Skip to main content
sharethis

มอบสิทธิประโยชน์ว่างงานแก่ลูกจ้าง บ.บอดี้แฟชั่นฯ ที่ถูกเลิกจ้างจากโควิด-19

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 เวลา 09.30 น. ที่ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานแก่ผู้แทนลูกจ้าง บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด สาขานครสวรรค์ ที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากสถานประกอบการปิดตัวจากผลกระทบโควิด-19 โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวรายงาน

นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในครั้งนี้ด้วย โดยรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินงานของกระทรวงแรงงานในการช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้ เพราะไม่ใช่แค่ลูกจ้างบริษัท บอดี้ แฟชั่นฯ จะได้รับผลประโยชน์ แต่ยังมีลูกจ้างอีกกว่า 15,000 คน ที่จะได้รับประโยชน์วงเงินกว่า 840 ล้านบาท สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” การดำเนินการของกระทรวงแรงงานในครั้งนี้จึงถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม

โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และการกำกับดูแลกระทรวงแรงงานของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่ประสบปัญหาว่างงานเนื่องจากสถานประกอบการปิดกิจการจากผลกระทบโควิด-19 และได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบเป็นการเร่งด่วน ซึ่งจากประเด็นข่าวลูกจ้างของบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด สาขานครสวรรค์ จำนวน 733 ราย ถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563 โดยนายจ้างประกาศเลิกจ้างเนื่องจากลูกจ้างกระทำความผิด

ส่งผลให้ลูกจ้างกลุ่มนี้ไม่ได้รับเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขการจ่ายเงินตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการของศาลกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการหารือประเด็นดังกล่าวกับคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานที่มีสาเหตุการลาออกจากงานของผู้ประกันตนกับนายจ้างไม่ตรงกัน และเรื่องอยู่กระบวนการของศาล

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า เพื่อมิให้เกิดความล่าช้าในการจ่ายประโยชน์ทดแทนแก่ผู้ประกันตน โดยการออกประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน พ.ศ. 2564 จัดทำระเบียบสำนักงานประกันสังคมว่าด้วยการขอรับประโยชน์ทดแทน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 และจัดทำแนวปฏิบัติการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานกรณีการแจ้งสาเหตุการออกจากงานของผู้ประกันตนกับนายจ้างไม่ตรงกัน จากการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม สามารถวินิจฉัยจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานให้กับลูกจ้างบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด สาขานครสวรรค์ จำนวน 733 ราย จะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 30,785,973.65 บาท (สามสิบล้านเจ็ดแสนแปดหมื่นห้าพันเก้าร้อยเจ็ดสิบสามบาทหกสิบห้าสตางค์)

สำหรับในวันนี้มีผู้แทนลูกจ้าง จำนวน 5 รายที่เข้ารับเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนฯ ได้แก่ 1) นางระพีพร วันสืบเชื้อ จำนวน 70,000 บาท 2) นางสาวน้ำฝน จันทวิ จำนวน 67,520 บาท 3) นางวรรณิภา พุ่มโพ จำนวน 66,590 บาท 4) นางสาวนฤมล ทาหาวงศ์ จำนวน 67,630 บาท และ 5) นางสาวนิลวรรณ ภูมี จำนวน 44,450 บาท ซึ่งจะได้รับเงินดังกล่าวผ่านบัญชีธนาคารในวันนี้ (28 ม.ค. 2564) นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ลูกจ้างของบริษัทอื่นๆ ทั่วประเทศอีกกว่า 15,000 ราย ที่จะได้รับสิทธิดังกล่าวตามมา วงเงินที่จะได้รับประมาณ 840 กว่าล้านบาทต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/1/2564

รมว.แรงงาน หนุนให้ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติมีส่วนร่วมในคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ ตามกลไกระบบทวิภาคี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความพยายามพัฒนากลไกการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครอง ดูแลสิทธิของแรงงานต่างด้าวให้มีความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติสอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยสนับสนุนให้เข้าไปมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็น ร่วมปรึกษาหารือกับนายจ้างในการจัดสวัสดิการภายในสถานประกอบกิจการให้แก่ลูกจ้างตามสัญชาติได้อย่างเหมาะสมในแต่ละประเภทกิจการ ตรงตามความต้องการของลูกจ้างเอง มิใช่นายจ้างจัดการเพียงฝ่ายเดียว

นอกจากนี้ การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ด้วยระบบทวิภาคี เพื่อยุติปัญหาข้อเรียกร้อง ข้อพิพาทแรงงานได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ได้มอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เร่งเข้าไปดำเนินการส่งเสริมสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างต่างด้าวทำงาน สนับสนุนให้มีตัวแทนของลูกจ้างต่างด้าวเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ เพื่อดูแลสิทธิประโยชน์อันพึงได้ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ลูกจ้างกลุ่มนี้จะได้มีตัวแทนประสานงานช่วยเหลือนายจ้างในการดูแลลูกจ้างต่างด้าวด้วยกันเองได้

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวในกรณีเดียวกันว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 96 ได้กำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คน ขึ้นไป ต้องจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายเดียวที่มาจากการเลือกตั้งอย่างน้อย 5 คน หากสถานประกอบกิจการที่มีคณะกรรมการลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการแรงงานสัมพันธ์แล้ว ให้คณะกรรมการลูกจ้างนั้นทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการได้ ซึ่งกรมได้เน้นย้ำไปยังหน่วยปฏิบัติทั่วประเทศให้เข้าไปส่งเสริมสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างต่างด้าว ได้สนับสนุนให้มีตัวแทนลูกจ้างต่างด้าวเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการ สภาพการจ้าง การทำงานที่เหมาะสมครอบคลุมลูกจ้างทุกประเภทอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกจ้างในสถานประกอบกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 27/1/2564

ครม.ไฟเขียว ผู้ประกันตน ม.33 ส่งเงินสมทบประกันสังคม 75 บาท 2 เดือน

26 ม.ค. 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตรา 33

ตามที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอ ลดส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในส่วนของลูกจ้างจากร้อยละ 3 หรือ ส่งเงินสมทบสูงสุด 450 บาท ลดลงเหลือร้อยละ 0.5 หรือ ส่งเงินสมทบสูงสุด 75 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน (กุมภาพันธ์-มีนาคม) สำหรับในส่วนของนายจ้าง ยังคงส่งเงินสมทบร้อยละ 3 หรือ ส่งเงินสมทบสูงสุด 450 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม)

ทั้งนี้ เป็นการลดอัตราส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพิ่มเติมจากมติครม. เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ซึ่งปรับลดส่งเงินสมทบทั้งสองขา คือ ขาลูกจ้างและขานายจ้าง จากร้อยละ 5 หรือ ส่งเงินสมทบสูงสุด 750 บาท ลดลงเหลือร้อยละ 3 หรือ ส่งเงินสมทบสูงสุด 450 บาท

สำหรับผู้ประกันกันตนตามมาตรา 39 ลดลงเหลือ 38 บาทต่อเดือน จากเดิมต้องส่งเงินสมทบ 432 บาทต่อเดือน จะทำให้นายจ้าง จำนวน 4.86 แสนราย รวมถึงผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.64 ล้านราย ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.83 ล้านราย ลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในเดือนมกราคม -มีนาคม 2564 รวม 23,119 ล้านบาท

ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของผู้ประกันตนยังยังคงเท่าเดิม

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 26/1/2564

สทท.คาดแรงงานท่องเที่ยวเสี่ยงตกงานเพิ่ม 2 ล้านคน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยผลการศึกษาดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยประจำไตรมาส 4 ปี 2563 ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ 62 และใกล้เคียงกับไตรมาส 3 โดยคาดว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 6.69 ล้านคน ลดลงร้อยละ 83.22 มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 3 แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ 80.58

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เท่ากับ 53 ต่ำกว่าระดับปกติ เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นและคาดว่าใช้เวลาเกือบ 2 เดือน จึงจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ระบุว่า การระบาดของ COVID-19 กระทบแรงงานในระบบภาคท่องเที่ยวกว่า 4 ล้านคน และการระบาดรอบใหม่อาจทำให้มีแรงงานในภาคท่องเที่ยวต้องตกงานมากกว่า 2 ล้านคน จากปี 2563 ที่มีแรงงานตกงานแล้ว 1.04 ล้านคน

“ถือว่าน่ากังวลมาก เพราะหากเทียบเพียงไตรมาส 3 ไตรมาสเดียวมีแรงงานตกงาน 502,000 คน เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว”

นายชำนาญ ยังระบุอีกว่า เนื่องจากไตรมาส 4 ของปีก่อน มีกิจการภาคท่องเที่ยวต้องปิดกิจการลงชั่วคราวร้อยละ 10 และปิดกิจการถาวรประมาณร้อยละ 3 ซึ่งสถานประกอบการร้อยละ 85 ที่ยังเปิดกิจการ ก็ยังประสบปัญหาลูกค้าลดลง ร้อยละ 50 ทำให้ต้องลดพนักงานลงประมาณร้อยละ 30 - 40 ของพนักงานที่เคยจ้าง กระทบต่อรายได้พนักงานลดลงประมาณร้อยละ 20 - 30 ของรายได้ที่เคยรับ เนื่องจากมีการหักเงินเดือนและลดระยะเวลาในการทำงาน

ขณะที่ นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธาน สทท. เสนอว่า มาตรการเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ เพื่อประคองธุรกิจของผู้ประกอบการ คือ การปรับมาตรฐานเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ และคงมาตรการที่รัฐช่วยจ่ายค่าจ้างสำหรับผู้ประกอบการในระบบประกันสังคมที่ยังสร้างงานอยู่เป็นเวลา 1 ปี เพราะคาดการณ์ว่า กว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเข้าสู่ภาวะการได้ในเวลาอีก 2 ปี

ทั้งนี้ นายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ รองประธาน สทท.เปิดเผยว่า หากไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 รอบใหม่ได้แล้ว ควรต้องเร่งกระตุ้นไทยเที่ยวไทย เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกันที่ครอบคลุมสินค้าและการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ กระตุ้นการเดินทางและจัดประชุมสัมมนาของภาครัฐ ท้องถิ่นและเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวพรีเมี่ยมชั้นสร้างสรรค์ โดยต้องเริ่มทำแผนกระตุ้นท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วงนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความพร้อมและพัฒนาสินค้าทางการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะต่อไป

ที่มา: Thai PBS, 26/1/2564

พนง.โรงแรมตรังถูกเลิกจ้าง ร้องเรียนยังไม่ได้รับเงินชดเชยตามกำหนด

25 ม.ค. 2564 อดีตพนักงานลูกจ้างโรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง กว่า 19 คน เดินทางมาที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ตรัง โดยบางรายหอบลูกน้อยมาด้วย เพื่อร้องเรียนและเรียกร้องขอความเป็นธรรมหลังโรงแรม เลิกจ้างพนักงานในกลุ่มแรกไปกว่า 19 ชีวิต โดยให้เหตุผลตามหนังสือการเลิกจ้างว่า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีความจำเป็นต้องลดต้นทุนค่าใช้จ่าย จึงจำเป็นพิจารณาเลิกจ้างพนักงานในโครงการการลดต้นทุนโดยปฎิบัติตามระเบียบข้อบังคับบริษัทฯ เรื่องการเลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานในการชดเชยให้ต่อไป

ทางบริษัท ได้มีการพูดคุยว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้เป็นงวดตามอายุงานของพนักงานแต่ละราย ซึ่งอายุงานมากสุดในครั้งนี้คือ 27 ปี และอายุงานน้อยสุดคือ 1 ปี ซึ่งจะจ่ายให้ระยะยาวประมาณ 3 ปี เฉลี่ยตกอยู่เดือนละ 2,000 บาท ซึ่งทางพนักงานบางส่วนไม่เห็นด้วยและรับไม่ได้กับข้อเสนอดังกล่าว จึงพูดคุยกับทางบริษัท แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และคล้ายจะยื้อเวลา พร้อมกันนั้นยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชย

จึงเดินทางมาทำการร้องเรียนขอความเป็นธรรมตามกระบวนการกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยในวันนี้มี น.ส.ชฎาณัฎฐ์ สุขสวัสดิ์ นิติกรปฎิบัติการเป็นผู้รับเรื่อง พร้อมทั้งให้กลุ่มลูกจ้างเขียนหนังสือยื่นคำร้อง

นายเมธี (สงวนนามสกุล) อายุ 53 ปี ตำแหน่งผู้จัดการภาคกลางคืน หนึ่งในผู้เดือดร้อน กล่าวว่า ที่เดินทางมาในวันนี้เป็นกลุ่มแรกที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งถูกเลิกจ้างมาตั้งแต่โควิดระบาดรอบแรก เดือนเมษายน 2563 ทำให้พวกตนได้รับสิทธิกินเบี้ยชดเชยของประกันสังคมอยู่ จนครบ 6 เดือน แล้วทางบริษัทจะเรียกตัวเข้าทำงานใหม่ แต่ปรากฏว่าเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา กลับมีหนังสือจากทางบริษัทมาพร้อมสัญญาเลิกจ้าง

โดยทางบริษัทแจ้งว่าจะชดเชยให้ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ตามอายุงาน ซึ่งตนมีอายุงานมากที่สุดที่อยู่ในกลุ่มถูกเลิกจ้างครั้งนี้คือ 27 ปี ขณะนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบอะไรจากทางบริษัทเลย เพียงแค่พูดว่าให้รอไปก่อน แต่รอไม่ไหวเพราะต้องกินต้องใช้ในทุกวัน เพราะไม่ได้ทำงานมาตั้งแต่เดือนเมษายน เงินก็ไม่มีจะใช้ ก็อยากให้นายจ้างเขามาพูดคุยและจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด

ด้าน น.ส.จารุวรรณ(สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี ตำแหน่งผู้ช่วยกุ๊ก หนึ่งในผู้เดือดร้อน กล่าวว่า อายุงานของตน 14 ปี 6 เดือน หลังจากถูกเลิกจ้างก็ได้กลับไปอยู่บ้าน ที่ผ่านมาก็ได้เดินทางมาพูดคุยกับทางบริษัทหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เงียบหาย ก็เลยรวมตัวกันมาในวันนี้ เพราะเรามีภาระค่าใช้จ่ายของตนเอง ลูกชายวัย 1 ขวบ และครอบครัวอีก ตกอยู่เดือนละ 15,000 บาท

ขณะนี้เงินที่ใช้จ่ายอยู่ก็มีเงินเก็บสะสมกับประกันสังคมที่ได้รับ แต่ก็เริ่มร่อยหรอไปทุกวัน แต่ถ้าได้เงินก้อนซึ่งเป็นเงินค่าชดเชยมา ก็สามารถที่จะนำไปขยายเพื่อหาช่องทางทำกินได้อีก มาถึงวันนี้ก็อยากจะให้นายจ้างจ่ายเงินให้ตามกำหนด อย่าทำเป็นระบบผ่อนจ่ายเลยเพราะเราก็มีภาระต้องจ่ายเยอะมาก ที่สำคัญคือลูกน้อย ซึ่งมีการต่อรองแล้วแต่ทางบริษัทก็เงียบ ก็เลยมาใช้สิทธิตรงนี้ ตนก็เข้าใจทางบริษัทว่าประสบปัญหาความเดือดร้อน แต่เราก็ให้โอกาสมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งการที่มาในวันนี้ก็มีความหวังกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ว่าสามารถจะช่วยได้

ขณะที่ นายสุรสิงห์ จุนณศักดิ์ศรี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ตรัง กล่าวว่า หลังจากนี้ก็จะทำการเชิญนายจ้างมาพูดคุยเพื่อหาทางออกทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าพูดคุยกับแล้วไม่สามารถหาทางออกได้ ทางเราก็จะรับคำร้องตามที่กลุ่มลูกจ้างมายื่นในวันนี้ และเดินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยการวินิจฉัยออกคำสั่ง โดยตามกรอบรับคำร้องวินิจฉัยระยะเวลาอยู่ที่ 60 วัน ขยายไปได้อีก 30 วัน แต่จะเร่งวินิจฉัยให้ได้ภายใน 30 วัน เพื่อให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด

โดยจะพยายามให้ลูกจ้างอยู่ได้ นายจ้างอยู่ได้ เพราะในขณะนี้ทุกฝ่ายจะต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน ซึ่งในส่วนของ จ.ตรัง โควิดรอบแรกที่ผ่านมามีลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนมาแล้ว 2-3 บริษัท เดือดร้อนกว่า 20-30 ชีวิต โดยส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทเกี่ยวกับการเดินทาง โรงแรม และการท่องเที่ยว และมองว่าแนวโน้มจะหนักขึ้นหากโควิด 19 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: บ้านเมือง, 25/1/2564

แรงงานเมียนมากว่า 400 คน ลุกฮือประท้วงขอกลับบ้าน

25 ม.ค. 2564 ที่อาคารกักตัวแรงงานชาวเมียนมาที่ทำผิดกฎหมาย เพื่อรอการส่งกลับประเทศประเทศซึ่งเป็นอาคารสูง 5 ชั้น ได้เกิดเหตุชาวเมียนมาจำนวน 402 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 365 คน ผู้หญิง 37 คน รวมตัวกันทุกชั้นพร้อมกับชูป้ายข้อความว่า อยากกลับบ้าน ไม่อยากถูกคุมขัง โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง ทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งกำลังเข้าพื้นที่ เตรียมพร้อมหากเกิดเหตุฉุกเฉินจำนวนหลายร้อยนาย

จากนั้นนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ได้เดินทางมาที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองระนอง ประชุมร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนทราบสาเหตุว่า แรงงานเมียนมาถูกส่งมาจากหลายพื้นที่นำมากักตัวที่ระนอง เพื่อรอการส่งกลับประเทศ โดยพบว่าหลายคนอยู่นานกว่า 5 เดือนแล้วทั้งที่คดีจบแล้ว ที่ผ่านมาไทยพยายามประสานทางการเมียนมาในการส่งกลับ โดยมีผู้ช่วยทูตเมียนมาประจำประเทศไทยได้เข้ามาพูดคุยกับกลุ่มแรงงาน 2-3 ครั้ง พร้อมรับปากว่าจะรีบดำเนินการ แต่ยังติดปัญหาโควิด-19 ที่ยังการปิดชายแดนทั้ง 2 ประเทศ

เบื้องต้นหลังจาการหารือ มีการเตรียม 2 แนวทางแก้ไข คือ

1. ประสานสถานทูตเมียนมาเพื่อเข้ามาเจรจารับทราบปัญหา ซึ่งในข้อนี้ได้ทำการประสานแล้ว ทางสถานทูตได้ส่งผู้ช่วยทูตจากจังหวัดสุราษฎร์เพื่อทำการเจรจา ซึ่งทุกฝ่ายกำลังรอการเดินทางมา

2. หากยังหาทางออกไม่ได้ คงต้องมีการเสนอไปยังทางผู้บังคับบัญชาส่วนกลางว่าจะประสานให้กลุ่มแรงงานเข้าสู่ระบบทำงานทำบัตรใหม่ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องหรือไม่

ล่าสุดได้พูดคุยกับตัวแทนแรงงานที่ถูกคุมขังแล้ว ทำให้กลุ่มแรงงงานเข้าใจ เหตุการณ์จึงกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยไม่มีเหตุวุ่นวายหรือเหตุรุนแรง

ที่มา: TNN, 25/1/2564

ผู้ประกอบการธุรกิจ จ.มหาสารคาม ชี้ต้องการจ้าง ปวส.-ปวช.มากกว่าวุฒิ ป.ตรี

25 ม.ค. 2564 นายเดช ผุยคำสิงห์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานจัดหางาน จ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า โครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ตามนโยบายของรัฐบาลได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการในพื้นที่ จ.มหาสารคามเป็นอย่างดี มีตัวแทนบริษัทมาตั้งโต๊ะรับสมัครงานโดยตรง และสามารถทราบผลได้ทันที

ซึ่งจังหวัดมหาสารคามได้โควตารับพนักงานจำนวน 2,160 ตำแหน่ง และมีนักศึกษาจบใหม่ที่มาลงทะเบียนทำงานโครงการ 739 ตำแหน่ง เป็นปริญญาตรี 640 คน ปวส. 54 คน ปวช. 14 คน ม.6 31 คน แต่นายจ้างมีตำแหน่งงานว่างไม่มากนัก

จากข้อมูล ณ วันที่ 11 มกราคม 2564 ในจังหวัดมหาสารคามมีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ 21 แห่ง มีตำแหน่งงานว่างจำนวน 226 อัตรา แยกเป็นวุฒิ ม.6 จำนวน 79 อัตรา ปวช.จำนวน 57 อัตรา ปวส.จำนวน 37 อัตรา และปริญญาตรีจำนวน 53 อัตรา แต่ระดับปริญญาตรีมีผู้จบการศึกษามาลงทะเบียน 640 คน ได้ทำงาน 23 คน เพราะอาจจบการศึกษาไม่ตรงกับที่ผู้ประกอบการต้องการ

โดยผู้ประกอบการมีตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการวุฒิการศึกษาสูงมากนัก เพราะสถานประกอบการส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี ไม่ค่อยมีตำแหน่งที่ต้องใช้พนักงานที่มีการศึกษาสูง อีกทั้งนักศึกษาจบใหม่จากสถาบันการศึกษาในจังหวัดมหาสารคาม มักจะเป็นคนนอกพื้นที่

เมื่อจบการศึกษาแล้วก็เดินทางกลับภูมิลำเนา จึงทำให้ตัวเลขผู้สมัครงานโครงการนี้มีน้อย ทั้งนี้ โครงการจ้างงานเด็กจบใหม่นั้น กระทรวงแรงงานต้องการส่งเสริมการจ้างงานคนรุ่นใหม่ และผู้ไม่เคยเข้าสู่ตลาดแรงงานให้มีงานทำตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

โดยภาครัฐและเอกชน (copayment) ซึ่งนายจ้างเจ้าของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะจ่ายเงินค่าจ้างเงินเดือนร้อยละ 50 ตามระดับการศึกษาให้กับลูกจ้าง เช่น วุฒิ ปวส.เงินเดือนเริ่มต้น 12,000 บาท วุฒิปริญญาตรีเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท และกรมการจัดหางาน จะโอนเงินค่าจ้างร้อยละ 50 เข้าบัญชีให้กับลูกจ้างโดยตรง

ด้านนายสมพงษ์ พวงเวียง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โสมภาส เอ็นจิเนียริ่ง (2005) จำกัด เปิดเผยกรณีนี้ว่า ความต้องการแรงงานในสถานประกอบการของมหาสารคาม มีความต้องการแรงงานที่จบการศึกษาสูง หรือมีการศึกษาระดับปริญญาตรีน้อยมาก

เพราะส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ตำแหน่งระดับหัวหน้างานจึงมีไม่มาก อย่างโรงงานของตนผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ก็ต้องการแรงงานระดับปฏิบัติการ จบม.6 ปวช. หรือ ปวส.เท่านั้น ส่วนระดับหัวหน้างานหรือฝ่ายบัญชีก็เต็มหมดแล้ว

นายณรงค์ เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้าจังหวัดมหาสารคาม ให้ความเห็นกรณีเดียวกันนี้ว่า การจ้างงานของภาครัฐคือเปิดรับตามวุฒิที่ต้องการ แต่ของภาคเอกชนจะจ้างตามตำแหน่งงาน

แต่ก็นำวุฒิการศึกษามาพิจารณาประกอบเช่นกัน บางตำแหน่งอาจจ้างไม่ถึงวุฒิปริญญาตรีก็ได้ แต่จะดูความสามารถและผลงานเป็นหลัก สำหรับโครงการดังกล่าวมองว่าน่าจะเปิดกว้างไม่จำกัดคนจบใหม่ หรือคนจบมานานแล้วด้วยหากเป็นอย่างนั้นน่าจะตอบโจทย์ได้มากกว่า อีกทั้งในสถานการณ์เช่นนี้ โอกาสที่สถานประกอบการในมหาสารคามจะรับพนักงานเพิ่มคงน้อย เพราะธุรกิจต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กันถ้วนหน้า

ที่มา: ข่าวสด, 25/1/2564

มีผลแล้วเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร ให้ 800 บาท 'แรงงาน' ชี้เงื่อนไขกำหนดรับเงิน

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวง การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ออกโดยนาย สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา75 แห่งพระราชบัญญัติ ประกันสังคม พ.ศ. 2533 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 4 แห่งกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณี สงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 4 ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรให้เหมาจ่ายเป็นเงินในอัตรา 800 บาท ต่อเดือนต่อบุตรหนึ่งคน ” ให้ไว้ ณ วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564

ขณะที่นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยว่า การปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรให้กับบุตรของผู้ประกันตน ที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี ให้มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มจากเดิมเดือนละ 600 บาท เป็นเดือนละ 800 บาทต่อคน โดยจ่ายคราวละไม่เกิน 3 คน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ประกาศกฎกระทรวง การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2564 ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตน และภาคแรงงาน ให้สามารถเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาประเทศชาติ

สำหรับการปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจากเดิม 600 บาท เป็น 800 บาท ในครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินในส่วน ที่ปรับเพิ่มขึ้นของงวดเดือน มกราคม 2564 ในวันที่ 30 เมษายน 2564 เนื่องจากระบบตัดจ่ายเงินกรณีสงเคราะห์บุตรของสำนักงานประกันสังคมที่กำหนดให้ การตัดจ่ายเงินย้อนหลัง 3 เดือน เพื่อปรับฐานข้อมูลผู้ประกันตนให้ถูกต้องก่อน การตัดจ่าย ผู้ประกันตนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง จังหวัด สาขา หรือโทร.1506 เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

ที่มา: PPTV, 24/1/2564

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net