Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ด้วยความร่วมมือกันของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย 24 แห่ง  ได้ศึกษาสถานการณ์การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยให้นักศึกษาจำนวน 160 คน สังเกตแบบมีส่วนร่วมในเขตเลือกตั้งที่ตนเองมีสิทธิเลือกตั้ง ครอบคลุมทุกจังหวัด ในทุกภูมิภาค  ทั้งก่อนหน้า และวันเลือกตั้ง ประเด็นสำคัญของการศึกษาในครั้งนี้คือ การสังเกตพฤติกรรมการซื้อสิทธิขายเสียง และการจัดการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้ง  ในภาพรวมพบว่า จากเขตเลือกตั้ง 160 เขต พบพฤติกรรมที่ส่อไปในทุจริตการเลือกตั้ง 17 เขต หรือคิดเป็นร้อยละ 17  ขั้นตอนที่พบการพฤติกรรมส่อทุจริตมากที่สุดคือ ขั้นตอนการลงคะแนน รองลงมาคือในช่วงปิดการลงคะแนน  สำหรับพฤติกรรมที่ส่อไปทางทุจริตมากที่สุดคือ การจัดทำสรุปจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เหลือ และใช้ไปในหน่วยเลือกตั้งไม่ตรงกับความจริง ซึ่งรวมถึงการสรุปตัวเลขผู้มาใช้สิทธิ บัตรดี บัตรเสีย ไม่ตรงกับจำนวนบัตรที่เหลืออยู่จริงด้วย  

จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ และการบันทึกสนามของผู้สังเกตการเลือกตั้ง และการติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งของการศึกษาครั้งนี้ มีข้อค้นพบในเบื้องต้นที่สำคัญ ซึ่งมีบางส่วนแตกต่างไปจากผลการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการทุจริตการเลือกตั้งที่ผ่านมา ดังนี้ 
 

1. การซื้อสิทธิขายเสียง เกิดจากความยากจน ความไม่รู้เท่าทัน การเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า เป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้คนเมือง คนกรุงเทพ รอยัลลิสต์ ยังคงรักษาสถานะการเป็นคนดี ผู้ออกมาปกป้องทำการเมืองให้ปลอดพ้นจากระบอบทักษิณ และดำรงสถานะเหนือกว่าคนชนบท เป็นผู้คุ้มกฎ “การเมืองคนดี” สอดคล้องกับคำอธิบายแบบ “สองนัคราประชาธิปไตย” ของ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ 

2. การตัดสินใจออกเสียงลงคะแนนให้กับใคร พรรคการเมืองใดนั้น งานวิจัยนี้พบว่า ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งออกเสียงภายใต้เงื่อนไขทางสังคมใน 2 ลักษณะ เช่นเดียวกับการแบ่งตัวแสดงทางการเมืองของการเลือกตั้งครั้งนี้ได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ 

2.1 การตัดสินใจลงคะแนนภายใต้ โครงข่ายการพึ่งพาทางสังคมของการเลือกตั้ง เป็นโครงข่ายที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ชนบท ในหมู่บ้าน ชุมชนท้องถิ่น ที่ยังคงมีความยึดมั่นผูกพันธ์ช่วยเหลือพึ่งพาในฐานะคนท้องถิ่นเดียวกัน มีความสัมพันธ์กันโดยการนับญาติ ซี่งสอดคล้องกับงานศึกษาของ Andrew Walker (Thailand’s Political Peasants, 2012) ที่ว่ามีธรรมนูญของท้องถิ่นซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่ถูกยกร่างขึ้นโดยชนชั้นนำ โครงข่ายที่เชื่อมโยงกับอย่างแนบแน่นภายใต้การช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งในบริทบทางการ และไม่เป็นทางการ ทั้งเรื่องส่วนตัว และเรื่องสาธารณะนี้มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียง

1) ไม่ใช่แค่เพียงนักการเมือง กับประชาชนผู้ใสซื่อที่เข้ามาเกี่ยวข้องในโครงข่ายนี้ แต่เป็นโครงข่ายซับซ้อน ของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับ ทั้งจังหวัด อำเภอ ลงมาสู่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวทั้ง อสม. ทสม. อาสาสมัครที่ทางราชการตั้งขึ้น ตัวแทนของพรรคการเมืองในท้องถิ่น ตั้งแต่ นายก อบต. ไปจนถึงหัวคะแนน และคนของนักการเมือง ที่สำคัญคือข้าราชการ ครู ทหาร ตำรวจ ปลัด คนเหล่านี้ล้วนเป็นญาต พี่น้อง สนิทสนม รู้จักมักคุ้นกันในฐานะคนในท้องถิ่นเดียวกัน

2) งานวิจัยพบว่าในหน่วยเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิลงคะแนนและกรรมการประจำหน่วยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ในหลายหน่วยเลือกตั้งก็เป็นหัวคะแนนให้พรรคการเมืองเด้วย มีความรู้จักมักคุ้น พูดคุย หยอกล้อกันกับประชาชนอย่างเป็นกันเอง คนในชุมชนมีสถานะ และวางบทบาท หลายบทบาทปนเปกันไป เพื่อโน้มน้าวให้สมาชิกออกเสียงลงคะแนน ให้กับพรรคการเมืองนักการเมือง ที่คาดว่าจะช่วยให้ท้องถิ่นดีขึ้น พัฒนาขึ้น

3) โครงข่ายการพึ่งพาทางสังคมของการเลือกตั้ง เชื่อมโยงอย่างแยกกันไม่ออกระหว่างการเมืองในหมู่บ้าน การเมืองท้องถิ่น และการเมืองระดับชาติ ในหลายพื้นที่พบว่าการเมืองท้องถิ่น และการเมืองระดับชาติ มีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด หากคนในตระกูลดังของจังหวัดสามารถยึดครองพื้นที่การเมืองระดับชาติได้ ก็มีแนวโน้มที่จะประสบผลสำเร็จได้รับเลือกตั้งในการเมืองท้องถิ่นด้วย การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีความสำคัญ เพราะหลังจากเลือกตั้ง ส.ส. เสร็จสิ้น ก็จะมีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นตามมา 

4) เงิน ไม่ใช่ปัจจัยต่อการลงคะแนนเสียง ในหลายพื้นที่ ซึ่งมีการแข่งขันกันรุนแรงพรรคที่จ่ายเงินไม่ได้รับเลือกตั้ง แม้ว่าจะเป็นที่ทราบกันดีว่า มีพรรคบางพรรคใช้ความได้เปรียบจากทั้งนโยบายหาเสียงล่วงหน้า กำลังคน และงบประมาณ นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มว่ามีการจ่าย “ปูพรม” คือจ่ายไปทุกคนในทุกเขต จนเป็นที่ทราบกันว่าราคามาตรฐานการจ่ายอยู่ที่ 500 บาทต่อหัว อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนตัดสินใจล่วงหน้าตั้งแต่ที่ยังไม่มีการประกาศวันเลือกตั้งแล้วว่า จะเลือกพรรคการเมืองฝ่ายใด การเลือกตั้งครั้งนี้เงินจึงมีฐานะเป็นสัญลัษณ์การทำข้อผูกพันกันในอนาคตที่จะช่วยเหลือพึ่งพากันต่อไป ไม่ใช่ปัจจัยการลงคะแนน

5) โครงข่ายการพึ่งพาทางสังคมของการเลือกตั้งนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวนักการเมือง ผ่านสายตระกูลดังในแต่ละท้องถิ่น หากควบคุมผนึกรวม ให้โครงข่ายเหล่านี้ทำงานเชื่อมประสาน กระชับสายสัมพันธ์ของโครงข่ายได้ พรรคการเมืองนั้นก็จะได้รับการเลือกตั้ง   แต่ยิ่งโครงข่ายเชื่อมแน่นกันมากเท่าใด โอกาสที่จะทุจริตการเลือกตั้งก็มีมากขึ้นเท่านั้น เพราะทุกฝ่ายเป็นตัวแสดงร่วมในโครงข่าย และมีส่วนช่วยให้ระบบนี้ดำเนินต่อไป แต่หากเกิดความขัดแย้ง ศูนย์กลางระดับรองลงมาแตกออกไป หรือแปรพักษ์ การทำงานขาดช่วง ไม่ทำตามสัญญาก็จะเกิดโครงข่ายใหม่ขึ้นทดแทน การทำงานอย่างต่อเนื่องจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกจึงเป็นเรื่องสำคัญ

พรรคการเมืองเฉพาะกิจ ที่เพิ่งตั้งขึ้นไม่นานหวังผลเร็ว จึงต้องดูดตัวนักการเมืองเข้าพรรค โดยต้องมั่นใจว่า นักการเมืองผู้นั้นยังคงเป็นรักษาฐานความเชื่อมแน่นในโครงข่ายทางสังคมนี้ไว้ได้ ผลการเลือกตั้งสะท้อนให้เห็นว่าตระกูลบางตระกูลได้เริ่มเสื่อมคลายอำนาจลงในบางจังหวัด แต่หลายตระกูลก็ยังคงรักษาฐานที่มั่นของตนไว้ได้ แสดงให้เห็นว่า โครงข่ายการพึ่งพาทางสังคมของการเลือกตั้งยังคงมีผลต่อลการเลือกตั้ง

2.2 การเลือกตั้งครั้งนี้ปรากฏโครงข่ายรูปแบบใหม่ให้เห็นอย่างชัดเจน เป็นการเกิดขึ้นของโครงข่ายจินตกรรมของปัจเจกประชาชน ซึ่งแตกต่างกันอย่างหลากหลาย ทั้งประสบการณ์การเมือง อายุ อาชีพ สถานะทางสังคม แต่คนเหล่านี้เชื่อมโยงสร้างเครือข่ายขึ้นจากสำนึกร่วม (collective consciousness) ซึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นชัดเจนเป็นกลุ่มก้อน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ของวังวนรัฐประหาร และความเอียนเลี่ยนของการเชิดชูกความเป็นไทยกระแสหลัก สำนึกนี้เป็นสำนึกที่เป็นเอกภาวะ คือเป็นปัจเจกประชาชน (singularity of the people) ซึ่งต้องการเจตจำนงเสรีในเชิงปัจเจก ในการตัดสินใจเลือกลงคะแนนเสียง 

1) นโยบาย รูปแบบวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ตัวบุคคล ไม่ใช่เกณฑ์ในการตัดสินว่าจะเลือกใครพรรคการเมืองใด แต่สิ่งเหล่านี้คือตัวชี้ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่จะยืนยันสำนึกร่วมที่เกิดขึ้น จากการรวบรวมการแสดงความเห็นผ่านสื่อทางสังคมพบว่า สำนึกร่วมดังกล่าวนี้ได้แก่ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเท่าเทียมกันและความยุติธรรมทางสังคม ดังนั้นโครงข่ายการพึ่งพาทางสังคมของการเลือกตั้งจึงไม่มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงสำหรับคนกลุ่มนี้ แต่การแสดงให้เห็นถึงจุดยืน ผ่าน นโยบาย ตัวบุคคล รูปแบบวิธีการหาเสียง สญลัษณ์ต่างๆ ของพรรคการเมือง ถูกใช้เป็นระบบสัญญะ ที่จะถูกตีความความหมายที่สอดคล้องเด่นชัดว่าพรรคการเมืองดังกล่าวยืนอยู่ฝ่ายใด สำนึกร่วมของปัจเจกประชาชนจึงกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการตัดสินใจว่า พรรคการเมืองนั้นๆ มีสำนึกร่วมที่สอดคล้องกับผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือไม่ 

2) การหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองสำนึกใหม่นี้ จึงไม่จำเป็นต้อง สร้างโครงข่ายระบบอุปถัมป์ ใช้เงินซื้อเสียง ใช้ระบบหัวคะแนน แต่เป็นการสร้างระบบสัญญะ ผ่านการสื่อสารสาธารณะ ผ่าน social media ผ่านถ้อยคำหนักแน่น ตรงไปตรงมา ไม่ซ่อนเล้นแอบแฝงกำกวม เหมือนพรรคการเมืองอีกฝ่าย เพื่อแสดงให้เห็นสำนึกร่วมอันเป็นความต้องการของการเมืองใหม่ที่ก่อตัวขึ้น

3) โครงข่ายจินตกรรมที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นโครงข่ายเพื่อการปลดปล่อย หลุดพ้นจากการครอบงำ ควบคุม ด้วยข้อกล่าวอ้าง คนดี คนที่มีบุญคุณ ผู้อุปถัมป์ ซึ่งเป็นโครงข่ายของผู้ชราภาพทางความคิด ซึ่งรวมตัวกันอยู่ในพรรคการเมืองแบบเดิมซึ่งใช้โครงข่ายการพึ่งพาทางสังคมของการเลือกตั้งแบบเดิมรักษาสถานะอำนาจไว้ และฉวยโอกาสนำพาโครงข่ายตนควบคุมอยู่เข้าร่วมกับการรัฐประหาร สอพลอต่อผู้มีอำนาจ เพื่อรักษาสายตระกูลการเมืองของตนเองไว้ให้สามารถควบคุมชุมชนท้องถิ่นต่อไปได้

4) ผู้นำทางการเมืองในภูมิทัศน์การเมืองไทย กำลังเปลี่ยนความหมายของ “พ่อ” ในสังคมไทย จาก “พ่อขุนอุปถัมภ์” ซึ่งเป็นพ่อที่แตกต่างของวัย และการมองโลก เคารพ ยำเกรงในอำนาจ เป็นพ่อที่ช่วยเหลือลูกด้วยความเมตตาสงสาร มาสู่ “ฟ้ารักพ่อ” พ่อที่เท่าเทียมกัน เป็นเพื่อน เป็นพี่ คอยดูแล ให้คำปรึกษา กรณีแม่ก็เช่นกัน ไม่ใช่แม่ผู้สูงวัย ที่จินตนาการถึงโลกเก่า และพร่ำสั่งสอนลูกให้เป็นหญิงงามดังกุลสตรีไทยในรั้ววัง แต่เป็น “พี่สาว” ที่ก้าวทันโลก ดังนั้นคนไทยต้องการนักการเมืองที่มาทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ จัดสรรสวัสดิการทางสังคมอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่การช่วยเหลือแบบเมตตาสงสาร เป็นพ่อที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนดี แต่มีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม 

3. หลังรัฐประหารมีความพยายามจะเชื่อมโยงโครงข่ายการพึ่งพาทางสังคมของการเลือกตั้งที่ดำรงอยู่ก่อนผนวกรวมกันเป็นโครงสร้างใหญ่ของสังคม เพื่อกระชับพื้นที่ทางอำนาจ กวดขันวินัยการทำตามหน้าที่พลเมืองดี ประชาชนผู้จงรักภักดี เกิดข้อบัญญัติ 12 ประการ การกระทำลักษณะนี้ดำเนินการนับตั้งแต่ปี 2535 โดยคาดไม่ถึงว่า คนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลางใหม่ ชาวนาการเมือง ได้ก่อตัวขึ้นช้าๆ ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จนเกิดสำนึกร่วมที่อาจเรียกว่า เป็นสำนึกไทยใหม่ จะเห็นได้จากสัญญะทางการเมืองที่เกิดขึ้น เช่น พรรคอนาคตใหม่ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคสามัญชน พรรคเกรียน หรือการคิดใหม่ทำใหม่ ที่ยังคงตราตรึงคนไทยมานับแต่ปี 2544 สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการปลดปล่อยตนเองออกจากโครงสร้างเดิมที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ยังคงโหยหา ตราตรึงอยู่กับโครงข่ายการเลือกตั้งแบบเดิม ที่มีรัฐราชการและนักการเมือง จับมือกันขับเคลื่อนประเทศ โดยมองประชาชนเป็นไพร่พลผู้เลือกตั้ง มีหน้าที่เพียงสร้างความชอบธรรมของการครองอำนาจ โดยอ้างบุญคุณ ความดี โครงข่ายทางสังคมเดิมกำลังเสื่อมคลายเวทย์มนต์ลง

4. ด้วยความหวั่นวิตก จึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะกระชับโครงสร้างให้เป็นดังเดิม การชุมนุมประท้วงของคนดี shut down ประเทศไทย รัฐประหาร ตุลาการภิวัตน์ ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี การออกมาแสดงอภินิหารทางกฎหมาย การผนึกกำลังของคนดี จนกระทั่งมาถึงวันเลือกตั้ง ดูว่าจะไม่สามารทำให้โครงสร้างแบบเดิมกลับมามีพลังเข้มแข็งได้ดังเช่นที่ผ่านมา บทบาทของ กกต. คือภาพสะท้อนโครงสร้างเดิมที่ถูกสั่นคลอนจนซวนเซทั้งที่ได้ทุกจนทุกวิถีทางแล้ว มาถึงวันนี้บทบาทของ กกต. จึงเป็นเครื่องมือเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ที่จะรักษาโครงสร้างอำนาจแบบเดิมไว้ได้ แต่การผนึกรวมตัวกันของประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่ต้องการถอดถอน กกต. โดยไม่ได้นัดหมาย ยิ่งทำให้สถานการณ์การต่อสู้นอกกติกาตึงเครียดขึ้นทุกขณะ

5. ทางออกของปัญหาการปะทะกันของภูมิทัศน์การเมือง 2 ฝ่าย จึงไม่ใช่ ส่งเสริมความดี ให้คนดีปกครองบ้านเมืองและคุมคนไม่ดี เพราะเมื่อถามถึงความดี และคนดี ต้องถามว่าดีสำหรับใคร และดีสำหรับอะไร? ไม่มีความดีที่เป็น universal หรือเป็นสากล สำหรับทุกคน ทุกสถานที่ และทุกเวลา บ้านเมืองมีคนผู้ซึ่งแตกต่างหลากหลาย การส่งเสริมให้ทุกคนดีเหมือนๆ กัน ให้มาปกครองบ้านเมืองจึงเป็นไปไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย แต่อยู่ที่ว่า เราต้องส่งเสริมให้ได้กติกาบ้านเมืองที่ดี คือเป็นที่ยอมรับสำหรับทุกฝ่าย และส่งเสริมให้สถาบันทางสังคมได้บุคคลเข้ามาทำหน้าที่ตามกติกาที่ดี บ้านเมืองจึงจะสงบมีเสรีภาพ และความยุติธรรม 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net