ้มครองแรงงาน ขจัดปัญหาค้ามนุษย์ ปลดล็อค Tier 2 Watch list

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2564 โดยจัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยตรง และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต่างมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน กสร. จึงได้จัดโครงการสานสัมพันธภาพการทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) เพื่อยกระดับการคุ้มครองแรงงาน รุ่นที่ 2 ตอกย้ำว่ารัฐบาลไทยยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาและพัฒนากระบวนการทำงานเพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กระทรวงแรงงานได้กำหนดให้ยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อปลดล็อค Tier 2 Watch List เป็นนโยบายสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เพื่อปกป้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมที่ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพื่อขจัดการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในทุกรูปแบบให้หมดไปในที่สุด

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐ (กระทรวงแรงงาน) จำนวน 30 คน และบุคลากรขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) จำนวน 20 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 50 คน ซึ่งได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานกฎหมายเอส อาร์ (SR Law) และมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) เชียงใหม่ วิทยากรภาครัฐจากกรมการจัดหางาน กองนิติการ และกองคุ้มครองแรงงาน โดยมีผู้แทนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เข้าร่วมสังเกตการณ์การอบรมในครั้งนี้ด้วย การอบรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 - 23 ธันวาคม 2564 ณ ห้องเบญจสิริ 1 ชั้น 5 โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ สุขุมวิท 20 กรุงเทพมหานคร โดยมุ่งหวังพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี รวมทั้งมีรูปแบบการปฏิบัติงานและแนวทางการประสานความร่วมมือในการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย สามารถบูรณาการการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงานหรือบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 22/12/2564

ก.แรงงาน ปิดโครงการช่วย SMEs รอบ 2 เผยเพิ่มจ้างงาน 1.7 แสนคน คาดเงินอุดหนุนพันล้าน

22 ธ.ค. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ได้ปิดรับลงทะเบียนร่วมโครงการรอบที่ 2 ทั้งทางระบบออนไลน์และสำนักงานตามกำหนด ในวันที่ 20 ธ.ค. 2564 โดยผลการลงทะเบียนรอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. 64 – 20 ธ.ค. 2564 มีสถานประกอบการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 21,348 ราย ช่วยรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย 171,347 คน คิดเป็นเม็ดเงินอุดหนุนตลอดโครงการ (2 เดือน) ประมาณ 1,028,082,000 บาท

เมื่อรวมกับผลการลงทะเบียนในรอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 20 ต.ค. – 20 พ.ย. 2564 ที่มีสถานประกอบการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 223,834 ราย ช่วยรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย 3,068,075 คน และผลการลงทะเบียนรอบทบทวนสิทธิ์ วันที่ 21 – 27 พ.ย. 2564 ที่มีสถานประกอบการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 917 ราย ช่วยรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย 34,596 คน ทำให้ผลการลงทะเบียนในโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ในทุกรอบมีสถานประกอบการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการถึง 246,099 ราย ช่วยรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย 3,274,018 คน

โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก – กลางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ให้มีกำลังพร้อมรับการเปิดประเทศและกลับมาแข็งแรงประสบผลสำเร็จดั่งในอดีตก่อนมีโรคโควิด ตามความตั้งใจของรัฐบาลโดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ที่ห่วงใยธุรกิจในกลุ่ม SMEs อย่างยิ่ง นอกจากการอุดหนุนเงินแก่นายจ้างตามจำนวนลูกจ้างคนไทยที่มีอยู่เดิม ณ วันที่ 16 ต.ค. 2564 แล้ว หากมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากยอดการจ้างงาน ณ วันที่ 16 พ.ย. 2564 จะได้รับเงินส่งเสริมการจ้างงานใหม่ จำนวน 3,000 บาทต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน ตามจำนวนการจ้างงานจริง โดยให้สิทธิ์ 1 ลูกจ้าง ต่อ 1 นายจ้าง จนครบตามจำนวนลูกจ้างสัญชาติไทยทั้งหมดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ เดือนละไม่เกิน 201,647 ราย ซึ่งจากเดือน ต.ค. – ธ.ค. 2564 (2 เดือน) มีการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 44,856 คน แบ่งเป็นกิจการขนาดเล็ก (ลูกจ้าง 1 - 50 คน) จ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทยเพิ่มขึ้น 34,739 คน และกิจการขนาดกลาง (ลูกจ้าง 51 - 200 คน) จ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทยเพิ่มขึ้น 10,117 คน โดยประเภทกิจการที่มีการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทยเพิ่ม 5 อันดับแรก ได้แก่ ประเภทกิจการโรงแรม รีสอร์ท ประเภทกิจการรักษาความปลอดภัย ประเภทกิจการบริการทำความสะอาดทั่วไปของตัวอาคาร ประเภทกิจการบริการด้านอาหารในภัตตาคารร้านอาหาร และประเภทกิจการร้านสะดวกซื้อมินิมาร์ท

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขอฝากถึงนายจ้าง สถานประกอบการ ที่ยังไม่ลงทะเบียนสมัครใช้บริการระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม ให้เร่งดำเนินการ เมื่อสมัครแล้วจะต้องนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือน เพื่อมีสิทธิรับเงินอุดหนุนในเดือนดังกล่าว ทั้งนี้ นายจ้างต้องรักษาระดับการจ้างงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ในระหว่างเข้าร่วมโครงการฯ หากไม่สามารถรักษาระดับการจ้างงานให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนนั้น

ที่มา: PPTV, 22/12/2564

สหภาพแรงงาน ธ.กรุงเทพ ร้อง กมธ.แรงงานฯ หลังไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

22 ธ.ค. 2564 ที่รัฐสภา สหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ นำโดย นายบัณฑิต จันทร์แก้วแร่ ประธานสหภาพฯ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เรื่องการดูแลค่าตอบแทนจากการขายผลิตภัณฑ์ของธนาคาร ให้แก่พนักงานอย่างเหมาะสม และเป็นธรรม

โดยนายบัณฑิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ ได้รับการร้องทุกข์จากสมาชิก กรณีขายประกันแต่พนักงานขายไม่ได้รับค่าตอบแทนโดยตรง ทางสหภาพฯ พยายามขอให้ทางธนาคารดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนการขาย เข้าบัญชีพนักงานขายโดยตรงแต่ไม่สำเร็จ วันนี้จึงต้องมาขอความช่วยเหลือจากกมธ.การแรงงาน โดยมีข้อเรียกร้อง คือ เพื่อเป็นการดูแลพนักงานให้ได้รับค่อตอบแทน หรือ คอมมิชชั่น จากการขายผลิตภัณฑ์ของธนาคารอย่างถูกต้องเป็นธรรม และกำหนดการจ่ายค่าคอมมิชชั่นที่เป็นมาตรฐานชัดเจน

ด้าน นายสุเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันพนักงานธนาคารได้ออกมาชี้แจง ถึงการลาออกจากการเป็นพนักงานธนาคารผ่านสื่อโซเชียลอยู่บ่อยครั้ง ที่ผ่านมาผู้ใช้แรงงานธนาคารหลายท่าน มองว่างานธนาคารเป็นงานที่มีความมั่นคง แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงการจ้างงาน และมีภาระงานอื่นๆ เพิ่มขึ้น ดังนั้น ในวันที่ 5 มกราคม 2565 กมธ.การแรงงาน จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ที่มา: มติชนออนไลน์, 22/12/2564

เสนอตั้ง 'ธนาคารแรงงาน' ปล่อยกู้ลูกจ้าง สร้างรายได้ให้ประกันสังคม

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่จะขยายเวลาการจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้ประกันตน เนื่องจากบริษัทจำนวนไม่น้อยกำหนดให้พนักงานเกษียณอายุตอน 55 โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งการจ่ายบำนาญตอนอายุ 60 จะทำให้ลูกจ้างเหล่านี้มีช่องว่างช่วงที่ไม่มีรายได้นานถึง 5 ปี ซึ่งทำให้ลูกจ้างที่เกษียณได้รับความเดือดร้อน

นอกจากนั้น ยังมีปัญหาวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องไปอีกนานพอสมควร ลูกจ้างส่วนใหญ่ต่างมีปัญหาเรื่องรายได้ จึงเป็นไปได้ยากที่จะมีเงินเก็บ ถ้าขยายเวลาการรับบำนาญออกไปเป็นอายุ 60 ปี ลูกจ้างที่เกษียณตอนอายุ 55 ปี คงลำบากเพราะไม่มีรายได้ ไม่มีเงินใช้จ่ายในยามจำเป็น

“ดีที่ท่านรัฐมนตรีสุชาติ สั่งให้สำนักงานประกันสังคมยกเลิกนโยบายขยายอายุการรับเงินบำนาญจาก 55 เป็น 60 ปี ต้องชื่นชมท่าน ทั้งผู้นำแรงงานและลูกจ้างต่างก็พอใจการทำงานที่รวดเร็วของท่าน เพราะคนอายุ 55 ถือว่าอายุมากแล้ว จะไปหางานที่ไหนก็ไม่ได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเลื่อนนโยบายนี้ไปใช้ปีไหนก็ไม่เหมาะสมทั้งนั้น” ประธานสภาองค์การลูกจ้าง กล่าว

นายมนัส ยังได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาเงินกองทุนประกันสังคมไม่เพียงพอซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ว่า การที่สำนักงานประกันสังคมมองว่าไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ วัยแรงงานซึ่งจะส่งเงินสมทบเข้าระบบประกันสังคมมีแนวโน้มลดลง ในอีก 30 ปีข้างหน้าสำนักงานงานประกันสังคมอาจไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายบำนาญให้แรงงานที่เกษียณอายุนั้นตนมองว่าเรื่องนี้ขึ้นกับการบริหารจัดการเงิน ซึ่งหากจะแก้ปัญหาระยะยาวจะต้องดำเนินการ 2 อย่างควบคู่กัน

ประการแรกคือ ขยายฐานผู้ประกันตนที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ประกันตนมาตรา 40 โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจ พร้อมทั้งพยายามรักษาผู้ประกันตนเดิมเอาไว้ ซึ่งที่ผ่านมา สภาองค์กรลูกจ้าง และเครือข่ายประกันสังคมเคยยื่นเรื่องต่อรัฐบาลหลายรัฐบาลแล้ว ให้ปฏิรูประบบประกันสังคมโดยให้มีการประกันสังคมแบบถ้วนหน้า คือคนที่ประกอบอาชีพอิสระ ไม่ได้เป็นลูกจ้างก็สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ โดยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ซึ่งจะทำให้คนไทยมีสวัสดิการสังคมที่ดีและทั่วถึง

ซึ่งหากสามารถขยายผู้ประกันตนในส่วนนี้ได้ฐานตัวเลขผู้ประกันตนจะเพิ่มขึ้นมาก กองทุนประกันสังคมจะโตขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน ต้องรักษาผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 ในปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ 13 ล้านคนเอาไว้ โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่จูงใจ เช่น จากเดิมที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ต้องรับการรักษาในระบบบัตรทอง เปลี่ยนเป็นให้สามารถเลือกรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเช่นเดียวกับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งเป็นลูกจ้างและพนักงานบริษัทได้ ซึ่งหากคนที่ประกอบอาชีพอิสระรู้สึกว่าทำประกันสังคมแล้วคุ้ม ก็จะหันมาทำประกันสังคมกันมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเข้าระบบเพิ่มขึ้น เมื่อกองทุนประกันสังคมโตขึ้น ก็สามารถบริหารจัดการเงินได้ดีขึ้น

“ปัจจุบันผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 20 กว่าล้านคน ซึ่งเท่ากับ 50% ของวัยทำงาน โดยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ประมาณ 11 ล้านกว่า และผู้ประกันตนอิสระอีกประมาณ 13 ล้านคน แต่เนื่องจากปัญหาโควิดที่ทำให้บริษัทหรือผู้ประกอบการต่างๆ ต้องปรับลดคนหรือปิดกิจการ ทำให้มีการเลิกจ้างพนักงาน ส่งผลให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มีจำนวนลดลง แม้บางส่วนยังคงรักษาสถานภาพโดยเปลี่ยนเป็นผู้ประกันสังคมตามมาตรา 39 ซึ่งส่งเงินสมทบเอง แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ออกจากระบบประกันสังคมไป และหารายได้ด้วยการทำอาชีพอิสระ เช่น เป็นฟรีแลนซ์ ทำงานผ่านระบบอนไลน์ ดังนั้น สำนักงานประกันสังคมจึงต้องพยายามเพิ่มจำนวนผู้ประกันตนอิสระ ตามมาตรา 40 ให้มากยิ่งขึ้นเพื่อชดเชยกับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ลดลง และสร้างความมั่นคงให้กองทุนประกันสังคม” ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ระบุ

นายมนัส กล่าวต่อว่า แนวทางการแก้ปัญหาเงินกองทุนประกันสังคมไม่เพียงพอ ประการที่สอง คือ การขยายฐานเงินเดือนในการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน จากปัจจุบันฐานเงินเดือนที่ต้องส่งเงินประกันสังคม ต่ำสุดที่ 1,650 บาท สูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท โดยจ่ายสมทบประกันสังคมในอัตรา 5% ของเงินเดือน ซึ่งฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท จ่ายสมทบที่เดือนละ 750 บาท

โดยเครือข่ายประกันสังคมคนทำงานเห็นว่าเนื่องจากเส้นความยากจนของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 3,000 บาท และลูกจ้างที่ส่งประกันสังคมซึ่งมีฐานเงินเดือนต่ำกว่า 8,000 บาทนั้นมีอยู่ประมาณ 3 ล้านกว่าคน จากทั้งหมด 11 ล้านคน ขณะที่ลูกจ้างที่มีฐานเงินเดือนสูงกว่า 15,000 บาท มีอยู่จำนวนไม่น้อย ดังนั้น จึงควรพิจารณาว่าฐานเงินเดือนต่ำสุดและสูงสุดในการส่งสมทบควรเป็นเท่าไหร่จึงจะสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“จากตัวเลขดังกล่าว เราควรพิจารณาฐานเงินเดือนในการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ดูว่าฐานเงินเดือนต่ำสุดในการส่งสมทบควรจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่ และฐานเงินเดือนสูงสุดในการส่งสมทบปรับขึ้นมาที่เท่าไหร่ ซึ่งหลายคนเสนอว่าน่าจะอยู่ที่ 20,000 บาท เมื่อคำนวณจากอัตราการส่งสมทบที่ 5% ของเงินเดือน เงินที่ส่งสมทบจะเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ในระยะยาวเงินออมของผู้ประกันตนจะมากขึ้น ขณะที่กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงขึ้นด้วย” นายมนัส กล่าว

นอกจากนั้น องค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานยังเสนอให้กองทุนประกันสังคมดำเนินการจัดตั้ง “ธนาคารแรงงาน” เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ลูกจ้างในยามจำเป็น ขณะที่กองทุนประกันสังคมมีรายได้จากดอกเบี้ยซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กองทุนได้อีกทางหนึ่ง

นายมนัส กล่าวว่า เนื่องจากในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้กิจการต่างๆ ต้องปิดตัวลงหรือปรับลดพนักงาน ซึ่งส่งผลให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนจากการขาดรายได้ และมีผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวยื่นเรื่องต่อสำนักงานประกันสังคมเพื่อขอกู้เงินบำเหน็จบำนาญของตนเองออกไปใช้ก่อน แต่สำนักงานประกันสังคมพิจารณาระเบียบและข้อกฎหมายแล้วไม่สามารถทำได้ ทางสภาองค์การลูกจ้างจึงได้เสนอให้มีจัดตั้ง ”ธนาคารแรงงาน” เพื่อปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกันตนเพื่อบรรเทาปัญหาจากผลกระทบเรื่องรายได้ และเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการหารายได้ของกองทุนประกันสังคม โดยดอกเบี้ยจากการปล่อยกู้นั้นจะสูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี จะต้องไปแก้ระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย และยกร่างกฎหมายก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้

“หากมีธนาคารแรงงาน ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นผู้ประกันตนจะสามารถขอสินเชื่อหรือกู้เงินได้ง่ายขึ้น โดยเป็นการกู้เงินจากกองทุนประกันสังคมผ่านธนาคารแรงงาน และใช้เงินบำนาญของตนเองในการค้ำประกัน ซึ่งเงินส่วนนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย ทั้งการใช้จ่ายในภาวะฉุกเฉิน และใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างอาชีพเสริม ขณะที่กองทุนประกันสังคมมีรายได้จากดอกเบี้ย ทำให้กองทุนเติบโตขึ้น ซึ่งสภาองค์การลูกจ้างพยายามผลักดักเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพราะถ้ากลุ่มแรงงานไม่มีธนาคารของตัวเอง การหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นไปได้ยาก” นายมนัส กล่าว

อย่างไรก็ดี ขณะนี้หลายฝ่ายต่างวิตกถึงประสิทธิภาพในการบริหารเงินของกองทุนประกันสังคม ซึ่งประเด็นนี้ ประธานสภาองค์การลูกจ้าง ระบุว่า ที่ผ่านมาสภาองค์กรลูกจ้างได้ติดตามเรื่องเสถียรภาพและการบริหารเงินกองทุนประกันสังคมมาตลอด โดยกองทุนประกันสังคมนั้นแบ่งเงินออกเป็น 3 ตะกร้า คือ ตะกร้าแรก ได้แก่ เงินที่ใช้เพื่อดูแลเรื่องปัญหาการเจ็บป่วย เสียชีวิตและทุพพลภาพ จะเก็บจากผู้ประกันตน 1.5% ของเงินเดือน (คิดที่ฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000) นายจ้าง 1.5% และรัฐบาลจ่ายสมทบ 1.5% ปัจจุบันตะกร้านี้มีเงินอยู่ประมาณ 80,000 กว่าล้านบาท

ตะกร้าที่ 2 ได้แก่ กองทุนบำนาญชราภาพและสงเคราะห์บุตรด้วย ซึ่งเก็บจากผู้ประกันตน 3% นายจ้าง 3% และเงินสงเคราะห์บุตรซึ่งรัฐจ่ายสมทบให้ 1% ปัจจุบันตะกร้านี้มีเงินอยู่ประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท และตะกร้าที่ 3 เงินที่ใช้ในกรณีว่างงาน ปัจจุบันมีเงินอยู่เกือบ 1 แสนล้านบาท

“การบริหารเงินของสำนักงานประกันสังคมนั้นอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้ลงทุนแบบไม่มีความเสี่ยง เช่น ซื้อตราสารหนี้ของรัฐบาลซึ่งไม่มีความเสี่ยง แต่แน่นอนว่าได้ผลตอบแทนต่ำ ไม่สามารถลงทุนในกลุ่มที่ให้ผลแทนดีแต่มีความเสี่ยงสูง อย่างลงทุนในตลาดหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ แต่โดยรวมแล้วถือว่ายังสามารถบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้กองทุนประกันสังคมมีเงินอยู่ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท มีกำไรทุกปี และมีผลประกอบการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันมีรายได้อยู่ที่ปีละกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการดูแลผู้ประกันตนทั้งระบบ ทั้งในส่วนของการรักษาพยาบาล การว่างงาน และบำนาญชราภาพ” นายมนัส กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 22/12/2564

ครม.เห็นชอบของขวัญปีใหม่ ให้แรงงานทั้งในและนอกระบบ ลดเก็บเงินสมทบ ม.40

21 ธ.ค. 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบของขวัญปีใหม่ 2565 จากกระทรวงแรงงาน เพื่อมอบให้กับผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบหลายชิ้น อาทิ

1. ลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 เหลือร้อยละ 60 เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีรายละเอียดดังนี้ ทางเลือกที่ 1 ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 42 บาทต่อเดือน จากเดิม 70 บาทต่อเดือน ทางเลือกที่ 2 ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 60 บาทต่อเดือน จากเดิม 100 บาทต่อเดือน ทางเลือกที่ 3 ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 180 บาทต่อเดือน จากเดิม 300 บาทต่อเดือน ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับทั้ง 3 ทางเลือก ยังคงเดิม ทั้งนี้ จากการลดอัตราเงินสมทบดังกล่าวมีผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้รับประโยชน์กว่า 10.57 ล้านคน เกิดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 1,408 ล้านบาท

2. เพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างสูงสุด 100 เท่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างหรือค้างจ่ายเงินเดือน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนี้ 1. กรณีค่าชดเชย แบ่งเป็น (1) อัตราค่าชดเชยจากเดิม 30 เท่า เพิ่มเป็น 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างที่มีอายุงาน 120 วัน แต่ไม่ครบ 3 ปี (2) อัตราค่าชดเชยจากเดิม 50 เท่า เพิ่มเป็น 80 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างที่มีอายุงาน 3 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี (3) อัตราค่าชดเชยจากเดิม 70 เท่า เพิ่มเป็น 100 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างที่มีอายุงาน 10 ปีขึ้นไป 2. กรณีเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย อัตราเดิม 60 เท่า เพิ่มเป็น 100 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

3. ฟรี! ดอกเบี้ย 0% นาน 12 เดือน สำหรับการกู้ยืมเงินจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานนอกระบบในกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านทั่วประเทศกว่า 6,000 คน โดยกรมการจัดหางานจะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือค่าธรรมเนียมเหลือร้อยละ 0 ต่อปี ในงวดที่ 1 - 12 โดยไม่ปลอดเงินต้น และงวดที่ 13 เป็นต้นไป จนสิ้นสุดสัญญาคิดอัตราร้อยละ 3 ต่อปี สำหรับวงเงินกู้ยืม ผู้รับงานไปทำที่บ้านรายบุคคลกู้ได้ไม่เกิน 50,000 บาท รายกลุ่มกู้ได้ไม่เกิน 300,000 บาท ผู้สนใจสามารถยื่นกู้ได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพฯ และสำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ถึง 31 สิงหาคม 2565 และทำสัญญากู้ยืมเงินภายใน 30 กันยายน 2565

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 21/12/2564

รอง ผบ.ตร.เผยในรอบ 1 ปี จับกุมต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองกว่า 4 หมื่นคน ทลายเครือข่ายขนแรงงานเถื่อน 154 เครือข่าย กำชับเพิ่มความเข้มตั้งด่านสกัดช่วงปีใหม่

21 ธ.ค. 2021 ที่ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชั้น 20 (ศปก.ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.ด้านมั่นคง เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปม.ตร.) และคณะทำงานสืบสวนปราบปรามเครือข่ายการประทำความผิดเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยมี พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวงทรง ผู้ช่วยผบ.ตร.,พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วยผบ.ตร., พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. และทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เปิดเผยว่า คณะทำงานสืบสวนปราบปรามเครือข่ายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายโดยได้ดำเนินการปราบปราม และจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยผิดกฎหมายและนายจ้าง รวมถึงร่วมกับหน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในการออกตรวจ สถานประกอบการ โรงงาน ที่พักคนงาน และพื้นที่สุมเสี่ยง อย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยมีผลการปฏิบัติให้ห้วง 1 ปี (29 ธันวาคม 63 - 15 ธันวาคม 64) สามารถจับกุมคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 42,443 ราย ผู้นำพาฯ 293 ราย ผู้ช่วยเหลือฯ 841 ราย รวมผลการดำเนินจับกุมทั้งสิ้น 43,577 ราย และทลายเครือข่าย/ขบวนการ 221 เครือข่าย จับกุมไปแล้ว 154 เครือข่าย แบ่งเป็น ตัวการ 402 ราย คนต่างด้าว 1,769 ราย ออกหมายจับ 82 หมายจับ กำลังสืบสวนและติดตาม 67 เครือข่าย ตรวจยึดทรัพย์สิน 312 ราย (พาหนะ 182 คัน บัญชีธนาคารกว่า 20 ธนาคารและอื่นๆ) มีคดีที่สำคัญ จับกุมตำรวจ สภ.แม่สอด ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำพาบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

"วันนี้จะชี้แจงผู้ปฏิบัติรับทราบถึงมติ ครม. ผ่อนผันให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน ต่อไปจะมีการตรวจสอบแรงงาน สถานประกอบการอย่างจริงจัง ในส่วนของการกระทำความผิดเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวนั้น ในกรณีนายจ้างรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อแรงงานต่างด้าวหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำมีโทษจำคุกและห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวทำงาน 3 ปี ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และถูกผลักดันออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง"รองผบ.ตร.ระบุ

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างและสถานประกอบการที่ขาดแคลนแรงงานให้นำแรงงานต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายเข้าสู่ระบบการจ้างงานตามกฎหมายประเทศไทย เพื่อให้ได้รับการดูแลตามสิทธิที่พึงมี โดยให้กระทรวงแรงงานตรวจสอบห้วง วันที่ 1-30 พฤศจิกายน 64 และให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวภายใน 7 วัน ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนแล้ว 279,902 ราย ดังนั้นคนต่างด้าวรายใดที่ไม่ได้ดำเนินการในกำหนดจะถือว่าเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและหากนายจ้างรับเข้าทำงานจะถือว่ามีความผิดฐานรับบุคคลต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงานด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงปีใหม่ 2565 จะมีตั้งจุดตรวจจุดสกัดเฝ้าระวังการขนย้ายแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่ง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้กำชับให้ทุกหน่วยดำเนินการปราบปราม จับกุมผู้กระทำความผิด ตลอดจนขยายผลไปยังเครือข่าย ผู้ร่วมกระทำความผิดทุกรายมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่องอีกทั้งให้เจ้าหน้าที่ทุกนายปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรการป้องกันโรค พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายต้องไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าว หากมีจะดำเนินคดีผู้กระทำผิด รวมไปถึงผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลย

นอกจากนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยสนับสนุนคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันโรคสำหรับการจัดงานช่วงเทศกาลปีใหม่ในพื้นที่ต่างๆ และประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการ เช่น สถานีปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร ให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคจังหวัดอย่างเคร่งครัด และจัดชุดสายตรวจร่วม ออกตรวจสอบการบริโภคสุราและดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร หากพบการกระทำความผิดให้ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตามหากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิดสามารถแจ้งไปยัง Call Center ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหมายเลข 191 หรือ 1599 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/12/2021

ตัวแทน “คนบันเทิง-คนกลางคืน” ขอบคุณ “นายกฯ-รมว.แรงงาน” ไม่ทิ้งกัน

ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำกลุ่มคนบันเทิงกลางคืน นักดนตรี ศิลปิน ประกอบไปด้วย ช. อ้น ณ บางช้าง อาจารย์ไข่ (มาลี ฮวนน่า) นายเกียรติคุณ วีระพงษ์ประดิษฐ์ นางสุดา ชื่นบาน และบ่าววี พร้อมด้วย ตัวแทนผู้จัดงานคอนเสิร์ต อีเว้นท์ นายธเนศ สุขวัฒน์ และ นายวรพจน์ นิ่มวิจิตร เข้าพบเพื่อขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้การช่วยเหลือเยียวยาคณะคนบันเทิง โดยมีนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม โดย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทุกฝ่ายต่างต้องขอบคุณซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะศิลปินอิสระ กลุ่มคนบันเทิง ที่เข้าใจการทำงานของรัฐบาล ซึ่งต้องบริหารสถานการณ์ที่ไม่ปกติ บางส่วนอาจมีความล่าช้าไปบ้างเนื่องจากกฎระเบียบต่าง ๆ และรัฐบาลให้ความสำคัญในการใช้เงินกู้ ให้มีประสิทธิภาพตามกฏหมาย ซึ่งปัญหาที่ผ่านมา คือ ศิลปินอิสระไม่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบประกันสังคม จึงเร่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จัดทำข้อมูลแบบ Big Data โดยขอให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งสถาบันหรืออกลุ่มที่ชัดเจนตามกฏหมาย เพื่อให้เข้าถึงการช่วยเหลือของภาครัฐ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่าที่ผ่านมาได้พิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนกลางคืนอยู่เสมอ ซึ่งขณะนี้ก็มีการเปิดให้แสดงดนตรีสดได้แล้วในสถานที่หรือร้านอาหารที่มีลักษณะเปิดโล่ง จึงต้องขอความร่วมมือให้ทุกคนร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดในช่วงสิ้นปี เพราะอยากให้ประชาชนได้ใช้เวลาในช่วงปีใหม่อย่างมีความสุข ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะบริหารสถานการณ์ในภาพรวม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาดในหลายประเทศตอนนี้ด้วย

โอกาสนี้ ผู้แทนกลุ่มคนบันเทิง กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่คิดถึงกลุ่มศิลปินอิสระที่ทำงานกลางคืน หรือนักร้อง นักแสดงตลก ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งได้ติดตามการทำงานของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เข้าใจว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้ละเลยและเร่งให้ความช่วยเหลือพี่น้องศิลปินคนบันเทิง วันนี้ จึงขอมามอบช่อดอกไม้แด่นายกรัฐมนตรีเพื่อเป็นการขอบคุณด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/12/2564

รมว.แรงงาน สั่ง สปส. หยุดเรื่องขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ออกไปก่อน

20 ธ.ค. 2564 จากกรณีที่ทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยการจัดทำแนวทางการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2564 โดยมีแผนขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่จะใช้กับผู้ประกันตนใหม่และผู้ประกันตนที่อายุน้อย ส่วนผู้ประกันตนปัจจุบันที่ใกล้เกษียณอายุจะไม่ได้รับผลกระทบ

เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ระบบบำนาญชราภาพ รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนเมื่อต้องเข้าสู่วัยเกษียณ และเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกันตนได้รับบำนาญในอัตราที่สูงขึ้นด้วย โดยจะได้รับบำนาญเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อทุกปีที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ

ล่าสุดนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าได้ให้ประกันสังคมยกเลิกแนวคิดที่จะขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญ (หรือที่เรียกกันว่าอายุเกษียณ) ไปเป็น 60 ปีออกไปก่อน เพราะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“สิ่งที่กระทรวงแรงงานจะโฟกัสในตอนนี้คือ สถาบันการแพทย์แรงงาน และแก้ไข พ.ร.บ.ชราภาพ เพื่อสามารถนำเงินออกมาได้บางส่วนตามสถานการณ์เศรษฐกิจ”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/12/2564

ประกันสังคม ขยายอายุรับประโยชน์กรณีชราภาพเป็น 60 ปี

19 ธ.ค. 2564 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยการจัดทำแนวทางการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ระบบบำนาญชราภาพ รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนเมื่อต้องเข้าสู่วัยเกษียณ เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้มีจำนวนแรงงานลดลง ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้มีจำนวนผู้สูงอายุและผู้รับบำนาญเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ระบบการแพทย์ที่ดีขึ้นและสุขภาพที่ดีขึ้น ทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนจะได้รับบำนาญเป็นระยะเวลายาวนานขึ้น เนื่องจากบำนาญประกันสังคมเป็นการดูแลตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นก็จะตามมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น เพื่อไม่ให้ต้นทุนสูงขึ้นมากจนเกินไป ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างต้องนำส่ง สำนักงานประกันสังคมจึงมีนโยบายการปรับปรุงอายุเกิดสิทธิรับบำนาญ (หรือที่เรียกกันว่าอายุเกษียณ) เพื่อให้เกิดสมดุลกับโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุ และควบคุมต้นทุนของระบบบำนาญให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยการขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเป็นมาตรการปกติที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกดำเนินการ

สำนักงานประกันสังคมจึงขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี เพื่อเป็นมาตรการหนึ่งที่จะใช้กับผู้ประกันตนใหม่และผู้ประกันตนที่อายุน้อยเท่านั้น ส่วนผู้ประกันตนปัจจุบันที่ใกล้เกษียณอายุจะไม่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ การขยายอายุเกิดสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกันตนได้รับบำนาญในอัตราที่สูงขึ้นด้วย โดยจะได้รับบำนาญเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อทุกปีที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ

ตัวอย่างเช่น หากส่งเงินสมทบกรณีชราภาพตั้งแต่อายุ 35 ปี และทำงานจนถึงอายุ 55 ปี เท่ากับทำงาน 20 ปี หากมีค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเท่ากับ 15,000 บาท จะได้บำนาญในอัตรา 35% ของ 15,000 บาท หรือคิดเป็นเดือนละ 5,250 บาท และหากขยายระยะเวลาการทำงานถึงอายุ 60 จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 7.5% ทำให้บำนาญเพิ่มเป็น 42.5% ของค่าจ้าง 15,000 บาท หรือคิดเป็นเดือนละ 6,375 บาท (เพิ่มขึ้น 1,125 บาท) ไปตลอดชีวิต

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็ปไซต์ สปส. และมีการสรุปการรับฟังความคิดเห็นให้ทราบด้วยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่าง พรบ. และเตรียมเสนอ ครม. พิจารณาในลำดับถัดไป หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 19/12/2564

รมว.แรงงาน แจ้งนายกฯ ลูกจ้างยื่นรับเงินสงเคราะห์ฯ เพิ่ม 1,746 คน 13.45 ล้าน

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความห่วงใยกลุ่มลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากสถานประกอบกิจการต้องปิดกิจการสาเหตุจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด

โดยให้กระทรวงแรงงานรายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะ ซึ่งหลังจากที่ระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่ายและระยะเวลาการจ่ายกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease (COVID-19)) พ.ศ. 2564 ที่ปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสงเคราะห์ ให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564

มีลูกจ้างที่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิ์เงินสงเคราะห์เพิ่ม มายื่นขอรับสิทธิ์ระหว่างวันที่ 16 - 17 ธันวาคม 2564 แล้ว ทั้งกรณีค่าชดเชยและกรณีเงินอื่นๆ จำนวน 1,746 คน เป็นเงินรวม 13,454,903 บาท เป็นกรณีค่าชดเชย 1,228 คน เป็นเงิน 12,022,770 บาท กรณีเงินอื่นๆ ได้แก่ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด เป็นต้น จำนวน 518 คน เป็นเงิน 1,432,132 บาท ซึ่งลูกจ้างจะได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่มคนละประมาณ 9,390 บาท เป็นอย่างน้อย

สำหรับกรณีค่าชดเชย อำนาจการอนุมัติจ่ายเงินเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อตรวจเอกสารประกอบเรียบร้อยก็สามารถจ่ายเงินได้ เชื่อว่าก่อนปีใหม่ทุกคนจะได้รับเงินสงเคราะห์ดังกล่าวแน่นอน

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพิ่ม เป็นกรณีที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยหรือเงินอื่นตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป และระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างฉบับใหม่นี้ กำหนดกรอบระยะเวลามีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 28 ก.พ. 2565

โดยลูกจ้างที่มายื่นขอรับสิทธิ์เงินเพิ่มส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดนครสวรรค์ และลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ไทย โกลบอล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ และสำหรับบริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่มีการเลิกจ้างลูกจ้าง และปิดกิจการ หากไม่มีการจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง กระทรวงแรงงานก็จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านเงินสงเคราะห์จากกองทุนเงินสงเคราะห์ต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 18/12/2564

ประกันสังคมเดินหน้าปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงการเสนอข่าวของสื่อออนไลน์ จากนักวิจัยเขียนวิเคราะห์ เตือนกองทุนประกันสังคมจะมีปัญหาความยั่งยืนที่ชัดเจนภายใน 10 ปี หากไม่มีการดำเนินการนโยบายใดๆ โดยเฉพาะกองทุนชราภาพจะมีปัญหาสูงที่สุด และเสนอแนะทางแก้ไขเชิงนโยบายให้สำนักงานประกันสังคมปรับเพิ่มหรือยกเลิกเพดานค่าจ้างสูงสุด ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ รวมทั้งขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งในเรื่องดังกล่าว สำนักงานประกันสังคม ได้เล็งเห็นสภาพปัญหาที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมในอนาคต พร้อมทราบดีถึงสถานการณ์ดังกล่าว และเป็นผู้ประเมินสถานะกองทุนร่วมกับงานวิจัยหลายๆ ฉบับที่ข่าวอ้างถึง โดยสำนักงานประกันสังคมมีนโยบายปฏิรูปตามข้อเสนอแนะของผู้เขียนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ การดำเนินการจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และทำในช่วงสถานะเศรษฐกิจที่เหมาะสม

อย่างไรก็ดี สำหรับความคืบหน้าในส่วนการแก้ไขกฎหมาย ได้แก่ 1) สำหรับการปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง ในลำดับแรก สปส.ได้เสนอปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างเป็น 20,000 บาท เพิ่มทั้งความยั่งยืนของกองทุน และสิทธิประโยชน์เงินทดแทนกรณีต่างๆ ได้แก่ กรณีชราภาพ ว่างงาน คลอดบุตร เจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ให้แก่ผู้ประกันตน ทั้งนี้ ชะลอการดำเนินการไว้ เนื่องจากสถานการณ์ของ COVID-19 2) สำหรับการขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญขั้นต่ำ สปส.ได้เสนอให้ปรับแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 5 ขยายจาก 55 เป็น 60 ปี โดยผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว ซึ่งการดำเนินการจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ประกันปัจจุบันที่ใกล้เกษียณไม่ได้รับผลกระทบ 3) สำหรับกรณีปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ สำนักงานฯ ยังไม่ได้เสนอปรับแก้ไขใน พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 5 โดย สปส. เป็นนโยบายที่ควรดำเนินการในระดับประเทศ ผ่านคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ ที่กำลังจะตั้งขึ้น เพื่อให้นโยบายการจัดเก็บเงินสมทบเป็นไปได้อย่างสอดคล้องกันในภาพรวมประเทศ

นายบุญสงค์ กล่าวต่อไปว่า “ผมไม่อยากให้ผู้ประกันตนหวั่นวิตกจนเกินไป เนื่องจาก สปส. มุ่งมั่นปฏิรูปองค์กรและการทำงานตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อไม่ให้ภาระทั้งหมดตกไปถึงมือรุ่นลูกรุ่นหลาน” เลขาธิการ สปส. ระบุ สปส.ได้กำหนดแผนการสร้างความมั่นคงให้กับกองทุนประกันสังคมไว้ในแผนปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม โดยกำหนดแนวทางดำเนินการแล้ว เช่น การปรับปรุงเพดานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบมาพิจารณาปรับใช้เป็นระยะๆ

“เพื่อให้กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพมีความยั่งยืน และมีเงินเพียงพอที่จะจ่ายบำนาญให้ผู้ประกันตนได้ตลอดไป จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากผู้ประกันตนและนายจ้าง ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงตามแนวทางใดๆ ย่อมอาจส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความรู้สึกของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ดังนั้น ก่อนที่ สปส.จะปรับปรุงการดำเนินการต่างๆ ก็จะสอบถามความคิดเห็นจากผู้มีส่วนร่วมออมเงินทุกฝ่าย เพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” นายบุญสงค์ กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 18/12/2564

หอการค้าชี้สถานการณ์แรงงานในประเทศดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปรับตัวรับโอไมครอนได้ไม่กระทบการผลิต

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เวลานี้การบริหารจัดการด้านแรงงานในประเทศดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่า การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนไม่ได้มีผลกระทบกับการผลิตสินค้าในภาพรวม โดยเอกชนในภาคการผลิตและการส่งออกยังคงสามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมั่นใจว่าหลังจากต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มาตลอด 2 ปี ผู้ประกอบการมีประสบการณ์และการปรับตัวรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และภาครัฐได้พยายามแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง เช่น การฉีดวัคซีน

แต่อย่างไรก็ตาม การรับมือกับสายพันธุ์ไมครอนนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของประชาชนด้วยซึ่งจะต้องยึดหลักปฏิบัติด้านสุขอนามัยอย่างเข้มข้น เพราะในส่วนของภาคการผลิตมีความเข้มงวดในการปฏิบัติอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้กระทบกับภาพรวมของเศรษฐกิจหากต้องหยุดการผลิตสินค้า

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 17/12/2564

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net