Skip to main content
sharethis

12 ธ.ค.2564 ประมวลบรรยากาศคณะราษฎรยกเลิก 112 จัดกิจกรรมม็อบ "12.12 ยกเลิก 112" จากแยกราษฎรประสงค์ (หรือแยกราชประสงค์) เพื่ออัพเดตสถานการณ์ปัญหาการใช้มาตรา 112 ที่รุนแรงมากขึ้น รวมถึงให้แง่มุมความรู้ทางประวัติศาสตร์การเมืองจากนักวิชาการ และหลังจากนี้จะเป็นการเดินทางลงพื้นที่ในจังหวัดอื่นๆ เพื่อสร้างแนวร่วมให้มากขึ้น และเก็บรวบรวมรายชื่อของผู้ที่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 112 ต่อไป

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ โดยเรียงจากล่าสุด

20.00 น. แกนนำคณะราษฎรยกเลิกมาตรา 112 (ครย) อ่านแถลงการณ์คณะราษฎรยกเลิก 112 ระบุขณะนี้ประชาชนได้ร่วมกันลงชื่อเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกมาตรา 112 เป็นจำนวนถึง 230,000 คนแล้ว

ครย. ชวนประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกภาคส่วน ทุกฟากฝ่าย ทุกแนวความคิด รวมพลังกันลงชื่อเพิ่มเติมให้ถึงหนึ่งล้านคน และขอเรียกร้องต่อทุกพรรคการเมืองให้ประกาศนโยบายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ - ประชาธิปไตย รักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน แก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกมาตรา 112 และดำเนินงานทุกวิถีทางที่จะให้รัฐบาลประยุทธ์ลาออกไป แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตยเพื่อให้สังคมไทยมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป

ภายหลังการเสวนาเสร็จสิ้นมีการขึ้นผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยถึงเหตุผลที่ควรยกเลิกมาตรา 112 และวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าคำปราศรัยข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 เป็นการล้มล้างการปกครอง

ธนพัฒน์ กาเพ็ง

ธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูน ทะลุฟ้า กล่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลว่าข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์บางข้อนั้นจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง การยกเลิกมาตรา 6 ยกเลิก 112 นำไปสู่การกระด้างกระเดื่องของประชาชน ไม่บูชาสักการะสถาบันกษัตริย์อย่างที่ควรจะเป็น แต่เขาเห้นว่ากรที่ประชาชนจะเคารพหรือไม่เคารพสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถใช้กฎหมายหรือปลายกระบอกปืนมาบังคับกันได้ แต่เขาดูเหตุผลว่าสถาบันกษัตริย์ควรได้รับความเคารพหรือไม่

ปูนกล่าวว่าสิ่งที่ศาลยกมาอ้างว่าเป็นประเพณีอันดีงามไม่ว่าจะเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือการที่สถาบันกษัตริย์แสดงความเห็นทางการเมืองนั้นไม่ใช่ประเพณีอันดีงามของไทย แต่เป็นการเคารพคนเท่ากันและการแสดงความเห็นของกษัตริย์ก็ไม่สามารถทำได้ไม่เช่นนั้นจะมีเขียนในรัฐธรรมนูญได้อย่างไรว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง

ปูนยังกล่าวถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจัยว่าการชุมนุมเมื่อ 10 ส.ค.2563 เป็นการล้มล้างการปกครองนั้นก็เป็นการเชื่อมโยงไปไกลเกินความเป็นจริงทั้งที่ประชาชนเพียงแต่รวบรวมรายชื่อไปยื่น ไม่เหมือนกับการที่ คสช.ทำรัฐประหาร

บิ๊ก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมกล่าวว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูยนั้นไม่มีความชอบธรรมเพราะว่า ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีถึง 7 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารทำให้ไม่มีความยึดโยงกับประชาชนทำใคำตัดสินเอื้อประโยชน์แก่คณะรัฐประหารและคำตัดสินก็ไม่เคยยึดโยงกับประชาชน ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องประหารคณะรัฐประหารแต่สิ่งที่ศาลทำคือการประหารสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนไทย และศาลไทยก็ให้การรับรองการรัฐประหารตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2496และไม่เคยปฏิเสธการรัฐประหารนับแต่นั้นมา แสดงให้เห็นว่าศาลเป็นพวกเดียวกับทหารมาตลอด

บิ๊กกล่าวต่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นศัตรูกับประชาชนมาตลอดไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคไทยรักไทย ไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่ ทำเพื่อตัดศัตรูทางการเมืองแต่ยังเป็นศัตรูกับประชาชนด้วย

“ผู้ที่จะล้มล้างการปกครองได้ ไม่ใช่คณะราษฎร 2563 แต่เป็นคณะรัฐประหารที่พวกท่านให้การรับรองเสมอมา”

นอกจากนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีคุณสมบัติให้มาเป็นตุลาการได้ คนหนึ่งก็เป็นคนเหยียดเพศและยังเล่นมุกข่มขืน คนหนึ่งก่อนมาเป็นตุลาการก็ไม่เข้าสอนทั้งชั้น คนสุดท้ายวุฒิป.เอกก็ได้มาจากมหาวิทยาลัยห้องแถวที่ปิดตัวลงไปแล้ว

บิ๊กกล่าวอีกว่าที่ศาลอ้างประเด็นต่างๆ อย่างเช่นการที่จะแก้ไขมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญและยกเลิกมาตรา 112 จะเป็นการล้มล้างการปกครอง การที่กล่าวอ้างว่าการวิจารณ์เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทการมีแต่คำสรรเสริญเยินยอก็ล้วนเป็นเพียงคำโกหก และเขากล่าวอีกว่าสถาบันกษัตริย์จะต้องยึดโยงกับประชาชน ต้องพูดถึงได้วิจารณ์ได้ ทั้งที่กษัตริย์ไม่ได้มีที่มาจากประชาชนแต่มาจากการสืบสายเลือดดังนั้นจึงควรอยู่เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้นไม่ควรเข้ามามีบทบาททางการเมือง

อรรถพล บัวพัฒน์ ขึ้นกล่าวต่อว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่าคำปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 นั้นเป็นการล้มล้างการปกครองแต่สิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นการล้มล้างการปกครองจริงๆ คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเองที่อ้างว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคือการปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนและการที่เขียนอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็เป็นเพียงแต่การบอกว่าใครเป็นประมุขไม่ใช่ประมุขที่มีอำนาจสูงสุด การที่ศาลบอกว่ากษัตริย์มีอำนาจมาโดยตลอดจึงเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยใช้คำวินิจฉัยของศาลตัวบ่อนเซาะทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

ประมาณ 16.30 น. บนเวทีมีการเสวนาหัวข้อ “ราษฎรพิพากษา มาตรา 112” ที่กลาวถึงปัญหาของการใช้มาตรา 112 ที่รัฐเอามาใช้ในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์อย่างกว้างขวางจนมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้แล้วถึง 164 คน ใน 168 คดี อีกทั้งศาลยังตัดสิทธิในการกระบวนการยุติธรรมของผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ไม่ว่าจะเป็นการได้รับสิทธิประกันตัว การได้โอกาสในการต่อสู้คดี หรือการถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่าการปราศรัยถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 นั้นเป็นการล้มล้างการปกครองนั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของชนชั้นนำที่มองว่าข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นี้มีนัยยะซ่อนเร้นว่าเป็นการล้มล้างไม่ใช่การปฏิรูป ซึ่งทำให้เห็นว่าชนชั้นนำเหล่านี้มีความพร้อมในการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยมากน้อยแค่ไหน และคำวินิจฉัยของศาลก้มุ่งเน้นให้ความสำคัญของสาถบันกษัตริย์มากกว่าความเป็นประชาธิปไตย

สรุปเสวนากลางม็อบ 'ราษฎรพิพากษา มาตรา 112'

 

เวลา 16.20 น. เจ้าหน้าที่ดึงป้ายที่แขวนอยู่บนสะพานลอยหน้า The Market ออก ต่อมาผู้ชุมนุมนำป้ายผ้า "ราษฎรพิพากษาฯ" กลับมาติด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศก่อนเริ่มกิจกรรม เวลา 15.47 น. ผู้ชุมนุมปิดการจราจรบริเวณใต้สะพานลอยหน้าห้างเกษรพลาซ่า 5 เลน ถ.ราชดำริ ฝั่งมุ่งหน้าแยกประตูน้ำ ทั้งนี้ไอลอว์ ทะลุฟ้ากำลังตั้งบูธ วันนี้มีเต็นท์พยาบาล 2 จุด ห่างกันประมาณ 100 เมตร ของกลุ่ม DNA

 

จับกุม ตรวจค้นหลายราย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานสถานการณ์การจับกุมผ่าน ทวิตเตอร์ @TLHR ว่า 23.00น. ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งว่า ประชาชนอย่างน้อย1ราย เป็นชายวัย 26 ปี ถูกจับกุมขณะขี่จักรยานยนไปกับกลุ่มเพื่อนผ่านไปแยกราชปรารภ และถูกนำตัวไปที่ สน.พญาไท ล่าสุดทนายเดินทางไปถึง สน.พญาไทแล้ว แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้พบผู้ถูกจับ ตำรวจแจ้งเหตุว่าเกี่ยวกับการยิงพลุ ขณะหน้า สน. ปิดไฟมืด

ต่อมา 01.05น.ที่ สน.พญาไท ตำรวจชุดสืบเดินมาตามแฟนของพุทธิพงศ์ ผู้ถูกจับจากราชปรารภ อ้างว่าพุทธิพงศ์ต้องการพบ แต่เมื่อมีการขอให้ทนายเข้าไปด้วย ตำรวจกลับปฏิเสธ ทำให้แฟนพุทธิพงศ์ปฏิเสธที่จะเข้าไปกับ ตำรวจเพียงลำพัง

ก่อนหน้านั้นศูนย์ทนายฯ รายงานด้วยว่า เมื่อเวลา 20.00 น. ได้รับแจ้งว่า มีวัยรุ่น 5 คน ถูกตำรวจค้นหน้าประตูน้ำ 3 ใน 5 คนอายุไม่ถึง 18 ปี ตรวจพบว.สีแดงตร.อ้างไม่แสดงใบอนุญาตพกวิทยุสื่อสาร จึงจะคุมตัวไป สน.พญาไท ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า มีผู้ถูกจับกุม 2 ราย ขณะไปร่วมกิจกรรมที่ราชประสงค์ ถูกตร.สน.ลุมพินี จับค้นและพาตัวไปสน.

โดยได้รับแจ้งเพิ่มเติมว่า หลังมีการทำความเข้าใจกันแล้วโดยการเข้าไปเจรจากับตำรวจ ตำรวจได้ปล่อยวัยรุ่นทั้ง 5 คนไป โดยไม่ได้แจ้งข้อหา แต่ได้ถ่ายรูปบัตรประจำตัวของวัยรุ่น 2 คน และเยาวชน 3 คนไว้ทั้งหมด

เวลา 21.15 น. วัยรุ่น 2 รายที่ถูกจับและนำตัวไปที่ สน.ลุมพินี ถูกกล่าวหาเพียงวัยรุ่นชายด้วยข้อหา​ ตาม​ป.อาญา​ ม.371 พกพาอาวุธ(ปิงปอง)​ไปในเมือง​หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร/พงส.เปรียบเทียบปรับ​ 100​ บาท โดยทั้งคู่ถูกค้นรถจักรยานจับขณะจะไปร่วม #ม็อบ12ธันวา64 ในประมาณ 19.00 น.

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่แยกราชประสงค์ กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรมชุมนุม “ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112” เพื่อลงชื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งในเวลาต่อมา เพจ “คณะก้าวหน้า” และทวิตเตอร์ “คณะราษเปซ” เปิดตัวเว็บไซต์ no112.org เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายยกเลิกมาตราดังกล่าว โดยผู้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้คือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และอานนท์ นำภา กับคณะเป็นผู้เสนอ

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มาตั้งแต่ช่วงรัฐบาลทหาร คสช. ได้เผยแพร่สถิติการใช้มาตรา 112 เฉพาะช่วงเวลาประมาณ 1 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.2563 – 3 พ.ย.2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 155 คน ใน 159 คดี ในจำนวนคดีทั้งหมดมีคดีที่ “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษถึง 78 คดี

การใช้มาตรา 112 ระลอกนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ 19 พ.ย.2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการชุมนุมทางการเมืองต่อเนื่องตั้งแต่ 18 ก.ค.2563 และเริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไปจนถึงมีการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุม โดยพล.อ.ประยุทธ์ประกาศว่าจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด หลังจากก่อนหน้านั้นมีการเปลี่ยนแนวทางการบังคับใช้มาตั้งแต่ช่วงปี 2561 เป็นต้นมา

การรวบรวมรายชื่อเพื่อแก้ไขมาตรา 112 ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อปี 2555 ประชาชนเคยเข้าชื่อกัน 26,968 คน ยื่นต่อรัฐสภาเพื่อเสนอให้แก้ไขความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ในมาตรา 112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ การล่ารายชื่อครั้งเริ่มขึ้นโดยคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) และใช้เวลารวบรวมรายชื่อจากการตั้งโต๊ะและทางไปรษณีย์ 112 วัน

ทั้งนี้การรวบรวมรายชื่อทางออนไลน์ครั้งนี้เกิดขึ้นได้หลังจากเมื่อ 27 พ.ค.2564 พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี 2564 เริ่มมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยสาระสำคัญของ กฎหมายฉบับนี้ทำให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายหรือร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานรัฐสภา (แล้วแต่กรณี) ได้สะดวกขึ้น โดยให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชน และเตรียมเปิดระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายทางออนไลน์ได้

ภาพบรรยากาศกิจกรรมม็อบ "12.12 ยกเลิก 112"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net