Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เอกสารนี้จัดทำขึ้นเพื่อประมวลสถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในรอบ ปี 2563 เก็บรวบรวมข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ และการจดบันทึกจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบาย และมาตรการของรัฐ รวมทั้งการทำหน้าที่ทางวิชาการรวบรวมข้อมูลตลอดปี 2563 มาวิเคราะห์ภายใต้กรอบแนวคิดทางสังคมวิทยาเพื่อสะท้อนภาพของสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และสิ่งที่สังคมไทยจะต้องเผชิญในอนาคตปี 2564 ข้อมูลที่ถูกเลือกนำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลที่อยู่ในความสนใจของประชาชนในวงกว้าง มีการแสดงความเห็น การติดตามและการผลิตซ้ำความเห็นต่อเนื่อง และในหลายกรณีนำไปสู่กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 

กล่าวนำ

สถานการณ์ทางสังคมไทยในปัจจุบัน มีลักษณะสำคัญคือการปะทะกันของคลื่นความคิดซึ่งแตกต่างกันระหว่างคนต่างรุ่น ผู้มีประสบการณ์ผ่านเหตุการณ์และมีสถานภาพทางสังคมแตกต่างกัน first time voter ของการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มีผู้ที่เกิดระหว่างปี 2537-2544 ซึ่งยังไม่มีโอกาสเลือกตั้งเลยนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา และได้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก มีจำนวนกว่า 7.3 ล้านคน ปัจจุบันคนกลุ่มนี้อายุระหว่าง 19-26 ปี ซึ่งเป็นคนวัยหนุ่มสาว ขณะที่กลุ่มการเคลื่อนไหวในสังคมที่ปรากฏขึ้นอีกกลุ่มคือกลุ่มนักเรียนที่ในมัธยมศึกษาระหว่าง 15-18 คนในวัยนี้มีอยู่จำนวน 3.1 ล้านคน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2562) ได้ออกมารวมกลุ่มกันเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษา ทั้งในด้านสิทธิ เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ความปลอดภัยในโรงเรียน ตลอดจนหลักสูตรที่สอนอยู่ในโรงเรียนที่การปะทะกันของคลื่นความคิดนี้ เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่สังคมไทยกำลังมีการเปลี่ยนผ่านอย่างสำคัญในด้านการเมือง การปกครอง ซึ่งส่งผลต่อความต้องการที่จะปฏิรูปสังคมไทย 


ม็อบคณะราษฎร 2563

ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ได้รับเลือกจากรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมไปกับกลไกของรัฐธรรมนูญเริ่มทำงาน ซึ่งได้นำไปสู่ปัญหาสำคัญ 3 ประการ

1) ไม่ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ การกล่าวคำปฏิญาณโดยนายกรัฐมนตรีกล่าวนำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณโดยตัดถ้อยคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ขณะเดียวกันยังได้นำบุคคลผู้มีประวัติพัวพันกับคดียาเสพติดเข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลด้วย 

2) ใช้กลไกรัฐธรรมนูญและกลไกรัฐขจัดฝ่ายตรงข้าม ยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค 10 ปี กกต. ยื่นดำเนินคดีกับหัวหน้าพรรคกรณีถือหุ้นสื่อซึ่งขัดกับคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ภายหลังจากยุบพรรคอนาคตใหม่ กรรมการบริหารพรรคได้ร่วมกันจัดตั้งเป็น คณะก้าวหน้าก็ยังถูกแจ้งข้อหากับแกนนำฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน เข้าร่วมชุมนุมกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน และจัดการชุมนุโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง

3) เปลี่ยนโครงสร้างสังคมสู่ กษัตริย์นิยมใหม่แบบไทย (Thai Neo-Monarchy Systems) โดยการออกกฏหมายการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้เป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งหมายถึงทั้งทรัพย์สินในพระองค์และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ การดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย (ราชกิจจานุเบกษา 2561 : 1-5) นอกจากนั้นยังได้มีการโอน อัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์ และให้หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์มีการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ (ราชกิจจานุเบกษา 2562 : 1-3 ; 2560 : 1-8) นอกจากนั้นพื้นที่ซึ่งเคยเป็นพื้นที่สาธารณะเช่น ที่สนามหลวงยังถูกล้อมรั้วและนำป้าย “สำนักพระราชวัง” ไปปิดห้ามมิให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์

ระบบใหม่นี้จึงมีการทับซ้อนกันระหว่างส่วนตัวและสาธารณะที่แยกกันไม่ออกทั้งในส่วนของกำลังพล งบประมาณ ตลอดจนรัฐบาลผู้บริหารประเทศ

การหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองวัย 35 ปี จากบริเวณหน้าที่พักในเมืองหลวงของกัมพูชาเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. และกลุ่มบุคคลผู้ถูกบังคับให้สูญหายก่อนหน้า สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ข้อเรียกร้องสำคัญให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยมีข้อเสนอ 10 ข้อ โดยกลุ่มนักศึกษาแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในเย็นวันที่ 10 ส.ค. โดย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้อ่าน "ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1" ซึ่งระบุข้อเรียกร้อง 10 ข้อให้มีการแก้ปัญหาว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ และจากบบทบาทการเป็นนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางสังคมของเธอ บีบีซี ประกาศให้เธอเป็น 1 ใน 100 ผู้หญิงผู้สร้างแรงบันดาลใจและทรงอิทธิพลของบีบีซีประจำปี 2020 

กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมเติบโตขึ้นเมื่อ กลุ่มนักศึกษาและประชาชนกว่า 30 องค์กร ซึ่งรวมถึงกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มเยาวชนปลดแอกประกาศรวมตัวกันในวันที่ 8 ตุลาคม 2563 ใช้ชื่อว่า "คณะราษฎร" เรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง 3 ได้แก่ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลาออก 2. ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

แม้ข้อเรียกร้องจะมีด้วยกัน 3 ข้อ แต่จะเห็นได้ว่าข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ คือขั้นบันไดไปสู่ข้อเรียกร้องข้อสุดท้าย ทั้งการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งของกลุ่มคณะราษฎรที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการวางหมุดคณะราษฎรที่ท้องสนามหลวงก่อนจะไปยื่นถวายฎีกาผ่านองค์มนตรี การยื่นหนังสือหน้าสถานฑูตสาธารณรัฐเยอรมัน นัดรวมตัวกันที่สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ และการชุมนุมที่กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์  ซึ่งกิจกรรมแต่ละครั้งมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก ยิ่งการเคลื่อนไหวเป็นเรื่องของสถาบันกลับไม่ได้ทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมมีจำนวนลดลงดังที่สังคมหวาดกลัว ตรงกันข้ามการชุมนุมแต่ละครั้งมีคนจำนวนมากเข้าร่วมและนำไปสู่ข้อมูลข่าวสาร การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ การนำข้อมูลทางวิชการ งานวิจัย มาเผยแพร่และวิเคราะห์ วิพากษ์กันอย่างกว้างขวาง จนเรื่องของสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องในชีวิตประจำวันของประชาชนคนไทย 


สังคมไทย สังคมทหาร

ทหารมีความใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์มากกว่าองค์กรใดในสังคม ดังคำพูดของพลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ว่า

“พระมหากษัตริย์คือผู้นำจอมทัพไทย และก็รบรา ป้องกันอริราชศัตรู สร้างอาณาเขต สร้างความมั่นคงให้แผ่นดินนี้ จนพวกเรามานั่งอยู่ตรงนี้ เรามีสิทธิ์ มีงานทำ มีบ้านอยู่ มีความสุขอยู่บนแผ่นดิน เนื่องจากพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ในอดีตที่ได้รวมชายไทยในอดีตซึ่งต้องทำหน้าที่ทหาร รักษาแผ่นดินและความมั่นคงให้เราอยู่จนมาถึงทุกวันนี้ รวมถึงคนอื่นจากแผ่นดินอื่น ศาสนาอื่นมาอาศัยอยู่ร่วมกัน”

 

ปี 2563 จึงเป็นปีที่ทหารขยายบทบาท หน้าที่ ควบคุมทุกภาคส่วนของสังคม และถูกมองบทบาททหารแยกไม่ออกจากความเป็น “ทหารพระราชา” 

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ถมมา ใช้ปืนยิงผู้บังคับบัญชาจากนั้นหลบหนีโดยชิงอาวุธในคลังอาวุธออกมา ระหว่างทางได้กราดยิงประชาชน และเข้าหลบซ่อนตัวห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 จังหวัดนครราชสีมา เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 31 คน บาดเจ็บ 57 คน นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ความหละหลวมการควบคุมคลังอาวุธของกองทัพ และสาเหตุที่ทำให้ทหารรายดังกล่าวคุ้มคลั่งว่าเป็นเพราะถูกโกงเงิน และได้รับความไม่เป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชา สังคมเริ่มตั้งคำถามกับระบบ ระเบียบ ในค่ายทหารมากขึ้นเมื่อปรากฏว่ามีทหารเกณฑ์เสียชีวิตระหว่างการฝึกติดต่อกัน ในปี 2563 มีข่าวพลทหารเสียชีวิตในค่ายทหารรวม 6 ราย ในจำนวนนี้มี 3 รายที่มีเหตุการตายน่าสงสัย เช่น พบยาฆ่าหญ้าในกระเพาะอาหาร และฆ่าตัวตายสองราย

สังคมตั้งข้อสงสัยกับการเกณฑ์กำลังพลของกองทัพ ที่ในแต่ละปีมียอดการเกณฑ์ทหารประมาณ 1 แสนกว่านาย ซึ่งจะถูกนำไปใช้ทำงานบ้านให้นายทหารระดับสูงดังปรากฏภาพเผยแพร่ทั่วไปตามสื่อออนไลน์ 

จำนวนการทหารเกณฑ์ที่ในปี 2562 จำนวน 101,824 ขณะที่ปี 2563 ไม่เปิดเผยยอดที่ชัดเจน เมื่อเทียบกับประชากรเพศชายผู้มีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ในปี 2562 มีอยู่ 4.4 แสนคน จำนวนการเกณฑ์ทหารในแต่ละปีคิดเป็นร้อยละ 23 ที่ต้องถูกเรียกเข้าเป็นทหาร มีการประมาณการว่ากองทัพไทยมีกำลังพลรวมกัน 1 ต่อ 200 ของประชากร ขณะที่จีนมีกำลังพล 1 นาย ต่อประชากร 600 คน ขณะที่งบประมาณของกองทัพถูกนำไปใช้จัดซื้ออาวุธที่ประชาชนไม่เห็นว่ามีความจำเป็น และในหลายกรณีจัดซื้อในราคาแพง และไม่สามารถนำนำมาใช้ประโยชน์ได้ดังที่กล่าวอ้าง เดือนสิงหาคม กระทรวงกลาโหมเสนองบประมาณซื้อเรือดำน้ำจากจีนให้กองทัพเรืออีก 2 ลำ มูลค่า 22,500 ล้านบาท ทั้งที่ประเทศชาติกำลังตกอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ขณะที่สถานการณ์ความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ใช้งบประมาณในแต่ละปีจำนวนมาก ไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย การเก็บข้อมูลจากตัวแทนภาคประชาชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นและ ยืนยันว่าหากต้องการจะแก้ปัญหาจะต้องไม่ใช้การทหารนำการเมืองดังที่เป็นอยู่

ปัจจุบันสังคมไทยจึงมีลักษณะเป็นสังคมทหาร (military society) กล่าวคือ ทหารปกครองบ้านเมืองภายใต้คำสั่งของผู้บังคับบัญชาสูงสุด ดำรงตำแหน่งทั้งรัฐมนตรีในรัฐบาล สมาชิกวุฒิสภา และกรรมการในองค์กรอิสระ รวมทั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งใช้กลไกทางกฎหมายและ กอ.รมน.เข้าไปควบคุมการจัดการทรัพยากร และการเข้าไปมีส่วนในโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินในนามของผู้รักษาความสงบเรียบร้อย ใช้การฝึกวินัยแบบทหารแทรกซึมเข้าไปในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย รวมทั้งในชีวิตประจำวันของคนไทยภายใต้การฝึกอบรม “จิตอาสา” หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนปัจจุบันก็เป็นการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติฉบับกองทัพ การเรียนการสอนกลุ่มสาระสังคมศึกษายังคงเน้นหนักการสอนให้เป็นคนดี ทำหน้าที่พลเมืองในยุคสงครามเย็น วินัยแบบทหารกลายเป็นหลักนิยมในสังคม การยืนตรงเคารพเพลงชาติ การกล่าวคำปฏิญาณ คำขวัญ หลักปฏิบัติ ตลอดจนการจัดกิจกรรมวันเด็ก ล้วนหยิบยืมวิธีปฏิบัติแบบทหารมาใช้ 

เมื่อทหารประกาศตนว่ามีความใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ และถือเสมือนเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพ บทบาทและภาพลักษณ์ของกองทัพจึงมีส่วนสำคัญต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


โควิดและสลิ่มโรคไม่พึงประสงค์ในสังคมไทย 

วันที่ 6 มีนาคม ที่สนามมวยลุมพินี มีการจัดการแข่งขันชกมวยรายการใหญ่ ‘ลุมพินีแชมเปี้ยนเกียรติเพชร’ การจัดชกมวยครั้งนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นแหล่งแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาทั้งที่สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย กกท. ได้ทำหนังสือแจ้งขอความร่วมมือมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ถึง นายสนามมวยเวทีลุมพินี เพื่อให้ดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้หลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการจัดกิจกรรมเช่นการจัดการแข่งขันกีฬาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. 2563 ภายหลังกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในขณะนั้นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสนามมวยลุมพินี ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อจากสนามมวยรวมผู้สัมผัสต่อแล้ว 160 ราย กระจายอยู่ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือจากข้อมูลพบว่าผู้ติดเชื้อมีการนำเชื้อไปแพร่ให้กับเด็กและผู้สูงอายุที่บ้าน

12 มกราคม 2563 ประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายแรกเป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน อายุ 61 ปี ที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น จากนั้นพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จนได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 76/2563 ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และออกข้อปฏิบัติที่ประชาชนเรียกว่ามาตรการ ล็อคดาวน์ (lock down) ซึ่งประกอบไปด้วย ห้ามออกจากเคหสถาน 22.00-04.00 น. ให้หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ปิดร้านค้า สถานบริการที่มีความเสี่ยง จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด งดการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา เป็นต้น 

ข้อปฏิบัติดังกล่าวสร้างผลกระทบกระเทือนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชีวิตประจำวันของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานรับจ้าง และประกอบอาชีพค้าขาย หาบเร่ แผงลอย รายงานผลการสำรวจ ‘คนจนเมืองในภาวะวิกฤตโควิด-19’ และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล โดยคณะนักวิจัยโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง พบว่าคนจนเมืองมีรายได้ลดลงครึ่งหนึ่งมีจำนวนร้อยละ 31.21 ลดลงเกินกว่าครึ่งร้อยละ 60.24 มีคนจนจำนวนมากเข้าไม่ถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือจากรัฐ นอกจากนั้นอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นจนเข้าใกล้อัตราการฆ่าตัวตายในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 วันที่ 13-14 เมษายน มีประชาชนจำนวนมากออกมาเรียกร้องขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลที่หน้ากระทรวงการคลัง หลายคนร้องไห้และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ นอกจากนั้นยังเกิดสถานการณ์หน้ากากอนามัยไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งไม่เพียงจะไม่พอสำหรับประชาชน แต่ยังมีปัญหาไม่มีเพียงสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นเมื่อปรากฏเป็นข่าวว่า มีชายคนหนึ่งอ้างว่ามีหน้ากากที่ได้มาตรฐานอยู่ในมือถึง 200 ล้านชิ้น ประกาศขายผ่านสื่อออนไลน์ เมื่อสังคมค้นหาประวัติชายคนดังกล่าวพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ภาพรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปตรวจราชการโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย การงดเว้นมาตรการกักกัน (state quarantine) สำหรับบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลและกองทัพ สร้างกระแสการวิพากษ์วิจารณ์การเลือกปฏิบัติในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง 



หญิงสาวรายหนึ่งวาดรูป พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา และเขียนข้อความก่อนสิ้นใจด้วยการฆ่าตัวตายว่า

"กูวาดกูเขียนทั้งน้ำตาเลย มันเสียใจร้องไห้ไม่เหลือเงินให้ลูกซื้อนมกิน ขนาดกูมีงานทำนะ ยังไม่มีเหลือเลย แม่งทั้งเหนื่อยทั้งท้อ ทำไมใจดำเหลือเกิน ทำไมไม่สงสารคนที่เขาไม่มีบ้าง... คนจนยิ่งจน ยากจนเพราะคนร่ำรวย ร่ำรวยเพราะคนยากจนสร้างให้รวย...”.

ในสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 สลิ่มยังคงมีลักษณะโลกสวย มองสังคมไทยเป็นสังคมที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีความสามารถไม่ด้อยกว่าชาติใดในโลก ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลที่พยายามจะแถลงข่าวถึงความสามารถของแพทย์ จะเห็นได้ว่าในระยะแรกรัฐบาลโดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขออกมาแถลงข่าวว่า แพทย์ไทยพบวิธีการรักษาซึ่งได้ผลดี ทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้น เสมือนเป็นการค้นพบสำคัญที่สามารถหยุดการเสียชีวิตจากไวรัสได้ ประเทศไทยยังคงเปิดให้นักท่องเที่ยวจีน และทุกชาติเดินทางเข้าประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ยังคงเชื่อมั่นรัฐบาลว่า เป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง ไม่ควรปิดกั้นการเดินทางของคนต่างชาติเข้ามา ขนาดที่ว่ายินดีจะเปิดรับผู้ป่วยจากประเทศจีนให้เข้ามารับการรักษาในประเทศไทยเพราะ “หมอไทยเก่ง” หรือกรณีมีข่าวการส่งออกหน้ากากอนามัยไปจีน กลุ่มที่ถูกเรียกว่า “สลิ่ม” ยังคงโลกสวย เห็นว่าเป็นการแบ่งปัน ช่วยเหลือประเทศที่เขาเดือดร้อนมากกว่า โควิด-19 ในระยะ 2 สัปดาห์แรกทำให้เห็นการให้เหตุผลของสลิ่มได้ชัดเจน สลิ่มบางคนถึงกับโพสข้อความว่า แทนที่จะปิดประเทศ ให้ปิดสื่อมวลชนบางสำนัก ความรุนแรงของ โควิด-19 ก็จะหมดไปทันที

นอกจากเชิดชูความเป็นไทยแล้ว สิ่งที่มักเกิดขึ้นพร้อมกันคือการกดเหยียดชาติอื่น กรณีการทวิตข้อความของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข “ช่วงนี้เป็นหน้าหนาวที่ยุโรป แล้วยิ่งมีระบาด พวกนี้ยิ่งหนีเข้ามาหลบหนาว หลบโรคในเมืองไทย หลายคนแต่งตัวสกปรกไม่อาบน้ำ เราเจ้าบ้านต้องระวังตัว พวกเขายังไม่อยากคบหากันเอง ปิดประเทศใส่กันแล้ว คนที่เคยวิจารณ์ผม ตำหนิฝรั่งไม่ใส่หน้ากากอนามัย ยังจำได้ไหมครับ” ความเป็นสลิ่มได้รับการตอกย้ำชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อรัฐมนตรีในรัฐบาลแสดงความเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา “รมต.สำนักนายกฯ ขอพระสงฆ์ ทั่วไทยสวดรัตนสูตร สู้โควิด-19 เหมือนโบราณกาล ปัดเป่าโรคห่า” 

เพลงวัคซีนเพื่อคนไทย แต่งและร้องโดยยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว เพื่อรณรงค์รับบริจาคเงินสนับสนุนค้นคว้าวัคซีนโควิด-19 คนละ 500 บาท ตั้งเป้า 1 ล้านคน เพื่อพัฒนาวัคซีนในช่วงเวลาที่หลายประเทศฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสให้กับพลเมืองของตนเองแล้ว เนื้อหาในเพลงระบุว่า

“คนไทยก็เก่งไม่หยอกคิดค้นวัคซีนจากใบยา นวตกรรมโดยคนไทยจากผู้เชี่ยวชาญสภาบันจุฬา   ทำเองไม่ดีกว่าซื้อมา ไม่เปลืองเงินตราภาษีอากร เรื่องหมอเรื่องยาไม่แพ้ใคร ไทยแลนด์ทำได้โด่งดังกระฉ่อน ผลิตขึ้นเองย่อมได้ใช้ก่อน ไม่ต้องเดือดร้อนนำเข้ามา” 

ด้วยเหตุแห่งความทุกข์ยากขาดแคลนจากมาตรการ ล็อคดาวน์ และความคิดของสลิ่ม ที่เชิดชูทหาร การใช้กำลังควบคุม บังคับ และสิทธิพิเศษสำหรับบุคคลที่มีสถานะสูงในสังคม คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก สลิ่มจึงเป็นลักษณะบุคคลไม่พึงประสงค์สำหรับผู้ถูกกระทำ ถูกควบคุมบังคับ คำว่า “สลิ่ม” จึงเป็นที่น่ารังเกียจ และเป็นคำด่าที่ใช้กันโดยทั่วไป โดยเฉพาะกับเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ที่จะรู้สึกผิด รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนหากว่ามีผู้ปกครอง ครู หรือญาติใกล้ชิดเป็นสลิ่ม 


จากโบว์สีขาว สู่การนัดไม่แต่งเครื่องแบบนักเรียน

หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้โรงเรียนหยุดทำการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 มีการเปิดทำการเรียนการสอนอีกครั้งในวันที่ 1 กรกฏาคม 2563 ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ให้โรงเรียนแต่ละโรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งนำไปสู่ความไม่พร้อมของโรงเรียนในท้องถิ่นที่ยังขาดอุปกรณ์การเรียนการสอน ตลอดจนระบบอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วเพียงพอ ขณะที่ในด้านของนักเรียน ผู้ปกครองจำนวนมากจำเป็นต้องไปซื้อโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ตลอดจนติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเดทียมสำหรับให้บุตรหลานได้เรียนผ่านระบบออนไลน์และทางไกล  

สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2562 พบว่า กรุงเทพมหานครมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตร้อยละ 85.3 รองลงมาคือภาคกลาง ร้อยละ 72.0 ภาคใต้ ร้อยละ 65.2 ภาคเหนือ ร้อยละ 59.6 และต่ำที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 56.8 สำหรับผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาลที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตยังมีอยู่ร้อยละ 39.9 ของครัวเรือนทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ดำรงอยู่และปรากฏชัดเจนขึ้นเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ไม่ปกติในสังคม

กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ จัดกิจกรรมโดยแสดงความเห็นต่อการเมือง วางพวงหรีดป้ายข้อความต่างๆ ที่แสดงออกถึงความรู้สึก และร่วมกันร้องเพลง Do you here the people sing #เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ คือการปะทุขึ้นของปัญหาในระบบการศึกษาที่กระทำกับ “เด็กนักเรียน” การถูกควบคุมไม่ให้แสดงออกทางการเมือง การละเมิดสิทธิเสรีภาพ โดยคำสั่งและการลงโทษของบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียน เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการจัดกิจกรรมครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ และจัดอีกครั้งภายหลังที่มาตรการควบคุมของรัฐผ่อนคลายลงได้จัดกิจกรรมขึ้นต่อเนื่องในทุกวันศุกร์สัปดาห์ที่ 4 และ 5 ของเดือนกรกฎาคม เว็บไซต์ 101. World สัมภาษณ์สมาชิกนักเรียนในกลุ่มเกียมอุดมฯ สะท้อนความคิดเห็นของการที่นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมือง

“คนบอกว่าเราเป็นอนาคตของชาติ เราคิดว่าการกำหนดอนาคตไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่คือการที่ปัจเจกบุคคลมารวมกันเป็นสังคมแล้ววาดภาพอนาคตด้วยกันบนผ้าใบโล่งๆ แต่สังคมตอนนี้กลายเป็นภาพวาดยุ่งเหยิงที่เผด็จการสร้างไว้ มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ชี้นำอนาคต มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยเกิดจากนโยบายรัฐที่เน้นแต่ผลประโยชน์ เราจึงต้องการฉีกผ้าใบผืนนี้ออก แล้วเอาผ้าใบโล่งเปล่ามากางให้ประชาชนได้เขียนร่วมกัน... นี่เป็นสาเหตุที่เราต้องหยุดอำนาจเผด็จการ พอมีการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกแล้วมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ซึ่งอาจนำไปสู่การฉีกผ้าใบผืนนี้ได้ ข้อเรียกร้องของเราจึงเพิ่มขึ้นมาอยู่จุดเดียวกับหลายๆ กลุ่มการเมืองคือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา”

วันที่ 26 กรกฎาคม 2563 เกิดกิจกรรมของนักเรียน นักศึกษาที่มีชื่อว่า "วิ่งกันนะแฮมทาโร่" เนื้อเพลง "วิ่งนะ วิ่งนะ แฮมทาโร่...ของอร่อยที่สุด ก็คือ ภาษีประชาชน" กลายเป็นวลีติดหู ผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ 

เดือนกรกฎาคมถูกขนานนามว่า เป็นจุดเริ่มของแฟลชม็อบภาค 2 ทั้งการชุมนุมในที่สาธารณะ และในโรงเรียน กลุ่มนักเรียนได้มีการประกาศเชิญชวนผ่านทวิตเตอร์ และเฟสบุ๊ค จัดกิจกรรมแฟลชม็อบขึ้นในทั่วทุกภูมิภาค มีการรณรงค์ผูกโบว์สีขาวเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการและยุติการใช้ความรุนแรง คุกคามและลิดรอนเสรีภาพของประชาชน เขียนและโพสทวิตเตอร์ผ่านแฮชแท็ก #โบว์ขาวต้านเผด็จการ กระแสแฟลชม็อบในโรงเรียนได้รับการต่อต้านจากครู และผู้บริหารของโรงเรียน มีการเรียกเข้าพบครูฝ่ายปกครอง กักบริเวณ ตลอดจนทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียนด้วย

"เราโดนหักคะแนนความประพฤติแล้ว"

"เราถูกเรียกไปทำทัณฑ์บน"

"เพื่อนเราถูกครูเรียกไปข่มขู่"

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมือง ได้มาถึงจุดปะทะกันระหว่าง นักเรียนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการใน วันที่ 5 ก.ย. ที่กระทรวงศึกษาธิการ กลุ่มนักเรียนที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มนักเรียนเลว ประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายของกว่า 30 โรงเรียน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ร่วมชุมนุมใหญ่ โดยมีการเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ 1. หยุดคุกคามนักเรียน 2. ยกเลิกกฎระเบียบล้าหลัง และ 3. ปฏิรูปการศึกษา โดยมีเงื่อนไขหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องนี้ได้ให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยได้มีการสนทนากันระหว่างกลุ่มนักเรียนกับตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในประเด็น ทรงผมและการแต่งกาย ความหลากหลายทางเพศ แก้ปัญหาการคุกคามทางเพศในโรงเรียน ภาระงานของครูที่มากเกินไป ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งให้เปิดช่องทางให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น ในหลายช่วงของการสนทนาคำตอบของรัฐมนตรีดูจะไม่เป็นเหตุเป็นผลในความรู้สึกของนักเรียน มีการโห่ร้องในคำตอบที่ได้เป็นระยะ

สังคมไทยในมือม็อบรุ่นเล็ก : การต่อสู้ของเด็กมัธยมที่มีอนาคตเป็นเดิมพัน

ความแตกต่างของโลกทัศน์เก่ากับใหม่ตอกย้ำให้เห็นชัดเจนขึ้นในวันที่ 23 พ.ย. ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมรายการถามตรงๆ กับจอมขวัญ กล่าวถึงถึงประเด็นของทรงผมนักเรียน ว่า  

"สมมุติถ้าน้องไว้ผมยาวสักศอกหนึ่ง คนที่เดือดร้อนคือพ่อแม่ ต้องซื้อยาสระผมมาสระให้นักเรียน เวลาในห้องเรียนผมเราที่ยาวเป็นศอกก็บังเพื่อนข้างหลัง นี่คือความรู้สึกของคนอื่น" 

วันที่ 1 ธันวาคม เป็นวันรณรงค์แต่งชุดไปเวทไปโรงเรียน โดยกลุ่มนักเรียนเลวและภาคีนักเรียน KCC การเชิญชวนข้างต้น ภาคีนักเรียน KKC คำถามถึงผลดีผลเสียของการสวมเครื่องแบบนักเรียนและประกาศเชิญชวนว่า

“ถ้าปล่อยให้ 10 คนใส่ชุดไปรเวท 10 คนนั้นอาจถูกทำโทษ แต่หากนักเรียนทั้งโรงเรียนใส่ชุดไปรเวท ทุกคนลองคิดภาพว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง”

ประโยคนี้ไม่ได้สะท้อนถึงการไม่เคารพกฎของโรงเรียน แต่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้สิทธิเสรีภาพ ในสังคมประชาธิปไตย ที่พวกเขาต้องการให้เกิดขึ้นในโรงเรียน มีนักเรียนบางส่วนในโรงเรียนอย่างน้อย 23 โรงเรียนทั่วประเทศ ร่วมกันแต่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนในวันดังกล่าว

ความเป็นเหตุเป็นผล ความคิดเก่ากับความคิดใหม่เกิดการปะทะกันเสมือนคลื่นทางวาทกรรมของคนสองรุ่นที่ผ่านโลกในวัยเด็ก ข้อมูลข่าวสารที่รับรู้มาจากช่องทางแตกต่างกัน ขณะที่ในโลกของการใช้เหตุผลของเด็ก เยาวชนรุ่นใหม่ตัดเรื่องความเชื่อ ธรรมเนียมปฏิบัติ และกฎเกณฑ์ระเบียบที่หาแหตุผลอธิบายไม่ได้ออกไป ผู้บริหารกระทรวง ครู ตลอดจนผู้ใหญ่ในสังคมจึงดูเสมือนว่ามีทักษะการใช้เหตุผลที่ด้อยกว่านักเรียน นักศึกษา คนเหล่านี้กลายเป็น “สลิ่ม” ในสายตาของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่


การตอบโต้ของสถาบันหลักทางสังคม

นอกเหนือจากการใช้กฎหมายมาตรา 116 ตั้งข้อหาก่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนแจ้งความจับแกนนำผู้ชุมนุมแล้ว ยังมีการจัดมวลชนเสื้อเหลืองที่ส่วนหนึ่งเป็นทหาร ตำรวจมาชุมนุมในบริเวณใกล้เคียงกับที่มีการชุมนุมของม็อบคณะราษฏร ภาพที่ปรากฏออกมาหลายในลักษณะ “จัดม็อบชนม็อบ” แสดงให้เห็นถึงการไม่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน นอกจากจะนำรถ กทม. ที่ประชาชนคุ้นเคยว่าเป็นรถสำหรับขนถ่ายสิ่งปฏิกูลมาบรรทุกมวลชนเสื้อเหลืองแล้ว ยังมีคลิปการกล่าวถึงการจ่ายเงิน และการนัดหมายคนมาชุมนุม และการปล่อยทิ้งคนแก่ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดไม่รับกลับหลังจากเลิกชุมนุมด้วย

การเผชิญหน้ากันครั้งแรกระหว่างมวลชน 2 ฝ่ายเกิดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 "คณะประชาชนปลดแอก" กับ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" จับมือกันจัดกิจกรรมภายใต้ชื่องานว่า "วันที่ราษฎรจะเดินนำ ที่ราชดำเนิน" มีการขนคนใส่เสื้อเหลืองทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนมารออยู่ในบริเวณริมถนนราชดำเนินเพื่อรอรับขบวนเสด็จ ขณะที่ผู้ชุมนุม “คณะราษฏร” มารวมตัวกันแต่เช้า มีการเคลื่อนย้ายกระถางต้นไม้ออกจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนเกิดการปะทะกันกับมวลชนเสื้อเหลือง ถือเป็นการปะทะทำร้ายร่างกันครั้งแรกในรอบปี แม้เหตุการณ์จะไม่รุนแรงจนมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับบาดเจ็บแต่เป็นสัญญาณความขัดแย้งของประชาชน 2 กลุ่มที่กลุ่มหนึ่งเป็นตำรวจ ทหาร ข้าราชการ และประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุกับคนหนุ่มสาว เด็ก เยาวชน

ในวันนี้มีการนำขบวนเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณพระบรมราชินี และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ผ่านบริเวณถนนพิษณุโลกข้างทำเนียบรัฐบาลฝ่าเข้าไปในแถวของผู้ชุมนุม โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจเผชิญหน้ากันอยู่ เหตุการณ์รถขบวนเสด็จเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมนี้นำไปสู่การที่รัฐบาลตั้งข้อประชาชนอย่างน้อย 3 คนตามมาตรา 110 ประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินีหรือรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา

จากนั้นในเวลา 04.00 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในท้องที่กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดพื้นที่ด้านนอกทำเนียบรัฐบาลคืนจากกลุ่มผู้ชุมนุมช่วงเวลาประมาณ 04.30 น. พร้อมจับกุมตัวแกนนำคนสำคัญ ได้แก่ ทนายอานนท์ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ต่อมาได้มีการจับกุม “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ห้องพัก ศาลอาญา อนุมัติหมายจับนายเอกชัย หงส์กังวาน และนายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต

​​​​​​​

เย็นวันที่ 15 ตุลาคม 2563 มวลชนจำนวนมากมาชุมนุมที่ถนนราชประสงค์ เรียกร้องให้ปล่อยแกนนำที่ถูกจับตัวไป หลังจากนั้นได้มีการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 16 ตุลาคม ผู้จัดเปลี่ยนสถานที่นัดหมายมาเป็นแยกปทุมวัน กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและนักเรียน จนกระทั่งเวลาประมาณ 19.15 น. ตำรวจฉีด มี "น้ำผสมสารสีน้ำเงิน" กลิ่นคล้ายแก๊สฉีดเข้าใส่ผู้ชุมนุม ทำให้ทั้งผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนเกิดอาการแสบตาและแสบผิว ผลจากสารเคมีสีน้ำเงินทำให้มวลชนถอยร่น แกนนำได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนพลไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ โดยระบุ "การถอยร่นครั้งนี้ไม่ใช่การยอมแพ้" และ "อย่าปะทะนะครับเราไม่อยากเสียใคร โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดประตูและประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ชุมนุม การสลายการชุมนุมในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หลายคนเกิดอาการแพ้สารเคมีต่อเนื่องจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล 

ในวันที่จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 17 พ.ย. เครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เดินทางมาโดยรถบัสหลายคันใช้ฟุตบาทเป็นพื้นที่ชุมนุมด้านหน้าอาคารรัฐสภา เกียกกาย สื่อมวลชนรายงานว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เดินทางมาจากชลบุรี และได้เกิดการปะทะกันกับมวลชนคณะราษฏรที่มาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน นอกจากนี้ตำรวจยังได้ใช้รถฉีดน้ำผสมสารเคมีเพื่อสลายการชุมนุมนับเป็นครั้งที่ 2 ที่มีการสลายการชุมนุม จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ระบุว่าจะดำเนินการใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการกับผู้ชุมนุม นับเป็นการประกาศอย่างชัดแจ้งว่าจะไม่ประนีประนอมยอมตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม วันที่ 24 พ.ย. มีการรายงานข่าวว่าผู้ช่วย ผบ.ตร. เรียกประชุมพนักงานสอบสวนที่มีการจัดชุมนุมในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) โดยในที่ประชุมได้ให้พนักงานสอบสวนแต่ละท้องที่รายงานความคืบหน้าคดีความเกี่ยวกับการกระทำผิดในเวทีชุมนุมต่างๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงปัจจุบัน เพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายองค์ประกอบการกระทำความผิดมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งหากคดีใดเข้าข่ายผิดมาตรา 112 ชัดเจน ให้พนักงานสอบสวนขออนุมัติ ตั้งคณะกรรมการพิจารณาคดี 112 โดยเฉพาะ

วันเดียวกันนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม เปิดเผยภาพหมายเรียกผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากนั้นมีหมายเรียกผู้ชุมนุมให้มารับทราบข้อกล่าวหาคดี 112 อย่างต่อเนื่อง แกนนำ "คณะราษฎร" 5 คน โดนตำรวจแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง และนายปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์ นอกจากนั้นยังมี อินทิรา เจริญปุระ นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี กลุ่มเยาวชนปลดแอก และ น.ส. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และ น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ จตุพร แซ่อึง, บี (อายุ 16 ปี), สมบัติ ทองย้อย, ชูเกียรติ แสงวงศ์ (จัสติน), สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ

รายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า นับตั้งแต่ที่นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ใช้กฎหมายเอาผิดผู้ชุมนุมจนถึงวันที่ 16 ธ.ค.63 มีบุคคลถูกแจ้งความดำเนินคดีมาตรา112 แล้วถึง 30 คน โดยในจำนวนนี้มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดี 6 คน หลังจากไม่มีการดำเนินคดีกับบุคคลใดด้วยมาตรานี้มาเกือบ 2 ปี 


สังคมก้าวเข้าสู่ภาวะแปลกแยก (social alienation)

การเสื่อมคลายลงของระเบียบทางสังคม และการทำหน้าที่ของสถาบันทางสังคม ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถจะคาดการณ์ทิศทางในอนาคตได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในระบบสังคม ประชาชนขาดความมั่นคงในชีวิต และทรัพย์สิน สภาวะเช่นนี้นำไปสู่การขาดหลักยึดเหนี่ยว ทำตัวไม่ถูก อยู่ไม่เป็น ในทางสังคมวิทยาเรียกสภาวะเช่นนี้ว่ารเป็นสภาวะความไร้บรรทัดฐาน (normlessness) การเปลี่ยนแปลงนับแต่มีรัฐบาลประยุทธ์ บริหารประเทศ มีการใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ออกกฎหมาย ข้อปฏิบัติ ในสภาวะที่สังคมเกิดวิกฤติทั้งความแตกต่างทางความคิดระหว่างคนต่างรุ่น โรคระบาดโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจ การการต่อสู้ทางการเมืองที่เชื่อมโยงไปถึงสถาบันหลักในสังคม ทำให้สังคมตกอยู่ในสภาวะสถานการณ์พิเศษ ฉุกเฉินอยู่ตลอดเวลา ในสภาวะเช่นนี้ปัจเจกบุคคลไม่สามารถจะเชื่อมั่นในแบบแผนทางสังคม และการทำหน้าที่ของสถาบันทางสังคมที่เคยมีอยู่เดิมได้

การใช้กฎหมายบังคับกระทำต่อประชาชนในข้อหาตามมาตรา 112 การสนับสนุนให้เกิดมวลชน “เสื้อเหลือง” ปกป้องสถาบันกษัตริย์ ตลอดจนการที่ฝ่ายความมั่นคง และรัฐบาลประกาศปกป้องสถาบัน ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงการทำหน้าที่ผลักประชาชนให้เป็นฝ่ายตรงข้าม ขณะเดียวกันรัฐบาลและองค์กรอิสระกระทำการละเมิดรัฐธรรมนูญกลับกลายเป็นข้อยกเว้น พ้นผิด ในหลายกรณี เสมือนการเปลี่ยนผ่านของระบบทางสังคมที่เคยมีอยู่เดิมให้กลายเป็นอื่น ที่ประชาชนไม่สามารถจะคาดการณ์ได้ การเกิดขึ้นของการฆ่าตัวตายในสภาวะเช่นนี้ Emile Durkheim เรียกว่า อโนมี (Anomie) เมื่อคนรู้สึกไม่สามารถเกาะเกี่ยวกันภายใต้ระเบียบทางสังคมที่ดำรงอยู่ได้ อัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่รัฐบาลมีมาตรการ ล็อคดาวน์ หรือกรณีผู้
พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลาที่ใช้อาวุธปืนยิงตนเองในห้องพิจารณาคดี และฆ่าตัวตายที่บ้านพักเมื่อปีที่ผ่านมาเพื่อเรียกร้องให้ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้กับประชาชน”

การจัดวางโครงสร้างอำนาจทางการเมืองใหม่ ทำให้หน่วยงานความมั่นคงมีอำนาจเกินขอบเขตภารกิจเดิม ทำให้ส่วนที่เรียกว่า “รัฐ” ซึ่งเป็นสาธารณะซ้อนทับกับการเป็นส่วนตัว ประเทศกลายเป็นบ้าน และประชาชนเป็นผู้อาศัย ขณะที่หน่วยงานของรัฐคือผู้คุมที่ทำงานตอบสนองต่อเจ้าของบ้าน พื้นที่สาธารณะกลายเป็นพื้นที่ส่วนตัว ขณะที่วัฒนธรรมย่อย (subculture) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของผู้มีอำนาจที่สังคมไทยเรียกว่า “ผู้มีสี” ได้กลายเป็นวัฒนธรรมหลักในปัจจุบัน แกนนำเสื้อเหลืองที่ออกมาปกป้องสถาบันแสดงออกถึงวัฒนธรรมดังกล่าว ทั้งมีประวัติพัวพันกับการการพนัน จึงเสมือนการสถาปนาสังคมมุมถนน (Street Corner Society) ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน ให้กลายวัฒนธรรมแกนหลักของสังคม

สภาวะเช่นนี้ประชาชนเคลือบแคลง สงสัย ไม่แน่ใจว่าอะไรคือ กฏหมาย หลักยึดทางสังคม เพราะสังคมมุมถนนไม่จำเป็นต้องเคารพหลักนิติรัฐ ความพร่าเลือนของความหมายทางสังคม (meaninglessness) ที่แพร่กระจายไปทั่วในสังคมไทยพร้อมกับข่าวการจับกุมดำเนินคดี การสอดส่องติดตาม คุกคาม การอุ้มหาย และถูกบังคับให้สูญหาย การล้มละลายของสายการบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ และความล้มเหลวของการบริหารทรัพย์สินสาธารณะ ก่อให้เกิดความหวาดวิตกแก่ประชาชนคนไทย สิ่งเหล่านี้คือสภาวะความแปลกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา 5 อันดับแรกที่คนไทยใช้เป็นคำค้นในกูเกิ้ล (google trend) ประจำปี 2563 ได้แก่ 1. เราไม่ทิ้งกัน 2. คนละครึ่ง 3. โควิด-19 4. DLTV 5 เยียวยาเกษตรกร สะท้อนให้เห็นความทุกข์ยากของประชาชนไทยได้เป็นอย่างดี การสูญเสียความหมาย และภาวะไร้บรรทัดฐานได้เป็นอย่างดี

ขณะที่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนโดยคนหนุ่มสาวได้สร้างคลื่นทางวาทกรรม (discursive wave) ที่ปะทะเข้ากับสิ่งที่สังคมไทยกำลังจัดวางโครงสร้างระเบียบใหม่ แต่ได้รับการตอบโต้อย่างรุนแรง คล้ายกับว่าเป็นอริราชศัตรูมากกว่าจะเป็นเจ้าของประเทศดังที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งที่คนหนุ่มสาวเหล่านี้แสดงความกล้าหาญที่จะพูดความจริง (parrhesia) เสียสละที่ออกมาพูดแทนประชาชน ทั้งที่รับรู้ว่าจะต้องถูกตอบโต้อย่างรุนแรง เป็นความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นที่ไม่เสแสร้งหลอกลวงว่ารัก ชื่นชม

การกล้าพูดความจริงเป็นการต่อต้านขัดขืนต่อความลวงที่ถูกทำให้ดูเสมือนว่าเป็นจริงทั้งที่สังคมเน่าเฟะ ผุกร่อน จากการรวมทุกสิ่งไว้ที่สถาบันหลักของสังคม เมื่อรัฐบาลจัดคนมารับเสด็จในงานพระราชพิธีและทรงมีปฏิสันฐานกับราษฎรนั้น ต่างจากการเสด็จเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร การรับเรื่องถวายฎีกากับพระหัตถ์ต่างไปจากการทรงจักรยาน ลูกเสือชาวบ้านที่เป็นชาวบ้านจริงๆ ในยุคสงครามเย็นต่างจาก “จิตอาสา” ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่ทำเพียงแค่เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่นายกรัฐมนตรี ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชองค์การ ตลอดจนคณะองคมนตรีผู้มีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวง ตามรัฐธรรมนูญ พึงได้รับเรื่องฏีกาจากประชาชนกราบบังคมทูลถวายความเห็นให้ทรงทราบ หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป สังคมไทยจะไม่มีวันสงบสุข หวนกลับมาเป็นเช่นในอดีตดังที่เขียนไว้ในตำราเรียน เอกสารทางราชการที่ใช้สอนลูกหลานไทยได้อีกต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net