Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ดราม่าพิมรี่พายแขวะทักษิณ ชินวัตร และด่าหมดวรงค์ เดชกิจวิกรม มีการวิจารณ์ที่ขยายไปสู่ปัญหาสำคัญอื่นๆ เช่นว่าพิมรี่พายไม่รับรู้ปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ ใช้ความเชื่อทางศาสนาเรื่องทำบุญ ทำทานสร้างภาพเพื่อหวังความนิยมและผลประโยชน์ทางธุรกิจขายของออนไลน์ของตนเองบนโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจที่เน่าเฟะ 

บ้างก็แสดงออกถึง “ความเข้าใจ” คนอื่นว่า เธอเป็นเพียงแม่ค้านออนไลน์ ก็มีไสตล์แบบนั้นแหละ จะไปคาดหวังให้เธอมาแตะปัญหาโครงสร้างคงไม่ได้ บ้างก็ว่าถึงจะเป็นแม่ค้าออนไลน์ก็เป็นบุคคลสาธารณะ มีคนติดตามมาก หรือจะเป็นใครก็ตามก็ควรตระหนักในปัญหาโครงสร้าง และควรขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาโครงสร้างด้วยกันทั้งนั้น 

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีใครวิจารณ์ว่าทำไมนักการเมือง พรรคการเมืองที่กินภาษีประชาชนจึงไม่รับข้อเสนอการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของ “ราษฎร” ไปสู้ต่อในสภาอย่างจริงจัง กลับมีคนไม่น้อยแก้ต่างทำนองว่านักการเมืองเขาก็กลัวถูกยุบพรรค เขามี “ต้นทุน” ที่ต้องจ่ายสูงมาก จะหวังจากนักการเมือง พรรคการเมืองคงไม่ได้ ประชาชนต้องออกมาชุมนุมมากขึ้นๆ เท่านั้น 

ก็แปลกดีที่แก้ต่างให้นักการเมือง พรรคการเมืองที่มีหน้าที่รับผิดชอบแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยตรง แต่ไปเรียกร้องกับปัจเจกบุคคล หรือประชาชนทั่วไปแบบจริงจังมากกว่า 

แต่ประเด็นที่ผมสนใจคือการใช้ความเชื่อทางศาสนาสร้างภาพ ผมคิดว่าเป็นสิทธิที่ใครจะวิจารณ์พิมรี่พายหรือใครก็ตามที่ใช้ความเชื่อทางศาสนาสร้างภาพทำนองนั้น 

แต่คำถามคือ ถ้าเราเลือกวิจารณ์เฉพาะเป้าหมายที่ปลอดภัย ใส่เต็มที่เลยกรณีปัจเจกบุคคลอย่างพิมรี่พายใช้ความเชื่อเรื่องบุญ ทานทางศาสนาสร้างภาพ ทว่ามี “ข้อยกเว้น” ไม่แตะปัญหาการใช้ศาสนาสร้างภาพที่มีผลโดยตรงต่อความอยุติธรรมเชิงโครงสร้าง และการละเมิดหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย คำพูดที่ว่าคนแบบพิมรี่พายไม่แตะปัญหาเชิงโครงสร้างก็จะย้อนศรกลับมาที่เราเอง

ที่จริงแล้ว ถ้า “การสร้างภาพ” หมายถึง การทำอะไรที่ไม่อยู่ในกรอบคิดของความสมจริง (realism) ทำอะไรดราม่าเหนือจริง เกินจริง เพื่อให้ตนเองดูดี ดูสูงส่งกว่าคนธรรมดา เพื่อเป็นที่เชื่อถือศรัทธาของคนทั่วไป ศาสนาก็เป็นเรื่องของการสร้างภาพโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว 

เริ่มจากการสร้างภาพของ “พระศาสดา” ที่มีคุณวิเศษสูงส่งเหนือคนธรรมดาทั่วไป ตั้งแต่มีปัญญาเหนือคนทั่วไป มีปาฏิหาริย์สามารถได้ยินเสียงของพระเจ้าได้ หรือสั่งสมบุญบารมีมาหลายภพชาติจนตรัสรู้สัจธรรมเข้าถึงนิพพาน กระทั่งเหาะเหินเดินอากาศได้ เป็นต้น 

ส่วนศีลธรรมหรือความดีแบบศาสนานั้นก็มีคุณวิเศษเหนือศีลธรรมความดีในความหมายอื่นๆ เพราะมันเป็นศีลธรรมความดีที่มีอานุภาพส่งผลให้คนตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ได้ เกิดมาจน รวย สวย หล่อ หรืออัปลักษณ์ได้ หรือเกิดมาเป็นชนชั้นต่ำ ชนชั้นสูงได้ เป็นต้น

ดังนั้น คนที่เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับศาสนาจึงถูกกลืนเข้าสู่ระบบความคิดความเชื่อที่เน้นการสร้างภาพโดยปริยาย แต่การใช้ศาสนาสร้างภาพก็แตกต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับว่าชนชั้นไหนมีอำนาจผูกขาดการใช้ศาสนาสร้างภาพได้มากกว่า 

แน่นอน ในประวัติศาสตร์นักบวชกับชนชั้นปกครองคือกลุ่มคนที่ใช้ศาสนาสร้างภาพให้ตนเองวิเศษสูงส่งกว่าคนธรรมดาได้มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ อำนาจของศาสนจักรและระบบกษัตริย์ที่ใช้อำนาจเผด็จการโดยเทวสิทธิ์ และเผด็จการโดยธรรมนั้นกดขี่ครอบงำสังคมมนุษย์มายาวนาน 

ในยุคปัจจุบัน สังคมที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐ นักบวชและชนชั้นปกครองก็ยังผูกขาดการใช้ศาสนาสร้างภาพในทางที่ขัดหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยอยู่นั่นเอง การไม่ทำความเข้าใจ “ไม่รับรู้” หรือ “ignorance” ต่อปัญหาดังกล่าวก็เป็นเรื่องปกติของคนส่วนใหญ่ในสังคมอีกเช่นกัน

ที่ตลกร้ายคือ เมื่อมีการใช้ศาสนาภายใต้ระบบศาสนจักรของรัฐสร้างภาพนักบวชบางคนให้เป็นผู้วิเศษเหนือมนุษย์ จนมีคนศรัทธาจำนวนมาก มีเงินทำบุญไหลเข้าวัดจำนวนมหาศาล การเผยแพร่ศาสนาของสำนักนั้นรุกเข้าไปในโรงเรียน หน่วยงานราชการ มีการเกณฑ์นักเรียนและข้าราชการเข้าวัดปฏิบัติธรรมโดยใช้งบประมาณจากรัฐบาลและกลไกระบบราชการอำนวยความสะดวก ซึ่งขัดหลักเสรีภาพทางศาสนาในสังคมโลกวิสัยโดยตรง แต่ผู้คนกลับแบ่งเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายหนึ่งโจมตีว่าสำนักนั้นบิดเบือนคำสอนศาสนา อีกฝ่ายอ้างหลัก “เสรีภาพทางศาสนา” ปกป้องสำนักนั้นโดยกลบปัญหาการละเมิดหลักการแยกศาสนากับรัฐของสำนักนั้นไว้ใต้พรม 

พูดโดยภาพรวมคือ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ซีเรียสกับการใช้ศาสนาสร้างภาพของนักบวชและชนชั้นปกครองที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังมากนัก แต่ถ้ามีคนธรรมดาใช้ศาสนาสร้างภาพ เช่น แสดงออกว่าชอบทำบุญสร้างภาพ หรือประกาศตนเป็นโพธิสัตว์ พระศรีอาริย์ เป็นต้น การรุมสหบาทาคนธรรมดาเช่นนั้นก็เกิดขึ้นโดยง่าย แล้วผู้คนในสังคมนี้ก็ร้องเพลง “ข้าวรพุทธเจ้า...” ที่แปลว่า “ข้าของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ...” กันต่อไป 

ตกลงคนธรรมดาที่ใช้ศาสนาสร้างภาพ คือคนที่ปกป้องปัญหาเชิงโครงสร้างที่รองรับให้นักบวชและชนชั้นปกครองใช้ศาสนาสร้างภาพได้ต่อไป หรือว่าคนธรรมดาเหล่านั้นกำลังพยายามสร้างอำนาจในการใช้ศาสนาสร้างภาพขึ้นมาต่อรอง หรือล้อเลียนเสียดสี หรือทำให้ศาสนาลดความศักดิ์สิทธิ์ ลดการผูกขาดโดยนักบวชและชนชั้นปกครองลง ก็ย่อมเป็นเรื่องที่น่าวิเคราะห์วิจารณ์ทั้งนั้น

อีกอย่าง การรุมสหบาทาคนธรรมดาที่ใช้ศาสนาสร้างภาพ แต่ยกเว้นหรือไม่รับรู้การใช้ศาสนาสร้างภาพของนักบวชและชนชั้นปกครองที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างโดยตรง จะช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือรักษาปัญหาเชิงโครงสร้างให้ดำรงอยู่ต่อไป นี่ก็เป็นปัญหาที่น่าคิดอีกเช่นกัน 

พูดอย่างถึงที่สุด วัฒนธรรมการใช้ศาสนาสร้างภาพนั้นซับซ้อนมาก สาเหตุหนึ่งเกิดจากการบังคับเรียนศีลธรรมพุทธศาสนาในฐานะ “หลักศีลธรรมของชาติ” ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมรู้จักศีลธรรมมิติเดียวคือ "ศีลธรรมศาสนา" และเชื่อผิดๆ ว่าศีลธรรมศาสนาคือคำตอบทางสังคมและการเมือง 

ส่วนฝ่ายเสรีนิยมในบ้านเราก็อาจเข้าใจผิดว่าศีลธรรมมีแต่ศีลธรรมศาสนาเท่านั้น และการอ้างศีลธรรมศาสนาให้เป็นศีลธรรมทางสังคมและการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ผิด การเมืองต้อง "ไม่พูดเรื่องศีลธรรม" เลย พูดเฉพาะปัญหาโครงสร้าง กฎหมาย นโยบายสาธารณะต่างๆ เท่านั้น 
แต่อันที่จริง เวลาพูดถึงเสรีนิยม มันมีทั้ง.- 

1. เสรีนิยมทางศีลธรรม (moral liberalism) ที่ยืนยันคุณค่าของปัจเจกภาพ อิสรภาพของมนุษย์ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรม ประโยชน์สุขส่วนรวม สวัสดิการ สันติภาพ ความก้าวหน้าของมนุษยชาติ และ

2. เสรีนิยมทางการเมือง (political liberalism) ที่เสนอว่าจะจัดระบบโครงสร้างทางการเมืองและเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจอย่างไรบ้างเพื่อเป็นหลักประกันเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เสรีภาพทางการเมือง ความยุติธรรมบนหลักนิติรัฐ การมีส่วนร่วมทางสังคมการเมือง การกระจายสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น

สองเรื่องดังกล่าวมีมิติสัมพันธ์ในเชิงสนับสนุนกัน และไม่ว่าคุณจะรู้ตัวหรือไม่ เวลาเถียงกันเรื่องอะไรถูก ผิด ชอบธรรม ไม่ชอบธรรมในระบอบเสรีประชาธิปไตย คุณกำลังเถียงเกี่ยวกับคุณค่าทางศีลธรรมแบบ moral liberalism กับอุดมการณ์ทางการเมืองแบบ political liberalism คาบเกี่ยวกัน และลื่นไหลไปมาระหว่างกัน

บ้านเราพูดถึงประชาธิปไตย แต่ไปเน้นการปลูกฝังศีลธรรมศาสนาที่ไม่สอดคล้องหรือบางเรื่องขัดกับวัฒนธรรมประชาธิปไตย ปรากฏการณ์หลายๆ อย่างที่เราวิจารณ์ว่าสร้างภาพด้วยเรื่องบุญ ทาน การปฏิบัติธรรม ไม่สนใจปัญหาโครงสร้างมันก็คือผลผลิตของระบบการศึกษา และสถาบันศาสนาที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าศีลธรรม ความดี ความเป็นคนดีมีเฉพาะตามคำสอนศาสนาเท่านั้น

แต่ที่จริงแล้ว “ศาสนาห้ามมีศีลธรรม” ก็ได้ เช่น ห้ามนักบวชประกอบพิธีแต่งงานให้คนรักร่วมเพศ ห้ามนักบวชสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการห้ามมีศีลธรรมสมัยใหม่ คือศีลธรรมเสรีนิยมโลกวิสัย (secular liberal ethics) 

อย่างไรก็ตาม เสรีนิยมทางการเมืองเน้นการแก้ปัญหาโครงสร้าง เพื่อไม่ให้อำนาจรัฐละเมิดเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองได้ 

แต่หน้าตาโครงสร้างของ “เสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย” (secular liberal democracy) มันคือหน้าตาที่ยอมรับความคิด อุดมการณ์ที่ไม่เสรีนิยมหรือไม่ประชาธิปไตยด้วย แปลว่า มันยืนยันความอดกลั้น (tolerance) ต่อความคิด ความเชื่อ และการกระทำที่แตกต่างหรือขัดกับเสรีนิยม, ประชาธิปไตยด้วย ตราบที่คนที่คิดและเชื่อเช่นนั้นไม่ใช้ความรุนแรงทางกายภาพต่อคนอื่น หรือไม่สร้างกฎหมาย และใช้กฎหมายล่าแม่มดคนคิดต่าง 

ดังนั้น ในปัจจุบันที่ยังไม่มีโครงสร้างแบบนั้น สังเกตว่าเราโกรธคนคิดต่างที่เขาไม่ได้ใช้ความรุนแรงและไม่ใช้กฎหมายพิเศษไล่ล่าเราจนเว่อร์เกินไปไหม ขณะที่เราโกรธพวกที่ใช้กฎหมายไล่ล่าเรารายวันมากพอหรือยัง แล้วเราจะรวมพลังสู้กับคนพวกนี้อย่างไร นี่ถามจากการสังเกตเท่านั้นนะครับ ไม่ได้ตัดสินแบบเหมารวม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net