Skip to main content
sharethis

กรณีจลาจลที่ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ "นิวส์วีค" รายงานว่ามีบางหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ประเมินความเป็นไปได้ในเรื่องนี้เอาไว้แล้ว แต่ก็มีความเห็นไม่ลงรอยกันระหว่างหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ในสหรัฐฯ ทำให้ไม่มีการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อีกทั้งฝ่ายความมั่นคงบางส่วนยังเอื้อให้เกิดการจลาจลของกลุ่มสนับสนุนทรัมป์ด้วย

ผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามบุกเข้าไปที่ทำการสภาคองเกรส ที่วอชิงตัน ดีซี 
ขัดขวางการลงมติสนับสนุนโจ ไบเดนเป็นประธานาธิบดี เมื่อ 6 มกราคม ค.ศ. 2021
ที่มา:
Wikipedia/Tyler Merbler

8 ม.ค. 2564 สื่อนิวส์วีครายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์เอ่ยนามจากหน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วยงานของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอ, หน่วยสืบราชการลับ, กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ, กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ, กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ, รัฐบาลประจำกรุงวอชิงตัน โดยส่วนหนึ่งของแหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงแหล่านี้กล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์กลุ่มฝูงชนพยายามยึดรัฐสภาและทำให้ระบบล่ม

เรื่องดังกล่าวนี้มาจากการประเมินของคนของหน่วยงานความมั่นคงหลายสิบคนที่มองว่าเหตุจลาจลในครั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น พฤติกรรมของโดนัลด์ ทรัมป์, การขาดความเป็นผู้นำของรัฐบาลกลางและสภาคองเกรสปัจจุบัน, การแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างหนัก และเพราะทุกคนกำลังมองไปในทางที่ผิด

มีการโทษกันไปมาระหว่างหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่เอฟบีไอไม่เชื่อถือกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิโดยกล่าวหาว่าพวกเขาเป็นพวก "มือสมัครเล่นและอันธพาล" ขณะที่องค์กรสายทหารและความมั่นคงเองก็ดูถูกฝ่ายบริหารวอชิงตันดีซี, อัยการ และตำรวจ ปัดความรับผิดชอบว่าความเป็นไปได้นี้ดูเหมืนเป็นปัญหาของคนอื่น ทำให้นิวส์วีตระบุว่าเห็นได้ชัดเจนว่าหน่วยงานบังคับกฎหมายและความมั่นคงเหล่านี้ไม่เตรียมพร้อมดีพอและ "มีความลำเอียง" ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นหน่วยงานที่รักษาความสงบในสังคม

นิวส์วีควิเคราะห์ว่าโครงสร้างบทบาทของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ เหล่านี้ที่ตั้งขึ้นมาหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 ทำให้สหรัฐฯ อ่อนแรงลงเพราะปล่อยให้ทรัมป์ปลุกปั่นให้เกิดการจลาจล มีแหล่งข่าวจากเอฟบีไอเปิดเผยว่าทำเนียบขาวไม่ได้วางมาตรการความปลอดภัยหรือใช้ทรัพยากรเพิ่มเติมใดๆ เลยในช่วงที่ใกล้จะมีการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ (ช่วงระหว่างวันที่ 15-21 ม.ค. 2564)

อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวส่วนหนึ่งบอกว่าสาเหตุที่หน่วยงานความมั่นคงไม่ค่อยขยับอะไรมากในเรื่องการรักษาความปลอดภัยเพราะเหล่าผู้ช่วยของทรัมป์กลัวว่าถ้าหากมีการขยับจะกระตุ้นให้โดนัลด์ ทรัมป์ ทำอะไรเลวร้ายยิ่งกว่าที่เขาวางแผนไว้

ขณะเดียวกันแหล่งข่าวอีกหลายคนก็เปิดเผยว่ากองกำลังตำรวจประจำอาคารรัฐสภาที่มีอยู่มากกว่า 2,000 นาย อาจจะปล่อยให้มีการประท้วงต่อไปเพราะผู้นำรัฐสภาคือพรรครีพับลิกันต้องการให้ม็อบเป็นตัวช่วยขยายเสียงความชอบธรรมในข้ออ้างที่ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ผิดกฎหมายซึ่งเป็นข้ออ้างที่มีความชอบธรรมน้อยลงเรื่อยๆ

ถึงแม้จะไม่มีอะไรยืนยันคำกล่าวอ้างนี้แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มม็อบใช้เวลาเพียงแค่ไม่ถึง 15 นาทีเท่านั้นในการเข้าไปในตัวอาคารรัฐสภาได้ราวกับไม่มีอะไรคอยขัดขวาง

มีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งว่ากองกำลังความมั่นคงแห่งมาตุภูมิที่เคยใช้กำลังปราบปรามการประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคมในพอร์ตแลนด์และเมืองอื่นๆ ไม่ได้วางกำลังเพื่อคุ้มกันอาคารรัฐสภาในเมืองหลวงด้วยซ้ำ ขณะที่เอฟบีไอคอยจับตามองการเคลื่อนขบวนเข้าเมืองหลวงของผู้ชุมนุมและเป็นหน่วยงานที่มักจะประเมินขนาดผู้ชุมนุม แกนนำ และระดับความอันตรายได้ถูกแต่พวกเขากลับไม่ได้เอาข้อมูลข่าววิเคราะห์เกี่ยวกับทรัมป์และผู้สนับสนุนโพสต์ตามโซเชียลมีเดียมาเป็นข้อมูลประกอบการประเมินสิ่งเหล่านี้ด้วย

ในส่วนของกองกำลังรัฐบาลประจำกรุงวอชิงตันนั้นก็ไม่ได้มีการติดอาวุธและเน้นมาคอยดูแลจัดการเรื่องการควบคุมการจราจรเพื่อช่วยเสริมหน้าที่ของตำรวจมากกว่า

อีกหน่วยงานหนึ่งคือเพนทากอน หรือกระทรวงกลาโหมก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นหน่วยงานเดียวที่เหลืออยู่ในสหรัฐฯ ที่มีความเป็นกลาง ถึงแม้ว่าก่อนห้นานี้ มาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมของกองทัพสหรัฐฯ เคยถูกนำเสนอผ่านสื่อในเรื่องที่เดินร่วมกับโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้สื่อมองว่าทรัมป์กับผู้นำระดับสูงของกองทัพรัฐมีความใกล้ชิดกับทรัมป์ แต่ต่อมามิลลีย์ก็แถลงขอโทษที่ตัวเอง "ขาดความตระหนักถึงสถานการณ์" และหลังจากนั้นก็มีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมเพนทากอนให้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองใดๆ ทำตัวเองให้กลายเป็นสถาบันที่มีเกียรติและปฏิบัติตามหน้าที่

แต่สุดท้ายแล้วนิวส์วีคก็ระบุว่าการที่รัฐบาลฝากความหวัง ความเชื่อใจ ไว้กับกองทัพตัวเองได้อย่างเดียวนั้นเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของโครงสร้างทางการเมือง จึงเสนอว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ควรคืนให้หลักนิติธรรมกลับมาและทำให้เกิดความรับผิดชอบในการปกป้องประชาธิปไตยของประเทศ อย่าทำให้กลายเป็นว่า "คำตอบเดียวอยู่ที่กองทัพ" เพราะนั่นจะทำให้สถาบันพลเรือนอ่อนแอลง และสถาบันของพลเรือนเป็นสิ่งสำคัญที่ชาติต้องพึ่งพา

เรียบเรียงจาก

FBI, Homeland Security, White House Advisers Foresaw Possible Riots, Looked the Other Way, News Week, 06-01-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net