Skip to main content
sharethis

กองทัพพม่ายังรบกับ KNLA หนัก ชาวพม่าผวา ลี้ภัยมาฝั่งไทยกว่า 4,000 คน ด้าน รมช.กลาโหม ยันช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม แต่ถ้าเหตุการณ์สงบ พร้อมส่งตัวกลับทันที ด้าน HRW ร้องไทยไม่รีบส่งชาวพม่ากลับ หวั่นตกเป็นเป้าการโจมตีของทหาร 

ชาวพม่าต้องอพยพข้ามแม่น้ำเมยมาฝั่งไทย เนื่องจากหวั่นเกรงสถานการณ์สู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับ KNLA เมื่อ 19 ธ.ค. 64 (ภาพจาก KIC)

20 ธ.ค. 64 สำนักข่าว Thai PBS รายงานวันนี้ (20 ธ.ค.) ทหารกองทัพพม่า หรือ ‘ทัตมาดอ’ ยังคงสู้รบกับกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกระเหรี่ยง (KNLA) มีการเสริมกำลังและอาวุธหนักเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องที่บ้านเลอเตก่อ บ้านแม่ตอตะเล, บ้านมินลาปี่น และบ้านผะลู ทางใต้ของ จ.เมียวดี ประเทศพม่า ตรงข้าม ต.แม่ตาว ต.แม่กุ และ ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก

ล่าสุด ทหารพม่าเสริมกำลังเข้าพื้นที่อีก 200 นาย พร้อมอาวุธหนัก ทั้งรถหุ้มเกราะ และรถถัง ส่งผลทำให้ชาวเมียนมายังคงหนีภัยสู้รบเข้ามาฝั่งไทยต่อเนื่อง

ขณะที่ฝ่ายสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU ส่งหนังสือแจ้งให้ทหาร 7 กองพลตั้งแต่ด้านเหนือจรดด้านใต้ ตรงข้ามกับไทย หากพบศัตรูเข้าพื้นที่ให้ยิงได้ทันที ล่าสุด มีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายระเบิดสะพานที่รัฐบาลไทยสร้างให้เมียนมา บนทางหลวงสายเอเชียบริเวณเมืองกอกาเลก ลึกจากชายแดนไทย-เมียนมาไป 60 กม.ได้รับความเสียหาย แต่รถยนต์เล็กยังไปได้

การสู้รบทำให้มีผู้หนีภัยชาวกะเหรี่ยง ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านโซซิเมียน ตรงข้าม ต.แม่กุ อ.แม่สอด ต้องอพยพไปกางเต็นท์ริมแม่น้ำเมย เพื่อรอข้ามมาฝั่งไทย ล่าสุด มีผู้หนีภัยสู้รบเข้ามาบริเวณชายไทยด้าน ต.มหาวัน และ ต.แม่ตาว ประมาณ 4,000 คน

ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า นายกรัฐมนตรี ให้ดูแลความปลอดภัยชาวเมียนมาตามหลักมนุษยธรรม แต่เป็นการชั่วคราวเมื่อสถานการณ์สงบให้ส่งกลับทันที พร้อมมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ ส่วนทหารเป็นผู้สนับสนุนภารกิจ และติดตามสถานการณ์การสู้รบอย่างใกล้ชิด

ส่วนเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบุว่า มีผู้หนีภัยสู้รบบางส่วน จากการตรวจคัดกรองโควิดพบติดเชื้อ และส่งเข้ารักษาตัวแล้ว

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (19 ธ.ค. 64) ฟิล โรเบิร์ตสัน ผู้อำนวยการฮิวแทนไรซ์วอต์ช (HRW) ประจำภูมิภาคเอเชีย ทวิตข้อความเรียกร้องให้ทางการไทยไม่เร่งส่งตัวผู้ลี้ภัยพม่ากลับประเทศต้นทาง หวั่นชาวบ้านตกเป็นเป้าการโจมตีของทหารพม่า 

โรเบิร์ตสัน กล่าวด้วยว่า ทุกคนทราบว่า กองทัพพม่าตั้งใจพุ่งเป้าโจมตีไปที่พลเรือนด้วยความรุนแรงถ้าเจอพวกเขาในสนามรบ นี่จึงไม่ใช่เรื่องเกินไปที่จะบอกว่า ผู้ลี้ภัยกำลังหลบหนีเพื่อรักษาชีวิตของพวกเขาเอง
 


ชนวนเหตุการสู้รบ

เหตุแห่งการสู้รบระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กองกำลังปกป้องพลเรือน (PDF) และกองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีใจเมตตา (DKBA) ต่อกองทัพพม่า เริ่มขึ้นหลัง 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทหารกองทัพพม่า ราว 200 นาย บุกเข้าไปตรวจค้นภายในหมู่บ้านเลเกก่อ ทิศใต้ของจังหวัดเมียวดี และจับกุมฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่า ราว 80 คน รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD นักกิจกรรมการเมือง ข้าราชการที่เข้าร่วมการทำอารยขัดขืน - CDM และสมาชิกกองกำลังพลเรือน 

สำหรับเมืองเลเกก่อ ถูกสร้างเมื่อ ก.พ. 2558 ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธินิปปอน จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับชาวพม่า ซึ่งกลับจากการลี้ภัยในต่างแดน

อย่างไรก็ตาม การสู้รบระหว่าง KNLA และกองทัพพม่า ไม่ได้เพิ่งเริ่มขึ้นไม่นาน แต่ความตึงเครียดของทั้งสองกลุ่มเริ่มขึ้นนับตั้งแต่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 64 และทาง KNU เป็นหนึ่งกองกำลังชาติพันธุ์ที่ออกมาต่อต้านการทำรัฐประหารครั้งล่าสุด ก่อนที่ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 64 จะมีการรบกันระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม โดยกองทัพพม่าใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดทั้งในเขตกองพลที่ 3 และ 5 และในช่วงปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กองพลที่ 5 KNLA ก็ทำการโจมตีฐานซอแลท่าของกองทัพพม่า ที่ตั้งริมแม่น้ำสาละวิน พรมแดนไทย-พม่า ตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ จ.แม่ฮ่องสอน และสามารถยึดได้

เมื่อเดือน พ.ย. กองทัพพม่าเคยออกมากล่าวหา KNU เขตกองพลที่ 1, 2, 3 , 5 และ 6 ว่าให้ที่พักพิงแก่ฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่าที่กำลังหลบหนีการจับกุม ทำการฝึกอาวุธกองกำลังพลเรือน พอฝึกอาวุธเสร็จ นักสู้เหล่านี้ก็เดินทางกลับเข้าไปในหลายๆ เมือง เพื่อต่อสู้กับกองทัพพม่าตามแบบฉบับกองโจร 

สื่อพม่าอย่าง Myanmar Now ตั้งข้อสังเกตว่า ทาง KNU กองพลที่ 6 อาจเป็นผู้อนุญาตให้กองทัพพม่าเข้าไปตรวจค้นภายในหมู่บ้านเลเกก่อ ซึ่งอยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของ KNU กองพลที่ 6 และเมื่อ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ประธานเขตกอกะเลก รัฐกะเหรี่ยง และฐานที่มั่นของกองพลที่ 6 KNU เคยเขียนคำสั่งด้วยลายมือห้ามนักการเมืองที่สังกัดรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG เข้ามาอาศัยในเขตดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จากกองบัญชาการกลางของ KNU ให้สัมภาษณ์กับ Myanmar Now ภายหลังว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ได้เป็นตัวแทนนโยบาย หรือความเห็นส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ KNU 

ทั้งนี้ ทาง Myanmar Now พยายามต่อสายโทรศัพท์สัมภาษณ์ถึงโฆษกกองพลที่ 6 แห่ง KNU เพื่อสอบถามว่าเป็นคนอนุญาตให้กองทัพพม่าเข้ามาตรวจค้นหมู่บ้านหรือไม่ แต่ไม่มีผู้รับสาย 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net