Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคมกังวลสถานการณ์เด็กข้ามชาติในวิกฤตโควิด ชี้เด็กข้ามชาติติดเชื้อมากกว่า 4 พันคน ส่วนใหญ่ไม่มีประกันสุขภาพ เข้าไม่ถึงการตรวจ การปิดแคมป์กระทันหันยังทำให้เครียดและเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้น เด็กกลุ่มเปราะบางหายไปจากระบบการศึกษา เสี่ยงเผชิญความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศ

องค์การช่วยเหลือเด็กระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย (Save the Children) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) และภาคประชาสังคม จัดเวทีเสวนาออนไลน์ “สถานการณ์การคุ้มครองเด็กข้ามชาติในวิกฤติโควิด-19: สถานการณ์ ผลกระทบ และทางออก” เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 เวลา 10.00-12.00 น. เพื่อรายงานสถานการณ์ และผลกระทบของโควิด-19 ต่อเด็กและครอบครัวข้ามชาติ เพื่อหาแนวทางแก้ไข และข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ รวมทั้ง นำเสนอประเด็นสำคัญต่อประชาชน สื่อที่มีความสนใจ และสังคมในวงกว้าง

โควิดระลอก 3 เด็กข้ามชาติติดเชื้อกว่า 4 พันคน

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เปิดประเด็นการเสวนา ด้วยการพูดถึงสถานการณ์ของเด็กข้ามชาติในไทย ว่าปัจจุบัน มีตัวเลขประมาณการณ์ของเด็กข้ามชาติในไทยอยู่ที่ 300,000 คน ในจำนวนนี้ มีทั้งเด็กที่เกิดในไทย เด็กที่ติดตามพ่อแม่เข้ามา เด็กที่จดทะเบียนผู้ติดตาม และเด็กที่ไม่มีพ่อแม่ หรือเป็นเด็กไร้รากเหง้า ที่เข้าไม่ถึงการมีสถานะทางกฎหมาย

อดิศร เกิดมงคล

อดิศร เกิดมงคล

อดิศรกล่าวว่า ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมควบคุมโรค และศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 พบว่า จากยอดผู้ป่วยสะสมทั้งประเทศของไทย ทั้งหมด 816,989 คน มีผู้ป่วยโควิดซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ ประกอบด้วย พม่า กัมพูชา และลาว เป็นจำนวนทั้งหมด 97,060 โดย 81,507 คน คือ จำนวนผู้ป่วยสะสมในระลอก 3 ของการระบาด (ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-11 ส.ค. 2564) แบ่งเป็นผู้ป่วยชาวพม่า 61,507 คน ชาวกัมพูชา 15,409 คน และชาวลาว 4,266 คน

“สำหรับสถิติตัวเลขเด็กข้ามชาติที่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 เราพบว่า มีผู้ป่วยที่เป็นเด็กข้ามชาติสะสม 3 ชาติ คือ พม่า กัมพูชา และลาว ทั้งหมด 4,202 คน โดยจำนวนการระบาดในระลอก 3 (ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-11 ส.ค. 2564) มีถึง 4,035 เคส แบ่งเป็นเด็กชาวพม่า 2,640 คน กัมพูชา 1,183 คน และลาว 212 คน” ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติกล่าว

อดิศร สรุปว่า ปัญหาหลักของสถานการณ์การคุ้มครองเด็กข้ามชาติในวิกฤติโควิด มีอยู่ 3 ด้านใหญ่ๆ คือ ด้านสุขภาพ ที่เด็กไม่มีหลักประกันสุขภาพ มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูง เข้าไม่ถึงการตรวจโควิด และการรักษาพยาบาล การขาดอุปกรณ์ป้องกันโรค การเสี่ยงติดโรค เนื่องจากอยู่ในพื้นที่แออัด ด้านการศึกษา เด็กไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ พ่อแม่รับภาระในการดูแล เด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน ศูนย์การเรียนที่ดูแลเด็กข้ามชาติต้องปิดไม่มีกำหนด การปิดพรมแดนที่ทำให้เด็กกลับไปเรียนไม่ได้ และหลุดออกจากระบบ และด้านการคุ้มครองเด็ก ที่พบว่า มีเด็กที่ไม่ได้รับการแจ้งเกิด ทำให้เด็กไม่มีเอกสาร และซื้อประกันสุขภาพไม่ได้ เด็กต้องเดินทางเข้า-ออก แบบผิดกฎหมาย เนื่องจากด่านปิด ไปจนถึงการแสวงหาประโยชน์จากเด็กทางออนไลน์ เด็กเข้าสู่การจ้างงานไวขึ้น เป็นต้น

การปิดแคมป์คนงานกระทันหันทำให้เด็กเครียดและติดเชื้อ

หลินฟ้า อุปัชฌาย์  ผู้จัดการโครงการสื่อสารความเสี่ยงเรื่องโควิดในประชากรข้ามชาติ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย (World Vision Foundation of Thailand) กล่าวถึงสถานการณ์การปิดแคมป์ก่อสร้างของแรงงานข้ามชาติว่า จากการสำรวจของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2564 พบแคมป์ก่อสร้างใน กทม. กว่า 575 แห่ง ซึ่งมีคนงานก่อสร้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติถึง 48,826 คน ตัวเลขการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการ จากกลุ่มคนดูแลกันเอง ยังพบว่ามีเด็กอาศัยอยู่ในแคมป์เหล่านี้ ประมาณ 3,928 คน ซึ่งสามารถระบุช่วงอายุได้เพียง 1,188 คน แบ่งเป็นเด็กอายุ 0-1 ปี จำนวน 259 คน เด็กอายุ 2-6 ปี 701 คน เด็กอายุ 7-14 ปี 202 คน และเด็กอายุ 15-18 ปี จำนวน 26 คน

หลินฟ้า อุปัชฌาย์

หลินฟ้า อุปัชฌาย์

หลินฟ้า อธิบายว่า การที่ ศบค. มีประกาศสั่งปิดสถานที่พักคนงานก่อสร้าง และสถานก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ทุกประเภท รวมถึงคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยไม่มีการแจ้งผู้ประกอบการล่วงหน้า หรือมีมาตรการรองรับที่ชัดเจน ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ผึ้งแตกรัง” เกิดการระบาดของสายพันธุ์เดลตาขึ้นในต่างจังหวัด เช่น อุดรธานี หรือชัยภูมิ เนื่องจากการเดินทางกลับภูมิลำเนาของแรงงานใน กทม.

“การสั่งปิดแคมป์คนงานแบบกระทันหัน และไม่มีมาตรการรองรับ ยังทำให้เด็กเกิดความเครียดจากการไม่ได้เล่น หรือทำกิจรรมที่เขาชอบ การไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะกลับภูมิลำเนาไม่ได้ หรือความเครียดที่เกิดจากตัวผู้ปกครอง ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ไม่ได้ออกไปหาหมอเลย 4 เดือนสำหรับคนตั้งครรภ์ มันยาวนานมาก บางคนท้อง 8-9 เดือน ไม่รู้จะไปคลอดที่ไหน เด็กๆ เอง พอถูกจำกัดพื้นที่ มันก็เกิดการติดเชื้อในแคมป์มากขึ้น เราเรียกเคสแบบนี้ ว่าเคสถั่วงอก” หลินฟ้าเล่า

ผู้จัดการโครงการสื่อสารความเสี่ยงเรื่องโควิดในประชากรข้ามชาติ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เสนอว่า รัฐควรจัดหาที่พักสำหรับผู้ป่วยโควิดได้กักตัวเพื่อการรักษาตัว  หากเด็กต้องถูกแยกตัวออกจากพ่อแม่ รัฐก็ควรจัดพื้นที่ให้เด็กเหล่านี้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เช่น การมี Community Isolation สำหรับเด็ก และการเพิ่มจำนวนแพทย์ดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโควิด เป็นต้น

เด็กกลุ่มเปราะบางหายไปจากระบบการศึกษา

ด้านศิราพร แก้วสมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน (Help without Frontiers Thailand Foundation) เล่าถึงปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติ ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ว่า จากข้อมูลจำนวนเด็กนักเรียนที่เข้าถึงการศึกษาใน 124 โรงเรียนของ จ.ตาก ฝั่งตะวันตก กินพื้นที่ อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด อ.ท่าสองยาง อ.พบพระ และ อ.อุ้มผาง ของ สพป.ตาก เขต 2 พบว่า ในปี 2564 มีจำนวนเด็กนักเรียนอยู่ในระบบกว่า 60,837 คน ในจำนวนนี้ 39% คือ เด็กที่ไม่มีหลักฐาน หรือไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งถือเป็นกลุ่มเด็กเปราะบาง

ศิราพร แก้วสมบัติ

ศิราพร แก้วสมบัติ

“ในจำนวน 124 โรงเรียน มีอยู่ 67 โรงเรียน ซึ่งเป็นการศึกษาแบบพิเศษ คือ ศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว (Migrant Learning Centre) ซึ่งเด็กจะเรียนโดยใช้หลักสูตรการศึกษาของพม่าเป็นหลัก จากการสำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราพบว่ามีเด็กหายไปจากระบบ 720 คน จากที่ลงทะเบียนเรียน 11,329 คน เหลือเด็กอยู่ 8,639 คน ซึ่งคิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ลงทะเบียนไว้ตอนแรก ทุกๆ วันเรามีเด็กที่หายไปจากระบบการศึกษา” ศิราพรเล่า

ศิราพรกล่าวด้วยว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ในจังหวัดตาก ทำให้ไม่มีการสอนในศูนย์การเรียนเหล่านี้มาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี 3 เดือน รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ Home-based Learning ที่ทางมูลนิธิเคยนำมาใช้ในช่วงการระบาดปีที่ผ่านมา ด้วยการส่งครูเข้าไปสอนในชุมชน เช่น ตามใต้ต้นไม้ โรงเลี้ยงวัว ใต้ถุนบ้าน ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เนื่องจากการระบาดที่รุนแรงมากขึ้น

“ปีนี้ ชุมชนถูกล็อคดาวน์เพิ่มขึ้น ครูเข้าไปในชุมชนไม่ได้ เด็กออกมาไม่ได้ เมื่อก่อน ล็อคดาวน์ 14 วัน ตอนนี้ ล็อคแล้วล็อคอีก ตอนนี้รูปแบบเดียวที่มีความหวัง คือ การเรียนออนไลน์ แต่มันก็มีอุปสรรค เราต้องเช็คว่าเด็กมีอุปกรณ์กี่ตัว มีมือถือกี่เครื่อง ผู้ปกครองบางคนมีโทรศัพท์แบบโบราณ เราต้องคอยโทรหาผู้ปกครองให้เด็กมาเรียน บางบ้านมีลูกมากกว่า 1 คน พอตารางชนกัน ก็ไม่สามารถเรียนได้แล้ว เราไม่สามารถคาดหวังอะไรได้เลย” ศิราพรกล่าว

ผู้อำนวยการมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน เสนอว่า สิ่งที่รัฐควรทำ คือ การทำให้เด็กได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และได้รับการคุ้มครองโดยเร็วที่สุด ให้การสนับสนุนหน่วยงาน หรือภาคประชาสังคมให้สามารถเข้าถึงเด็ก และครอบครัวได้ ไปจนถึงการติดตามเด็กที่ออกเรียนกลางคัน หรือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา และการมอบสถานะทางทะเบียนให้แก่เด็ก เพื่อให้ง่ายต่อการบันทึก และติดตามเด็กเหล่านี้มากขึ้น

การล็อกดาวน์ทำให้เด็กเผชิญความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น

ด้านดาราราย รักษาสิริพงศ์ ผู้ประสานงานสโมสรเพื่อเด็กเคลื่อนย้ายในแม่สอด (Smile-lay Youth Club Maesot) ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ความรุนแรงต่อเด็กข้ามชาติในวิกฤติโควิด-19 ในงานเสวนาด้วยว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ทำให้เด็กเผชิญความเสี่ยงจากความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น เด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะโรงเรียนปิด ถูกคาดหวังจากผู้ปกครองให้ช่วยทำงานหารายได้ เนื่องจากผู้ปกครองบางส่วนรายได้น้อยลง เพราะถูกเลิกจ้าง เด็กต้องเข้าสู่ระบบการทำงาน

ดาราราย รักษาสิริพงศ์

ดาราราย รักษาสิริพงศ์

“พ่อแม่คาดหวังให้เด็กช่วยทำงานแบ่งเบาภาระครอบครัว เพราะปัญหาเศรษฐกิจมันเป็นเรื่องใหญ่มาก ในแม่สอด จะมีด่านตรวจคนไม่มีบัตรเต็มไปหมด  ผู้ใหญ่เลยเสี่ยงที่จะถูกจับมากกว่า เลยไม่ออกไปไหน เด็กซึ่งเป็นเป้าน้อยกว่า โอกาสถูกจับน้อยกว่า เลยถูกใช้ออกไปทำงานเยอะขึ้น ทุกเคสที่เรารับแจ้ง 5-6 เคส อายุต่ำว่า 15 ปี ทั้งหมด มีทั้งลูกจ้างทำงานบ้าน ร้านขายของ เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ บางคนต้องทำงานกลางดึก บางคนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ตั้งแต่ 5 ทุ่ม ถึง ตี 2-3  ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานที่เลวร้ายมากสำหรับเด็ก และอาจทำให้ตกไปสู่กระบวนการค้ามนุษย์” ดารารายเล่า

ผู้ประสานงานสโมสรเพื่อเด็กเคลื่อนย้ายในแม่สอด ยังเล่าถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กอีกด้วยว่า มีกรณีเด็กถูกทิ้งอยู่บ้านเพียงลำพังกับพ่อซึ่งถูกเลิกจ้าง และติดเหล้า เนื่องจากแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน โดยเด็กรายนี้ เข้ามาเล่าให้ฟังว่า พ่อมีพฤติกรรมที่เป็นสัญญาณของการล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้ทางสโมสรฯ ต้องเข้าไปพูดคุยเด็ก และแม่เด็ก เพื่อหาทางคุ้มครองเด็กจากการถูกล่วงละเมิด

มาตรการล็อกดาวน์ส่งผลต่อการแพร่กระจายสื่อลากมกเด็ก-เสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ด้านศิขริน สิงห์สาคร ที่ปรึกษาด้านการคุ้มครองเด็กออนไลน์ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) พูดถึงสถานการณ์ความรุนแรงเด็กข้ามชาติบนโลกออนไลน์ ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อการใช้เวลาของเด็กและเยาวชนบนโลกออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ผู้ปกครองมีความสามารถในการดูแลเด็กน้อยลง ทำให้ความเสี่ยงของเด็กจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศรูปแบบต่างๆ ทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การพูดคุยเรื่องทางเพศ การขอภาพลามกอนาจารจากเด็ก การส่งภาพทางเพศ หรือลามกอนาจารให้เด็ก หรือการคุกคามทางเพศแบบอื่นๆ เป็นต้น

ศิขริน สิงห์สาคร

ศิขริน สิงห์สาคร

“ตั้งแต่ปี 2541-2560 มีรายงานการเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็กจำนวน 1.7 ล้านรายงาน หรือเฉลี่ยคิดเป็น 89,500 รายงานต่อปี สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นในปี 2563 อยู่ที่ 397,743 รายงาน หรือเฉลี่ยวันละ 1,089 รายงาน โดยทุก ๆ 1.25 นาที จะมีรายงานสื่อลามกเด็ก 1 รายงาน เผยแพร่ในโลกออนไลน์ โดยผู้เสียหาย ร้อยละ 93 เป็นเพศหญิง และผู้เสียหายร้อยละ 55 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี นอกจากนี้ UNICEF ยังพบว่า ในช่วงปี 2562-2563 ที่ผ่านมา มีรายงานการเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็กจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลกส่งผลต่อการแพร่กระจายของสื่อลามกอนาจารเด็ก” ศิขริน กล่าว

ที่ปรึกษาด้านการคุ้มครองเด็กออนไลน์ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เสนอว่า สิ่งที่รัฐควรทำ คือ การเร่งระบุตัวเด็กผู้เสียหาย ที่ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ ควรจัดให้มีศูนย์บริการและช่วยเหลือเด็กผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามอย่างรอบด้าน มีช่องทางการแจ้งเหตุ เพื่อให้สามารถระบุตัวเด็กผู้เสียหาย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ส่วนในกรณีที่เด็กเป็นผู้กระทำผิดจากการนำเข้าสื่อที่ไม่เหมาะสม หรือผิดกฎหมาย รัฐควรมีมาตรการในการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรม มากกว่าการลงโทษทางอาญา เป็นต้น

เด็กที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เด็กในครอบครัวยากจน

ด้านวรางคณา มุทุมล ผู้เชี่ยวชาญด้านงานคุ้มครองเด็ก องค์การช่วยเหลือเด็กระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย (Save the Children) กล่าวว่า เด็กกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ เด็กที่ครอบครัวยากจน เด็กเปราะบาง เด็กในชุมชนแออัด เด็กในครอบครัวที่พ่อแม่หยุดงาน ไม่มีรายได้ ไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาและการช่วยเหลือที่เหมาะสม โดยการที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนเป็นระยะเวลานาน หรือไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือในการเรียนออนไลน์  ทำให้เด็กเกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ และส่งผลต่อความเครียดของเด็กและเยาวชน

วรางคณา มุทุมล

วรางคณา มุทุมล

“รายงาน UNICEF ปีที่แล้ว ระบุว่า เด็กและเยาวชน 7 ใน 10 เครียด กังวล เบื่อหน่าย เด็กไม่อินกับการเรียนออนไลน์ ไม่รู้สึกว่าการเรียนออนไลน์ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้อะไรมากนัก พวกเขาไม่รู้ว่าช่องทางในการจัดการความเครียด ต้องไปที่ไหน ไม่รู้วิธีการเข้าถึงความช่วยเหลือ แม้ว่ากรมสุขภาพจิต อาจจะเข้าถึงเด็กเหล่านี้ได้บางส่วน แต่เด็กก็สะท้อนว่าสายด่วนของกรมสุขภาพจิต ไม่ได้ช่วยเหลือเขามากนัก ทัศนคติที่เป็นอุปสรรรคในการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาทางจิตใจ ซึ่งหากเด็กไม่ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ก็อาจส่งผลต่อปัญหาในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในการใข้สารเสพติด การพึ่งพาแอลกฮอลล์ เซ็กส์ หรือมีความพยายามในการฆ่าตัวตาย” วรางคณา สะท้อน

ผู้เชี่ยวชาญด้านงานคุ้มครองเด็ก องค์การช่วยเหลือเด็ก ประจำประเทศไทย ยังเล่าต่ออีกว่า จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ระบุว่า ครอบครัวที่มีเด็กเล็กได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่สูงกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็ก โดยพบว่า ครอบครัวเหล่านี้มีรายได้ลดลงมากกว่า ในขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้นสูงกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็ก ซึ่งเป็นผลมาจากการประกาศเคอร์ฟิว การปิดร้าน การห้ามเดินทาง

วรางคณา เสนอว่า รัฐควรรีบส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ การแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างรวดเร็ว  การสนับสนุนเงินเยียวยาแก่เด็กและครอบครัวที่เปราะบาง การดูแล และให้ความช่วยเหลือเด็กที่สูญเสียผู้ปกครอง หรือพ่อแม่จากโควิด ไปจนถึงการให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลสภาพจิตใจเด็ก มีช่องทางให้คำปรึกษา หรือความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับเด็ก ที่ต้องเผชิญกับความเครียด ทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์  เพื่อลดความเสี่ยงต่อเด็กในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการถูกล่วงละเมิด และการค้ามนุษย์

แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงการดูแลในสถานการณ์โควิด-19

ด้านชูวงค์ แสงคง เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส มูลนิธิรักษ์ไทย (Raks Thai Foundation)  พูดถึงการเข้าไม่ถึงการบริการตรวจและรักษาโควิด-19 ของเด็กและแรงงานข้ามชาติ ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกลุ่มสวัสดิการ อยู่ 6 กลุ่ม คือ กลุ่มระบบข้าราชการ/ รัฐวิสาหกิจ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ (กองทุนคืนสิทธิ) สำหรับคนที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ ระบบประกันสังคม ที่ดูแลคนที่ทำงานในไทยทุกคน ระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งแรงงานสามารถซื้อได้ และกองทุนคนข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร หรือยังไม่มีสิทธิ

ชูวงค์ แสงคง

ชูวงค์ แสงคง

ชูวงค์ กล่าวว่า ใน 6 กลุ่มสวัสดิการที่กล่าวไป ไม่ควรมีแรงงานคนใดคนหนึ่งหลุดออกจากการดูแลของรัฐ เมื่อเขาติดโควิด แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า แรงงานสามารถเข้าถึงระบบต่างๆ เหล่านี้ได้ยากมากในสถานการณ์โควิด แรงงานบางส่วนที่นายจ้างมีกำลัง อาจจะพอดูแลได้ แต่แรงงานที่มีนายจ้างเป็นธุรกิจขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก แทบจะเข้าไม่ถึงการบริการสุขภาพเลย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจ แบบ RT-PCR หรือ Antigen Test Kit (ATK) ตัวแรงงานต้องพยายามหาวิธีตรวจด้วยตัวเอง

“เราพยายามโทรหาเตียงให้เขาได้เข้าไปใช้สิทธิที่พูดถึง แต่สิ่งที่พบ คือ เตียงเต็ม ไม่รู้จริง หรือเท็จ แต่นี่คือคำตอบของโรงพยาบาล ในชุมชน ก็มี Community Isolation หรือศูนย์พักคอยเวลาเราติดต่อไป ก็พบว่ามันถูกเตรียมไว้ให้คนไทย ถ้าเป็นแรงงาน เขาจะถูกจัดไว้ในลำดับท้าย ๆ มีน้อยมากที่จะให้แรงงานต่างชาติเข้าไปรับการดูแลในศูนย์พักคอยได้ บางทีเราต้องใส่ชุด PPE ขี่มอเตอร์ไซค์พาแรงงานไปส่งที่โรงพยาบาล แล้วบอกโรงพยาบาลว่า ถ้าไม่รับ จะโทรศัพท์บอกสื่อ โรงพยาบาลเลยยอมรับ” เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส มูลนิธิรักษ์ไทย เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

ชูวงค์ ยังสะท้อนด้วยว่า ระบบการลงทะเบียนผู้ติดเชื้อของสปสช. ที่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยโควิด-19 เข้าไปลงทะเบียนเพื่อรับการดูแลแบบ Home Isolation นั้น ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้แรงงานข้ามชาติกรอก เพราะการจะลงทะเบียนได้นั้น ต้องกรอกข้อมูลเป็นภาษาไทย ทั้งยังต้องอาศัยเลขประจำตัว 13 หลักของบัตรประชาชน หรือเลขพาสปอร์ต ซึ่งกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่มีพาสปอร์ตที่รัฐบาลไทยจัดทำขึ้นเป็นกรณีพิเศษกับประเทศต้นทางนั้น จะมีรหัสเพียง 8 หลัก ไม่ได้มี 9 หลักแบบพาสปอร์ตทั่วไปของคนไทย ทำให้กลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคของแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงระบบสุขภาพของประเทศไทยในสถานการณ์ที่การระบาดรุนแรงขึ้น

เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส มูลนิธิรักษ์ไทย ยังเสนอด้วยว่า รัฐควรสร้างความมั่นใจให้แรงงานข้ามชาติกล้าเข้าสู่ระบบการรักษา โดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะถูกจับกุม ซึ่งจะช่วยให้การควบคุมการระบาดเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น รวมถึงการให้แรงงานสามารถเข้าถึงสิทธิในการได้รับการรักษาตามจริง มีการดูแล เยียวยา ชดเชยแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบในเรื่องปากท้อง เนื่องจากแรงงานข้ามชาติก็เป็นผู้เสียภาษีของรัฐไทยด้วยเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net