Skip to main content
sharethis

#ม็อบ26กรกฎา66 ที่ลานสัญญาธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รังสิต ผู้สื่อข่าวคุยกับมนุษย์ชาว มธ. ต่อประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ลากยาวมากว่า 2 เดือนแล้ว ยังไม่สามารถทำได้ ข้อเรียกร้องถึงเงื่อนไขการจับมือร่วมตั้งรัฐบาล รับได้ไหมหากเอาพรรครัฐบาลเก่าอย่างพรรคภูมิใจไทย เข้ามาร่วม และข้อเรียกร้องที่อยากจะฝากถึง ส.ว. 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"นิติชน" มอง ส.ว.เป็นตัวปัญหา-ขอ 8 พรรคร่วมอย่าจับมือกับเผด็จการ

'เอเชีย' สมาชิกกลุ่มนิติชน และ 'ดุ๊ก' สมาชิกกลุ่มนิติชน มาร่วมให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นการจัดตั้งรัฐบาล การดึงพรรคภูมิใจไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. และข้อเรียกร้องที่อยากฝากถึง ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากประชาชน แต่มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ

เอเชีย กล่าวว่า สถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลตอนนี้อยู่ในภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก เพราะเราค่อนข้างจะโดนบีบให้ปล่อยมือกันเองเพื่อไปจัดตั้งรัฐบาล หรือว่าท้ายที่สุด เราจะสู้กันไปอีก 10 เดือน เพื่อรอให้ ส.ว.หมดอำนาจ แต่ไม่ว่าทางไหนโดยส่วนตัวเรามองว่า ทั้ง 8 พรรคร่วมที่เราเลือก เราเชื่อมั่นว่าเขาจะไม่มีวันจับมือกับเผด็จการ หรือว่าไม่มีทางที่จะหิวโหยอำนาจถึงขั้นที่จะต้องหักหลังมวลชนหรืออุดมการณ์ของตัวเเอง อย่างน้อยการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ไม่อยากให้ 8 พรรคร่วมหักหลังประชาชนโดยการไปจับมือกับรัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ

ดุ๊ก มองว่า อยากฝากถึง 8 พรรคร่วมรัฐบาล ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าจะได้เป็นรัฐบาลไหม แต่อยากให้จับมือกันไว้ให้แน่น เพราะว่าการจะต่อสู้กับเผด็จการมันต้องใช้การร่วมแรงร่วมใจ และใช้กำลังมหาศาล อย่าทรยศประชาชน ยึดมั่นในอุดมการณ์ที่พวกคุณหาเสียงไว้ ในสิ่งที่พวกคุณเคยพูดก่อนหน้านี้ ถ้าคุณเกลียดคนแบบไหน อย่าเป็นคนแบบนั้น 

เอเชีย (ซ้าย) และ 'ดุ๊ก' (ขวา) สองสมาชิกนิติชน ในมือถือยันต์ไล่ ส.ว. ให้ไม่มายุ่งกับผลการเลือกตั้งของประชาชน

เอเชีย มองประเด็นการดึงพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ปิดสวิตช์ ส.ว. ว่า สำหรับเธอให้เป็นมติร่วมของ 8 พรรคร่วมที่พูดคุยกัน ถ้า 8 พรรคร่วมพูดคุยและสามารถทำได้ และเชื่อมั่นว่าจะสามารถจะปลดล็อกสวิตช์ ส.ว.ได้จริง คิดว่ามันสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม เธอมองในอีกมุมหนึ่งคือ มันไม่มีความแน่นอนอะไรเลยสักอย่างตอนนี้ ขอให้รออีก 10 เดือน ก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วหนึ่งใน 8 พรรคนี้จะถูกยุบพรรคเมื่อไร หรือไปจับมือกับพรรคภูมิใจไทยแล้วจะรอดหรือไม่รอด ดังนั้นแล้วในฐานะประชาชนคนหนึ่งเป็นหนึ่งในคนที่กาหนึ่งใน 8 พรรคที่กำลังจะจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้เป็นรึเปล่า 

"อยากจะเชื่อมั่นในการตัดสินใจของ 8 พรรคร่วม แล้วก็อยากให้เป็นการตัดสินใจร่วมกัน ไม่ใช่ของพรรคใดพรรคหนึ่ง" เอเชีย ระบุ

ดุ๊ก กล่าวว่า เห็นด้วยกับเอเชีย ขอให้เป็นมติของ 8 พรรคร่วม แต่อยากให้ชี้แจงว่ามีการจับมือกันระดับไหน มีการเอื้อประโยชน์อะไรกันรึเปล่า เพราะที่ผ่านมาพรรคภูมิใจไทยได้สร้างบาดแผลให้คนไทยมาเยอะ อย่างในกรณีของโควิด-19 ภายใต้การบริหารของ อนุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็มีคนเสียชีวิตหลายคน มีคนที่เจ็บปวด ใจจริงไม่อยากให้เอื้อให้ผลประโยชน์ให้เขา คนที่ทำร้ายประชาชนขนาดนี้ 

เอเชีย กล่าวทิ้งท้ายว่า เธอมองว่าตัวปัญหาตอนนี้คือ ส.ว. และอยากให้ทุกคนโฟกัสที่ ส.ว.เป็นหลักมากกว่าการมาทะเลาะกันเอง 

"ต้องยอมรับว่าการมีอยู่ของ ส.ว.ทำให้พวกเราชาวฝั่งที่เชียร์ประชาธิปไตยเกิดความแตกแยก เหมือนพวกเราจะเริ่มหันมาด่าหรือโทษกันเอง …ทั้งที่ทุกสิ่งทุกอย่างมันเริ่มต้นจากการมีอยู่ของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคารพเสียงของประชาชน มีที่มาอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรม ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเสียงประชาชน แต่ดันมีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ นี่คือปัญหาจริงๆ ที่เราควรจะมุ่งโฟกัสให้มากกว่านี้" เอเชีย ทิ้งท้าย

มอง ส.ว. ไม่ควรมีสิทธิเลือกนายกฯ แทน ปชช. ต้องมีที่มาที่ยึดโยง ปชช.มากกว่านี้

ฟ้า อายุ 20 ปี เดล อายุ 20 ปี และพัท อายุ 20 ปี วันนี้มาร่วมกิจกรรม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่ลานสัญญาธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ถึงความรู้สึกที่หลังผ่านการเลือกตั้งมา 2 เดือน ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ตลอดจนการดึงพรรคภูมิใจไทยเข้ามาร่วมรัฐบาล

(ซ้าย-ขวา) เดล ฟ้า และพัท

เดล มองการจัดตั้งรัฐบาลช่วงที่ผ่านมาทำให้เขาแปลกใจ เนื่องจากถ้าเป็นประเทศอื่นๆ น่าจะจับมือตั้งรัฐบาลกันได้แล้ว 

ฟ้า มองว่า การจัดตั้งรัฐบาลควรสิ้นสุดได้แล้ว ในฐานะที่ฝ่ายรัฐบาลเองก็สามารถรวมเสียงได้ถึง 312 เสียง แต่ก็ยังติดขัดที่ ส.ว. 250 คน ซึ่งอาจจะบอกว่าไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรงก็ทะแม่งไปนิดหนึ่ง เพราะคนที่รับร่างประชามติรับรองรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็คือประชาชน แต่ก็ยังมองว่า ส.ว. 250 คน ไม่ควรจะให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯ แทนประชาชน

เดล กล่าวว่า ถ้า ส.ว. ที่เป็นข้าราชาการทางการเมือง และมาจากการแต่งตั้ง แล้วมีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ต้องไม่เป็นประชาธิปไตย หรือไม่มองเสียงประชาชนเป็นที่ตั้งแน่นอน ต้องมีกระบวนการที่มาจากประชาชน ถึงจะถูกต้อง 

ทั้งสามคนเห็นตรงกันว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้เป็นสภาเดี่ยว โดยให้ ส.ว.ทำหน้าที่นิติบัญญัติร่วมกับ ส.ส. ในการออกและกลั่นกรองกฎหมายให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม และเพื่อถ่วงดุลอำนาจของ ส.ส.ด้วย 

ฟ้า มองต่อว่า ส่วนตัวถ้าเรามองไปที่ 'โซลูชัน' (วิธีการแก้ปัญหา) ในการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ เราจะเห็นโซลูชันร่วมกันคือทำยังไงก็ได้เพื่อที่จะโค่นล้มฝ่ายอำนาจเก่า ฝ่ายเผด็จการ หรือคณะรัฐประหารเก่า อีกมุมหนึ่ง ก็คือว่าการเลือกตั้งครั้งเดียว มันไม่สามารถจัดการได้ทุกเรื่อง ไม่ใช่การเลือกตั้งเดียวแล้ว เราจะกลับไปเป็นประชาธิปไตยได้ทันที มันไม่ได้ง่าย และเร็วขนาดนั้น แต่การเลือกตั้งครั้งนี้เราเชื่อว่าจะนำไปสู่การผลิบานของประชาธิปไตย ในครั้งใหม่ๆ ของประเทศไทย 

"เราขอยอมรับว่าเราเป็นนางแบก เพราะว่าเรายังเชื่อว่า ไม่ว่าคุณจะคิดเห็นอย่างไรในประเทศนี้ ไม่ว่าคุณจะยืนอยู่ข้างใน ถ้าคุณจะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เราควรเคารพความเห็นต่างบนพื้นฐานของประชาธิปไตย ซึ่งตอนนี้ประเทศเรายังไม่ได้ประชาธิปไตย ไว้เราได้ประชาธิปไตยเมื่อไรแล้ว ‘ติ่งส้ม’ กับ ‘นางแบก’ เราค่อยมาตีกันก็ยังไม่สาย แต่ว่าตอนนี้เราอยากมองว่าให้ฝ่ายประชาธิปไตยเอง ร่วมกันกำจัดเผด็จการ และถึงวันนั้น เราค่อยมาตีกันเองในฐานะฝ่ายประชาธิปไตยทั้ง 2 พรรค" ฟ้า กล่าว 

พัท มองเห็นเหมือนกับเพื่อน ฝั่งของประชาธิปไตย ต้องการโค่นล้มอำนาจเก่า ไม่ต้องการให้มีการสืบทอดอำนาจ แต่ตอนนี้ด้วยความที่เสียงของเรามันไม่พอ ข้อจำกัดมันเยอะมาก เงื่อนไขมันเยอะมาก เพราะฉะนั้น การจัดตั้งรัฐบาล ก็อยากให้มันเสร็จสิ้นไปได้ด้วยดี และโดยเร็วที่สุด เพราะอยากให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตั้ง ส.ส.ร. แก้รัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว อยากให้มีการยุบสภา และเลือกตั้งใหม่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย ให้ประชาชนได้ส่งเสียงของตัวเองจริงๆ

เดล อยากให้ตั้งรัฐบาลได้ อย่างที่บอกว่า รัฐบาลรักษาการตอนนี้ประชาชนก็ไม่เอาแล้ว อยากให้การจัดตั้งรัฐบาล เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะว่าเพื่อตัดปัญหาการใช้เป็นข้ออ้างทำการรัฐประหาร

"จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ รัฐธรรมนูญมีปัญหาหรือเปล่า ต้องฉีก และเขียนใหม่หรือเปล่า ผมก็กังวลเรื่องการทำรัฐประหารด้วย" เดล กล่าว 

มองต้องเล่นเกมตามกติกา-ดึง ภท.รับได้ บนมติก้าวไกล-พท.อยู่ด้วยกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ รธน.

ฟ้า มองว่า เรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ถ้ากติกามันเบี้ยว เราก็ต้องสู้ภายใต้เงื่อนไขและกติกานั้น ถ้าเราสู้นอกกติกาก็ไม่ต่างอะไรจากฝั่งนู้น เราเลยมองว่า การต่อสู้ถ้าจะเอาภูมิใจไทยเข้ามา เราโอเค เพราะ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ก็มาจากที่ประชาชนเลือกเหมือนกัน แต่ว่าเราสนับสนุนพรรคภูมิใจไทยไหม ก็ไม่ อุดมการณ์ไปด้วยกันไหม ก็ไม่ แต่การเมืองตอนนี้กลายเป็นเรื่องของตัวเลข เนื่องจากมันมีเรื่องของ ส.ว. เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเราก็เลยมองว่า การที่ภูมิใจไทยเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งเป็นมติของพรรคร่วมที่ให้เพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนก้าวไกล เข้าไปคุย เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะว่าเรามองตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้วว่า พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ยังไงมันก็รวมกันไม่ถึง 350 เสียง มันไม่มีทางแลนด์สไลด์กันได้ เราก็เลยมองว่ายอมไปก่อน จัดตั้งรัฐบาล และยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ  เงื่อนไขนี้พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ต้องไปด้วยกัน 

"สวัสดีค่ะ ขั้วอำนาจเก่า คุณไม่ต้องเชื่อดิฉันก็ได้ แต่ว่าลูกหลานคุณจะโดนพวกดิฉันตามไปสาปส่งถึงที่ … เล่นโซเชียลมันขุดได้หมด เพราะฉะนั้น คุณรีบหันมายกมือให้กับพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล และ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ได้จัดตั้งรัฐบาลกันอย่างสันติ …ถ้าคุณไม่ยกมือตอนนี้จะยกตอนไหน ถ้าไม่ยกเราจะตามไปถึงบ้านคุณ" ฟ้า ทิ้งท้ายถึงฝ่ายอำนาจเก่า 

(ซ้าย-ขวา) เดล ฟ้า และพัท

ยอมรอ ดีกว่าจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรครัฐบาลเก่า

ติวเตอร์ พรรคโดมปฏิวัติ อายุ 19 ปี มองเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลตอนนี้ที่ยังไม่สามารถจัดตั้งได้ เป็นเกมการเมืองของพวกอำนาจเก่า เพื่อพยายามดึงไม่ให้พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย หรือ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ พวกเขาพยายามบีบคั้นทุกอย่างเพราะพวกเขากลัวว่าเราจะไปแก้อะไรสักอย่างที่พวกเขาจะได้ผลประโยชน์

ติวเตอร์ พรรคโดมปฏิวัติ

ติวเตอร์ อยากฝากพรรคเพื่อไทยว่า อย่าไปยอมตามขั้วอำนาจเก่า เพราะเป็นเกมที่ทำให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยแตกคอกันเอง และให้จับมือกับพรรคก้าวไกลเอาไว้  

“อยากบอกว่าพรรคเพื่อไทยอย่าไปยอมเขา เพราะเขาพยายามทำให้ท่านแตกคอกันเอง ไอ้เกมที่ทำให้ท่านแตกคอกัน ไม่เห็นตรงกัน และสลายขั้ว อย่าไปยอมเป็นหางเลขให้มัน ถ้าเราไปคุยกับ ส.ว. ต่อให้ ส.ว.จะบอกว่าไม่เอามาตรา 112 แต่พอเราลด 112 มา แม่งก็ไม่เอาพรรคก้าวไกล เพราะท้ายที่สุดแล้ว มันเป็นแค่ข้ออ้าง อย่าไปปล่อยมือก้าวไกล เพราะผมเชื่อว่ายังไงพรรคก้าวไกล ก็ต้องจับมือกับพรรคเพื่อไทย” ติวเตอร์ กล่าว

สมาชิกพรรคโดมปฏิวัติ กล่าวต่อว่า แม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าทำให้แก้ไขปัญหาประเทศถูกยืดออกไป แต่เขาคิดว่ารอต่อไปจนกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยจริงๆ ดีกว่าเอาพรรครัฐบาลเก่ามาร่วมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะ 9 ปีที่ผ่านมา เราเสียหายจากโควิดจากการที่รัฐบาลเก่าดูแลไม่ดี นโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ที่ล้มเหลว เสียหายจากการบริหารที่ฉ้อฉล การโกงกินกันในระบบ เขามองว่า ถ้าจะจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ มันก็ต้องยอมแลก 

ฝากผู้มีอำนาจคำนึงถึงประชาชน

ขลุ่ย ประธานนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองการจัดเลือกตั้งรัฐบาลที่ผ่านมา รู้สึกว่าผิดหวังที่พรรคชนะการเลือกตั้งไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล กลับต้องมากล้ำกลืนฝืนทน ฝ่าฟันข้อจำกัดต่างๆ เงื่อนไขต่างๆ เพื่อที่ได้จัดตั้งรัฐบาล และหลังจากโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรก ทำให้เราเห็นแล้วว่า เราขาดสิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตย" 

ขลุ่ย มองว่า อาจจะเป็นเรื่องของ ส.ว. ที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พรรคอันดับหนึ่ง แม้ว่าจะจับมือกับพรรคต่างๆ แล้ว ก็ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ ตรงนี้ทำให้เราเห็นข้อบกพร่องของประชาธิปไตย และนำมาสู่ การตั้งคำถามว่า ทำไม 250 เสียงถึงมีคุณค่ามากกว่า 14 ล้านเสียง และทำไม 250 เสียงถึงมีอำนาจในการเลือกนายกฯ 

"อยากฝากถึงผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็น ส.ว. และพรรคที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในครั้งถัดๆ ไป ศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจในการตัดสิน อยากฝากทุกท่านที่ได้ยินเสียงนี้ว่า สิ่งที่ทุกท่านควรคำนึงถึงมากที่สุด คือเสียงของประชาชน เพราะเราเชื่อว่าประชาชน คือผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศแห่งนี้" ขลุ่ย ทิ้งท้าย

ขลุ่ย

 

ส.ว.ต้องหยุดขวางความเจริญ

แนท นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง อายุ 23 ปี ส่วนตัวเขาเชื่อว่า ประชาชนรอจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะถ้าเรายังฝืนทำแบบนี้อยู่ ฝืนจัดตั้งรัฐบาลที่มันไม่ชอบธรรม ประเทศอาจจะเสียหายมากกว่า 10 เดือน ฟังเสียงประชาชนไม่พอใจว่าถ้าตั้งรัฐบาลเลย และไปรวมกับฝ่ายเผด็จการ ประชาชนทราบดีว่าใครเป็นเผด็จการ หรืออยู่ในคณะรัฐประหารมาก่อน พรรคไหนคือมรดกของเผด็จการ 

แนท มองว่า สิ่งที่เขากังวลใจที่สุดถ้ามีการจับมือจัดตั้งรัฐบาล กับพรรคเผด็จการ ความวุ่นวายหลังจากนั้น ถนนจะเต็มด้วยประชาชน และการบริหารประเทศก็จะเต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน เพราะเมื่อปี 62-65 เราเคยอภิปรายว่าเขาทุจริตอย่างไร และเราต้องลืมสิ่งที่เขาทำไว้เหรอ 

"เราควรลืมสิ่งที่เขาทำไว้เหรอ แม้ว่าทางการเมืองจะจับกันได้ เพราะว่าผ่านการเลือกตั้งมา แต่ประชาชนมองว่าไม่สมควรจะทำ" 

แนท มองว่า ไม่เห็นด้วย ถ้าจะไปจับมือตั้งรัฐบาล กับพรรคภูมิใจไทย แต่ปัญหาที่แท้จริงแนท มองว่า อยู่ที่ ส.ว. 

"ฝ่ายประชาธิปไตย เรารวมกันได้ 312 เสียงแล้ว ถ้าบวกภูมิใจไทยเข้าไปอีกเราจะไม่ถูกเรียกว่าเผด็จการประชาธิปไตยอีกเหรอ เราควรจะจี้ ส.ว. เราควรจะจี้ให้ถูกจุด ไม่ใช่พรรคก้าวไกลต้องถอย หรือพรรคเพื่อไทย ต้องจับกับใคร จี้ว่า ส.ว. ควรจะหยุดขวางความเจริญของประเทศ" 

"ฝากถึงฝ่ายประชาธิปไตย ต้องใจเย็นๆ ใจแข็งๆ เอาไว้ เป้าหมายของเราคือตั้งรัฐบาลที่มีความชอบธรรม มีเสถียรภาพ เราอย่าไปหลงกลเขา และ ส.ว.ต้องหยุดขวางประชาธิปไตยได้แล้ว" แนท ทิ้งท้าย

แนท นศ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net