Skip to main content
sharethis

กสม. เผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ปี 2564 ชี้ ยังมีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นายภาณุพันธ์ สมสกุล ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ร่วมกันแถลงผลการตรวจสอบกรณี “ฮิวแมนไรทส์ วอทช์” เผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ปี 2564 ซึ่งมีการนำเสนอสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยช่วงปี 2563 หลายประเด็น โดยในประเด็นผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิง และแรงงานข้ามชาติ มีการรายงานว่า “แม้ว่ารัฐบาลจะดำเนินการปฏิรูปอุตสาหกรรมประมง แต่ยังคงมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับการบังคับใช้แรงงาน การตกเป็นแรงงานขัดหนี้ของนายหน้าจัดหางาน การไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ การได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และการได้รับค่าจ้างล่าช้าเป็นเวลาหลายเดือน โดยในปี 2563 รัฐบาลสหรัฐอเมริกายังคงระบุให้สินค้าจากอุตสาหกรรมประมงไทยอยู่ในรายการสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ กสม.ได้พิจารณารายงานสถานการณ์ดังกล่าวแล้วเห็นว่า ประเด็นที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิแรงงาน อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กสม. จึงมีมติให้มีการตรวจสอบ โดยมีหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่และรับฟังข้อเท็จจริงจากองค์กรภาคประชาสังคม ผู้แทนของสมาคมการประมง องค์กรฮิวแมนไรทส์ วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย รวมถึงพยานบุคคลและตัวแทนแรงงานข้ามชาติ จากการตรวจสอบพบว่า ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้บัญญัติห้ามมิให้จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 เป็นลูกจ้าง ส่วนกรณีที่มีการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้นายจ้างต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยเคร่งครัด ในขณะที่งานประมงทะเลนั้น กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามนายจ้างจ้างลูกจ้างที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในเรือประมง ซึ่งจากการตรวจสอบเห็นว่า ในปี 2563 ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดในเรือประมง แต่ยังคงเกิดขึ้นในกิจการต่อเนื่องเกี่ยวกับการทำประมงและภาคการบริการ ซึ่งมีการจ้างแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในระหว่างเวลา 22.00-06.00 น. ซึ่งเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยอยู่ระหว่างการดำเนินคดี หรือกรณีกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ในรูปแบบการแสวงประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ซึ่งมีผู้เสียหายเป็นเด็กหญิงสัญชาติกัมพูชา โดยผู้กระทำไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย

ส่วนกรณีการใช้แรงงานบังคับ ปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2563 มีลักษณะที่เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ให้การช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในรูปแบบการถูกแสวงประโยชน์ด้วยการบังคับใช้แรงงานในงานประมง หรือกรณีกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ รายงานว่า มีคดีที่ผู้เสียหายมีอายุระหว่าง 22-34 ปี แต่กรณีดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดของเรือประมงสัญชาติอื่นและผู้กระทำไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย และหากพิจารณาตาม “ตัวชี้วัดภาวะแรงงานบังคับ” ซึ่งจัดทำโดยโครงการปฏิบัติการพิเศษขององค์การแรงงานระหว่างประเทศเพื่อขจัดการใช้แรงงานบังคับ อาทิ การไม่จ่ายค่าจ้าง พบว่ายังคงเกิดกรณีการไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในเรือประมง ซึ่งเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และเข้าข่ายการบังคับใช้แรงงานตามเกณฑ์ตัวชี้วัดภาวะแรงงานบังคับข้างต้น

ส่วนการแก้ไขปัญหา หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถขจัดการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าทั้งในเชิงของการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดปัญหาให้มีจำนวนลดน้อยลง รวมทั้งมีกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น มีความพยายามเพื่อถอดสินค้าไทยออกจากรายการสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ โดยมีนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งมีกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลัก

อย่างไรก็ตาม การใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทยเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ปรากฏมาโดยตลอดและส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติซึ่งมีจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ กสม. จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ คือ

1.ให้คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับอย่างเคร่งครัดโดยไม่เลือกปฏิบัติ และปรับมาตรการในการดำเนินการให้สามารถรองรับกับสถานการณ์แทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

2. ให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการระหว่างหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบการเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ

3 คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ต้องเปิดโอกาสและสนับสนุนให้องค์กรเอกชนและองค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทในการตรวจสอบปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมง อ้อย เครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างรอบด้าน นอกจากการตรวจสอบโดยหน่วยงานของรัฐ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 25/11/2564

พนักงานของโรงงานผลิตอะไหล่รถจักรยานยนต์พระประแดง เรียกร้องขอเงินโบนัส-ขึ้นเงินประจำปี

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2564 มีรายงานข่าวว่ามีพนักงานของโรงงานผลิตอะไหล่รถจักรยานยนต์ ตั้งอยู่ภายในซอยสุขสวัสดิ์ 39 ต.บางพึ่ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ รวมตัวกันประมาณกว่า 300 คน บริเวณหน้าโรงงาน เพื่อเรียกร้องขอเงินโบนัสประจำปี และเงินขึ้นประจำปี ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้มีการแจ้งว่าในปีนี้จะไม่มีเงินโบนัส และการปรับขึ้นค่าแรงเหมือนทุก ๆ ปีที่ผ่านมา

ซึ่งได้มีตัวแทนของทางพนักงานหรือสหภาพแรงงานเข้าเจรจากับทางผู้บริหารของโรงงาน ได้ข้อสรุปว่าจะยินยอมจ่ายโบนัสและเงินเดือนปรับขึ้นให้กับพนักงานแค่ 50% ก่อน ส่วนอีก 50% ที่เหลือจะขอเจรจากันใหม่อีกครั้ง จากนั้นตัวแทนสหภาพได้มาแจ้งให้พนักงานทราบถึงผลสรุปการเจรจา ทำให้พนักงานบางส่วนไม่เป็นที่พอใจจึงได้มารวมตัวเรียกร้องอีกครั้ง และได้มีการส่งตัวแทนเข้าเจรจาเช่นเดิม

ทางตัวแทนที่เข้าเจรจาได้ออกมาจากโรงงานและได้แจ้งกับพนักงานที่รวมตัวกันอยู่บริเวณหน้าโรงงาน ว่าทางบริษัทจะมีการปรับโบนัสเพิ่มให้จากเดิม 50% แต่จะขึ้นให้อีกเท่าไหร่นั้น ยังต้องพิจารณาอีกครั้ง หากยังไม่เป็นที่หน้าพอใจ จะมีการรวมตัวเรียกร้องกันอีกครั้ง ส่วนทางด้านผู้บริหารของโรงงานก็ได้แจ้งเหตุผลว่าทางโรงงานได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาเพราะ ออเดอร์สินค้าสั่งผลิตยอดตกลง จึงทำให้รายได้ตกลง แต่รายจ่ายเท่าเดิม ทางด้านพนักงานก็มีเหตุผลว่าเงินโบนัสและเงินเดือนที่ต้องปรับขึ้นประจำปีเป็นความหวังของพนักงานเพราะต้องไป้จ่ายหนี้สินและต้องส่งเงินก้อนนี้กลับไปให้ที่บ้านหรือครอบครัวในช่วงปีใหม่ที่จะมาถึง

จัวแทนกลุ่มตัวแทนเจรจาได้กล่าวว่าตนเองเป็นพนักงานฝ่านผลิต โดยทางโรงงานได้มีการแจ้งว่าจะไม่จ่ายโบนัสประจำปี และไม่มีการปรับขึ้นเงินค่าแรงประจำปี เช่นทุกปี ทางพนักงานหลายร้อยคนจึงได้มารวมตัวเรียกร้องกัน เพราะหลายๆคนที่ทำงาน ก็หวังเงินโบนัส ที่เป็นเงินก้อน เพื่อกลับบ้านช่วงปีใหม่ และส่งเงินก้อนนี้กลับบ้าน ซึ่งพนักงานหลายๆคนรอคอยเงินก้อนหนี้มาทั้งปี แต่เมื่อรู้ว่าปีนี้จะไม่ได้ ตนเองและพนักงานหลาย ๆ คน จึงรวมตัวกันเพื่อเรียกร้อง โดยทางบริษัทให้เหตุผลว่า อุปกรณ์วัตถุดิบราคาแพง บริษัทอาจขาดทุน จึงขอไม่จ่ายเงินโบนัส โดยตนเองคิดว่าเป็นไปได้ยากที่บริษัทจะขาดทุน เนื่องจากมีการทำงานและส่งสินค้าออกอย่างปกติ อีกทั้งทางบริษัทนั้นมีหลายสาขาไม่ใช่มีที่นี่ที่เดียว

ที่มา: บ้านเมือง, 23/11/2564

รวบพระภิกษุ ลักลอบขนแรงงานผิดกฎหมาย

22 พ.ย. 2564 ทหารกองกำลังเทพสตรี และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ซึ่งตั้งจุดสกัดบริเวณถนนสายชายแดน จุดรอยต่อระหว่างตำบล จปร. อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง และตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร หลังได้รับรายงานว่าจะมีขบวนการลักลอบขนแรงงานผิดกฎหมายใช้เส้นทางดังกล่าว นำแรงงานชาวเมียนมาหลบหนีเข้าเมือง กระทั่งไปสกัดรถกระบะต้องสงสัยคันหนึ่ง โดยภายในรถพบมี นายวัลลภ พูนบางยุง อายุ 49 ปี ชาวจังหวัดสมุทรสาคร เป็นคนขับ ส่วนที่บริเวณที่นั่งข้างคนขับ พบพระภิกษุนั่งมาด้วย 1 รูป จากการตรวจสอบเป็นพระภิกษุชาวเมียนมา อายุ 41 ปี แต่เข้ามาบวชเป็นพระที่วัดแห่งหนึ่งในอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ปี 2555

แต่เมื่อไปตรวจสอบบริเวณแคปที่นั่งด้านหลังคนขับ กลับพบชาวเมียนมา จำนวน 6 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน เด็กชายอายุ 13 ปี 1 คน และเด็กหญิงอายุ 8 ขวบอีก 1 คน ทั้งหมดนั่งอัดกันมาภายในที่นั่งส่วนแคป จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทั้งหมดไม่มีเอกสารหรือหนังสือเดินทาง ทั้งหมดให้การว่าเดินทางมาจากเมืองทวาย โดยมีเป้าหมายเดินทางไปที่อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

ขณะที่พระภิกษุอายุ 41 ปี ก็ให้การยอมรับว่า ได้ลักลอบนำแรงงานชาวเมียนมาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจริง และก่อนหน้านี้ทำมาแล้ว 4 ครั้ง แต่ละครั้งจะพาแรงงานเข้ามา 2-6 คน โดยที่ตนเองจะได้รถยนต์ 1 คัน เป็นค่าตอบแทนจากผู้ที่ว่าจ้างอีกที จากนั้นก็ได้ไปจ้างนายวัลลภ ครั้งละ 5,000 บาท เป็นคนขับรถนำพาแรงงานดังกล่าวเข้ามาประเทศไทย โดยที่ตนเองจะนั่งมาในรถด้วย เพื่อเป็นการตบตาเจ้าหน้าที่ แต่ครั้งนี้ก็มาถูกจับได้

หลังจากนั้น ชุดจับกุมได้ตรวจคัดกรองชาวเมียนมาทั้ง 6 คน ก่อนจะควบคุมตัวทั้งหมด รวมทั้งพระภิกษุ และคนขับรถ ส่งพนักงานสอบสวน สภ.ปากจั่น เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

ที่มา: ข่าวช่อง 7HD, 23/11/2564

สภาพัฒน์เผยไตรมาส 3/2564 โควิดทำคนไทยว่างงานพุ่ง 8.7 แสนคน สูงสุดตั้งแต่ปี 2551

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ระบุว่าตลาดแรงงานยังได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่มีความเข้มงวด ส่งผลให้ผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาสูงที่สุดตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด ในขณะที่หนี้สินครัวเรือนยังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยสถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาส 3 พบว่า ภาพรวมการจ้างงานผู้มีงานทำ มีจำนวนทั้งสิ้น 37.7 ล้านคน ลดลง 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด 19 และสูงสุดตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 โดยมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็น 2.25% โดยผู้ที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงาน สูงสุด 3.63% รองลงมาเป็น ปวส. 3.16% ซึ่งผู้ว่างงานส่วนใหญ่จบในสาขาทั่วไป (บริหารธุรกิจ การตลาด) จึงมีแนวโน้มประสบปัญหาการว่างงานยาวนานขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างจำกัด และคนกลุ่มนี้ที่มีทักษะไม่ต่างกันจึงหางานได้ยากขึ้น

ขณะที่แรงงานอายุ 15-19 ปี มีอัตราการว่างงานสูงสุดที่ 9.74% สะท้อนว่าโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ผู้ประกอบการที่เคยชะลอการเลิกจ้างบางส่วนไม่สามารถรับภาระต่อได้ และจำเป็นต้องเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ขณะที่เด็กจบใหม่ยังไม่มีตำแหน่งงานรองรับ เนื่องจากผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบและรอดูสถานการณ์ จึงชะลอการขยายตำแหน่งงาน

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป คือ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อการจ้างงานใน ภาคการท่องเที่ยว และการฟื้นฟูเศรษฐกิจเดือนตุลาคม 2564 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือศบค.เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ และมีการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งจะเพิ่มการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศยังต้องมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ที่ต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น การหามาตรการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก ซึ่งอาจไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการเปิดประเทศดังกล่าว การอำนวยความสะดวกในการจ้างงานให้กับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งอาจมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานกลุ่มเดิมที่ถูกเลิกจ้างในช่วงโควิดมีการเปลี่ยนอาชีพ และการดำเนินมาตรการอื่นควบคู่กันไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะจากโครงการจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ฉบับใหม่ ซึ่งต้องเน้นให้เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 22/11/2564

ตั้ง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร. เป็นประธานคณะทำงานประสานและติดตามงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์จำนวน 2 คณะต่อเนื่องกัน ทั้งด้านการป้องกันและปราบปราม รวมทั้งด้านการป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ณ ห้องวิจิตรวาทการ สมช. ในทำเนียบรัฐบาล

โดยสรุปสาระสำคัญภาพรวม ความคืบหน้าผลประชุมร่วมกันกับฝ่ายสหรัฐโดย สำนักงานตรวจสอบและต่อต้านการค้ามนุษย์(J/TIP) มีความเห็นว่า ไทยควรมีการปรับปรุงด้านแรงงานบังคับให้ผู้ตรวจแรงงาน มีความรู้ความเข้าใจการดำเนินคดีและส่งต่อคดีให้ตำรวจมากขึ้น เร่งปรับปรุงระบบคัดแยกผู้เสียหาย และความคืบหน้าการจัดทำรายงานการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ปี 2564 (เม.ย-ก.ย. 2564) และผลกระทบจากโควิด-19

นอกจากนี้ได้รับทราบผลการประเมินในรายงานสถานการณ์และการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้ายที่สุดปี 2020 ในภาพรวม ซึ่งประเทศไทยอยู่ในระดับปานกลาง ยังมีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กทางอินเตอร์เน็ต และพบเด็กไทยยังถูกใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายและการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ รวมทั้งยังไม่สามารถบรรลุมาตรฐานระหว่างประเทศด้านอายุขั้นต่ำของการจ้างแรงงาน

พร้อมกันนี้ได้รับทราบ ผลจากการที่คณะผู้แทนรัฐสภาสหรัฐ ได้เข้าเยี่ยมชม สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จ.ปทุมธานี มีท่าทีพึงพอใจ และสนใจผลการปราบปรามสื่อลามกอนาจารเด็กและการค้ามนุษย์ที่เชื่อมโยงบนสื่อออนไลน์ พร้อมชื่นชมต่อความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนนโยบายของไทยในช่วง 6 ปี ที่ผ่านมา

ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ (ร่าง) พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 เพื่อนำทรัพย์สินที่อายัดในความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เข้ากองทุนป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และเห็นชอบให้จัดตั้ง “ศูนย์คัดแยกผู้เสียหาย” ( ดอนเมือง ) เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รวมทั้ง เห็นชอบโครงการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และแต่งตั้ง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวตแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) เป็นประธานคณะทำงานประสานและติดตามงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

จากนั้น มีการประชุมต่อเนื่อง โดยได้พิจารณา กรณี ร้าน เดอะเบสท์ พื้นที่สอบสวน สน.บางซื่อ ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการนำพาบุคคลเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งอาจตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ที่ประชุมเห็นชอบมอบหมายให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับเป็นคดีพิเศษ โดยให้นำเทคโนโลยีและเครื่องมือพิเศษเข้ามาสอบสวนและให้แจ้ง ปปช.ดำเนินตามอำนาจหน้าที่ และให้ สตช.ดำเนินการทางวินัยเต็มอำนาจ

พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำนโยบายรัฐบาล ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง ทุกหน่วยงานต้องพยายามทำงานหนักร่วมกันมากขึ้น ด้วยการเปิดรับความจริงอย่างรอบด้าน ขอให้ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางและต้องคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจของผู้เสียหายเป็นสำคัญ ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกหน่วยงาน ทั้ง ตำรวจ พม. รง. ศธ.และ กต. ต้องทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน เพิ่มเร่งตรวจสอบเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ให้ทั่วถึง

โดยเฉพาะการบังคับใช้แรงงานและการแสวงประโยชน์ทางเพศจากแรงงานเด็กร่วมกันอย่างมีแผนงาน พร้อมทั้งให้เร่งหารือร่วมกันกำหนดให้มีการคุ้มครองด้านอายุขั้นต่ำของการจ้างแรงงานปรับปรุงระบบคัดแยกผู้เสียหายให้ผู้เสียหายเข้าถึงบริการของรัฐและได้รับการฟื้นฟูโดยเร็วและทั่วถึง

ขณะเดียวกัน ต้องรับฟังข้อมูลและทำงานร่วมกับ NGOs และองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดและจริงจังต่อผู้กระทำผิดทุกคนไม่มียกเว้น โดยเฉพาะการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่พัวพันสถานหนัก พร้อมย้ำว่า สถิติการจับกุมและลงโทษเพิ่มมากขึ้น แสดงถึงความพยายามและประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน มิดังนั้นคดีต่างๆ ต้องถูกขับเคลื่อนเดินหน้าไปอย่างจริงจังและต้องมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม เพื่อให้การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์หมดไปและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/11/2564

ก.แรงงาน ปิดรับลงทะเบียนโครงการช่วย SMEs ชี้รักษาการจ้างงานได้กว่า 3 ล้านคน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ได้ปิดรับลงทะเบียนร่วมโครงการทางระบบออนไลน์ตามกำหนด ซึ่งพบว่ามีสถานประกอบการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการถึง 223,838 ราย หรือร้อยละ 56.71 ช่วยรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย 3,068,152 คน หรือร้อยละ 76.08

กระทรวงแรงงานยังได้เปิดให้ดำเนินการยื่นเรื่องทบทวนสิทธิ์ สำหรับนายจ้างภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม (ฐานทะเบียนข้อมูลประกันสังคม มาตรา 33 สถานะ Acive) ที่มีลูกจ้างรวมทุกสาขาไม่เกิน 200 คน ณ วันที่ 16 ต.ค. 2564 แต่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์แล้วระบบแจ้งว่า "ขาดคุณสมบัติ" หรือมีการเปลี่ยนเจ้าของกิจการ เนื่องจากเจ้าของเดิมเสียชีวิต หรือสาเหตุอื่น ๆ ก่อนวันที่ 16 ต.ค. 2564 รวมทั้งกรณีอื่นๆ โดยสามารถยื่นทบทวนสิทธิ์ได้ที่เว็บไซต์ ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th จนถึงวันที่ 27 พ.ย. 2564

“SMEs เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของการจ้างงานในประเทศไทย จึงเป็นที่มาให้เกิดโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ซึ่งจากนี้สถานประกอบการที่ได้รับการอนุมัติร่วมโครงการฯ หากมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากยอดการจ้างงาน ณ วันที่ 16 พ.ย. 2564 จะได้รับเงินส่งเสริมการจ้างงานใหม่ ในเดือนที่ 2 และ 3 จำนวน 3,000 บาทต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน ตามจำนวนการจ้างงานจริงไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนลูกจ้างสัญชาติไทยทั้งหมดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ โดยหากใครลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการก่อนจะได้รับสิทธิก่อน จนครบตามจำนวน 2 เดือน เดือนละไม่เกิน 201,647 ราย”

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นนายจ้างภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม (ฐานข้อมูลประกันสังคม ม.33 สถานะ Active) ที่มีลูกจ้างรวมทุกสาขาไม่เกิน 200 คน ณ วันที่ 16 ต.ค. 2564 โดยที่นายจ้างจะต้องรักษาระดับการจ้างงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ในระหว่างเข้าร่วมโครงการฯ หากไม่สามารถรักษาระดับการจ้างงานให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนนั้น

และกรณีนายจ้างมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากยอดการจ้างงาน ณ วันที่ 16 พ.ย. 2564 จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มตามจำนวนการจ้างงานจริงไม่เกินร้อยละ 5 โดยนายจ้างสามารถจ้างงานเพิ่มได้แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไข คือเมื่อรวมลูกจ้างที่จ้างงานเพิ่มแล้ว ยังมีลูกจ้างรวมทุกสาขาไม่เกิน 200 คน ทั้งนี้นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฯ โดยหลักเกณฑ์สำคัญอีกประการที่นายจ้างสถานประกอบการจะได้รับการอนุมัติร่วมโครงการ คือ ต้องสมัครใช้บริการระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม เพื่อยื่นแบบรายการแสดงข้อมูลการส่งเงินสมทบ สปส. 1-10 ในระบบ e-Sevice จึงจะได้รับเงินอุดหนุนจากโครงการนี้

ที่มา: Nation TV, 21/11/2564

รมว.แรงงาน เผยความคืบหน้าการช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ กรณีแรงงานเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ไซต์ก่อสร้างในไต้หวัน

21 พ.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่เสียชีวิตและบาดเจ็บบริเวณไซต์งานก่อสร้างในนครนิวไทเป ที่ไต้หวันว่า จากการตรวจสอบแรงงานไทยทั้งสองคนบริษัทจัดหางานเป็นผู้จัดส่งและคนงานทั้งสองคนก็เป็นสมาชิกกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศอีกด้วย โดยสิทธิประโยชน์เบื้องต้นของนายจักริน พวงเกต ผู้เสียชีวิต ที่ทายาทจะได้รับ ได้แก่ เงินค่าทำศพ 5 เดือนของค่าจ้างที่แจ้งเอาประกัน ประมาณ 120,000 เหรียญไต้หวัน และเงินทดแทนกรณีเสียชีวิตเป็นรายเดือน ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบกับกระทรวงแรงงานไต้หวัน ถ้านายจักรินฯ เป็นสมาชิกกองทุนประกันภัยแรงงานไต้หวัน ก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2552 ทายาทจะได้รับเป็นเงินก้อนจ่ายครั้งเดียว แต่หากเป็นสมาชิกกองทุนประกันภัยแรงงานไต้หวัน หลังวันที่ 1 ม.ค. 2552 ทายาทจะได้รับเป็นรายเดือน ๆ ละ 3,000 เหรียญไต้หวัน จนกว่าจะขาดคุณสมบัติ ส่วนเงินสงเคราะห์จากกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศจะได้ค่าสงเคราะห์ศพ 40,000 บาทให้ทายาทในประเทศไทยและค่าจัดการศพในต่างประเทศเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีเงินเยียวยาจากนายจ้างซึ่งขณะนี้ สนร.ไทเปอยู่ระหว่างประสานติดตามเพื่อเจรจาความช่วยเหลือกับนายจ้าง

นายสุชาติ ยังกล่าวถึงรายงานจากนางสาวประภาวดี แก้วศิริพงษ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงาน (สนร.) ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) กรุงเทเป ว่าเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2564 ได้เข้าเยี่ยมนายนพพล นาจอมเทียน แรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อติดตามอาการและให้กำลังใจแรงงาน โดยพบว่า มีอาการบาดเจ็บบริเวณสะโพกขวา ศรีษะแตก มีสติรับรู้ได้ดี และรอเอ็กซ์เรย์ พร้อมนี้ ได้ถ่ายคลิปเพื่อให้ล่ามส่งให้ภรรยาที่เมืองไทย และบุตรชายที่อยู่ไต้หวัน เพื่อลดความกังวลใจของญาติอีกด้วย ส่วนสิทธิประโยชน์ที่นายนพพลฯ จะได้รับเนื่องจากเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ กรณีได้รับบาดเจ็บ กองทุนจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท

ส่วนความคืบหน้าการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อให้กำลังใจครอบครัวแรงงานไทยที่เสียชีวิตนั้น เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2564 เวลา 20.00 น.นายวิชัย เลิศภัทรนันท์ แรงงานจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดศรีสะเกษ โดยมี นายสมคิด อุ่นใจ อาสาสมัครแรงงานตำบลสังเม็ก และนายชาติชีวิน คามะทิตย์ ผู้ใหญ่บ้านโนนสะอาด เป็นผู้ประสานงานในพื้นที่ เข้าเยี่ยมเป็นกำลังใจให้กับครอบครัว ทั้งนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการตรวจสอบสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ และมอบเงินเยียวยาเบื้องต้นให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งทางครอบครัวผู้เสียชีวิตมีความประสงค์จะนำอัฐิกลับบ้าน เพื่อบำเพ็ญกุศลในโอกาสต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 21/11/2564

ยืนยันไม่ปรับลดสิทธิ "สวัสดิการ" ค่ารักษาพยาบาล ขรก.เหลือ 65%

กรณีการส่งต่อข้อความที่ระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการใหม่ ซึ่งเป็นการปรับลดการเบิกค่ารักษาพยาบาลเหลือ 65% ที่เหลือต้องชำระเพิ่มเอง

20 พ.ย.2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล ระบุว่า เรื่องดังกล่าวเป็นข่าวปลอมปรับลดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ เหลือ 65% ซึ่งกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ยืนยันไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวยังคงได้รับสิทธิเช่นเดิม

ขณะที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ก็ออกมายืนยันว่าทางกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง สิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการไม่ได้มีการเปลี่ยน แปลง ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวยังคงได้รับสิทธิเช่นเดิม และหากมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราช การ กรมบัญชีกลางจะแจ้งให้ทราบต่อไป ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของกรมบัญชีกลางเท่านั้น

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สามารถติดตามได้ที่ www.cgd.go.th หรือ โทร.02-127-7000

ที่มา: Thai PBS, 20/11/2564

อุบัติเหตุที่ไซต์ก่อสร้างรถไฟฟ้าในนครนิวไทเป ไต้หวันพังถล่ม แรงงานไทยเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 1 คน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่ากรณีเกิดอุบัติเหตุในไซต์งานก่อสร้างทางรถไฟฟ้าสายซานเสีย-อิงเกอ ในนครนิวไทเป ไต้หวันเกิดถล่ม ทำให้แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ข้างบนร่วงตกลงมาจากความสูงประมาณตึก 3 ชั้น เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 1 คน ส่วนอีก 3 คนเป็นแรงงานชาวไต้หวัน 3 คน เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 1 คน

สำหรับแรงานไทยที่เสียชีวิตคือนายจักรินทร์ พวงเกต อายุ 49 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.ศรีสะเกษ ส่วนผู้บาดเจ็บคือนายนพพล นาจอมเทียน มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ บาดเจ็บแต่ไม่มีอันตรายถึงชีวิต ขณะนี้ถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล Far Eastern Memorial Hospital

ขณะนี้ประสานสำนักงานแรงงานที่ไทเป จะเข้าเข้าเยี่ยมผู้บาดเจ็บ และจะติดตามสิทธิประโยชน์ให้แรงงานทั้ง 2 คนให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายต่อไป

นายสุชาติ กล่าวถึงความช่วยเหลือว่า สั่งการให้อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายแรงงาน สำนักงานแรงงาน (สนร.) ไทเป เร่งให้ความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน โดยเฉพาะการดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ พร้อมประสานแจ้งญาติทราบเรื่องแล้ว

“กำชับทูตแรงงานเพิ่มความเข้มงวด ติดตามดูแลคนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ส่วนการจัดการศพ ทูตแรงงาน ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการตามความประสงค์ของญาติ”

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดศรีษะเกษ และชัยภูมิ ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของแรงงานไทยทั้ง 2 ครอบครัวเพื่อให้ให้กำลังใจและแจ้งความช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแก่ญาติพี่น้องและครอบครัวทันที

ที่มา: Thai PBS, 20/11/2564

บุคลากร สธ. กว่า 200 คน ร้องไม่ได้ความเป็นธรรม “เงินเพิ่มพิเศษเสี่ยงภัยโควิด” - ปรับขั้นเงินเดือน 1%

ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข เตรียมรวบรวมผู้ปฏิบัติงานโควิดรับผลกระทบไม่ได้ “เงินเพิ่มพิเศษ” และ “ปรับขั้นเงินเดือน 1%” เบื้องต้นกว่า 200 คน เตรียมเสนอ “บิ๊กตู่-อนุทิน-สาธิต” และปลัดสธ. ขอความช่วยเหลือกลุ่มเข้าเกณฑ์ ชี้กรณีเงินเพิ่มพิเศษ 7 เดือน (มี.ค.-ก.ย. 2563) อัตราละ 1 พัน และ 1.5 พันบาท บางพื้นที่ไม่ได้ บางพื้นที่ได้ไม่ครบ ขณะที่การปรับขั้น 1% เกณฑ์ไม่ชัด ทำคนทำงานเหนื่อย ท้อใจหนักมาก

กลายเป็นปัญหาระอุอีกครั้งนอกจากประเด็นการบรรจุข้าราชการปฏิบัติงานโควิด19 โดยล่าสุดมีกระแสเรียกร้องขอความเป็นธรรมภายหลังบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิด แต่ไม่ได้รับเงินเพิ่มพิเศษ 7 เดือน(มี.ค.-ก.ย. 2563) แบ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงในอัตราเดือนละ 1,000 บาท และผู้ปฏิบัติงานสนับสนุน 1,500 บาท อย่างล่าสุดที่จ.อุดรธานี และอีกหลายพื้นที่ โดยบางคนไม่ได้รับ บางคนได้รับไม่ครบ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาไม่ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือน 1% ตามมติครม.เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2563 อีกด้วยนั้น

20 พ.ย.2564 นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับ HFocus ว่า ขณะนี้หลายพื้นที่มีปัญหามาก ทั้งเรื่องเงินเพิ่มพิเศษ 7 เดือน และการปรับขั้นเงินเดือน 1% เบื้องต้นส่งเรื่องเรียกร้องมากว่า 200 คน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางชมรมฯ กำลังรวบรวมข้อมูลอย่างกรณีเงินค่าเสี่ยงภัย โดยจะขอรวบรวมเฉพาะข้าราชการ ลูกจ้างประจำที่ตกหล่นก่อน เนื่องจากตามเกณฑ์หนังสือของกระทรวงสาธารณสุขได้ระบุให้ข้าราชการ และลูกจ้างประจำเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณที่จัดสรรมา จึงขอรวบรวมข้อมูลตรงนี้ และจะเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะเรื่องนี้ออกมาจากมติครม. และส่งต่อท่านอนุทิน ชาญวีรากูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการสธ. และนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. เพื่อขอให้ช่วยเหลือกลุ่มที่เข้าเกณฑ์แต่ตกหล่นว่า จะมีการเยียวยาช่วยเหลืออย่างไรต่อไป

นายริซกี กล่าวอีกว่า ปัญหาคือ กรณีการเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ 7 เดือนจากเงินงบประมาณนั้น ไม่แน่ใจว่า เป็นเพราะเงินไม่เพียงพอหรือไม่ เพราะได้ไม่ทั่วถึง ฝนตกไม่ทั่วฟ้า ซึ่งตามหลักเกณฑ์กำหนดว่าการให้เงินเพิ่มพิเศษแก่ผู้ปฏิบัติงานโควิด (มี.ค.-ก.ย.2563) แบ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงในอัตราเดือนละ 1,500 บาท และผู้ปฏิบัติงานสนับสนุน 1,000 บาท แต่เนื้อหาคำสั่งระบุไม่ชัดเจน ทำให้พื้นที่ตีความกันเอง อย่างที่ผ่านมาคำสั่งให้ปฏิบัติงานโควิด มีบางพื้นที่ระบุชื่อเพียงหัวหน้างาน แต่ไม่ได้ใส่ลูกน้องเข้าไปด้วย ถ้าได้ก็จะได้แค่หัวหน้า ส่วนบางพื้นที่ก็กำหนดว่า ใครลงพื้นที่ไปเจอผู้ป่วยโควิดถึงจะได้ แต่ความเป็นจริงมีคนไปคัดกรอง ไปสว็อปเชื้อ หรือไปตรวจหาเชื้อ ดูแลสเตจคลอรันทีน ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 180 -200 คน เฉพาะข้าราชการ กับลูกจ้างประจำ

"ล่าสุดนพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ติดตามเรื่องนี้และส่งให้ท่านสาธิต รับทราบแล้ว"

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีพนักงานราชการ พนักงานกระทรวง ลูกจ้างชั่วคราว ให้เบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษกรณีโควิดอย่างไร นายริซกี กล่าวว่า พนักงานราชการ พนักงานกระทรวง ลูกจ้างชั่วคราว ให้เบิกจ่ายจากเงินบำรุง ซึ่งล่าสุดมีหนังสือจากกระทรวงการคลังออกมาแล้ว ซึ่งตรงนี้จะมีปัญหาว่า ถ้าโรงพยาบาลใด หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไหนเงินน้อย ก็จะมีปัญหา เรื่องนี้จึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องหารือกับผู้บริหารสธ. อย่างไรก็ตาม ประเด็นเงินเพิ่มพิเศษ ตนตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่ที่ให้ไม่ครบเพราะอะไร มาจากเงินไม่เพียงพอกับจำนวนคนหรือไม่ อย่างกรณีร้อยเอ็ดจ่ายบุคลากรบางคน 6 เดือน เดือนละ 1 พัน และเดือนที่ 7 ให้จำนวน 600 กว่าบาท หรือบางพื้นที่ให้ทุกคน แต่เฉลี่ยเงิน จึงไม่ได้ตามจำนวน 1,000 หรือ 1,500 บาท

“อีกปัญหาที่สำคัญ คือ กรณีมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 เม.ย.2563 ให้มีการปรับขั้นเงินเดือน 1% ปัญหา คือ ในหลกเกณฑ์ระบุแค่ว่า ปรับขั้นเงินเดือน 1% ผู้ปฏิบัติงานโควิด ซึ่งคำนิยามกว้างมาก จนพื้นที่ไปตีความเอง อย่างบางพื้นที่ก็คัดเลือกเฉพาะคนมีผลงานดีเด่น หรือดีมาก หรือหลักเกณฑ์อื่นๆ ตรงนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลเช่นกัน แต่โดยภาพรวมกำลังแยกว่า ใครไม่ได้สิทธิทั้งสองกรณี ทั้งเงินเพิ่มพิเศษ และขั้นเงินเดือน 1% หรือได้กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือได้ไม่ครบ รวมๆทั้งหมดเบื้องต้นกว่า 200 คน แต่คิดว่ามากกว่านี้” นายริซกี กล่าว

บุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบรายหนึ่งในพื้นที่จ.นครสวรรค์ ให้ข้อมูลว่า ตนไม่ได้รับการปรับขั้นเงินเดือน 1% โดยในตัวอำเภอเมืองได้ทั้งหมด 34 คน แต่มีคนทำงานเป็นข้าราชการประมาณ 100 คน ซึ่งตอนทำงานก็ไม่มีใครรู้ว่า มีเกณฑ์อะไรอย่างไร ก็เข้าใจว่า เงินอาจไม่เพียงพอหรือไม่ แต่ตอนประกาศออกมาเหมือนได้ทุกคน แต่ปรากฏกลับไม่ได้ ก็รู้สึกเหนื่อยเหมือนกัน เพราะอย่างพื้นที่ก็มีคนที่มีชื่อในคำสั่งให้ปฏิบัติงาน แต่ให้คนอื่นไปอยู่เวรแทนก็มี

ที่มา: Hfocus, 20/11/2564

กอ.รมน.สรุปรอบสัปดาห์ จับแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง 1,618 ราย

20 พ.ย. 2564 พล.อ.สิทธิชัย มากกุญชร โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่าจากการประชุม สถานการณ์ประจำวันผ่านระบบออนไลน์ โดยมี พลเอก สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการทหารบก/เลขาธิการ กอ.รมน. เป็นประธาน ได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติงานสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาความมั่นคง และความปลอดภัยให้กับประชาชน

โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาแรงงานลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งยังคงจับกุมได้อย่างต่อเนื่อง พบแรงงานส่วนใหญ่ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดเศรษฐกิจที่สำคัญ ส่งผลให้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาสามารถจับกุมแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ 1,618 ราย เป็นสัญชาติกัมพูชา 990 ราย เมียนมา 474 ราย ลาว 140 ราย และไทย 14 ราย พร้อมผู้นำพาได้ 53 ราย เป็นสัญชาติไทย 27 ราย เมียนมา 21 ราย กัมพูชา 5 ราย จากการขยายผลทราบว่าแรงงานต่างด้าวเสียค่าใช้จ่ายให้กับผู้นำพา ตั้งแต่ 1,000 จนถึง 25,000 บาทต่อหัว

พล.อ.สิทธิชัย กล่าวอีกว่า เลขาธิการ กอ.รมน. จึงสั่งการให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขยายผลติดตามจับกุมผู้นำพา โดยให้ กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน จังหวัด จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เพื่อขยายผลการจับกุมให้ถึงต้นตอแหล่งนายทุน ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการ เขตที่พักแหล่งอุตสาหกรรม แคมป์ก่อสร้าง เพื่อป้องปรามการกระทำผิดกฎหมาย และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ตอนใน

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผอ.รมน. และ รอง ผอ.รมน. ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาในภาคใต้ให้คลี่คลายโดยเร็ว จึงสั่งการให้หน่วยในพื้นที่สนับสนุน ศบค.ส่วนหน้าขอให้ทุกภาคส่วนเฝ้าระวัง เน้นย้ำการปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค. อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและประเพณีสำคัญ ตลอดจนเน้นย้ำให้ศูนย์รับแจ้งเหตุความมั่นคง 1374 เตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชม.

ที่มา: มติชนออนไลน์, 20/11/2564

ธนาคารกรุงศรีอยุธยาออกหนังสือชี้แจง เผยธนาคารตระหนักดีว่าพนักงานทุกคนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าอย่างยิ่งและเป็นพลังในการขับเคลื่อนที่สำคัญขององค์กร หลังเกิดปมดรามาอดีตพนักงานแฉถูกบีบขายประกันจนสุขภาพจิตแย่

จากกรณีพนักงานธนาคารสาวรายหนึ่งออกมาโพสต์ข้อความแฉ หลังสุดจะทนโดนธนาคารบีบขายประกัน หากขายไม่ออกต้องซื้อเอง ทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่จนตัดสินใจลาออก ระบุที่ออกมาเพื่อต้องการทวงคืนความยุติธรรมให้เพื่อนพนักงาน ให้วงการธนาคารดีขึ้น ร้องถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ

ต่อมา “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ได้ออกมาโพสต์ชี้แจงเผยว่า ได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมให้ผู้ให้บริการทางการเงิน (ผู้ให้บริการ) ทุกแห่ง ในการยกระดับธรรมาภิบาลของการเสนอขายผลิตภัณฑ์และการให้บริการแก่ลูกค้า โดยเฉพาะการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย และได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแบงก์ชาติได้กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (market conduct) และกำกับดูแลเข้มข้นตั้งแต่ปี 2561 โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายค่าตอบแทน ที่ผู้ให้บริการต้องไม่กำหนดตัวชี้วัดผลงาน (KPI) ที่ให้น้ำหนักกับเป้าการขายผลิตภัณฑ์หรือกดดันพนักงาน จนนำไปสู่การเสนอขายที่ขาดคุณภาพและขาดความรับผิดชอบต่อลูกค้า

ล่าสุดวันนี้ (19 พ.ย.) เพจ “หมอแล็บแพนด้า” เผยหนังสือชี้แจงจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาถึงกรณีที่เกิดขึ้น ระบุว่า “จากกรณีที่มีการโพสต์ข้อความร้องเรียนบนโซเชียลมีเดีย โดยอดีตพนักงานของธนาคารในเรื่องพนักงานสาขาต้องทำยอดขายประกัน ธนาคารขอชี้แจงว่าได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว ในเบื้องต้นธนาคารอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ธนาคารตระหนักดีว่าพนักงานทุกคนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าอย่างยิ่งและเป็นพลังในการขับเคลื่อนที่สำคัญขององค์กร โดยธนาคารฯ มีนโยบายในการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเหมาะสม รวมถึงให้ความสำคัญในการดูแลสภาพแวดล้อมการทำงานของพนักงานมาโดยตลอด”

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 19/11/2564

กทม. ทบทวนมาตรการสร้างความปลอดภัยให้แรงงานก่อสร้าง-เร่งฉีดวัคซีนโควิด

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมผู้ประกอบการเพื่อทบทวนและเน้นย้ำมาตรการตรวจแคมป์คนงานและไซต์งานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยที่ประชุมรายงานว่า สำนักอนามัย ร่วมกับสำนักการโยธา และสำนักงานเขตดำเนินการตรวจประเมินสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ระหว่างวันที่ 8 -12 พ.ย. 2564 ตรวจประเมินสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ 78 โครงการ ผ่านการตรวจประเมิน 70 โครงการ ไม่ผ่านการประเมิน จำนวน 8 โครงการ เนื่องจากสัดส่วนการได้รับวัคซีนยังไม่ครบถ้วนตามที่กำหนด (อย่างน้อย 85%)

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ภายหลังจากที่มีการเปิดประเทศ หลายกิจการได้รับการผ่อนคลาย รวมถึงโครงการก่อสร้าง ทำให้มีแรงงานเข้ามาภายในพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กทม. จึงเชิญผู้ประกอบการสถานที่พักคนงานก่อสร้างและสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ ร่วมประชุมทบทวนมาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับแรงงานในสถานที่พักคนงานก่อสร้างและสถานที่ก่อสร้าง โดยขอความร่วมมือสถานประกอบการดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้แคมป์เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค พร้อมกันนี้ได้มอบหมายสำนักงานเขต 50 เขต ตรวจสอบมาตรฐานแคมป์ภายในพื้นที่เขตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโรงเรียน ตลาด สถานประกอบการ และร้านอาหารเพื่อความปลอดภัยของทุกคน

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้ทบทวนมาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับแรงงานในสถานที่พักคนงานก่อสร้างและสถานที่ก่อสร้าง อาทิ การ Bubble & Seal แคมป์และพื้นที่ Construction Site การควบคุมพื้นที่เข้าออกแคมป์ และ Site จัดพื้นที่ (Drop Zone) สำหรับการจัดส่งพัสดุ การ Quarantine ในแคมป์คนงานและไซต์งานก่อสร้าง การแยกแรงงานแต่ละ Site ไม่ให้ปะปนกัน งดเว้นการเคลื่อนย้ายแรงงาน หากมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายแรงงาน ให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการเดินทาง และเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างอย่างเคร่งครัด

รวมทั้งการให้บริการฉีดวัคซีน (COVID-19 Vaccine) สำหรับกลุ่มแรงงานและครอบครัวที่อาศัยในสถานที่พักคนงานก่อสร้างและสถานที่ก่อสร้าง พร้อมทั้งเน้นย้ำผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคที่ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยมีผู้แทนจากสำนักอนามัยร่วมให้ความรู้ ทำความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ตลอดจนตอบข้อสงสัยต่างๆ เพื่อให้การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 19/11/2564

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net