Skip to main content
sharethis

อุณหภูมิที่สูงขึ้นและคลื่นความร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้คนทำงานในสหรัฐฯ ประมาณ 32 ล้านคนที่ทำงานกลางแจ้ง เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากการทำงาน และสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 55.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564 เป็นต้นมา ทวีปอเมริกาเหนือเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง ที่แคนาดาเมืองต่าง ๆ เปิดศูนย์ฉุกเฉินติดเครื่องปรับอากาศให้ประชาชนมาหลบร้อน เจ้าหน้าที่ออกแจกจ่ายน้ำดื่มบรรจุขวดและหมวก ขณะที่ชุมชนท้องถิ่นมากกว่า 160 แห่งมีอุณหภูมิสูงเป็นสถิติใหม่ คลินิกฉีดวัคซีน COVID-19 หลายแห่งและโรงเรียนประกาศปิดชั่วคราวเพราะอากาศร้อนจัด

ส่วนที่สหรัฐฯ เมืองชายฝั่งแปซิฟิกทางตะวันตกเฉียงเหนือ เช่น เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน และเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน อุณหภูมิสูงทำลายสถิติตั้งแต่มีการจดบันทึกในช่วงทศวรรษ 1940 (พ.ศ.2483-2492) อากาศที่ร้อนจัดและความแห้งแล้ง ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าหลายจุดบริเวณเขตแดนของรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐออริกอน สำนักงานใหญ่ของบริษัทแอมะซอน (Amazon) ในเมืองซีแอตเทิล เปิดให้ประชาชนเข้ามาหลบร้อนในอาคารที่จุดคนได้ราว 1,000 คน เนื่องจากบ้านเรือนประชาชนส่วนใหญ่ในเมืองซีแอตเทิลไม่ได้ติดเครื่องปรับอากาศ เพราะเป็นเมืองที่อากาศหนาวและชื้น ส่วนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเมืองพอร์ตแลนด์เปิดศูนย์บรรเทาความร้อนให้กับชาวเมืองหลายแห่ง

ล่วงมาถึงเดือน ส.ค. 2564 คลื่นความร้อนก็ยังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในสหรัฐฯ ตั้งแต่เขตมิดเวสต์ไปจนถึงตะวันออกเฉียงเหนือ และตอนกลางของมหาสมุทรแอตแลนติก

'คลื่นความร้อน' กระทบคนทำงานในสหรัฐฯ กว่า 32 ล้านคน


คนทำงานสหรัฐฯ ประมาณ 32 ล้านคนที่ทำงานกลางแจ้งเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากการทำงาน จากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 Union of Concerned Scientists ได้เปิดเผยรายงานที่ชี้ว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นและปรากฎการณ์คลื่นความร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้คนทำงานสหรัฐฯ กว่าร้อยละ 20 หรือจำนวนประมาณ 32 ล้านคนที่ทำงานกลางแจ้งเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากการทำงาน 

คนทำงานกลางแจ้งส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ การขนส่ง การเกษตร และภาคการก่อสร้าง ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นแรงงานชาย แรงงานกลางแจ้งเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำงานนอกเขตเมือง

ทั้งนี้จำนวนเฉลี่ยของวันที่มีความร้อนเกิน 100 องศาฟาเรนฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 38 องศาเซลเซียส) เพิ่มขึ้นเท่าตัวในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) จึงได้ออกคำแนะนำให้ลดการทำงานกลางแจ้งเพื่อลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากความร้อน ซึ่งจะสร้างความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 55.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ 

ในรายงานยังระบุว่าจากคนทำงานกลางแจ้งทั้งหมดประมาณ 32 ล้านคน มีประมาณ 18.4 ล้านคน ที่ต้องทำงานเผชิญความร้อนจัด ทั้งที่ในอดีตมีคนทำงานเพียงประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้นประสบปัญหานี้ คนทำงานกลางแจ้งโดยเฉลี่ยเสี่ยงที่จะสูญเสียรายได้ต่อปีมากกว่า 1,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากความร้อนจัด ส่วนใน 10 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด จะเสี่ยงต่อการสูญเสียโดยเฉลี่ยเกือบ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีเลยทีเดียว

การสูญเสียรายที่กล่าวไป ในรายงานฉบับนี้ได้คำนวณจำนวนวันทำงานที่มีความเสี่ยงบวกกับวันที่เวลางานบางส่วนสูญเสียไปเมื่อความร้อนอยู่ระหว่าง 100-108 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 38-42 องศาเซลเซียส) ซึ่งเป็นช่วงอุณหภูมิที่ CDC แนะนำให้นายจ้างลดตารางการทำงานลง และเมื่ออุณหภูมิเกิน 108 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 42 องศาเซลเซียส) CDC ได้แนะนำให้หยุดทำงานกลางแจ้งทั้งหมด

ส่วนสำนักงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งสหรัฐอเมริกา (OSHA) แนะนำให้นายจ้างใช้มาตรการป้องกันความปลอดภัยเมื่ออุณหภูมิเกิน 90 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 32 องศาเซลเซียส)

คนทำงานที่มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพและการสูญเสียรายได้จากความร้อน ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเท็กซัส ฟลอริดา แคลิฟอร์เนีย แอริโซนา และลุยเซียนา รวมทั้งบางเขตในรัฐทางเหนืออย่างไอโอวาและอิลลินอยส์ก็อยู่ในรายชื่อในรายงานด้วยเช่นกัน 

ผลกระทบด้านสุขภาพและการสูญเสียรายได้จากความร้อน ยังแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางชาติพันธุ์ในสหรัฐฯ ด้วย ในรายงานแสดงให้เห็นว่ามากกว่าร้อยละ 40 ของคนทำงานกลางแจ้งในสหรัฐฯ เป็นคนผิวดำหรือลาติน  (แม้ว่าสัดส่วนปกติของประชากรในสหรัฐฯ ของ 2 กลุ่มนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 32) ในรายงานยังชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันที่มีอยู่ทำให้คนทำงานกลุ่มนี้มีสุขภาพที่แย่ลงโดยเฉพาะการเข้าถึงสวัสดิการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ

คนทำงานในฟาร์มมีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากอันตรายจากความร้อนจัดร่วมกับการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นประจำ จากข้อมูลของ CDC ชี้ว่าคนทำงานในฟาร์มมีโอกาสเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับความร้อนมากกว่าคนทำงานในอาชีพอื่นที่เป็นพลเรือนถึง 20 เท่า 

แนวทางจาก CDC และ OSHA ยังเป็นแค่ข้อแนะนำเท่านั้น ทั้งนี้สหรัฐฯ ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยจากความร้อนระดับชาติที่บังคับใช้ในการปกป้องคนทำงานกลางแจ้ง มีเพียงรัฐแคลิฟอร์เนียและวอชิงตันเท่านั้นที่มีมาตรฐานความปลอดภัยจากความร้อน

เพื่อให้สภาพการทำงานปลอดภัย ผู้เขียนรายงานได้แนะนำให้นายจ้างพยายามลดปริมาณงานและปรับตารางเวลาเพื่อให้มีการทำงานในช่วงเวลาที่อุณหภูมิเย็นกว่าช่วงกลางวัน การวิเคราะห์จากรายงานแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานช่วยขจัดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง

แต่ผู้เขียนรายงานฉบับนี้ยังยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนตารางเวลางานนั้นมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติด้วยเช่นกัน เนื่องจากเหตุฉุกเฉินสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและงานก่อสร้างบางอย่างจำเป็นต้องดำเนินการในระหว่างช่วงกลางวัน 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการของภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งสำคัญในการจำกัดจำนวนวันที่อากาศร้อนจัด

"หากเราไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ คนทำงานกลางแจ้งหลายล้านคนก็จะต้องเผชิญกับความร้อนในระดับที่เป็นอันตรายมากขึ้นเรื่อย ๆ และนอกจากผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสความร้อนนั้นแล้ว และหากคนทำงานไม่ได้รับค่าจ้างในช่วงเวลาพักในการทำงานเพื่อหลบอากาศร้อนจัดนั้น รายได้ของคนทำงานกลางแจ้งทั่วประเทศที่มีความเสี่ยงอาจจะหายไปถึง 55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีเลยทีเดียว" หนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าว 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำอุณหภูมิโลกในเดือนสูงสุดในรอบ 142 ปี

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่าเมื่อ ก.ค. 2564 ที่ผ่านมาอุณหภูมิโลกในเดือนสูงสุดในรอบ 142 ปี ตั้งแต่ NOAA เริ่มเก็บบันทึกสถิติ ตามปกติแล้ว ก.ค. ถือเป็นเดือนที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงกว่าทุกเดือน และเดือนใน ก.ค. 2564 นี้ก็เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในรอบ 1,700 เดือนตั้งแต่ปี 2423 ที่ NOAA เริ่มเก็บบันทึกสถิติ และอุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนเพิ่งทุบสถิติก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ค. 2559 ในเดือน ก.ค. 2562 และ ก.ค. 2563

ในช่วงเดือน ก.ค. 2564 มีคลื่นความร้อนจำนวนมากในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย นอกจากนี้ มีตัวอย่างอากาศสุดขั้วอื่น ๆ เช่น น้ำท่วมฉับพลันในเยอรมนีและเบลเยียม เช่นเดียวกับจีน และไฟป่าอันตรายทั่วอเมริกาเหนือและยุโรป

นอกจากนี้ในช่วงเดือน ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ ได้ตีพิมพ์รายงานที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ทำให้โลกร้อนขึ้นเร็วกว่าที่เคยมีการประเมินไว้

รายงานของ IPCC ระบุว่าแต่ละ ช่วง 40 ปีที่ผ่านมา อบอุ่นกว่าช่วง 10 ปี ก่อนหน้านั้นมาตั้งแต่ปี 2393 อย่างต่อเนื่อง และผลกระทบที่เลวร้ายลงของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น ทั้งปรากฎการณ์ฝนตกหนักมากขึ้น ตลอดจนคลื่นความร้อนที่ร้อนและยาวนานมากขึ้น อย่างที่โลกกำลังเผชิญในฤดูร้อนนี้

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
Too Hot to Work Climate change, extreme heat, and the health and financial risks to outdoor workers (Kristina Dahl and Rachel Licker, Union of Concerned Scientists, 17 August 2021)
Extreme heat from climate change puts 32 million U.S. workers at risk of lost wages and illness (Debbie Carlson,  MarketWatch, 17 August 2021
July was the hottest month on record, amid extreme weather around the globe (Brandon Miller, CNN, 13 August 2021)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net