Skip to main content
sharethis

เร่งช่วยแรงงาน 4 จว.ใต้ กลับจากประเทศเพื่อนบ้าน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.)

ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการช่วยเหลือแรงงานไทย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ซึ่งพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

โดย ศอ.บต.ร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดอบรมให้ความรู้ ฝึกทักษะแนะแนวอาชีพ และช่วยเหลือให้มีงานทำแล้วมากกว่า 8,000 คน จากเป้าหมาย 10,000 คน ภายใน ก.ย.2564

และรับทราบการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา มีความก้าวหน้ามากขึ้น เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ที่ประชุมเห็นชอบโครงการเดินสํารวจออกโฉนดที่ดิน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงพื้นที่ปี 2565-2570 พื้นที่ จ.ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา เพื่อให้ประชาชนได้รับเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล

นอกจากนี้ ที่ประชุมกำชับ ศอ.บต. และทุกหน่วยงาน ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือประชาชน เพื่อลดผลกระทบจาก COVID-19 อย่างเร่งด่วน

ที่มา: ThaiPBS, 15/7/2564

'ก้าวไกล' จี้ 'ประยุทธ์' ทบทวนคำสั่งลอยเเพแรงงานต่างชาติ

14 ก.ค. 2564 สุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการเเรงงาน สภาผู้แทนราษฎร แสดงความเห็นถึงกรณีที่มีหนังสือของกรมจัดหางาน เรื่อง แจ้งยกเลิกโครงการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวด้านสาธารณสุข ในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019

สุเทพ กล่าวว่า ณ วันนี้ วิกฤติโควิดอาจจะน่ากลัวน้อยกว่าวิกฤตปัญญาความสามารถในการจัดการเพื่อควบคุมโรคของรัฐบาลแล้ว รัฐมีนโยบายเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างชัดเจน ไล่เรียงมาตั้งแต่นโยบายการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบการโควิดด้วยการเยียวยาตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ไม่รวมแรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคม กีดกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยการจำกัดให้การตรวจหาเชื้อสามารถตรวจได้เฉพาะแรงงานที่มีเอกสารเท่านั้น ทั้งที่รัฐทราบดีว่า ‘โควิดไม่เลือกที่รักมักที่ชัง’ จะชาติไหน มีบัตรหรือไม่ก็มีโอกาสติดโควิดเหมือนกัน และถ้าแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะมีเอกสารหรือไม่มีเอกสารไม่ปลอดภัย พวกเราทุกคนก็ไม่มีทางปลอดภัย

“ล่าสุดออกคำสั่งนิวโลว์ขั้นสุดอีกตามหนังสือฉบับนี้ คือยกเลิกการตรวจหาเชื้อในแรงงานข้ามชาติที่มีเอกสารประจำตัวที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอีก คำสั่งเช่นนี้คือ ใบอนุญาตปล่อยให้คนตายใช่หรือไม่ และนี่ไม่ใช่การปกป้องแรงงานข้ามชาติแต่เป็นการเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลอยู่รอดจากการบริหารที่ล้มเหลว พลเอกนายกประยุทธ์ จันทรโอชา ปล่อยให้ เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้อย่างไร” สุเทพกล่าว

สุเทพ กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องหยุดดำเนินนโยบายด้วยการเลือกคุ้มครองหรือปกป้องใคร แต่ต้องจัดลำดับความสำคัญให้กลุ่มเสี่ยงทุกกลุ่มเข้าถึงการตรวจหาเชื้อและได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุดเพื่อลดความร้ายแรงของการแพร่ระบาดโดยไม่เลือกปฎิบัติเหมือนที่โควิดไม่เลือกที่จะติดหรือไม่ติดใคร และรัฐบาลต้องหยุด สั่งการเฉพาะเรื่องคนต่างด้าว เพราะมันเป็นคำสั่งที่ชี้หน้ารัฐเองว่าเป็นคนล้มเหลวในการจัดการโรคระบาดและความล้าหลังของรัฐที่ไม่สามารถก้าวข้ามการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเชื้อชาติได้

"การเลือกปฎิบัติในทศวรรษที่ 21 เป็นเรื่องน่าละอาย และการเลือกปฏิบัติในภาวะวิกฤติโรคระบาดเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ รัฐบาลต้องมีมาตรการคุ้มครองพวกเราทุกคน ให้ทุกคนเข้าถึงการควบคุมป้องกันโรคเพื่อความปลอดภัยของทุกคน เพราะพวกเราจะไม่มีความปลอดภัยถ้าทุกคนไม่ปลอดภัย"

สุเทพ อีกกล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้เเทนราษฎร จะเร่งดำเนินทำหนังสือไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ทบทวนคำสั่งอย่างเร่งด่วน เเละชี้เเจงต่อคณะกรรมาธิการการเเรงงานเเละประชาชนว่ารัฐบาลจะต้องปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ผลักภาระให้ประชาชน

วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนแรงงาน พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณีเดียวกันว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีคำสั่งยกเลิกมาตรการช่วยเหลือด้านสาธารณสุขแก่แรงงานข้ามชาติ นอกจากเป็นการไร้มนุษยธรรม ไม่สมกับเป็นเจ้ากระทรวงแรงงานแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่บานปลายมากขึ้น และต้องไม่ลืมว่าเศรษกิจในประเทศไทย ขับเคลื่อนด้วยแรงงานข้ามชาติ ที่สร้างเมือง สร้างความเจริญ และสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยทำกับคนงานเหล่านี้ คือทำเหมือนไม่ใช่มนุษย์ ตั้งแต่วิกฤตโรคระบาดโควิด 19 เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ระลอกแรก แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยได้รับการเยียวยา และต่อให้อยู่ในระบบประกันสังคม ก็ไม่ได้รับการเยียวยาเช่นกันเหตุเพราะไม่มีสัญชาติไทย

“หลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ปฎิบัติกับแรงงานกลุ่มนี้เปรียบเสมือนเขาไม่ใช่มนุษย์ จับขังรวมกันบ้างทั้งคนมีเชื้อและไม่มีเชื้อ สั่งปิดแคมป์คนงานตั้งแต่ต้นเดือนเป็นต้นมาก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาที่ครบถ้วน ตกหล่นหลายราย แถมยังไม่ได้รับการรักษาแต่อย่างใด แถมข้าวกล่องที่ท่านรับปากไว้ว่าจะมีให้ครบ 3 มื้อก็ไม่เป็นความจริง แรงงานส่งเรื่องขอความช่วยเหลือแทบจะทุกแคมป์ใน กทม. ประชาชนต้องออกมาช่วยออกเงินบริจาคและลงแรงต่างๆ มากมายเพื่อช่วยกันเอง ท่าน รมต.บอกว่า ใช้เงินหลายล้านในแต่ละวันเพื่อบริจาคอาหาร ไข่ไก่ ข้าวกล่องต่าง ๆ มากมายเช่นกัน นั่นไม่ใช่หน้าที่ที่ท่านต้องทำเพราะรับปากแรงงานไว้หรอกหรือ และหน้าที่ของ รมต.แรงงาน มีศักยภาพเท่านี้จริง ๆ หรือ”

วรรณวิภา ย้ำว่า มาจนถึงตอนนี้ยังได้ซ้ำเติมด้วยการสั่งประกาศยกเลิกโครงการช่วยเหลือด้านสาธารณสุขแก่แรงงานข้ามชาติ เอกสารอ้างว่าโรงพยาบาลล้น รักษาไม่ไหว โดยไม่คำนึงถึงการระบาดของโรคว่ามันไม่ได้เลือกให้ติดเฉพาะคนสัญชาติไทย แต่ติดไปทั่วทุกที่ไม่ว่าจะสัญชาติไหน การเลือกปฎิบัติของรัฐ จะกลายเป็นการทำให้เชื้อโควิดแพร่กระจายไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะถ้าไม่คัดกรอง รักษา เยียวยาอย่างถ้วนหน้า สุดท้ายก็จะมีคนติดเชื้อเพิ่มเติมอยู่ดี และหากท่านให้สัมภาษณ์ออกสื่อข่าวว่า ไม่มีหน้าที่ในการควบคุมโรค แล้วแรงงานจะต้องพึ่งใคร รมต.แรงงาน ไม่ช่วยแรงงาน แล้วยังจำเป็นต้องมี รมต.แรงงานอยู่หรือไม่

“ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ทบทวนและยกเลิกคำสั่งนี้โดยเร็วที่สุด ในช่วงที่แรงงานทุกคนยากลำบากเจ้ากระทรวงแรงงานควรเป็นที่พึ่งของพวกเขา ไม่ใช่ทำตัวเป็นหอกทิ่มแทงซ้ำเติมแรงงานไปอีก การที่จะระงับโรคระบาดนี้ได้คือการปูพรม ตรวจรักษาทุกคน ไม่ว่าสัญชาติใดโดยไม่เลือกปฎิบัติ เพราะโรคโควิด19 ก็ไม่เคยเลือกสัญชาติเช่นกัน และถ้ายังไม่ยับยั้งตั้งแต่วันนี้ ก็ไม่สามารถที่จะหยุดการระบาดได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น นอกจากท่านจะไม่มีจิตวิญญาณความเป็นรัฐมนตรีกระทรวงของแรงงานแล้ว ยังไม่มีซึ่งความเป็นมนุษย์ด้วยอีก” วรรณวิภา กล่าว

ที่มา: Voice online, 14/7/2564

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติแถลงการณ์ประณาม หนังสือกรมการจัดหางาน แจ้งการยกเลิกโครงการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวด้านสาธารณะสุข

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2564 อธิบดีกรมการจัดหางาน ลงนามบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด เรื่อง แจ้งการยกเลิกโครงการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวด้านสาธารณะสุข ถึง ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 โดยมีเนื้อความสำคัญ กล่าวคือเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโควิด 19 ซึ่งรัฐได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อเพื่อควบคุมโรคเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง โดยมีคำสั่งฉบับวันที่ 25 มิ.ย. 2564 ต่อมาปรากฎว่าการแพร่ระบาดโควิด 19 มี แนวโน้มสูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหาและสกัดกั้นการระบาดแบบกลุ่มก้อน ปัจจุบันโรงพยาบาลประสบปัญหาด้านสาธารณะสุข เช่น เตียงผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่มีจำกัดไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่ตรวจพบรายใหม่ได้ ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจึงมีนโยบายให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของกระทรวงแรงงานนับแต่มีการแพร่ระบาดระบาดของโรคระบาดโควิด 19 เมื่อปี 2563 ทำให้แรงงานข้ามชาติเกือบ 1 ล้านคน ต้องหลุดจากระบบที่เคยขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานถูกกฎหมายของรัฐ การเยียวยาที่เข้าไม่ถึงและมีการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอันเป็นการขัดต่อกฎหมายไทยและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กระทั่งการแพร่ระบาดของโรคที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งประเทศรวมทั้งแรงงานข้ามชาติ มีอัตราที่สูงขึ้นโดยข้อมูลของกรมควบคุมโรคระบุว่า ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง 12 กรกฎาคม 2564 มีแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา กัมพูชาและลาว ติดเชื้อสะสมมากถึง 47,550 คน แต่มาตรการของรัฐเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2564 คือการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง การเยียวยาที่ยังเน้นการเลือกปฏิบัติ ทำให้เกิดการระดมการให้ความช่วยเหลือกันเองของภาคเอกชน

การลงนามในบันทึกข้อความอย่างเร่งด่วนของอธิบดีกรมการจัดหางาน ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เพื่อระงับโครงการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวด้านสาธารณะสุขย่อมสะท้อนศักยภาพทำงานและความล้มเหลวของระดับผู้นำของกระทรวงแรงงาน สร้างความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม และการเลือกปฏิบัติแล้ว และความล้มเหลวในครั้งนี้ยังอาจจะทำให้นโยบายการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไม่สามารถกระทำได้หากมีกลุ่มคนในสังคมถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกเป็นจำนวนมาก

จากสถานการณ์ข้างต้น เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติขอเรียกร้องให้รัฐบาลดังนี้

1.เร่งดำเนินการตรวจเชิงรุกในกลุ่มแรงงานข้ามชาติโดยเร็วที่สุด ให้ครอบคลุมมากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม 10 จังหวัด หรือสนับสนุนชุดตรวจแบบ Self-test ให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

2.เร่งพัฒนาศักยภาพแกนนำหรืออาสาสมัครแรงงานข้ามชาติในชุมชน และสนับสนุนให้ชุมชนแรงงานข้ามชาติ องค์กรภาคประชาสังคม ดำเนินการ Home Isolation และ Community Isolation ร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อดูแลผู้ที่มีความเสี่ยงสูง(PUI) และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง(สีเขียว) เพื่อให้มีเตียงสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง(สีเหลือง สีแดง)

3.เร่งจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้กับแรงงานข้ามชาติทุกคน ทั้งที่มีเอกสารและไม่มีเอกสาร ให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

4.เร่งพัฒนาระบบการช่วยเหลือส่งต่อกรณีที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง

5. กระทรวงแรงงานต้องติดตามและมีมาตรการให้นายจ้างนำแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมโดยเร็ว โดยให้สิทธิรักษาพยาบาลย้อนหลังให้แก่แรงงานที่ควรได้รับสิทธิประกันสังคม แต่นายจ้างไม่นำเข้าประกันสังคม สำหรับกรณีแรงงานข้ามชาติที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้มีการตรวจสอบและประสานให้มีการจัดซื้อประกันสุขภาพต่อไป

6. กระทรวงแรงงานควรแสดงความรับผิดชอบ ในการช่วยเยียวยาและจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติ

การหยุดตรวจหาเชื้อไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ และจะไม่มีความปลอดภัยให้กับประชาชนคนใดหากทุกคนไม่มีความปลอด

ที่มา: Migrant Working Group, 14/7/2564

ครม.มีมติจ่ายเงินเยียวยาแรงงานประจำ ม.33 ฟรีแลนซ์ ม.39-40 เพิ่มอีก 5 สาขาอาชีพ 10 จังหวัด

13 ก.ค.2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสงขลา อย่างน้อย 14 วัน ทั้งนี้จะช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน ผู้ประกอบการ และประชาชน ตามข้อกำหนด ศบค.ฉบับที่ 27 วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท

ช่วยเหลือแรงงานในระบบประกันสังคมและนอกระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการและมาตรการควบคุมการระบาดเดิม 4 สาขาอาชีพ เพิ่มเป็น 9 สาขาอาชีพ โดยสาขาที่เพิ่มใหม่ 5 สาขา ได้แก่ 1.สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 2.สาขาการขายส่งและการขายปลีก 3.สาขาการซ่อมยานยนต์ 4.สาขากิจกรรมการบริหารและสนับสนุนวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมวิชาการ และ 5.สาขาข้อมูลข่าวสารและการศึกษา

ระยะเวลาการช่วยเหลือ 1 เดือน โดยรูปแบบการช่วยเหลือ ม.33 ได้รับการช่วยเหลือ 2,500 บาทต่อคน และลูกจ้างที่ได้รับชดเชยจะได้รับเงินเดือน 50% ของค่าจ้าง รวมไม่เกินคนละ 10,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการจะได้รับรายละ 3,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน จำกัดไม่เกิน 200 คน ส่วนผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ได้รับความช่วยเหลือ 5,000 บาท ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระให้เตรียมหลักฐานเป็นผู้ประกันตน ซึ่งเป็นแนวทางที่ปรับเปลี่ยนจากการเยียวยาครั้งที่แล้ว

ที่มา: Thai PBS, 13/7/2564

กกจ. ชี้ยกเลิกโครงการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวด้านสาธารณสุข หาช่องช่วยแบบใหม่

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยกรณีการเปิดเผยหนังสือกรมการจัดหางาน เรื่อง แจ้งยกเลิกการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวด้านสาธารณสุข ลงวันที่ 5 ก.ค. 2564 ว่าโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการตรวจคัดกรองโรคโควิด – 19 ให้แก่แรงงานต่างด้าวในกิจการที่มีความเสี่ยงและอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวในด้านสาธารณสุข โดยได้มอบหมายสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ซึ่งอยู่ในพื้นที่เป้าหมาย สำรวจจำนวนแรงงานต่างด้าวในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อดำเนินการตามแผนที่วางไว้

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2564 คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ได้จัดการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 14/2564 โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า อำนาจในการตรวจคัดกรองโควิดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็นอำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลในเรื่องดังกล่าว ในส่วนกรมการจัดหางานไม่ได้นิ่งนอนใจ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติในด้านอื่นๆตามภารกิจของกรมการจัดหางานต่อไป

ที่มา: สยามรัฐ, 14/7/2564

ธุรกิจโรงแรมร้องรัฐเยียวยาจ้างแรงงาน-ลดค่าไฟ-เร่งฉีดวัคซีน

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลออกมาตรการควบคุมการระบาดโควิดเข้มข้นสูงสุดใน 10 จังหวัดเสี่ยงสูง ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวต้องหยุดลงอีกครั้ง ส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ที่มีรายได้หลักจากการให้บริการนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ จึงต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 3 ข้อหลัก ได้แก่ 1.การชดเชยค่าจ้างแรงงานให้กับพนักงาน เพื่อรักษาการจ้างงานไว้ 2.ลดต้นทุนคงที่ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า 15% รวมถึงผ่อนชำระค่าไฟได้ จนถึงสิ้นปี 2564 และ 3.เร่งฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรในภาคการท่องเที่ยว เน้นไปที่จังหวัดเสี่ยงสูง และจังหวัดท่องเที่ยวก่อน รวมถึงประชาชนในจังหวัดเหล่านั้นด้วย เพื่อให้ธุรกิจสามารถกลับมาเปิดได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม และความสามารถในการใช้จ่ายของแรงงานเหล่านั้นจะตามมา โดยหากสามารถฉีดวัคซีนจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้ จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ก็เป็นข้อเรียกร้องให้ช่วยรูปแบบเดิม เพราะพูดเรื่องเดิมมากว่าปีครึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ และทุกครั้งที่โควิดเกิดวิกฤตขึ้นอีก หรือรัฐบาลมีมาตรการควบคุมเข้มข้นขึ้นอีก ก็จะขอเสนอเรื่องให้ช่วย ซึ่งก็เป็นเรื่องเดิมที่พูดซ้ำๆ เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง

“ขณะนี้โรงแรมไม่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ทำให้รายได้หายไป และเมื่อมีมาตรการควบคุมเข้มข้นขึ้น การฟื้นตัวของการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศก็ถูกยืดเวลาออกไป ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังไม่สามารถเข้ามาได้แบบปกติ แต่โรงแรมยังต้องรักษาการจ้างพนักงานไว้ เพราะถือเป็นแรงงานที่ต้องใช้ทักษะ และกว่าจะฝึกฝนคนใหม่ได้มีทักษะเท่าแรงงานในปัจจุบันต้องใช้เวลา แม้ต้องการรักษาพนักงานไว้ แต่จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจโรงแรมขาดสภาพคล่องมานาน จึงไม่สามารถจ้างพนักงานไว้ได้ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งช่วยในส่วนนี้ เพราะหากพนักงานถูกเลิกจ้าง ก็ส่งผลกระทบกับครอบครัวของพนักงาน เป็นห่วงโซ่ต่อไปด้วย ส่วนภาพรวมธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย ขณะนี้น่าจะเปิดตัวอยู่ประมาณ 50% และอีก 50% ปิดตัวไปแล้ว โดยเฉพาะโรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยวหลักๆ ที่คาดว่ามีปิดตัวลงมากกว่า 50% เนื่องจากการท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ส่วนจะปิดตัวชั่วคราวหรือถาวร ค่อนข้างแยกได้ลำบาก แต่ประเมินว่าโรงแรมที่ปิดถาวรมากที่สุด น่าจะอยู่ภาคใต้ เป็นโรงแรมขนาดกลางลงไป เพราะพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูงที่สุด โดยมองว่าหลังจากรัฐบาลมีประกาศควบคุมการระบาดเข้มข้นขึ้น คาดว่าจะมีโรงแรมปิดตัวลงมากขึ้นอีก” นางมาริสา กล่าว

นางมาริสา กล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมขนาดกลาง ตอนนี้ต้องยอมรับว่าสายป่านหรือเงินทุนกำลังจะขาดแล้ว เพราะธุรกิจโรงแรมมีลักษณะเฉพาะที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งการฟื้นฟูจะต้องใช้เวลากว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2565-2566 ถึงจะทยอยฟื้นตัวกลับมา จึงอยากให้รัฐบาลประกาศความช่วยเหลือออกมาโดยเฉพาะคือ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 อยากให้พักชำระเงินต้นและหยุดดอกเบี้ย หรือหากทำได้ยิ่งเร็วเท่าใดก็ยิ่งดี เพื่อไม่ให้เห็นธุรกิจปิดตัวลงอีก รวมถึงการหาแหล่งเงินทุนให้กู้ในระยะยาว โดยมีดอกเบี้ยในระดับต่ำไว้รองรับด้วย เพราะเมื่อธุรกิจจะกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง ก็ต้องใช้เงินทุนในการปรับปรุงธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยต้องยอมรับว่า ขณะนี้โรงแรมไปกันไม่ไหวจำนวนมากแล้ว โครงการโกดังพักหนี้ ที่มีอยู่ ผู้ประกอบการโรงแรมยังเข้าร่วมได้น้อย เนื่องจากบางสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ มีการตั้งเงื่อนไขที่แตกต่างกัน อาทิ เริ่มต้นที่ลูกหนี้ชั้นดีเท่านั้น ประเมินจากมูลค่าหนี้ในระดับต่ำก่อน ทำให้นโยบายที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็ยากในการเข้าถึง ส่วนธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) เสนอให้หาแหล่งเงินทุนให้แบบตั้งเงื่อนไขการกู้ผ่านการค้ำประกันไขว้ระหว่างธุรกิจกันเอง ซึ่งเบื้องต้นมูลค่าของเงินกู้ที่ต้องการไม่มากนัก

“การกลับมาเดินทางจะเริ่มต้นได้อีกครั้งเมื่อใดนั้น ตอนนี้วัคซีนคือคำตอบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะวัคซีนจะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด และความรุนแรงของอาการได้ ทำให้หากวัคซีนยังล่าช้าและฉีดได้น้อย การกลับมาเริ่มต้นใหม่ของธุรกิจท่องเที่ยว ก็จะยืดเวลาออกไปอีก แต่ยังคาดหวังว่าจะสามารถเริ่มต้นได้ในไตรมาส 4/2564 เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่นในการท่องเที่ยวจริงๆ หากไม่ทันต้องรอไปปี 2565 เลย” นางมาริสา กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 13/7/2564

ก.แรงงาน ปรับปรุงอัตราค่าทำศพลูกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายเพิ่มเป็น 50,000 บาท

12 ก.ค. 2564 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง กำหนดอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2564 ลงนามโดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีเนื้อหาดังนี้

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2563

ข้อ 2 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างในอัตรา 50,000 บาท

ข้อ 3 ในกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2561 จนถึงก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ให้นายจ้างจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างในอัตรา 40,000 บาท

ให้ไว้ ณ วันที่ 8 ก.ค. 2564

นอกจากนี้ มีการระบุเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่ายเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 12/7/2564

โฆษกกระทรวงแรงงาน ยันจ่ายเงินเยียวยาคนงานในแคมป์ก่อสร้างแล้วตามสิทธิ

12 ก.ค. 2564 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยถึงกรณีที่ คุณไชยวัฒน์ วรรณโคตร เลขานุการและอนุกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาสถานการณ์ด้านแรงงานสวัสดิการ คุ้มครองแรงงาน และแรงงานสัมพันธ์ เขียนบทความ เรียบเรียงข้อมูลการชดเชยแรงงานจากคำสั่งปิดแคมป์คนงาน โดยระบุว่าปิดแคมป์คนงาน 14 วัน เกือบ 7 แสนคน ยังไม่ได้รับชดเชยเยียวยาและไม่ได้ดูแลเรื่องอาหารให้กับคนงาน ซึ่งในเรื่องนี้ขอชี้แจงว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้จ่ายเงินเยียวยาสุดวิสัยโควิด -19 ร้อยละ 50 ของค่าจ้างให้ลูกจ้าง 4 ประเภทกิจการ ได้แก่ 1) กิจการก่อสร้าง 2) กิจการที่พักแรม บริการด้านอาหาร 3) กิจการศิลปะความบันเทิงนันทนาการ และ 4) กิจการอื่น ๆ ไม่ใช่กิจการก่อสร้างเพียงอย่างเดียว

และขณะนี้ สำนักงานประกันสังคมได้วินิจฉัยจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ไปแล้วทั้งสิ้น 17,920 ราย เป็นจำนวนเงิน 87,631,033.80 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.ค. 2564) โดยแยกเป็น กิจการก่อสร้าง 16,468 ราย เป็นเงิน 79,801,420.45 บาท ที่เหลือเป็นกิจการร้านอาหาร และภัตตาคาร 1,452 ราย เป็นเงิน 7,829,613.35 บาท

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะตัดจ่ายทุกวันศุกร์ และนำจ่ายเงินให้ลูกจ้างทุกวันจันทร์ โดยคนงานในกิจการก่อสร้างจ่ายเป็นเงินสด ส่วนกิจการอื่น ๆ ที่เหลือจะโอนเงินเข้าบัญชีลูกจ้างโดยตรง

กรณีลูกจ้างที่ยังไม่ได้เงิน สำนักงานประกันสังคมขอให้เร่งดำเนินการ ดังนี้ 1) ให้นายจ้างรับรองในระบบ e-service ว่ามีลูกจ้างกี่ราย หยุดงานตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน 2) ลูกจ้างยื่นแบบ สปส. 2 – 01/7 ให้แก่นายจ้างส่งต่อให้สำนักงานประกันสังคม เพื่อที่จะให้ประกันสังคมพิจารณาวินิจฉัยจ่ายเงินโดยเร็วต่อไป

ส่วนเรื่องอาหารในแคมป์คนงานก่อสร้างนั้น กระทรวงแรงงาน ได้ขอความร่วมมือนายจ้างสถานประกอบการดูแลเรื่องอาหารแก่คนงานทั้ง 3 มื้อ โดยกระทรวงแรงงานจะสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภค อาทิ ข้าวสาร น้ำดื่ม ไข่ไก่ ปลากระป๋อง ที่ได้รับบริจาคจากภาคเอกชน และนำไปมอบให้สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นศูนย์กลางในการกระจายอาหารไปยังคนงานตามแคมป์ ต่างๆ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นมาตรการเสริมที่กระทรวงแรงงานขอความร่วมมือนายจ้างสถานประกอบการ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาค่าใช้จ่ายด้านอาหารให้แก่คนงานอีกทางหนึ่ง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 12/7/2564

ลาวแจ้งแรงงานลาวผิด กม.ในไทย กลับประเทศได้โดยไม่มีความผิด

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป. ลาว แจ้งว่าแรงงานชาวลาวที่ไปทำงานในประเทศไทย อย่างไม่ถูกกฎหมาย และอยากกลับประเทศ สามารถไปแจ้งความประสงค์ได้กับเจ้าหน้าที่ไทยที่ด่านสากลได้ทุกแห่ง โดยจะไม่มีความผิดใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ ทางไทยจะแจ้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองลาวมารับตัวไปเข้าศูนย์กักตัวเฝ้าระวังโรคต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 12/7/2564

เปิดรับข้อเสนอ 'ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมชุมชนเป็นฐาน' สู้โควิด19

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมออนไลน์ ประชุมเชิงปฏิบัติการเปิดรับข้อเสนอโครงการ ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานปี 2564 เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ แนวทางการทำงานและประชาสัมพันธ์โครงการให้แก่องค์กรภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม หรือองค์กรที่สนใจ

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และปัญหาเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดประชากรด้อยโอกาสว่างงานกลุ่มใหม่จำนวนมาก โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานปี 2564 จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์

ในฐานะต้นแบบการพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ ชุมชนเป็นฐาน ที่มุ่งค้นหาระบบนิเวศทางการศึกษาและแนวทางฝึกอาชีพ เพื่อเชื่อมโยงชุมชนและเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกันโดยกลุ่มเป้าหมายคือประชากรนอกรั้วโรงเรียนวัย 15 ปีขึ้นไป ซึ่งประเทศไทยมีแรงงานกลุ่มนี้ราว 20 ล้านคน หรือ70% ในจำนวนนี้คือแรงงาน นอกระบบที่ขาดทักษะ

ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ตลอดสองปีที่ผ่านมา มีโครงการที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วม194 โครงการ กว่า 182 หน่วย พัฒนาอาชีพ ครอบคลุมการทำงาน 50 จังหวัด ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ว่างงาน ยากจนและด้อยโอกาสไปแล้วปีละราว 1 หมื่นคนภายใต้งบประมาณที่จำกัด

ขณะนี้ กำลังเปิดรับข้อเสนอโครงการ จากหน่วยงานหรือองค์กรที่มีแนวคิดการ พัฒนาอาชีพ ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชน องค์กรเอกชน ธุรกิจเพื่อสังคม องค์กรชุมชน มูลนิธิ องค์กรสาธารณะประโยชน์

เน้นช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนา 4 ทักษะสำคัญ คือ 1.ทักษะอาชีพ 2.ทักษะศตวรรษที่ 21 3.การดูแลสุขภาพจิต และ 4.ทักษะการบริหารจัดการด้านการเงินและหนี้สิน รวมทั้งมีรูปแบบการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการมีงานทำ ยืนหยัดด้วยตัวเองในระยะยาว โดยจะสนับสนุนทุนโครงการละไม่เกิน 1 ล้านบาท ดำเนินงานในกรอบระยะเวลา 7 เดือน

“กสศ. ตั้งเป้าให้หน่วยงานที่เข้าร่วม มองถึงการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายพิเศษ คือกลุ่มคนวัยทำงานที่มีบุตรหลานในระบบการศึกษาที่ไม่เกินระดับชั้น ม.3 เพื่อสนับสนุนให้มีอาชีพ มีรายได้ เพื่อส่งต่อผลสำเร็จไปยังครัวเรือน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้ได้เรียนต่อ ไม่หลุดจากระบบการศึกษา มีโอกาสได้เรียนต่อระดับชั้นที่สูงขึ้น” น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว

โดยโครงการนี้มองผลปลายทางที่มากกว่าการ ฝึกอาชีพ หรือการผลิตสินค้า แต่จะนำไปสู่ชุมชนนำร่องที่ทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การ บริหารจัดการให้ผู้ด้อยโอกาสได้ประกอบอาชีพตามความถนัด พึ่งพาตนเองได้ มีอาชีพที่ยั่งยืน และนำพาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งยั่งยืน ผู้สนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการได้ โดยเปิดรับ ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.EEF.or.th ตั้งแต่วันที่ 10 - 23 ก.ค. 2564 และจะประกาศผลโครงการที่ผ่านการพิจารณาภายในเดือน ส.ค. 2564

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการ ฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ. กล่าวว่า ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และยูนิเซฟ พบว่าจะมีคนตกงานประมาณ 6 ล้านคน และมีเด็กจบการศึกษาใหม่ 1.3 ล้านคน ทั้งนี้เรากำลังแก้โจทย์สำคัญเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

มีสาเหตุปัจจัย 3 เรื่อง คือ 1. การส่งต่อความยากจนจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง คนที่จบม.ต้น แทบไม่มีโอกาสพัฒนาตัวเอง ต้องอยู่กับความยากจน 2. ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนปีนี้จะยิ่งห่างมากกว่า 20 เท่า และ 3. การวัดประเมินผลแบบแพ้คัดออก ยิ่งคนด้อยโอกาสมาจากครอบครัวยากจนยิ่งขาดโอกาสทางการศึกษา

ดังนั้น การแก้โจทย์เราจะไม่ส่งต่อเรื่อง ความยากจน จากคนอีกรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งแต่เราจะสร้างมิติใหม่จะส่งต่อโอกาสความเสมอภาค กำหนดอนาคตของประเทศต่อไป ประเทศไทยจะต้องก้าวไปข้างหน้าโดยเชื่อมโยงกับองค์กรในท้องถิ่น ขยับเชิงนโยบายในแต่ละท้องถิ่น เป็นสังคมที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความยากจนจากล่างขึ้นบน การทำต้นแบบองค์ความรู้ บูรณาการเชื่อมต่อกับนโยบาย ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของทุนในอนาคตข้างหน้า

น.ส.ณัฐชา ก๋องแก้ว นักวิชาการฝ่ายนวัตกรรมข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า ข้อมูลจากระบบ isee ของ กสศ. พบว่า มี นักเรียนทุนเสมอภาค จำนวน 1.17 ล้านคน เด็กกลุ่มนี้มาจากครัวเรือนยากจนที่สุด 15% ล่างของประเทศ เมื่อมีวิกฤติโควิด -19 มีรายได้ราว 1,021 บาทต่อคนต่อเดือน หรือราว 34 บาทต่อวัน เท่านั้น

จึงเป็นที่มาของการนำแนวคิดในการช่วยเหลือครอบครัวของนักเรียนทุนเสมอภาค ที่จำนวนมากต้องประสบปัญหาถูกเลิกจ้าง ว่างงาน และกลับภูมิลำเนามากขึ้น มาใช้ในการทำงานของโครงการ ฯ ในปี 2564 นี้ เพื่อเป็นต้นแบบการช่วยเหลือเปลี่ยนแปลงสมาชิกครอบครัวของนักเรียนทุนเสมอภาค ให้มีทักษะอาชีพและสามารถมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งหมายถึงโอกาสในการศึกษาอย่างต่อเนื่องของเด็กและเยาวชนที่ยังอยู่ต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 10/7/2564

เกาะพะงัน ฉีดวัคซีนให้กลุ่มแรงงานต่างด้าว และกลุ่มชาวต่างชาติ เตรียมความพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว

นายพูลศักดิ์ โสภณปทุมรักษ์ นายอำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดินทางไปตรวจจุดที่ให้บริการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มแรงงานต่างด้าว และกลุ่มชาวต่างชาติ ที่อาศัยอยู่บนเกาะพะงัน โดยตั้งแต่ช่วงเช้าบรรดานายจ้างในพื้นที่อำเภอเกาะพะงัน ทยอยนำกลุ่มแรงงานเดินทางมายังโรงเรียนเกาะพะงันศึกษา อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี หลังอำเภอเกาะพะงัน บูรณาการร่วมกับ โรงพยาบาลเกาะพะงันและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดบริการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่คนในพื้นที่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

นายแพทย์วรวุฒิ พัฒนโภครัตนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะพะงันเปิดเผยว่า เกาะพะงันปลอดเชื้อโควิด-19 มากว่า 20 วันแล้ว และได้ทำการฉีดวัคซีนให้กับประชากรในพื้นที่ไปกว่า 70% หรือ ประมาณ 10,000 คน จาก 15,000 คน ส่วนวันนี้ เจ้าหน้าที่จะให้บริการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มแรงงานต่างด้าว ทั้งแรงงานที่ถูกกฎหมาย, มีบัตรสีชมพู และยังไม่บัตร รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่ง ทางเจ้าหน้าที่ ได้มีการวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น เนื่องจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ที่มาวันนี้ค่อนข้างหนาตา คาดว่าจะดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชากรทั่วพื้นที่ 80-90% ภายใน 2 วันนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เตรียมรับการเปิดเกาะตอนรับท่องเที่ยวในวันที่ 15 ก.ค.นี้

นายอำเภอเกาะพะงัน กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันที่ 15 ก.ค.2564 นี้ ว่า ความพร้อมทั้งของอำเภอเกาะพะงัน และเกาะเต่า ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของโรงแรมที่พักทั้งที่เกาะพะงัน และเกาะเต่า ร่วม 25 โรงแรม นอกจากนี้ยังมีการเตรียมความพร้อมในส่วนของร้านอาหาร และการให้บริการระบบขนส่งไม่ว่าจะเป็นทางเรือ หรือการขนส่งทางรถ ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยทั้งหมดจะต้องผ่านการอบรม ถึงจะได้เปิดให้บริการรับนักท่องเที่ยวได้

เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้ามาพักในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย ตาม “สมุย พลัส โมเดล” เป็นเวลาครบ 7 วันแล้ว นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยยวต่อที่อำเภอเกาะพะงัน และเกาะเต่า ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีมาตราการดูแลนักท่องเที่ยวต่อ โดยเน้นด้านมาตรการทางด้านการป้องกัน เพื่อความปลอดภัยของทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา

ที่มา: one31, 9/7/2564

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net